วันจันทร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2564

ศาลสั่งจำคุก 'เพนกวิน' 1 เดือน ข้อหาละเมิดศาล ประพฤติตัวไม่เหมาะสมในห้องพิจารณาคดี สารภาพเหลือ 15 วัน

 


ศาลสั่งจำคุก 'เพนกวิน' 1 เดือน ข้อหาละเมิดศาล ประพฤติตัวไม่เหมาะสมในห้องพิจารณาคดี สารภาพเหลือ 15 วัน

.

22 มี.ค. 64 เวลา 14.00 น. ที่ศาลอาญา รัชดาภิเษก ศาลไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาล ที่ผอ.สำนักอำนวยการประจำศาลอาญา  กล่าวหา นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน จำเลยคดี ม.112 และความผิดฐานชุมนุมโดยฝ่าฝืนกฎหมาย เป็นผู้ถูกกล่าวหาคดีละเมิดอำนาจศาล

.

กรณีเมื่อวันที่ 15 มี.ค. เวลา 10.00 น. ที่ศาลอาญาได้นัดตรวจพยานหลักฐานคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ที่ท้องสนามหลวงวันที่ 19-20 ก.ย.63 และอัยการขอให้รวมสำนวนคดี  มีรายงานว่านายพริษฐ์ ปฏิบัติตัวไม่เรียบร้อยโต้ตอบผู้พิพากษาในขณะปฏิบัติหน้าที่ ขออ่านแถลงการณ์ แม้ถูกคัดค้านก็ไม่ยอมฟัง ยืนยันอ่านแถลงการณ์โดยลุกขึ้นยืนบนเก้าอี้ จนเกิดเหตุการณ์วุ่นวายมีคนเขวี้ยงขวดน้ำลงพื้น โดยในวันนี้นายพริษฐ์ เดินทางมาศาลด้วยการนั่งรถเข็นวีลแชร์ มีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ 3-4 เป็นผู้พามาศาล และมีทีมพยาบาลจาก รพ.ราชทัณฑ์ 2 คน มาคอยดูแลอาการอันเนื่องมาจากการประท้วงอดข้าวอดอาหารมาหลายวันแล้ว โดยนายพริษฐ์ มีสีหน้าท่าทางอ่อนเพลีย ต้องคอยดมยาดมเป็นระยะ โดยมีพ่อแม่มาคอยให้กำลังใจในการไต่สวน

.

ศาลได้อ่านข้อกล่าวหาของ ผอ.ศาล ให้นายพริษฐ์ ฟังจนเป็นที่เข้าใจประกอบกับมีหลักฐานเป็นภาพจากกล้องวงจรปิดบันทึกเหตุการณ์วันเกิด เหตุในห้องพิจารณาคดี และได้สอบถามพริษฐ์ จะให้การว่าอย่างไร ซึ่งนายพริษฐ์ได้ขอเวลาระบายความอึดอัดใจไปพร้อมกับการแถลง โดยศาลอนุญาตให้นายพริษฐ์แถลงได้ภายในเวลา 5 นาที

.

เมื่อนายพริษฐ์ ลุกขึ้นยืนแถลงศาลเกี่ยวกับความอึดอัดที่ไม่ได้รับการประกันตัวใน 2 คดีที่ถูกฟ้อง เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ต้องคอยช่วยประคอง พร้อมแถลงด้วยวาจาว่า ตัวเองได้ถูกพรากอิสรภาพไปแล้ว เมื่อ 2,000 ปีก่อนหน้านี้ โซเครติส ถูกประหารชีวิตด้วยยาพิษ เพราะศาลเมืองเอเธนส์ บอกว่า โซเครติส มอมเมาคนรุ่นใหม่เป็นอาชญากรร้ายแรงทางความคิด ต่อมา กาลิเลโอ ก็ถูกกักขังจนตาย จากการเสนอทฤษฎีว่าโลกไม่ได้เป็นศูนย์กลางของจักรวาล จึงไม่อยากให้มีการทำผิดพลาด ซ้ำรอยประวัติศาสตร์โลก

 

อย่างไรก็ตามศาลได้ปรามนายพริษฐ์และขอให้แถลงให้ตรงประเด็นการไต่สวนวันนี้ซึ่งเป็นคดีละเมิดอำนาจศาล ถ้าแถลงไม่ตรงประเด็นศาลจะสั่งงดไต่สวน แต่นายพริษฐ์ อ้างว่าเกี่ยวข้องกับคดีนี้ และแถลงด้วยวาจาต่อ

.

นายพริษฐ์ แถลงต่อว่า ตนเองถูกปฏิเสธสิทธิในการประกันตัว ทั้งที่ยังไม่ถูกตัดสินคดีใด ๆ โดยศาลให้เหตุผลว่ากลัวกลับไปกระทำผิดซ้ำ ทั้งที่ยังไม่มีการตัดสินว่าการกระทำของตนเองเป็นความผิดแต่อย่างใด ทั้งยังบอกว่าตนเองไม่ควรได้สิทธิประกันตัว เพราะไปเหยียบย่ำหัวใจคนไทย เท่ากับว่าศาลได้ตัดสินให้มีความผิดแล้ว จึงเป็นการขัด รัฐธรรมนูญ ผู้ที่ยังไม่ถูกพิพากษาถือเป็นผู้บริสุทธิ์ ต้องไม่ถูกปฏิบัติแบบนักโทษ ไม่คำนึงถึงการ ใช้ชีวิตของตนเอง ที่ยังเป็นนักศึกษา ไม่สามารถไปเล่าเรียนได้ตามปกติ ต้องเข้าห้องสมุดหาหนังสือวรรณกรรมชั้นเลิศอ่าน

.

ทั้งนี้ขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาคดี ถ้าหากตนเองจะถูกลงโทษก็ไม่เสียใจ เพราะยังไงตอนนี้ก็ถูกคุมขังในเรือนจำอยู่แล้ว จากนั้นศาลได้สอบถามนายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความว่าอยู่ในห้องพิจารณาวันเกิดเหตุด้วยหรือไม่ โดยนายกฤษฎางค์ ตอบว่า วันนั้นมีจำเลยที่ได้รับความเดือดร้อนหลายคนแย่งกันพูดหลายรอบหลายหน ในส่วนของนายเพนกวิน ไม่ได้เกลียดชังศาล แต่ต้องการอธิบายเหตุผล และความอึดอัดใจที่ไม่ได้รับประกันตัว

.

จากนั้นศาลได้เปิดภาพจากกล้องวงจรปิดบันทึกภาพในห้องพิจารณาคดีขณะเกิดเหตุ แต่นายเพนกวิน ก้มหน้าเขียนจดหมาย โดยขอกระดาษจากผู้สื่อข่าวในห้อง แต่ถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ตรวจสอบก่อนว่าเป็นกระดาษเปล่า จึงอนุญาตให้เพนกวินนำไปเขียน ก่อนยื่นให้กับทนายความจำนวน 3 แผ่น อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้ขอตรวจสอบเนื้อหาในจดหมาย แต่ทนายความไม่อนุญาต เมื่อเปิดภาพกล้องวงจรปิดได้ราว ๆ 5 นาที ทนายความได้ไปปรึกษาคดีกับเพนกวิน จากนั้นทนายความได้แถลงต่อศาลบอกว่า นายเพนกวินยอมรับว่ามีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริง แต่เกิดจากสิ่งอัดอั้นที่อยู่ในใจเรื่องไม่ได้รับการประกันตัว ภายหลังศาลไต่สวนเสร็จสิ้นแล้วโดยใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ศาลจึงทำการปรึกษากันภายในองค์คณะ

.

เมื่อออกนอกห้องพิจารณาคดีผู้สื่อข่าวได้สอบถาม นายกฤษฎางค์ ทนายความบอกว่า จดหมายทั้ง 3 แผ่น นายเพนกวิน เขียนไว้ใช้เป็นหลักฐานในการยื่นอุทธรณ์คดีนี้ หากศาลมีคำสั่งลงโทษจำคุก จะต้องยื่นอุทธรณ์คำสั่งภายใน 15 วัน จึงถือว่าเป็นหลักฐานในคดี ไม่สามารถให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ตรวจสอบได้

.

ต่อมาเวลา 16.30 น. ศาลได้อ่านคำสั่ง โดยพิเคราะห์พยานหลักฐานประกอบสำนวนการไต่สวนแล้วเห็นว่า นายพริษฐ์ ผู้ถูกกล่าวหาได้พูดตอบโต้กับผู้พิพากษาในระหว่างพิจารณาและขออ่านคำแถลงการณ์ที่เตรียมมาผู้พิพากษาจึงได้อธิบายสิทธิของจำเลยและการประพฤติตนในห้องพิจารณาคดีให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ แต่ผู้ถูกกล่าวหายังคงยืนยันที่จะอ่านคำแถลงการณ์ที่เตรียมมา ผู้พิพากษาจึงไม่อนุญาต และออกข้อกำหนดเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ในห้องพิจารณาและสั่งให้ตำรวจศาลนำตัวผู้ถูกกล่าวหาออกไปจากห้องพิจารณา แต่มีเหตุการณ์ไม่เรียบร้อยเกิดขึ้น ผู้พิพากษาจึงพักการพิจารณาชั่วคราว

.

ระหว่างนั้นผู้ถูกกล่าวหาได้ยืนขึ้นอ่านคำแถลงการณ์ และเกิดเหตุการณ์วุ่นวายในห้องพิจารณาตามคำกล่าวหา การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาจึงเป็นการขัดขืน ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลและประพฤติตนไม่เรียบร้อย ในบริเวณศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(1) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และ มาตรา 180 จึงมีคำสั่งให้ลงโทษ จำคุกผู้ถูกกล่าวหามีกำหนด 1 เดือน

.

ผู้ถูกกล่าวหาให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา นับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 15 วัน เมื่อพิจารณาถึงอายุ การศึกษาอบรม สภาพความผิด และความรู้สำนึกในการกระทำความผิดของผู้ถูกกล่าวหาแล้ว ประกอบกับโทษจำคุกที่จะลงแก่ผู้ถูกกล่าวหามีกำหนดไม่เกิน 3 เดือน และไม่ปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหาเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรให้ลงโทษกักขังแทนโทษจำคุกมีกำหนด 15 วัน นับแต่วันนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23  จากนั้นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้ควบคุมตัวนายพริษฐ์ กลับเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์