“ธิดา”
เตือนจารีตนิยม/ผู้มีอำนาจให้ย้อนมองอดีต ย้ำชัดว่า ยิ่งปราบปราม ประชาชนยิ่งเคียดแค้น
ยิ่งทำให้การต่อสู้ยกระดับขึ้น!
เมื่อวันที่
17 มี.ค. 63 อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ ได้กล่าวในการทำเฟซบุ๊คไลฟ์ว่า วันนี้เรามาพบกันในช่วงเวลาที่มีข่าวมากมาย
ไม่ว่าจะเป็นรัฐสภา ซึ่งเวลาที่ดิฉันกำลังพูดอยู่นี้หลายท่านก็กำลังชมเวทีรัฐสภาซึ่งกำลังจะมีข้อตกลงว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่จะเป็นอย่างไร
ขณะเดียวกันนอกเวทีรัฐสภา
บรรดากลุ่มแกนนำของเยาวชนทั้งหลายที่ถูกจับกุมคุมขัง ก็มีเรื่องราวเกิดขึ้นในเรือนจำดังที่เราทราบกันแล้ว
ก็คือมีจดหมายของคุณอานนท์ออกมาว่าเขาไม่มีความเชื่อมั่นว่าเขาจะอยู่ได้ปลอดภัยในเรือนจำ
ซึ่งนี่เป็นภารกิจที่ทางรัฐบาล กระทรวงยุติธรรม และกรมราชทัณฑ์
จะต้องชี้แจงและต้องปฏิบัติอย่างถูกต้อง
ในท่ามกลางเรื่องราวทั้งในรัฐสภาและนอกรัฐสภา
ดิฉันในฐานะผู้ร่วมขบวนการต่อสู้ประชาชนมาเป็นลำดับ 40 กว่าปีแล้ว
ก็จำเป็นที่จะต้องเน้นหนักในเวทีนอกรัฐสภา
เพราะฉะนั้นในวันนี้ดิฉันจะมาคุยในปัญหาว่า
ย้อนรอยการจับกุมคุมขังและการไม่ได้รับการประกันตัวของแกนนำประชาชน!
อ.ธิดากล่าวว่า
นี่คือวิถีทางในการกำราบจัดการกับประชาชนที่ต่อสู้นอกรัฐสภา พูดง่าย ๆ
ว่าเขาก็ใช้สองขานั่นแหละ
ประชาชนก็สู้ทั้งในเวทีรัฐสภาและสู้นอกรัฐสภาอย่างสันติวิธีเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทย
ถ้าจะพูดว่ามันเป็นวิถีทางในการปฏิรูประบอบประชาธิปไตยของประชาชนก็ได้
พยายามต่อสู้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ว่าจะใช้กระบวนการรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญของผู้มีอำนาจ
และการต่อสู้นอกเวทีรัฐสภา
เป็นการต่อสู้บนท้องถนนหรือในสถานที่อื่นใดที่ไม่ใช่เวทีรัฐสภา
ประกอบกันเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยอย่างสันติวิธี
คำถามก็คือว่าในขณะนี้เราตั้งข้อสังเกตได้ว่า
ในเวทีรัฐสภานั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ดูจะเป็นไปไม่ได้หรอก คือพูดง่าย ๆ
ว่ามันมาไกลจนกระทั่งจะเข้าวาระ 3 แล้ว ก็มีการเอาส่งศาลรัฐธรรมนูญ
ซึ่งจะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการที่จะเป็นผู้ตัดสิน
เพราะเขาบอกว่าคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญใช้ได้กับทุกองค์กร ประมาณดูเหมือนจะกลายเป็นองค์กรเกือบจะเรียกว่าองค์กรสูงสุดหรืออย่างไร?
ฉะนั้นก็เป็นที่ถกเถียงกันว่าระหว่างอำนาจนิติบัญญัติ
อำนาจบริหาร ที่ยึดโยงกับประชาชน กับอำนาจองค์กรอิสระ
หรือกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน ถ้าอำนาจเหล่านั้นมีอำนาจสูงกว่า
ก็แปลว่านี่ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย ชัดเจน! เพราะถ้าเป็นระบอบประชาธิปไตย
อำนาจที่มาจากประชาชนต้องเป็นอำนาจสูงสุด
อ.ธิดากล่าวต่อไปว่า
ดิฉันจะไม่ย้อนรอยเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ
แต่ดิฉันจะมาย้อนรอยของการที่มีการจัดการแกนนำประชาชน
สิ่งเหล่านี้มันได้เกิดขึ้นมาครั้งแล้วครั้งเล่า ดิฉันย้อนไปให้ไกลสักหน่อยก็ยุคจอมพลสฤษดิ์
ธนะรัชต์ นี่ดิฉันไม่พูดเรื่องอุ้มฆ่านะ อุ้มฆ่า ถีบลงเขาเผาลงถัง ลงแม่น้ำโขง
หรือถีบลง หรือเผาที่ไหน แม้กระทั่งในต่างแดนอะไรก็ตาม ดิฉันยังไม่พูดเรื่องนี้
พูดเรื่องการจับกุมคุมขังโดยใช้อำนาจกฎหมายที่เขียนโดยรัฏฐาธิปัตย์และองค์กรที่เกี่ยวข้องกับรัฏฐาธิปัตย์ที่สืบเนื่องมาจากการทำรัฐประหาร
ถ้าย้อนไปถึงสมัยยุคจอมพลสฤษดิ์
สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นมีการจับกุมคุมขังนักการเมือง นักหนังสือพิมพ์
ปัญญาชนเป็นจำนวนมาก แต่ในยุคจอมพลสฤษดิ์นั้นที่บางเขนจัดคุกสำหรับฝ่ายการเมืองต่างหากเลย
ยุคนั้นก็มี คุณจิตร ภูมิศักดิ์, คุณอุดม ศรีสุวรรณ, คุณทองใบ ทองเปาด์
และคนเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านคูซอด และรวมทั้งเลขาธิการพคท. และอื่น ๆ เพราะว่ามันมีกบฏสันติภาพก็มีคุณอุทธรณ์
พลกุล นักหนังสือพิมพ์เป็นจำนวนมากด้วย อ.ธิดากล่าว
ในยุคจอมพลสฤษดิ์ก็เท่ากับว่าสร้างเรือนจำพิเศษที่อยู่ที่บางเขน
คุณแม่ของคุณจิตร ภูมิศักดิ์ ก็ยังต้องมามีบ้านอยู่ใกล้ ๆ เรือนจำบางเขน
ที่พวกเรารู้จักกันดีอยู่ตอนนี้ มีเรือนจำพิเศษ มีเรือนจำคลองเปรม มีเรือนจำทัณฑสถานหญิงกลางรวมอยู่พื้นที่จำนวนมาก
สมัยนั้นก็มีพื้นที่หนึ่งซึ่งกันไว้สำหรับปัญหาทางการเมืองโดยเฉพาะ
ในยุคนั้นเป็นยุคซึ่งมีปัญหาระหว่างค่ายสังคมนิยมกับค่ายเสรีประชาธิปไตย
ดังนั้น ใครที่จะออกแนวซ้ายหน่อย หรือแค่ไปเที่ยวเมืองจีน แม้กระทั่งสมเด็จที่วัดมหาธาตุ
ท่านก็ถูกจับกุมคุมขังด้วย แต่ผลพวงที่เกิดขึ้นคือเกิดการต่อสู้ด้วยอาวุธของพคท.
อันนั้นเป็นผลพวงจากการจับแหลก!
ดิฉันก็พูดย้อนแค่นี้ว่า
โอเค
ดูเหมือนการจับก็คิดว่าเพื่อที่จะจัดการกับพวกฝ่ายซ้ายไม่ให้มีการเผยแพร่ความคิดฝ่ายซ้ายในประเทศไทย
แล้วผลคือกลายเป็นฝ่ายซ้ายสู้ด้วยอาวุธเลย กลายเป็นพคท.ก็เกิดขึ้นมาแล้วยิ่งใหญ่พอสมควรในยุคนั้น
แล้วมีการสู้รบมาโดยตลอด
นี่คือผลพวงของการเข้าใจว่า
จับมาก ปราบมาก แล้วมันจะหมดสิ้นการต่อสู้!
ทีนี้ย้อนมายุค
14 ตุลา 16 นิดหน่อย ก็เรียกว่ามีการจับกุมได้ไม่กี่วัน
ผลที่เกิดขึ้นจากการจับกุมพวกที่ไปเผยแพร่รัฐธรรมนูญ มีคุณไขแสง สุกใส ไปร่วมด้วย มี
13 กบฏรัฐธรรมนูญ มีคนที่ไปแจกใบปลิว จับได้อยู่ไม่กี่วันก็เกิดขบวนการ 14 ตุลา
ขึ้นมา ก็กลายเป็นว่าจอมพลถนอม กิตติขจร อยู่ไม่ได้ แล้วก็มีการปราบปรามน เกิดการเดินขบวนครั้งยิ่งใหญ่
13 ตุลา คนแน่นขนัด พอวันที่ 14 ตุลา ประหนึ่งเกิดการจลาจลของมวลชนจนควบคุมไม่ได้ ในที่สุดจอมพลถนอมก็ออกไป
สมัยจอมพลสฤษดิ์นั้นไม่ได้ถูกออกไป
ก็ยังอยู่จนเสียชีวิต แต่ว่าได้ทำให้เกิดการต่อสู้และการขยายการต่อสู้ของประชาชนด้วยอาวุธยาวนานมาจนกระทั่งถึงปี
2526 เป็นเวลา 25-26 ปี ของการต่อสู้ด้วยอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
(พคท.)
นั่นก็คือการปราบ! ยิ่งปราบ...ก็ยิ่งทำให้การต่อสู้ยกระดับสูงขึ้น
14
ตุลา 16 การต่อสู้ก็ยกระดับ แต่ว่าการยกระดับครั้งนี้
เนื่องจากฝ่ายพลเรือนจารีตนิยมมาร่วมด้วย
ดังนั้นก็เกิดระบอบที่เรียกว่ามีความก้าวหน้าในการดึงอำนาจจากเผด็จการทหารมาสู่ในมือประชาชนมากขึ้นกว่าเดิม
แต่ก็ยังอยู่ในกลุ่มก้อนของชนชั้นนำอนุรักษ์นิยม
อ.ธิดากล่าวว่า
ดิฉันก็จะไม่พูดถึงผลจากนั้น มาไว ๆ ถึงปี 53 เพราะว่าปี 35 มันก็มีการจับกุมคุณจำลอง
ศรีเมือง โดยฝ่ายทำรัฐประหาร และในที่สุดก็กลายเป็นการที่ในหลวง ร.9
ท่านก็เรียกไปพบและคุยกันระหว่างจำลอง ศรีเมือง กับ พล.อ.สุจินดา คราประยูร
ผู้นำคณะรัฐประหาร ผลที่เกิดขึ้นก็คือฝ่ายประชาชนที่เรียกร้องรัฐธรรมนูญ
เรียกร้องระบอบประชาธิปไตย และไม่ต้องการการสืบทอดอำนาจ ต้องถือว่าเป็นชัยชนะ (แม้จะชั่วคราว)
และนี่คือที่มาของรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ทุกคนภาคภูมิใจ
นับจากบัดนั้น
เมื่อประชาธิปไตยทำท่าเติบใหญ่ มันก็กลายเป็นศัตรูตัวเอ้
คือพรรคการเมืองของนายทุนคนใหม่ที่เติบโตขึ้นมา ถ้าเราจะย้อนที่ใกล้ที่สุดก็คือ
หลังจากความสำเร็จของพรรคการเมืองของนายทุนรุ่นใหม่
กระบวนการในการจัดการกับผู้นำพรรคและแกนนำประชาชน ซึ่งต่อต้านการรัฐประหาร
ต่อต้านการยึดอำนาจของพรรคการเมือง
เมื่อต่อต้านการรัฐประหารก็ถูกเหมารวมว่าเป็นผู้สนับสนุนทุนที่เรียกว่าทุนสามานย์
อย่างไรก็ตามเรื่องราวดำเนินมาว่า
ในที่สุดจากปี 2549 แม้คุณจะยึดอำนาจ แม้คุณจะเขียนรัฐธรรมนูญใหม่
(ซึ่งเหมือนกับตอนนี้) มีการฉีกรัฐธรรมนูญ 40 ที่ประชาชนภาคภูมิใจ
แล้วมาเขียนรัฐธรรมนูญ 50 แล้วมีความพยายามจะแก้รัฐธรรมนูญ 50 โดยรัฐสภา
ก็ไม่สำเร็จ!
ในที่สุดก็กลับมาย้อนรอย คือพยายามแก้จนถึงวาระ 3
(ดิฉันข้ามรัฐบาลต่าง ๆ มาเลยนะ) เหมือนทุกวันนี้ อ.ธิดากล่าว
แต่หลังจากปี
53 แกนนำคนเสื้อแดง แกนนำนปช. และผู้ที่ร่วมขบวนถูกจับกุมคุมขังเป็นจำนวนมาก
ดิฉันจึงเน้นการย้อนรอยตรงนี้ว่า ในปี 53 ซึ่งเป็นการปราบใหญ่ ผู้คนที่เสียชีวิต
แน่นอนถ้าเรารวมทหารไปด้วยอีกจำนวนหนึ่งก็ประมาณ 100 ศพ (ซึ่งจริง ๆ
มันมากกว่านั้น) ส่วนที่ตาย ส่วนที่บาดเจ็บ ส่วนที่ถูกจับกุมคุมขังเป็นจำนวนมาก
ที่เป็นพระก็ถอดจีวร เป็นผู้หญิงก็ลากไป
ถ้าใครมีภาพในช่วงนี้ซึ่งเป็นช่วงเวลาประมาณจะเข้าสู่ 11 ปี
ของการต่อสู้ของประชาชนในปี 2553
เฉพาะการจับกุมคุมขัง
หลายคนถูกจับกุมคุมขัง ยกตัวอย่างของ “จ๋า” นฤมล วรุณรุ่งโรจน์
ในกรณีที่ถูกข้อหาว่ายิงเฮลิคอปเตอร์ที่มาโปรยแก๊สน้ำตา
ในโลกนี้ไม่มีประเทศไหนเขาเอาแก๊สน้ำตามาโปรยด้วยเฮลิคอปเตอร์
อย่างมากเขาก็ยิงกระสุนที่เป็นแก๊สน้ำตาออกไปเท่านั้น แต่เมืองไทยมี “จ๋า”
ถูกจับกุมคุมขังอยู่เกือบปี แล้วในที่สุดศาลก็ยกฟ้อง แล้วไม่มีแม้กระทั่งจะชดเชย
แต่เธอมาถูกจับกุมคุมขังในคดีอื่นอีก
แกนนำนปช.ในขณะนั้นทั้งคุณวีระกานต์,
คุณณัฐวุฒิ, คุณหมอเหวง, คุณก่อแก้ว, คุณนิสิต จำนวนมาก คือเกือบทั้งหมด
เขายุติการชุมนุมแล้วเดินไปมอบตัว แต่จับเลย แล้วทางนี้ก็ยังยิงประชาชนอีก
ประชาชนตายหลังจากแกนนำยุติการต่อสู้อีกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่วัดปทุมวนาราม
ดิฉันจะพูดเฉพาะประเด็นว่า
เมื่อจับกุมแกนนำนปช.ไปแล้ว ไม่ให้ประกันตัว ซึ่งคนที่เดินไปมอบตัววันนั้นก็มี
ในส่วนที่ไม่ใช่ ส.ส. คุณจตุพรนั้นได้เอกสิทธิ์ส.ส. ส่วนคนอื่นเขาไปมอบตัวก็เรียกว่าจับกุมคุมขังทันที
คุณวีระกานต์ออกจากที่ชุมนุมไป 2-3 วันแล้ว คุณก่อแก้วก็เช่นกัน
คุณหมอเหวงนั้นอยู่ตอนสาย แต่ ณ เวลาบ่ายตอนนั้นไม่ได้เดินไปมอบตัวที่นั่น
แต่ทั้งคุณวีระกานต์, คุณหมอเหวง, คุณก่อแก้ว วันรุ่งขึ้นก็ไปมอบตัวเอง
พร้อมกับคำพูดลม ๆ แล้ง ๆ ของคนที่ประสานงานว่าอยู่กันอย่างมากก็อาทิตย์หนึ่ง
เพราะว่าในท่ามกลางการเจรจาก่อนหน้าที่จะมีการยุติการชุมนุมนั้น
มีการพูดกันว่าจะให้การประกันตัว ยกเว้นคนบางคนเท่านั้น
แต่ในความเป็นจริงมันไม่ใช่ เพราะถ้าไปอ่านเสนาธิปัตย์
เขาก็จะอธิบายเลยว่ารัฐบาลชุดนั้น (อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ไม่ได้ตั้งใจที่จะให้ยุติการชุมนุมด้วยการเจรจา
แต่ด้วยการปราบปรามเท่านั้น!
นี่แสดงว่า
กลุ่มขุนนางพลเรือน กับกลุ่มขุนศึก เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
และเขาถือว่านี่เป็นความสำเร็จยิ่งใหญ่สำหรับการรบในเมืองที่ไม่มีใครสู้รบด้วย
ตัวเองรบอยู่ข้างเดียว แต่ใช้คำว่า “การรบในเมือง”
ดังนั้น
เบ็ดเสร็จ 9 เดือน ที่แกนนำนปช.ถูกคุมขัง ดิฉันมองเห็นภาพที่ทุกวันนี้เด็ก ๆ
พ่อแม่ และรวมทั้งทนาย วันสองวันก็ไปยื่นประกันที
เมื่อวานก็เพิ่งยื่นประกันอีกก็ไม่ได้ คำตอบเหมือนกัน
ยังไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลง แต่ตอนยุคของแกนนำนปช.อาจจะไม่ได้บอกว่า “เกรงว่าจะไปทำซ้ำอีก”
เพราะรู้ว่าคงทำไม่ได้หรืออย่างไร?
แต่ดิฉันเห็นเด็ก
เยาวชน ที่ไม่ได้รับการประกันตัวครั้งแล้วครั้งเล่า
ก็ทำให้ดิฉันหวนคิดไปถึงเหตุการณ์ที่ประสบกับตัวเองในปี 53
จากเดือนพฤษภาคมมาจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 64 สิ่งที่เกิดขึ้นในระหว่างนั้น ผู้คนเจ็บปวด
ดังนั้นเราสามารถที่จะจัดการชุมนุมประท้วงได้ตลอดเลย ทุกเดือน
อาจจะจัดที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย บางทีก็มาจัดที่ราชประสงค์
ชุมนุมราชประสงค์เดินมาอนุสาวรีย์ฯ ชุมนุมอนุสาวรีย์ฯ ก็เดินไปราชประสงค์
ในช่วงปลายปี
จาก พ.ค. – ธ.ค. 53 ไม่มีรักษาการประธานนปช. (อ.ธิดามาเป็นรักษาการประธานนปช.เมื่อ
1 ธ.ค. 53 จนกระทั่งมาถึง ก.พ. 57) สิ่งที่เราพยายามด้านหนึ่งก็คือการประกันตัว
จนกระทั่งถึงช่วงที่ดิฉันมาเป็นประธานนปช. ประชาชนไม่ได้ถอยเลย ขนาดเราไม่มีเทคโนโลยี
เรียกชุมนุมประชาชนก็มา มากันเองเต็มแน่นขนัดไปหมด
ในช่วงแรกก็อาจจะมี
“หนูหริ่ง” สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด
ในขณะที่แกนนำนปช.นั้นกำลังวุ่นวายอยู่กับเรือนจำอะไรต่าง ๆ
หนูหริ่งก็ออกไปทำกิจกรรมผูกผ้าแดงบ้างอะไรบ้าง แต่พี่น้องประชาชนนั้นไปเต็มไปหมด
แปลว่าคุณจำแกนนำไป
แต่ประชาชนเขายังสู้อยู่ ประชาชนไม่ได้ถอยเลย แล้วทำให้ประชาชนมีความเคียดแค้นมาก
ประชาชนมีการขับเคลื่อนตลอด แม้กระทั่งหน้าศาล ถามว่ามันยังมีอารมณ์แบบนั้นไหม?
ดิฉันจะบอกให้เลยว่า เมื่อตอนที่พรรคเพื่อไทยออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
(นิรโทษทั้งหมดแบบสุดซอย) คนเสื้อแดงไม่ยอม
เพราะเขายังเจ็บปวดกับการถูกกระทำตั้งแต่ปี 53 คือเขาไม่สนใจ แกนนำติดคุกก็ติดไป
แต่คนรับผิดตอบต่อการตายของประชาชนต้องรับผิดชอบ พูดง่าย ๆ
ว่าจะให้กฎหมายไม่เอาผิดกับคนที่ฆ่าประชาชน เขารับไม่ได้! แปลว่าความเจ็บแค้นต่าง
ๆ เหล่านี้ยังมีอยู่โดยไม่มีใครไปยุยง มันเกิดขึ้นกับเขาเอง
เพราะฉะนั้น
9 เดือน หมอเหวงก็คนในครอบครัวเดียวกัน ด้านหนึ่งเราก็ต้องทำงานในฐานะประธานนปช.
อีกด้านหนึ่งเราก็ต้องดูแลการประกันตัวและรวมทั้งพี่น้องในเรือนจำทั้งหมด
ซึ่งต้องดูแลกันว่าจะประกันตัวอย่างไร ในช่วงเวลายาวนานถึง 9 เดือน
มีการยื่นประกันตัวหลายสิบรอบ
ถ้าดิฉันประเมิน
ฝ่ายคณะผู้มีอำนาจนำทั้งหลาย จะเป็นขุนนาง ขุนศึก หรือจะเป็นอะไรมากกว่านั้นก็แล้วแต่
ในเชิงความคิดในการจัดการกับคนที่เห็นต่างและต้องการรักษาอำนาจก็จะใช้ความคิดแบบเดียวกันเต็มสูบ
ก็คือจัดการแกนนำ ปราบปราม ทั้งหมดนี้คืออะไรรู้ไหม? ดูถูกประชาชน!
ดิฉันจะบอกให้ว่า
คุณจับไป แน่นอนประชาชนก็สนใจแกนนำ เหมือนกับคุณทักษิณ ประชาชนและนปช.ไม่ได้ออกมาตอนที่คุณทักษิณต้องถูกยึดทรัพย์นะ
หรือไม่ได้ออกมาตอนที่พรรคเพื่อไทยถูกยุบนะ
แต่เป็นการต่อสู้ของประชาชนเพื่อต่อต้านรัฐประหาร ต่อต้านการสืบทอดอำนาจ
และทวงความยุติธรรม ทั้งหมดคืออย่างนี้
ดังนั้น
คุณอาจจะพยายามจัดการกับแกนนำเหมือนดังที่ดิฉันพูดไว้ตั้งแต่ในยุคจอมพลสฤษดิ์แล้วก็ไล่มา
เขารักแกนนำ เขาสงสารแกนนำ แต่ความรักที่ยิ่งใหญ่กว่าคือความรักในอุดมการณ์
ความรักในความยุติธรรมและเรียกร้องต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ให้อำนาจเป็นของประชาชนมันสูงเด่นกว่า!
ถ้าคุณคิดว่าคนออกมาสู้เพราะคุณทักษิณ
คนออกมาสู้เพราะแกนนำนปช. หรือแม้กระทั่งว่าคุณจัดการเก็บเพนกวิน เก็บอานนท์
เก็บรุ้งเข้าไป เขาเป็นเด็ก ๆ แท้ ๆ ไม่ว่าจะเป็นรุ้งหรือเพนกวิน
คุณคิดว่าถ้าคุณจัดการคนเหล่านี้แล้วขบวนการของประชาชนจะมลายหายไปเพราะว่าคุณเก็บแกนนำ
มันอาจจะเป็นไปได้บ้างจำนวนหนึ่ง แต่การต่อสู้ของประชาชน โดยเฉพาะในยุคใหม่
เรื่องของแกนนำนั้นมันเกิดแกนนำใหม่ก็ได้
สมัยคุณสนธิ
ลิ้มทองกุล มีคนปรามาสว่าคุณสนธิไม่ใช่แกนนำ ไม่เคยต่อสู้เลย
จะมานำประชาชนได้อย่างไร หรือมาคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นส.ส. ทำไมจะมาเป็นแกนนำ
แต่เขาก็ทำได้ หรือ อ.ธิดาไม่เคยขึ้นเวที บางคนก็ปรามาสเหมือนกัน
ก็ทำไมจะขึ้นไม่ได้ มันอยู่ที่ว่าเป้าหมายที่คุณต้องการนำเสนอและต่อสู้นั้นคนเขาเห็นด้วยไหม?
1)
มีแกนนำใหม่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
2)
ปรากฎการณ์ที่มีการนำโดยไร้แกนนำ
ก็มีความพยายามที่จะทำ
คือนำโดยเป้าหมาย นำโดยหลักการ นำโดยอุดมการณ์ ความจริงเพลงแสงดาวแห่งศรัทธา
ดิฉันได้ถามเลขาธิการพคท.ว่า ได้คุยกับคุณจิตร ภูมิศักดิ์ มีคนสงสัยว่าดาวของคุณจิตร
ภูมิศักดิ์ คืออะไร
ดาวที่พูดถึงในความหมายที่เป็นรูปธรรมในตอนนั้นก็คือพรรคที่ต่อสู้ด้วยอาวุธเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศ
หรือในความเป็นจริงก็คืออุดมการณ์นั่นแหละ เพราะฉะนั้น ตราบเท่าที่การต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ยังไม่สำเร็จ
แกนนำเปลี่ยนก็ได้ ไร้แกนนำก็ได้ วิญญาณของการต่อสู้มันยังอยู่
ถ้าคณะผู้มีอำนาจนำทุกวันนี้
คุณเอาคนไปเก็บในที่คุมขังนั้น คุณทำให้คนยิ่งเจ็บปวด คุณทำได้ยังไง
คุณทำให้ประชาชนรู้สึกว่าอันนี้มันแฟร์หรือเปล่า ในเมื่อศาลยังไม่ได้ตัดสิน สมมุติว่าเขาเจอข้อหา
112 ศาลอาจจะตัดสินว่าเขาไม่ผิดก็ได้ เด็กบางคนที่เขาแต่งตัวเป็นผู้หญิง
หรือบางคนอาจจะพูดอะไร คดี 112 อันที่จริงผู้พิพากษาที่ติดสินว่าจำเลยไม่ผิดก็มีจำนวนหนึ่ง
แต่หลายส่วนก็ตัดสินไปแล้ว ดิฉันก็คิดว่าเป็นเรื่องน่าเศร้าเช่น อากง (นายอำพล
ตั้งนพกุล) เป็นต้น
ไม่ว่าคุณจะเป็นขุนนางอนุรักษ์นิยม
หรือคุณจะเป็นขุนศึกจารีตนิยมก็ตาม ความเป็นคนอยู่ที่ไหน?
แล้วการให้ความเป็นธรรมแม้เขาจะคิดต่างกัน อันนี้ยังไม่รู้เลยว่าเขาผิดหรือเปล่า?
กฎหมายของพวกคุณนั่นแหละ กระบวนการของพวกคุณทั้งนั้นแหละ จับเขาเอาไปขัง
เขายังเป็นเด็กอยากกินขนม บางคนเขาก็สะเทือนใจ อย่าง “รุ้ง” เขาเห็นเพื่อนก็ถามกัน
“กูคิดถึงมึง” “มึงคิดถึงกู” เขาก็ร้องไห้ มีบางคนก็ไปว่าเขาจิตตก
ดิฉันคิดว่าไม่ใช่ แต่เขาสะเทือนใจ
“คน”
ไม่ว่าจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง บางทีดีใจเราก็ร้องไห้ สะเทือนใจเราก็ร้องไห้
เสียใจเราก็ร้องไห้ได้ แต่ดิฉันเชื่อว่าเขาแน่วแน่ในการต่อสู้และพี่น้องประชาชนก็เช่นกัน
ดิฉันไม่เห็นอะไรดีตรงไหน ไม่ดีกระทั่งพวกคุณ (พวกที่จับเขาเอาไปขังหรือไม่ให้ประกันตัว)
ประชาชนมีแต่จะยกระดับ เขาไม่ได้ยึดบุคคลนะ เขายึดเป้าหมาย อุดมการณ์
แกนนำเกิดขึ้นใหม่ได้ และสามารถทำการแบบที่ 2 คือ “ไร้แกนนำ”
คุณสามารถนำโดยไร้แกนนำ
ถ้ามีเป้าหมาย มีอุดมการณ์อย่างเดียวกัน
และคุณสามารถใช้เทคโนโลยีในการขับเคลื่อนโดยไร้แกนนำ ดีเสียอีก
เหมือนอย่างบางองค์กรในขณะนี้ ทำในสิ่งที่ขบวนการต่อสู้ในโลกนี้ไม่เคยทำ
โหวตเอาดื้อ ๆ นั่นแหละ มันก็ได้ผลในระดับหนึ่ง มันก็เป็นการทดลองในการเปลี่ยนแปลง
ขบวนการอาจจะได้ประโยชน์สั้น ๆ อาจจะไม่ได้ยาวนาน เพราะในยาวนานจริง ๆ แล้ว
การฝังความคิดในเชิงอุดมการณ์และการมีเครือข่ายจะได้ผลมากกว่า แต่ปัจจุบันนี้เครือข่ายทำได้โดยเทคโนโลยี
ไม่จำเป็นต้องเป็นเครือข่ายโดยคนแบบยุคโบราณ
ช่วงท้ายอ.ธิดากล่าวว่า “ดิฉันอยากจะเตือนมายังฝั่งคณะจารีตและผู้มีอำนาจในการนำพาประเทศทั้งหลายว่า สิ่งที่คุณทำไม่มีอะไรดี ไม่ดีสำหรับคุณด้วย คุณไปย้อนดูเหตุการณ์ในอดีตแบบที่ดิฉันย้อนรอยให้ฟัง มันมีแต่ทำให้ปัญหามากขึ้น ไม่ดีทั้งเป้าหมายของคุณเอง ไม่ดีทั้งภาพลักษณ์ มันโก้หรืออย่างไรที่ต่างประเทศ ในขณะนี้ทางเกาหลีของก็เรียกร้องเพราะว่า 2 คน (ไผ่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และ ทนายอานนท์ นำภา) ได้รับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน ไม่ดีกับภาพลักษณ์ น่าเกลียดมาก ถ้าคุณดีจริง คุณคิดว่าคุณถูกต้องจริง คุณแน่จริง คุณกลัวอะไรกับเด็ก เยาวชน น่าขายหน้ามากกว่า” อ.ธิดากล่าวในที่สุด