วันพฤหัสบดีที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2565

ครช. ยัน! พ.ร.ก.ฉุกเฉินยังค้ำชูรัฐเผด็จการ พร้อมยื่นตรงศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หลังผู้ตรวจการแผ่นดิน ไม่เดินงานแต่สั่งยุติเรื่อง

 


ครช. ยัน! พ.ร.ก.ฉุกเฉินยังค้ำชูรัฐเผด็จการ พร้อมยื่นตรงศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หลังผู้ตรวจการแผ่นดิน ไม่เดินงานแต่สั่งยุติเรื่อง

     

วันนี้ (27 ม.ค. 65) คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชลิตา บัณฑุวงศ์ นักวิชาการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย เดินทางเข้ายื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในประเด็นว่าพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ หลังจากได้ยื่นให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน เมื่อปลายปี 2564 และผู้ตรวจการแผ่นดินยุติเรื่อง ไม่ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและตามกฎหมายเมื่อผู้ตรวจการยกคำร้องต้องยื่นตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 90 วัน


โดยตัวแทน ครช. ต่างสะท้อนปัญหาการบังคับใช้และมองว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นเครื่องมือของรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ใช้จำกัดสิทธิเสรีภาพและควบคุมผู้เห็นต่าง และระบุถึงสาเหตุที่ต้องมายื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า


เมื่อเดือนกันยายน 2564 ที่ผ่านมา ครช. ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ก่อน “ยุติเรื่อง” โดยอ้างว่าพ.ร.ก. ฉุกเฉินเป็นกฎหมายที่มีความจำเป็นแก่การรักษาความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงสามารถบัญญัติจำกัดหรือยกเว้นสิทธิหรือเสรีภาพบางประการได้ และยังอ้างว่ามาตรการใน พ.ร.ก. ฉุกเฉิน สำหรับการเยียวยาประชาชนจากความเสียหายก็เพียงพอแล้ว โดยผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ได้ตอบหรือให้คำอธิบายต่อประเด็น ข้อสังเกต และข้อโต้แย้งที่ ครช.นำเสนอไปซึ่งชี้ให้เห็นว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินขัดกับรัฐธรรมนูญ 


ตัวแทน ครช. ย้ำว่า ไม่อาจเห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินเช่นนั้นได้ ดังนั้นในปี 2565 นี้ ครช.จึงเดินหน้าใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในการยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง ซึ่งจะได้พิสูจน์กันอีกครั้งว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะยังคงทำหน้าที่ในการพิทักษ์และคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของคนไทยมากน้อยแค่ไหน หรือเลือกรักษากฎหมายนี้ไว้เพื่อรักษาอำนาจอันเบ็ดเสร็จ เด็ดขาด และไร้หลักเกณฑ์ของรัฐ


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชลิตา ระบุว่า ตนเคยโดนเอาผิดตามพ.ร.บ.ฉุกเฉินฯ เเละขอเป็นตัวแทนผู้โดนคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินทุกคน ในฐานะผู้ร้องที่มายื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้ ซึ่งเห็นว่าในหลายมาตราของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่บังคับใช้นั้น ขัดกับรัฐธรรมนูญอีกหลายมาตรา แม้ผู้ตรวจการแผ่นดินจะยกคำร้อง แต่ ครช.มีข้อกังขาและการปฏิบัติการภายใต้อำนาจ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ของเจ้าหน้าที่นั้น มีการละเมิดสิทธิ์และซ้อมทรมานผู้ถูกกล่าวหามากมาย โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งผู้ช่วยศาสตาจารย์ ชลิตา เคยโดนคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินจากการเป็นวิทยากรในพื้นที่ด้วย พร้อมยืนยันว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นอุปสรรคสำคัญในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนใต้ ไม่ใช่ทางออกจากความขัดแย้งแต่อย่างใด


ส่วนนายสมยศ ยืนยันว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถูกนำมาใช้เพื่ออำนาจเผด็จการ เพราะไม่น้อยกว่า 90% ผู้ถูกดำเนินคดีมาจากการแสดงออกทางการเมือง ไม่ได้เกี่ยวกับการควบคุม Covid 19 ตามที่ผู้มีอำนาจกล่าวอ้าง และการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินตลอด 15 ปีของไทย ส่วนมากเป็นการใช้เพื่อปราบปรามจับกุมผู้เห็นต่างมากกว่าควบคุมโรคติดต่อหรือเรื่องอื่น ๆ พร้อมยกตัวอย่างด้วยว่า การฆ่าคนเสื้อแดงตายกลางถนนกว่า 99 ศพ ก็มาจากอำนาจของพ.ร.ก.ฉุกเฉินนี้ด้วย ดังนั้น จึงเห็นว่าการดำรงอยู่ของพ.ร.ก.ฉุกเฉิน คือการดำรงอยู่ของรัฐเผด็จการ


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์