วันจันทร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2565

#พีมูฟ ประชุมกับภาครัฐเพื่อแก้ไขปัญหา โดยมี พล.อ.ประวิตรฯ เป็นประธาน ผ่านวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ ขณะที่กลุ่ม คปสม. เสวนทสลับกันปราศรัยถึงความเดือดร้อน!

 


#พีมูฟ ประชุมกับภาครัฐเพื่อแก้ไขปัญหา โดยมี พล.อ.ประวิตรฯ เป็นประธาน ผ่านวีดีโอคอนเฟอเรนซ์


เช้าวันนี้ (31 ม.ค. 65) เวลา 10.05 น. ที่ สนง.กพ.  กลุ่ม #พีมูฟ  เริ่มประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหากลุ่มฯ ที่ห้องประชุม 1 ชั้น 2 อาคารสนง.กพ. โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานการประชุม (ผ่านระบบ VDO CONFERENCE) 


สรุปการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) โดยมีข้อเรียกร้องดังนี้


1. ยกระดับโฉนดชุมชน

ธีรเนตร ไชยสุวรรณ : เราได้มีการผลักดันครั้งที่ 1 ท่านประธานเองที่ได้รับปากจะเดินหน้าโฉนดชุมชนอยู่ มี 486 ชุมชน ในการนำเสนออยากให้มีการนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ (คทช.) มาตรา 10 (4) ถ้าได้มีการจัดให้มีโฉนดชุมชนก็จะเป็นการแก้ปัญหาของพี่น้อง 

** พล.อ.ประวิตร : เห็นชอบในหลักการว่าให้ยกระดับโฉนดชุมชนเป็นรูปแบบหนึ่งในมาตรา 10 (4) มอบหมายให้ ส.คทช. รับไปเพื่อยกระดับการจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชนให้เป็นรูปแบบหนึ่งของ คทช. ต่อไป ส่วนเรื่องการไปเปิดงานมหกรรมโฉนดชุมชนที่ภูเก็ตให้อนุกรรมการฯ ดำเนินการ ให้เอาเรื่องทั้งหมดให้ ครม. รับทราบเลย ดำเนินการได้แค่ไหนก็ให้ ครม. รับทราบในวันพรุ่งนี้

สุริยันต์ : โฉนดชุมชนเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้ชุมชนมีอำนาจในการจัดการที่ดินและทรัพยากร แต่ที่ผ่านมารัฐไม่ได้ให้ความสำคัญ การทำงานของ คทช. มาตรา 10 (4) ก็จะเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง แต่เพื่อไม่ให้มีข้อกังวล อยากให้เข้า ครม. เห็นชอบ

**พล.อ. ประวิตร : ยืนยันให้เข้า ครม. เห็นชอบ


2. นิรโทษกรรมคดีที่ดินป่าไม้

สุริยันต์ : ปัญหาของคนจนที่เกิดจากนโยบายและโครงการของรัฐ ทำให้คนจนยังทุกข์ถึงปัจจุบัน ได้มีการประชุมร่วมกับกระทรวงยุติธรรม ได้ทำร่างเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมกฎหมายเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาคนจนได้อย่างเร่งด่วน รัฐจึงควรมีมิตรการเร่งด่วนในการออก พ.ร.ก.นิโทษกรรม ให้คุ้มครองบุคคล 2 ส่วน หนึ่งคืออยู่ในข่ายที่จะถูกรัฐหรือเอกชนแจ้งความ ให้ยุติ สองคือบุคคลที่ตกเป็นผู้ต้องหา จำเลย ให้ชะลอกระบวนการต่าง ๆ ไว้ก่อน ถ้าเรามีนโยบายที่ชัดเจนแล้ว เพื่อให้การดำเนินการใด ๆ ไม่กระทบต่อประชาชน จนกว่าจะมีกฎหมายให้เกิดการนิรโทษกรรม

** พล.อ.ประวิตร : มอบหมายให้อนุกรรมการแก้ไขปัญหาคดีความ กฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม และคณะทำงานด้าน พ.ร.ก.นิรโทษกรรม ไปศึกษาระเบียบที่เกี่ยวข้องทั้งในไทยและต่างประเทศ มอบหมายให้นายอนุชา นาคาศัย นำข้อเสนอของ ขปส. ไปหารือกับ รมว. ยุติธรรม เพื่อพิจารณาจัดทำ พ.ร.ก.นิรโทษกรรมฯ ตามนโยบายของรัฐต่อไป อันไหนเป็นมติให้ดำเนินการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการโดยทันที มีมติแล้วไม่ทำอะไร ไม่ได้ มติต้องเป็นมติ จบไปแล้วไม่ใช่มารื้อฟื้นอีก ต้องเร่งรัดตามนโยบายของรัฐบาลให้เป็นไปตามที่รัฐบาลและ ขปส. ต้องการ

** อนุชา : ระบปฏิบัติตามคำสั่งการของท่านประธาน รับปากว่าจะไปทำให้มีข้อยุติ กระจ่างชัดแจ้งต่อสังคมและประเทศไทย รัฐและราษฎรต้องไปด้วยกัน

** กระทรวงยุติธรรม : เรื่องการร่าง พ.ร.ก.นิโทษกรรมฯ ต้องแก้องค์ประกอบ เดิมมีร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นประธานคณะทำงานร่าง เมื่อมีการประชุมครั้งที่แล้วได้เสนอให้เป็น รมว. ยุติธรรมเป็นประธาน ที่ประชุมเห็นชอบมติ เนื่องจากอนุฯ ศึกษาด้านคดีก็มี รมว. ยุติธรรมอยู่แล้ว ก็ให้มาอยู่ในคณะชุดนี้และเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่


3. ทบทวนร่างกฎหมายลำดับรองประกอบ พ.ร.บ.อุทยานฯ และ สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และมติ ครม. 26 พ.ย. 61 รวมถึงตั้งคณะทำงานแก้กฎหมายป่าไม้ 3 ฉบับณัฐวุฒิ : ที่มาที่ไปของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่อนุรักษ์ส่งผลกระทบต่อประชาชนกว่า 10 ล้านคน ในระหว่างการร่างกฎหมายก็ได้มีการเสนอร่างของประชาชน นายกรัฐมนตรีวินิจฉัยว่าเป็นกฎหมายการเงิน หลังจากนั้นก่อเกิดผลกระทบจากการสำรวจของกรมอุทยานฯ ทำให้ประชาชนกลายเป็นผู้บุกรุก ต้องขออนุญาตอยู่และทำกินในระยะเวลา 20 ปี ขัดแย้งต่อนโยบายของรัฐบาลที่บอกว่าจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง สองคือ กฎหมายลำดับรอง กระบวนการการมีส่วนร่วมในการรับฟัง ภาคประชาชนได้เสนอกระบวนการที่รอบด้าน แต่ก็ไม่ได้มีการมีส่วนร่วมมากนัก อยากเสนอให้มีคณะทำงาน 3 ชุด พิจารณา 3 เรื่อง คือ กฎหมายแม่ กฎหมายลำดับรอง และมติ ครม. 26 พ.ย. 61

** พล.อ.ประวิตร : มอบหมายให้อนุกรรมการฯ ทส. รับไป พิจารณาเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในป่าเป็นสำคัญ มอบหมายให้ รมว. ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายอนุชา นาคาศัย นำข้อเสนอของ ขปส. ไปหารือกับ รมว. ทส. เพื่อรับไปพิจารณาแนวทางในการดำเนินการทบทวนกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ และมติ ครม. 26 พ.ย. 61

** อนุชา : ได้คุยกับปลัด ทส. ผู้เกี่ยวข้องโดยตรง และรองปลัด ทส. มีข้อสรุปว่าในส่วนของ พ.ร.บ. และกฎหมายรองทั้ง 3 ฉบับที่ทาง ขปส. เรียกร้องให้มีการชะลอนี้ ทาง ทส. บอกว่าไม่อาจชะลอได้ เพราะกระบวนการร่างกฎหมายต้องดำเนินต่อไปตามระบบ จึงสรุปว่าเราจะมาคุยกันพร้อมกับการร่างกฎหมายลำดับรองร่วมกัน เพื่อจะได้สรุปถึงข้อจำกัดที่เกิดขึ้นจากความคิดเห็นไม่ตรงกันระหว่าง ขปส. และ ทส. ท่านบอกว่ามีข้อกฎหมายที่ประชาชนเรียกร้องเพิ่มมาเรื่อยๆ ทส. ตามไม่ทัน อยากขอความเห็นใจจากเราด้วย การแก้กฎหมายไม่ได้ง่ายหรือรวดเร็วตามที่เราคิด

** พล.อ.ประวิตร : ตั้งอนุกรรมการฯ ขึ้นเพื่อตรวจสอบโดยเร่งด่วน ให้อนุชาตั้งอนุกรรมการฯ ขึ้นตรวจสอบ ทำให้เร็ว ตรวจสอบโดยเร็ว

** สรุป : ให้ตั้งอนุกรรมการฯ ตรวจสอบกฎหมายดังกล่าว และต้องประชุมโดยเร็ว ถ้าเป็นเย็นนี้ได้จะดี รวมทั้งมอบหมายให้ อนุฯ ทส. รับไปดำเนินการ


4. ชุมชนที่ดินการรถไฟ

คมสันติ์ จันทร์อ่อน : อยากขอเป็นมติวันนี้เลย ว่าการรถไฟสามารถทำได้หรือไม่ ตอนนี้เหมือนจะกลับมาพิจารณารายกรณี แต่เราเสนอกรอบนโยบายว่ามติบอร์ด 13 ก.ย. 43 จะช่วยคนทั้งประเทศ ถ้ามาพิจารณารายกรณีจะเสียเวลามาก อันที่สองคือเรื่องคดีความ จะให้ทาง รฟท. นำแนวปฏิบัติของอนุกรรมการฯ ของคมนาคม ในเรื่องการแก้ปัญหาคดีความที่ยังไม่สิ้นสุดความให้มีการเช่าชั่วคราว ส่วนที่สิ้นสุดแล้ว ระหว่างให้พี่น้องย้าย หาพื้นที่รองรับในชุมชนใกล้เคียงกัน ย้ำว่าไม่ตรงกับรายงานที่ สปน. รายงาน

รฟท. : เห็นด้วยกับคุณคมสันติ์ ตามเอกสารที่รับมา มองว่าเนื้อหาไม่ตรงตามที่คมสันติ์กล่าวไว้ ฝากทางเลขาให้สรุปตามเอกสารตัวนี้

** พล.อ.ประวิตร : มอบหมายให้อนุฯ คมนาคม ตรวจสอบที่ดิน ที่อยู่อาศัยในที่ดิน รฟท. เพิ่มเติม ให้ดำเนินการตามข้อเสนอของ ขปส. มอบหมายให้ รฟท. ไปหารือร่วมกัน ขปส. เพื่อเร่งรัดให้แก้ไขปัญหาเป็นรายกรณี มอบหมายให้คมนาคม รฟท.  พม. และ พอช. ไปพิจารณาทำเรื่องเสนอ ครม. ตามอำนาจหน้าที่ต่อไป


5. ผลักดันร่าง พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ฯ ขปส.: ตอนนี้มี 5 ร่างกฎหมาย ร่างรัฐบาลมอบหมายให้ ศมส. เป็นเจ้าภาพ ร่างที่สองของพรรคก้าวไกล ร่างที่สามของสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ร่างที่สี่คือกรรมาธิการฯ ร่างที่ห้าคือภาคประชาชน เข้าชื่อ 16,559 รายชื่อต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร หลังจากนั้นได้มีหนังสือจากสภาฯ แจ้งว่ากฎหมายที่ประชาชนนำเสนอเข้าข่ายร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับการเงิน ให้นายกรัฐมนตรีรับหลักการ ลงนามรับรองร่างฉบับนี้เพื่อให้เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร

** พล.อ.ประวิตร : รับหลักการโดยการมอบหมายให้ วฒ. และ ศมส. รับไปเร่งรัดดำเนินการผลักดันร่างกฎหมายฉบับ ศมส. และร่างฉบับอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ส่วนเรื่องที่นายกรัฐมนตรีลงนาม จะดำเนินการตามที่ว่า รับหลักการในการที่จะเสนอร่าง พ.ร.บ. ที่บอกมา ให้อนุฯ ไปดำเนินการด้วย แล้วให้นายกรัฐมนตรีลงนาม สุดแล้วแต่ท่านนายกฯ จะลงนามหรือไม่ต่อไป

###วาระเพิ่มเติม กรณีคดีทวงคืนผืนป่าห้วยน้ำหิน อ.นาน้อย จ.น่าน 

สนง.พนักงานอัยการสูงสุด : ส่งสำนวนให้ไปแยกสำนวนมา อยู่ในการดำเนินการของ สนงพนักงานอัยการจังหวัดน่าน 

ขปส. : ควรจะมีความเห็นว่าคดีนี้ควรสั่งไม่ฟ้อง ด้วยเหตุผลเข้าข่ายคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557

** พล.อ.ประวิตร : ให้อัยการดำเนินการตามกระบวนการของเขา คุณไปบังคับเขาไม่ได้ ให้เขารับไปดำเนินการให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว

** วาระที่ สปน. จัดทำกำลังพาหลงประเด็นเข้ารายกรณี ไม่ยึดตามวาระ 15 ข้อเร่งด่วนของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ซึ่งจะทำให้เสียเวลาการพิจารณาข้อเรียกร้องเชิงนโยบายที่เป็นข้อเรียกร้องที่เรายืนยันตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค. 2565

** พล.อ.ประวิตรไม่ยอม ให้เจรจาไปตามรายกรณีตามวาระที่ สปน. จัดทำมาผิดพลาดเข้าสู่วาระเร่งด่วนกรณีนายซาโหด เกาะตาครุฑ จังหวัดระนอง

** พล.อ.ประวิตร : มอบหมายให้อนุฯ ทส. ติดตามแก้ไขปัญหา

ขปส. :  ต้องการให้มีมติจากคณะกรรมการฯ ชุดนี้ว่าคดีจะยุติ เพราะที่ผ่านมายังดำเนินการต่อ

** พล.อ.ประวิตร : เราต้องทำตามระเบียบราชการ ให้พนักงานอัยการสูงสุดเข้าไปดำเนินการช่วยเหลือ ยังยุติคดีไม่ได้เพราะอยู่ในขั้นกระบวนการยุติธรรม

ขปส. : จริง ๆ เราเคยพิจารณาในชุดที่ท่านวิษณุเคยเป็นประธาน เรื่องนี้สามารถทำเรื่องขอความเป็นธรรมเพื่อให้ชะลอหรือยุติคดีได้ด้วยเงื่อนไขผู้ยากไร้ ศาลบอกว่าอยากให้มีนโยบายที่ชัดเจน เพื่อให้เกิดช่องทางในการนำความเห็นเข้าสู่ศาลให้เป็นประโยชน์ต่อชาวบ้านมากที่สุด ให้อนุชาคุยกับ รมว. ยต. ว่ามีช่องทางไหนทำความเห็นไปที่ศาลว่าส่วนนโยบายก็มีการแก้ปัญหา

** นายอนุชาฯ ขอรับไปดำเนินการไปดำเนินการเพื่อให้ได้ข้อยุติ เสนอต่อกระบวนการยุติธรรมต่อไป 

## กรณีนางแสงเดือน ตินยอด อ.งาว จ.ลำปาง

** พล.อ.ประวิตร : มอบหมายให้อนุฯ ทส. พิจารณาแนวทางให้ความช่วยเหลือต่อไป

ขปส. : ต้นยางถูกตัด ไม่มีเงินไปประกันตัว หนี้สินจากภาระการดำเนินคดี ให้ อนุฯ ทส. ไปหาแนวทางเยียวยาผลกระทบด้วย

## กรณีบ้านทับยาง จ.พังงา

** พล.อ.ประวิตรฯ มอบหมายให้อนุฯ สาธารณประโยชน์และที่ดินปล่อยทิ้งร้างให้มีข้อยุติโดยเร็ว


6. โครงการนำร่องธนาคารที่ดิน และการดำเนินงานของ บจธ.

** พล.อ.ประวิตรฯ รับประเด็นของ ขปส. ไปศึกษาหาแนวทางตามโมเดลนำร่องธนาคารที่ดิน 5 พื้นที่ มอบหมายสำนักงบประมาณรับไปพิจารณาในประเด็นขอรับการจัดการ จัดซื้อที่ดินของ บจธ. แล้วรายงานผลให้รัฐบาลรับทราบต่อไป รวมถึงเรื่องแก้บอร์ด บจธ. ย้ำว่า บจธ. ทำได้


7. เรื่องสิทธิสถานะ

** พล.อ.ประวิตรฯ มอบหมายให้อนุฯ สิทธิสถานะดำเนินการ


8. กรณีโครงการของรัฐที่กระทบต่อชุมชน

 ** พล.อ.ประวิตรฯ มอบหมายอนุฯ กษ. ให้มีกรอบรายงานที่ชัดเจน รายงานผลต่อไป


9. รัฐสวัสดิการ

ขปส. : ได้ดูจากมติที่ประชุม คิดว่ายังไม่ได้ตรงกับข้อเรียกร้องทั้ง 15 ข้อเรียกร้องของเรา ในส่วนของ ขปส. ยืนยันตามข้อเรียกร้องเดิม ยืนยัน 9 ด้านทั้งหมด ที่เรานำเสนอเรื่องนี้เนื่องจากว่าในสถานการณ์โควิด-19 คนยากจนมีเพิ่มเกือบ 5 ล้านคนแล้ว หนี้สินครัวเรือนของเราเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ของ GDP คนว่างงาน 8 แสนกว่าคน เราจึงคิดว่าข้อเสนอทั้ง 9 ด้านของเรามีความสำคัญในการยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งหมด มีเรื่องเร่งด่วนประมาณ 2 เรื่อง เป็นเรื่องเกี่ยวกับกลไกการแก้ไขปัญหาด้วยเหมือนกัน เรื่องแรกคือเรื่องนโยบายบำนาญประชาชน การที่เราจะยกรดับเบี้ยยังชีพของประชาชน พวกเราได้ทำกฎหมายขึ้นมาเพื่อนำเสนอว่าเราจะทำระบบบำนาญประชาชน ปัจจุบันกฎหมายฉบับนี้ กมธ. ได้พิจารณาเสร็จแล้วร่วมพรรคการเมืองทุกพรรค เราจึงนำเสนอเรื่องเร่งด่วนว่า กฎหมายมาถึงท่านนายกรัฐมนตรี ก็อยากให้ท่านนายกรัฐมนตรีลงนามรับรองต่อไป 

** ทั้งนี้อยากให้ชะลอกฎหมายของ พม. ที่มีแนวทางที่ยกเลิกเบี้ยยังชีพแบบถ้วนหน้าให้เป็นแบบสังคมสงเคราะห์ และอนุกรรมการฯ ผู้สูงอายุที่จะจ่ายเบี้ยยังชีพแค่กับคนยากจนเท่านั้น เราขอให้ชะลอหรือยุติแนวทางการดำเนินการไปก่อนเพราะจะเป็นการผลักภาระให้กับประชาชน สอง เรื่องเร่งด่วน เงินสวัสดิการ เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็ก ถ้าเรื่องที่เกี่ยวกับกลไก ฝ่ายเลขาของกระทรวงการคลังก็นำเสนอมา ในกรณีเรื่องที่เกี่ยวข้องทั้ง 9 ด้าน แต่เรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลังก็ได้มีการนำเสนอพิจารณาที่มีกลไกติดตามเรื่องนี้ เราเห็นว่าที่เกี่ยวกับของ พม. เราเสนอให้ตั้งอนุกรรมการฯ ขึ้นมาอีกชุดภายใต้คณะกรรมการชุดนี้ ซึ่งท่านอนุชาก็รับจะดำเนินการเรื่องนี้

** สรุป: ให้กระทรวงการคลังรับไปพิจารณา


10. กลุ่มแม่สอดรักษ์ถิ่น

กระทรวงการคลัง : ควรตั้งกรรมการ แต่ให้ สปน. เป็นคนตั้งได้หรือไม่ เนื่องจากกระทรวงการคลังเป็นคู่กรณีในศาล เพิ่อให้เกิดการตรวจสอบ คิดว่าใช้หลักของการบริหารราชการแผ่นดิน ให้มี สปน. เป็นผู้ตรวจสอบเอง

** พล.อ.ประวิตรฯ ให้กระทรวงการคลังพิจารณา อำนาจหน้าที่เป็นของกระทรวงการคลัง กรณีย่อย ข้อเสนอเชิงนโยบายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

10.1 ยุติทวงคืนผืนป่า มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาหาแนวทางแก้ปัญหาให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า ภายใต้กรอบกฎหมายต่อไป

10.2 มาตรการคุ้มครองพื้นที่โฉนดชุมชน โยนเข้า คทช.

10.3 ทบทวนมติ ครม. 26 พ.ย. 2561 โยนเข้า คทช.

10.4 ทบทวน พ.ร.บ.ป่าไม้ 3 ฉบับ โยนเข้า คทช. รับหลักการให้มีคณะกรรมการขึ้นมารับผิดชอบ

10.5 มติ ครม. 2 มิ.ย. 2553 และ มติ ครม. 3 ส.ค. 2553 โยนเข้า คทช.


11. สัดส่วนคณะอนุกรรมการและคณะทำงาน

11.1 คณะอนุกรรมการประสาน เร่งรัด ติดตาม การแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมและขับเคลื่อนนโยบาย 9 ด้าน รับหมด 

11.2 คณะทำงานศึกษาร่างกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรม รับหมด

11.3 คณะทำงานแก้ไขปัญหาและศึกษาแนวทางการจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน รับหมด

11.4 คณะอนุกรรมการกะเหรี่ยงชาวเล ให้เพิ่มผู้แทน วฒ. และ คทช. เข้าเป็นอนุกรรมการ


## สรุป: มอบหมายให้อนุชา นาคาศัย ไปดำเนินการหารือสัดส่วนคณะอนุกรรมการและอนุทำงาน ซึ่งจะรีบดำเนินการ มีการเสนอว่าให้มีกรอบเวลา 7 วัน ได้มีการมอบหมายให้ฝ่ายเลขาไปพิจารณา


12. ให้ ครม. มีมติเห็นชอบพัฒนาสาธารณูปโภคในที่ดินทุกประเภท

ขปส. : เราอยู่ในที่ดินของรัฐ ไม่มีประปา ไฟฟ้า ถนน ทะเบียนบ้าน อยากให้มีหลักประกัน ครอบคลุมทุกพื้นที่ของ ขปส. และชุมชนอื่นๆ ที่อยู่ในที่ดินของรัฐ รวมทั้งพื้นที่ที่มีข้อพิพาทด้วย

** พลเอกประวิตรฯ มติที่จะเข้า ครม. ต้องผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่รับผิดชอบ เราจะนำปัญหาให้ ครม. รับทราบได้ แต่การเห็นชอบต้องผ่านกระทรวงมหาดไทยก่อน ถ้าเป็นมติกว้างๆ จะไม่เห็นผล

** ปลัด ทส. : ทส. ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้รวบรวมข้อมูลมาแล้ว อยู่ระหว่างการดำเนินการ 24 กรณี ส่วน 29 กรณีให้ไปหาเจ้าภาพ เช่น ท้องถิ่น การประปา การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ส่วนทาง ทส. จะดูแลพี่น้อง มอบหมายเสกสกล อัตถาวงศ์ ไปประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป

ขปส. : ถ้าเป็นนโยบาย ให้คณะกรรมการเห็นชอบ ส่วนระดับการทำงาน ให้แต่ละหน่วยงานดำเนินการแล้วจัดประชุม เช่น ทสง ส่วนกระทรวงอื่นๆ ให้อนุชาติดตามการแก้ไขปัญหา 9 ด้านจัดประชุมว่าแต่ละเรื่องคืบหน้าอย่างไร หารือเพื่อให้ ครม. เห็นชอบ

** พล.อ.ประวิตรฯ ผมสั่งการไปที่หน่วยงานรับไปดำเนินการโดยตรงแล้ว ถ้าเร่งด่วนจะทำให้เร่งด่วน เพราะเป็นโครงสร้างขั้นพื้นฐาน อะไรที่เร่งได้ก็เร่งไป (กระทรวงทรัพยากรฯ + กระทรวงมหาดไทย) ทั้งนี้กรณีชาวเลเกาะจำ จ.กระบี่ มอบหมาย ทส. ไปดำเนินการ


13. แก้ไขปัญหาที่ดินของรัฐทุกประเภท

ขปส. : อยากให้เกิดกลไกการหารือปัญหารายกรณีด้วยภายใน 2-3 วันนี้

** พล.อ.ประวิตร : ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบรับไปดำเนินการแล้วรายงานไปที่นายอนุชา นาคาศัย แล้วรับไปดำเนินการต่อ ตนเป็นคนกำหนดเวลาการประชุมไม่ได้ อนุฯ แต่ละกระทรวงต้องกำหนดเอง ผมทำได้แค่เร่งรัด ถ้าขัดข้องก็ให้รายงานคณะกรรมการฯ ชุดใหญ่


14. แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและกะเหรี่ยง

** พล.อ.ประวิตรฯ  มอบหมายให้อนุฯ กะเหรี่ยงชาวเล พิจารณาให้ความเห็นเกี่ยวกับการยกระดับการแก้ไขปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ หากสมควรให้มีการยกระดับการแก้ไขปัญหากรณีดังกล่าว และให้พิจารณาองค์ประกอบและบทบาท จัดทำร่างคำสั่งดังกล่าวแจ้งให้คณะกรรมการฯ รับทราบ นำเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อให้พิจารณาต่อไป

ขปส. : เรื่องมติ ครม. เป็นเรื่องวัฒนธรรม แต่อนุฯ ของกะเหรี่ยงชาวเลเป็นแค่เรื่องที่ดิน ที่อยู่อาศัยเท่านั้น แต่มันมีปัญหาหลายเรื่อง เช่น เรื่องการศึกษา เรื่องคุณภาพชีวิต ควรให้ สปน. หารือกับ ขปส. ไม่ต้องไปย้อนไปที่ ทส.

** พล.อ.ประวิตรฯ มอบหมาย สปน. รับผิดชอบ


15. แต่งตั้งคณะกรรมการอิสระแก้ปัญหากะเหรี่ยงบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และคดี

ขปส. : เสนอให้ชะลอการดำเนินคดี และร่างคำสั่งแต่งตั้ง ขอทราบความคืบหน้าจาก สปน.

สปน. : เรื่องที่กราบเรียนท่านนายกรัฐมนตรียังไม่ลงมา รอบัญชาอยู่

ขปส. : เรื่องนี้อยู่ในความสนใจของสาธารณะ ฉะนั้นฝ่ายเลขาฯ ต้องเร่งติดตาม เร่งรัด เพราะผ่านมาเดือนกว่าแล้ว

** สปน. : ในระหว่างรอคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระฯ ขอให้ชะลอคดี

** อนุชา : ในส่วนของการชะลอหรือการดำเนินคดี ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับเรื่อง หรือพิจารณาขั้นตอน ไปดูส่วนข้อกฎหมายที่จะได้ดำเนินการต่อไป เป็นการชะลอเพื่อดูผลของการศึกษากฎหมาย

ขปส. : เรามีนโยบายด้านการนิรโทษกรรมคดีป่าไม้ที่ดินอยู่แล้ว ก็สอดคล้องกับนโยบายนั้น เราควรมีมติว่าให้การแก้ไขปัญหาของคณะกรรมการอิสระฯ ที่ท่านนายกรัฐมนตรีดำเนินการ ให้ชะลอคดีไปก่อน

** พล.อ.ประวิตรฯ ให้ฝ่ายเลขานุการรับไปดำเนินการชะลอคดี


ทั้งนี้กลุ่มมีความพึงพอใจในผลการประชุมหารือในระดับหนึ่ง 


นอกจากนี้ที่ด้านหน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชภัฏพระนคร เวลา 11.45 -11.58  น. มีการเสวนาของกลุ่มฯ เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปและการเมือง (คปสม.) สลับกันกล่าวปราศรัย ถึงความเดือดร้อน อาทิเช่น กรณีทางรถไฟที่รัฐเวนคืนที่ดินจึงทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่เกิดความเดือดร้อน ซึ่งรัฐมีการไล่ที่อยู่แต่ไม่รองรับที่อยู่ให้ประชาชน จึงอยากให้ ครม.มีมติช่วยเหลือเยียวยากับชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน ตามสมควร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับทางกลุ่มฯ 


#พีมูฟ #UDDnews #ยูดีดีนิวส์