‘ธิดา’ มองการบังคับใช้ ม.112 และไม่ให้สิทธิประกันตัว
จะเป็นผลสะเทือนครั้งใหญ่ เพราะผู้คนจะสะเทือนใจกับการเสียสละของคนหนุ่มสาว พวกเขาเป็นดาว
คุณจะขังดาวทั้งฟ้าไม่ได้!
วันที่
9 มี.ค. 64 การทำเฟซบุ๊คไลฟ์ของ อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ
ในวันนี้เริ่มต้นด้วยการเตือนความจำว่าเรามีการสำรวจความคิดเห็นต่อนปช.ทั้งทางออนไลน์และผ่านผู้ประสานงาน
เรายังไม่เหมือนกลุ่ม REDEM ซึ่งโหวตใน Telegram อย่างรวดเร็ว
เพราะว่าคนของนปช.เป็นคนยุค Analog เกือบทั้งหมด เป็นยุค Digital ค่อนข้างน้อย ดังนั้นเราก็ให้เวลาสบาย ๆ
เพื่อที่จะได้มีเวลาครุ่นคิดและช่วยกันแสดงความคิดเห็นมาอีกที
เราจะปิดรับความคิดเห็นในวันที่ 12 มี.ค. นี้ จากนั้นก็เป็นเรื่องของยูดีดีนิวส์ที่จะนำเสนอผล
ส่วนการตัดสินใจต่าง ๆ ก็จะมีองค์ประกอบของคณะต่าง ๆ อีกทีหนึ่ง
แต่อันนี้เป็นการแสดงเจตจำนงของพี่น้องประชาชน
น่าจะเป็นสิ่งสำคัญที่ให้แง่คิดว่า การต่อสู้ของประชาชน คนเสื้อแดง และนปช.
ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ในยามที่องค์กรอยู่ในลักษณะเหมือน “เป็ดง่อย”
และมีปัญหาต่าง ๆ มากมายในเรื่องภาวะการนำ อาจจะไม่ได้รับความเชื่อถือหรืออะไรก็ตาม
แต่ก็น่ามหัศจรรย์มีความคิดเห็นในทางที่ยังให้องค์กรดำรงอยู่
ที่แล้วมามีค่อนข้างมาก แต่สุดท้ายเราก็มารับฟังกันอีกที
ก็เป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่อยากจะเรียนมายังท่านผู้ชมให้บอกกล่าวว่า
วันที่ 12 ก็จะเป็นวันสุดท้าย
กลับมายังสถานการณ์ปัจจุบัน
วันนี้ที่ดิฉันจะคุยก็คือ
การบังคับใช้มาตรา
112 และการไม่ให้สิทธิประกันตัว!
ชื่อประเด็นก็คือการบังคับใช้มาตรา
112 และการไม่ให้สิทธิประกันตัว แต่ที่ดิฉันจะพูดก็คือว่า แล้วมันจะมีปัญหาอะไร?
มีปัญหาอย่างไรกับสังคมไทย? มันจะเกิดอะไรขึ้น? เพื่อเป็นการคุยในปัญหาเฉพาะหน้า
ซึ่งก่อนหน้านี้เราก็คุยในเรื่องหลักการ เรื่องทฤษฎี เรื่องแนวทาง มามากพอสมควร
อีกประเด็นหนึ่งสืบเนื่องกันกับประเด็นนี้
ดิฉันอยากจะให้แฟนเพจของ อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ และเพื่อนในเฟซบุ๊ค ธิดา โตจิราการ
ได้ช่วยกลับไปดูสิ่งที่ดิฉันพูดเมื่อปีที่ผ่านมา จากการเสียชีวิตของท่านผู้พิพากษา
(ท่านคณากร เพียรชนะ) ดิฉันได้เปรียบเทียบกฎหมายรัฐธรรมนูญ 40 รัฐธรรมนูญ 50
รัฐธรรมนูญ 60 ในประเด็นของการที่จะมีโอกาสที่ตุลาการจะถูกแทรกแซงจากอำนาจอื่น ๆ
หรือเปล่า ถ้าพวกเราได้กลับไปดูอีกที เพราะดิฉันเปรียบเทียบได้ชัดว่าจากรัฐธรรมนูญ
40 ซึ่งต้องการให้อำนาจตุลาการเป็นอำนาจอิสระแทรกแซงไม่ได้ทั้งสิ้นนั้น
มารัฐธรรมนูญ 50 ถูกตัดในประเด็นเรื่องอำนาจการแทรกแซง แล้วพอมารัฐธรรมนูญ 60
ถูกตัดหมด ไม่พอ! ยังมีระเบียบ ซึ่งท่านผู้พิพากษาได้พูดออกมา
“คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา
คืนความยุติธรรมให้ประชาชน”
ตรงนี้ก็เรียกว่ามีระเบียบที่ชัดเจนว่าจะต้องมีการตรวจทานคำพิพากษาของผู้พิพากษา
จึงไม่น่าแปลกใจที่การเรียกร้อง “คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา” และการเรียกร้อง “คืนความยุติธรรมให้ประชาชน”
เสียงจึงดังมากขึ้นทุกวัน!
เราอย่าให้ผู้ที่สูญเสียไปแล้วโดยเฉพาะท่านผู้พิพากษาเป็นการสูญเสียเปล่า
กลับมาในประเด็นที่ตั้งเอาไว้ในวันนี้
ก็เป็นที่ชัดเจนว่าขณะนี้มีการตั้งข้อหา 112 กับเยาวชนและประชาชนเป็นจำนวนมาก
ก่อนหน้านี้ที่มีการยกเว้น ไม่มีการฟ้องร้อง 112 ชั่วระยะหนึ่งในปีก่อน ๆ
ที่ผ่านมา ณ บัดนี้ก็เข้าสู่ฤดูกาลใหม่ของการใช้มาตรา 112 กับประชาชน ควบคู่กับการไม่ให้ประกันตัวด้วย
เราอยากจะตั้งข้อสังเกตว่า
การใช้มาตรา 112 หลังการปราบปรามประชาชนในปี 2553 เป็นต้นมา ซึ่งมีคนจำนวนมากเจอข้อหา
112 ที่โด่งดังไม่ว่าจะเป็น อากง แม้กระทั่งบางคนที่ถูกคดีแล้ว 40 กว่าปี
ดิฉันอยากจะใช้คำว่ามันมาถึงฤดูกาลใหม่
และดูจะรุนแรงกว่าเดิมตรงที่เรียกว่าโอกาสที่จะได้ประกันตัวนั้น น้อยมาก หรือเกือบไม่มีเลย!
ดิฉันก็อยากจะกลับมาสู่เรื่องราวความเป็นจริงของปัจจุบันว่า
เมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านคิดว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นกับสังคมไทย
ในมุมมองของฝ่ายจารีตนิยมอำนาจนิยมก็อาจจะเป็นมุมมองที่คิดว่านี่เป็นการจัดการให้เด็ดขาด
ไม่มีเสี้ยนหนาม
รูปแบบของการจัดการเด็ดขาดแบบนี้มันก็ใกล้เคียงกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ดั่งเดิม
ประมาณว่าตัดหัวเจ็ดชั่วโคตร หรือใกล้เคียงกับระบอบเผด็จการ (ดิฉันใช้คำว่า “หรือ”
นะ) ที่ต้องการจัดการกับผู้ที่แข็งข้อให้หมดเสี้ยนหนาม
ซึ่งเผด็จการในที่นี้ไม่ว่าจะเป็นเผด็จการในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
เผด็จการทรราช หรือว่าเผด็จการนาซี เผด็จการฮิตเลอร์ หรือเผด็จการฟาสซิสต์ ก็ตาม
เพราะการดำรงอยู่นั้นอาจจะขาดความชอบธรรมหรือไม่สามารถที่
“ทำให้คนรัก” ได้ ก็เลยเกิดทฤษฎี “ทำให้คนกลัว” ขึ้นมา เรียกว่าเป็นการปกครอง
เพราะการปกครองจะมีอยู่ 2 อย่าง 1) ทำให้คนรัก 2) ทำให้คนกลัว
“คนรัก”
ก็จะไม่ต่อต้าน จะชื่นชม จะสนับสนุน นี่ก็เป็นความมั่นคง แต่ถ้าทำให้คนรักไม่ได้
ก็ต้องทำให้คนกลัว
นี่เป็นระบอบการปกครองซึ่งเป็นที่รู้กันว่ามีการสั่งสอนมาและการกล่าวถึง
ไม่ว่าจะเป็น “แมคเคียเวลลี” หรือตั้งแต่สมัยโบราณที่มีการพูดถึงการเมืองการปกครอง
คือกำราบคนให้อยู่ใต้การปกครองอย่างเงียบด้วย “ความรัก” หรือด้วย “ความกลัว”
ดังนั้นปรากฏการณ์ตรงนี้
ในทัศนะของดิฉันก็คือเข้าสู่หลักการว่า “ทำให้เกิดความกลัว” คำถามว่า แล้วมันจะได้ผลแห่งความกลัวแล้วเกิดความเงียบสงัดทั่วแผ่นดินจริงหรือเปล่า?
ตามที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมคิด เพราะว่าเราต้องยอมรับความเป็นจริงว่าคนมีความคิดแตกต่างกัน
มีความเชื่อในระบอบการเมืองที่แตกต่างกัน
ส่วนหนึ่งมีความเชื่อในระบอบการเมืองการปกครองที่เน้น ไม่ว่าจะเป็นในระบอบดั่งเดิม
ระบอบศักดินาบวกกับเผด็จการทหาร หรือจะเรียกว่าจารีตนิยม อำนาจนิยม กับอีกพวกหนึ่งเชื่อในระบอบประชาธิปไตยแบบอารยชน
ในขณะที่แบบเก่าก็อ้างว่าเป็นประชาธิปไตยเหมือนกัน แต่เป็นแบบไทย ๆ
ขณะนี้ดิฉันถือว่าเป็นการปกครองด้วย
“ความกลัว” นั่นคือตั้งข้อหา จับแหลก ขังแหลก แล้วมันจะมีอะไรเกิดขึ้น?
โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาเกี่ยวข้องกับระบบยุติธรรม ตั้งแต่ตำรวจ อัยการ ศาล แล้วก็คุก
ครบถ้วนทั้งหมด
ผลที่เกิดขึ้นในทัศนะของดิฉัน
1)
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้มันฟ้องต่อสังคมไทยและสังคมโลกว่า การเมืองการ
ปกครองของไทยนั้นไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย
ไม่ใช่การเมืองการปกครองแบบอารยชนที่ให้สิทธิ เสรีภาพ และความเท่าเทียม เพราะมาตรา
112 เป็นการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อบ้านเมืองการปกครองขณะนี้
(แม้จะมีการเลือกตั้งแบบขอไปทีก็ตาม) ก็ยังเป็นการใช้มาตรา 112 อย่างเข้มงวด
มันก็จะสะท้อนให้เห็นว่าการเมืองการปกครองของเรานั้นจริง ๆ
แล้วไม่ใช่แบบประชาธิปไตย เนื้อหาระหว่างระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและอำนาจเป็นของประชาชนนั้นน้อย
นั่นแสดงว่าอำนาจไม่ใช่เป็นของประชาชน นี่คือฟ้องร้องความเป็นจริง
เพราะฉะนั้นระหว่าง
“ราชาธิปไตย” กับ “ประชาธิปไตย”
คนก็จะสามารถเห็นน้ำหนักว่าความเป็นประชาธิปไตยนั้นน้อยมาก เพราะถ้าอำนาจเป็นของประชาชนจริง
ๆ มันไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้กฎหมาย (ลักษณะ) เฉพาะอย่างรุนแรงขนาดนี้
นั่นก็แปลว่าการเมืองการปกครองของเราบอกต่อสังคมว่าเนื้อหาของสถาบันพระมหากษัตริย์ถูกจัดให้อยู่ในความมั่นคง
(สูง!) หมายความว่าเนื้อหาระบอบประชาธิปไตยนั้นมันน้อยเกินไป...หรือเปล่า?
2)
สิ่งทีเกิดขึ้นขณะนี้มันไม่ใช่เกิดขึ้นที่คนไปเรียกร้องที่สำนักงานตำรวจหรือกองบัญชาการตำรวจ
มันกลายเป็นว่าคนไปเรียกร้องที่ “ศาล” และ “อัยการ”
แปลว่ามันกระทบกระบวนการยุติธรรม ผ่านจากตำรวจ
ซึ่งขณะนี้ยังตั้งข้อสงสัยอยู่ว่าในกรณีของ “โตโต้และพวก” นั้น มีการจับถูกต้องไหม?
แล้วของกลางคือเงินสดของเขา (170,000 บาท) หายไปไหน?
แล้วของกลางที่บอกว่าจับได้นั้นน่าเชื่อถือหรือเปล่า? คุณเอาอะไรมาใส่หรือเปล่า?
เพราะว่าที่เขาบอกว่ามีมันยังหายไปเลย นี่ยกตัวอย่างเป็นต้น
เพราะฉะนั้น
มันเป็นการกระทบส่วนที่ 2 (ส่วนแรกกระทบความเชื่อมั่นในการเมืองการปกครองสะท้อนว่าไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง)
ส่วนที่ 2 กระทบสถาบันตุลาการ
ซึ่งเป็นสถาบันที่ในระบอบประชาธิปไตยถือว่าคนเท่าเทียมกัน เสมอภาค
ดังนั้นการบังคับใช้กฎหมายต้องมีความเท่าเทียมกัน อยู่ในมาตรฐานเดียวกันหมด
อันนี้ก็เรียกว่าขาดความน่าเชื่อถือ นอกจากการเมืองการปกครอง ก็เกิดขาดความน่าเชื่อถือในสถาบันตุลาการ
3)
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมันจะสร้างความเข้มแข็งให้กับพลังของเยาวชน ปัญญาชน
นั่นก็คือมีการหล่อหลอม ดิฉันอยากจะบอกว่าปกติท่ามกลางการต่อสู้นั้น ปัญญาชน
เยาวชน และชนชั้นกลาง จะมีข้อด้อยในเรื่องความอดทนต่อความยากลำบาก
ในเรื่องทัศนะชนชั้น (จุดยืน) ยังคิดแต่เฉพาะของชนชั้นตัวเอง
ดิฉันมองว่าปรากฏการณ์ครั้งนี้มันได้หล่อหลอมขบวนการเยาวชนและปัญญาชน
ทำให้เกิดข้อดีขึ้นมาอเนกอนันต์ เพราะว่าคุณกำลังสร้างฮีโร่ สร้างวีรบุรุษ-วีรสตรี
“รุ้ง” จะกลายเป็นวีรสตรีที่เข้าเรือนจำใน “วันสตรีสากล”
แม่ของเหล่าผู้ที่ถูกฟ้องในข้อหา 112
และไม่ได้ประกันตัวทั้งหลายก็ได้ออกมาทวงถามสิทธิของประชาชนที่ยังไม่ได้ถูกตัดสิน
แต่เขาควรจะมีสิทธิในการที่จะได้รับการประกันตัว เพราะ…
เขายังไม่ได้ถูกติดสินว่าผิดโดยศาล
ไม่ได้ถูกตัดสินว่าผิดโดยกระบวนการใด
ๆ ทั้งสิ้น
เป็นการตั้งข้อกล่าวหาเฉย
ๆ โดยกลุ่มคนซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับราชสำนักด้วยซ้ำ อันนี้มันก็ผิดจากอารยประเทศ
ดังนั้น
ผู้ถูกคุมขังโดยความเชื่อว่าเป็นความอยุติธรรมก็เป็น วีรบุรุษ-วีรสตรี
แม่ของเหล่าวีรบุรุษ-วีรสตรี
นี้ ก็เป็นวีรสตรี มันจะเกิดเครือข่ายของกลุ่มแม่ที่ทวงถามความเป็นธรรม
ดิฉันจะบอกว่าในอาร์เจนตินา
กลุ่มแม่ที่มีการมารวมตัวกันเพื่อทวงถามหาลูกที่หายไปและถูกกระทำมีพลังอย่างยิ่ง
ดิฉันกำลังจะมองว่าในวันที่ 8 มีนาคม ปีนี้ ก็จะเกิดขบวนการของแม่
เกิดขบวนการของวีรบุรุษ-วีรสตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “รุ้ง” นี่ก็เข้าไปรอบสอง
หมายความว่า
คนเหล่านี้จะเป็นวีรบุรุษรุ่นใหม่
แล้วเขาจะถูกหล่อหลอมจากข้อด้อยของปัญญาชนที่ขาดความอดทน ขาดทัศนะชนชั้น
(อันนี้เป็นข้อด้อยทั่วไปนะ) เขาจะถูกหล่อหลอม ถูกดัดแปลง แล้วจะกลายเป็นแบบอย่าง
และนี่ก็คือฝ่ายอำนาจนิยม จารีตนิยม
รู้ตัวหรือเปล่าว่าคุณกำลังจะสร้างยักษ์ขึ้นมาใหม่
แล้วยักษ์เหล่านี้เป็นกลุ่มเยาวชนที่มีองค์ความรู้ มีวัยอยู่ใน Generation Y, Z กำลังอยู่ในวัยที่สามารถต่อสู้ได้อีกนาน
ดิฉันสะเทือนใจกับสิ่งที่รุ้งพูดกับคุณกานต์
(Karnt
Thassanaphak) ว่า “รุ้ง” เพิ่งอายุ 22 “รุ้ง” อย่าเสียใจ “รุ้ง”
ควรจะดีใจว่า “รุ้ง” เพิ่งอายุ 22 แต่ “รุ้ง” ได้ปรากฎตัวในสังคมไทยและสังคมโลก
ในฐานะคุณเป็นวีรสตรี คุณเพิ่งอายุ 22 บางคนตายไปแล้วหรือทำงานมาตลอดชีวิตก็ไม่มีโอกาสได้เป็นวีรสตรีแบบเดียวกับพวกคุณ
อย่าเสียใจ!
ในขณะเดียวกันเราก็เชื่อว่าเพนกวินก็คงอายุประมาณนี้
อันนี้กลายเป็นผลพวงของการต่อสู้ว่าสังคมไทยกำลังสร้างผู้นำรุ่นใหม่
และคนเหล่านี้กำลังได้รับการหล่อหลอมให้เป็นผู้นำที่แท้จริง และเป็นแบบอย่าง ภาษาสมัยใหม่เขาชอบพูดถึงไอดอลที่เป็นทางบันเทิง
อันนี้เป็นไอดอลทางการต่อสู้ เพราะงั้นมันก็จะมี “รุ้ง” คนใหม่ มี “เพนกวิน”
คนอื่น ๆ เพราะสิ่งเหล่านี้มันจะไปสร้างแรงบันดาลใจและความสะเทือนใจ ก็เหมือนที่
“เพนกวิน” บอกว่า ขังแสงดาวไม่ได้ จริง ๆ อย่าว่าแต่แสงดาวเลย ในทัศนะอาจารย์
คุณจะไปหาคุกที่ไหนที่จะขังดาวทั้งฟ้า เป็นไปได้อย่างไร? อย่าว่าแต่แสงดาวเลย
ถ้าประชาชนทุกคนหรือเยาวชนกลายเป็นดาวไปหมด
แล้วคุณจะไปเอาคุกที่ไหนที่สามารถขังดาวทั้งฟ้าได้
ขณะนี้สิ่งที่ทำอยู่
วิธีคิดแบบจารีตก็คือ มันจะได้กลัวไง! หมดเสี้ยนหนาม
แต่ถ้าเป็นวิธีคิดแบบคนที่ก้าวหน้า
คุณกำลังสร้าง วีรชน-วีรบุรุษ-วีรสตรี รุ่นต่อรุ่น
คนกำลังสร้างคนรุ่นใหม่ที่เป็นนักต่อสู้ซึ่งมีทั้งอุดมการณ์ มีทั้งองค์ความรู้
แล้วก็มีทัศนะชนชั้น
แต่ที่สำคัญคือมีความอดทนซึ่งปกติคุณสมบัตินี้เป็นคุณสมบัติด้อยที่สุดของปัญญาชน
แต่เป็นคุณสมบัติที่ดีของชนชั้นผู้ใช้แรงงาน
ชนชั้นผู้ใช้แรงงานมีข้อดีในเรื่องทัศนะชนชั้น
มีข้อดีในเรื่องความเสียสละ อดทน มีเรื่องความกล้าหาญ
แต่มีข้อด้วยในเรื่ององค์ความรู้และการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่
แต่นี่คุณกำลังจะสร้างดาวขึ้นมาทั้งฟ้า เป็นดาวที่สามารถเปล่งแสงจากตัวเองได้
เขาเป็นดาวฤกษ์
ไม่ใช่ดาวเคราะห์ที่จำเป็นมีแสงอาทิตย์แล้วส่งสะท้อนให้เป็นดาวเคราะห์
แต่คนเหล่านี้จะเป็นดาวฤกษ์ แล้วดาวฤกษ์แต่ละดวงนั้นขึ้นอยู่กับว่าใกล้หรือไกล
มันก็ใช่ดวงอาทิตย์เหมือนกัน
แต่เป็นดวงอาทิตย์ที่อาจจะอยู่ใกล้หรือไกลจนกระทั่งเรามองเห็นเป็นดวงเล็ก ๆ
ดิฉันจึงมองว่าปรากฏการณ์ครั้งนี้
การใช้มาตรา 112 มันไม่ใช่ดาบสองคมแล้ว อาจจะมองว่าเป็นดาบสองคม
มันมีลักษณะสองด้าน มองอย่างนั้นก็ได้ ก็คือด้านหนึ่งทำให้กลัว
แต่ด้านหนึ่งก็คือทำให้กล้าและกลายเป็นแบบอย่าง แล้วการไม่ให้สิทธิประกันตัว
ก็เป็นผลสะเทือนถึงความเชื่อมั่นในระบบและในระบอบ
โดยเฉพาะในระบบยุติธรรมภายใต้การเมืองในระบอบประชาธิปไตย
ชัดเจนว่าจะทำให้คนขาดความเชื่อมั่น
แล้วถ้ากระบวนการยุติธรรมไม่สามารถให้ความเชื่อมั่น
ให้ความหวังกับผู้คนได้ ก็จะสะเทือนต่อความคิดในการที่จะปฏิรูปประเทศและเปลี่ยนแปลงประเทศ
แน่นอนทุกคนยังอยากใช้ “สันติวิธี” ดิฉันอยากจะมีเวลาคุยอีกวันเรื่อง “สันติวิธี”
ด้วยซ้ำ ทำไมเยาวชนถึงต้องใช้ “สันติวิธี”
เพราะเยาวชนเหล่านี้เขาต้องการเปลี่ยนแปลงความคิดคน
การเปลี่ยนแปลงความคิดนั้นใช้
“ปืน” ใช้ “อาวุธ” บังคับไม่ได้ ต้องใช้ความรู้ความเข้าใจ
และสิ่งหนึ่งคือการที่คุณจับเขาเข้าคุกไม่ให้สิทธิประกันตัว
อันนี้ก็จะเป็นองค์ความรู้อย่างดีว่า กระบวนการที่เขาต่อสู้ “สันติวิธี” นี้
ในขณะที่ท่านใช้ความรุนแรง ท่านใช้อำนาจ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจอาวุธ
อำนาจกฎหมายที่ท่านเขียนมาเอง และอำนาจของการบังคับใช้กฎหมายก็ตาม
สิ่งนี้มันจะเปลี่ยนแปลงประเทศไทยได้ นั่นก็คือจะมีคนจำนวนหนึ่งเข้าใจ
แต่การเข้าใจนี้ก็หมายถึงว่าก็ต้องมีคนประมาณว่า
“พลีชีวิตเพื่ออุทิศให้กับการต่อสู้”
ดังนั้น
ผลที่เกิดขึ้นในความคิดของดิฉันก็คือ นี่จะเป็นผลสะเทือนครั้งใหญ่ เพราะว่า ฝั่งจารีตนิยมและอำนาจนิยม
ดิฉันอยากจะบอกว่าคุณก็ทำตามความเชื่อของคุณไป
แต่ประชาชนและเยาวชนเขาก็จะทำตามความเชื่อของเขา คุณอาจจะขังพวกเขาได้
แต่ดังที่ดิฉันบอกว่า ไม่ใช่ขังแสงดาวไม่ได้ แต่คุณขังดาวทั้งฟ้าไม่ได้!!!
วันนี้ลาไปก่อนนะคะ สวัสดีค่ะ อ.ธิดา กล่าวในที่สุด