วันจันทร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2564

‘จตุพร’ ขึ้นศาลคดีบ้านสี่เสาฯ สำนวนสอง ศาลนัดอัยการแจงกรณีสั่งฟ้องไม่ครบ-ขาดอายุความ 5 คน

 


จตุพรขึ้นศาลคดีบ้านสี่เสาฯ สำนวนสอง ศาลนัดอัยการแจงกรณีสั่งฟ้องไม่ครบ-ขาดอายุความ 5 คน

 

22 มี.ค. 64 ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้เดินทางมาตามนัดของศาลอาญา คดีชุมนุมหน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ สำนวนที่ 2 

 

นายจตุพรกล่าวว่า “ผมมาในคดีบ้านสี่เสาฯ ในสำนวนที่สอง ซึ่งในวันนี้ศาลได้นัดให้อัยการได้ชี้แจงข้อเท็จจริงในกรณีที่สั่งไม่ฟ้องปล่อยให้คดีขาดอายุความ 5 คน จากจำนวน 7 คนที่ยังเหลืออยู่ โดยข้อเท็จจริงผมได้แถลงต่อศาลว่ามีบุคคลจากจำนวน 7 คน อยู่ต่างประเทศเพียงแค่ 2 คน ซึ่งก็ต้องเป็นหน้าที่ของอัยการที่จะต้องทำตามขั้นตอน และอีก 5 คนเขาอยู่ในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอดีตอธิบดีศาลอาญา นายมานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ ท่านก็อยู่ที่บ้าน ไม่เคยหลบลี้หนีภัยไปที่ใดเลย แล้ววันนี้คดีก็ขาดอายุความไป 5 คน แล้วก็สั่งฟ้องในสำนวนที่ 2 เพียงแค่ 2 คนเท่านั้น”

 

ซึ่งในทางปฏิบัติ คดีนี้เดิมทางเจ้าหน้าที่ตำรวจสั่งฟ้อง อัยการแผนกคดีพิเศษสั่งไม่ฟ้อง ต่อมาตำรวจมีความเห็นแย้ง จึงให้อัยการสูงสุดในขณะนั้นคือนายชัยเกษม นิติสิริ เป็นผู้ชี้ขาด ซึ่งได้ชี้ขาดให้สั่งฟ้องทั้งจำนวน 15 คน และทั้ง 15 คน ไม่มีใครร้องขอให้มีการแยกสำนวนคดีเป็น 2 สำนวน แต่พนักงานอัยการได้แยกสำนวนแรกไป 7 คน และสำนวนที่ 2 อีก 8 คน ซึ่งต้องมีหน้าที่อย่างเดียวคือการสั่งฟ้องทั้งหมด นายจตุพรกล่าว

 

นายจตุพรกล่าวต่อว่า “ผมเห็นว่าการที่พนักงานอัยการได้ปล่อยให้ 5 คน ขาดอายุความ ผมไม่มีความประสงค์ให้ใครต้องถูกดำเนินคดีอะไร แต่ชี้ให้เห็นว่าบ้านเมืองก็ต้องมีหลักเหมือนกัน ผมถูกความอยุติธรรมต่างกรรมต่างวาระมากมาย ในวันนี้ทางศาลจึงให้อัยการมาชี้แจง ผมมีโอกาสเจอกับท่านอาจารย์มานิตย์ท่านก็ยืนยันว่าท่านไม่ได้ไปไหน และที่ผ่านมาท่านก็ยืนว่าถ้าอัยการฟ้องท่านวันไหน ท่านก็จะฟ้องกลับในวันนั้น” 

 

ผมไม่มีได้ความหวั่นวิตกว่าจะต้องไปติดคุก เพราะผ่านมาแล้วถึง 4 ครั้ง เพียงแต่การดำเนินคดีของพนักงานอัยการจะต้องมีความยุติธรรม มีความเสมอภาค มิฉะนั้นการเลือกจะดำเนินคดีกับใครก็เลือกตามความพึงพอใจ ทั้งที่มีคำสั่งฟ้องทั้ง 15 คน แต่ปรากฏว่าปล่อยให้คดีขาดอายุความถึง 5 คน นายจตุพรกล่าว

 

ผมเองก็ต้องร้องขอความเป็นธรรมจากศาลด้วย ผมถูกคำวินิจฉัยที่เป็นปัญหามาหลายครั้งตั้งแต่คดีทางแพ่งที่ระบุให้ไปชดใช้ค่าเสียหาย คำพิพากษาศาลฎีการะบุว่าผมพูดเหมือนอดีตนายกฯ ทักษิณ แต่ยกฟ้องนายกฯ ทักษิณ แต่สั่งให้นายจตุพรชดใช้เพราะนายจตุพรเป็นประธานนปช. ทั้งที่ผมไม่ได้เป็น ผมเป็นหลังจากนั้น 4 ปี อย่างนี้เป็นต้น

 

ก่อนจบคำให้สัมภาษณ์ นายจตุพรยืนยันว่า “คดีนี้ผมไม่ยอมให้พนักงานอัยการใช้วิธีการอย่างนี้กับผม ไม่ใช่เป็นการถ่วงรั้งเวลา ผมมีคดีอยู่เป็นจำนวนมากอยู่แล้ว ไม่ได้มีความวิตก แต่ว่านี่คือความอัปยศไม่ควรที่จะเกิดขึ้น เป็นการเลือกปฏิบัติ ขนาดพวกผมยังโดนขนาดนี้ แล้วประชาชนจะอยู่ในสภาพไหน วันนี้ก็หวังว่าศาลจะได้หาช่องทางออก เพราะว่า 5 คนนั้นคดีขาดอายุความ อย่างไรก็ดำเนินไม่ได้ แต่คนที่จะต้องรับผิดชอบคืออัยการ”

 

สำหรับคดีการชุมนุมหน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์เมื่อ 22 ก.ค. 50 นั้น อัยการได้แยกสำนวนคดีเป็น 2 สำนวน ซึ่ง สำนวนแรก ประกอบด้วย นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล, นายวีระศักดิ์ เหมะธุลิน, นายวันชัย นาพุทธา, นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์, นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท และ นพ.เหวง โตจิราการ โดยคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ยกฟ้องนายวีระศักดิ์และนายวันชัย และศาลฎีกามีคำตัดสินจำคุกจำเลยที่เหลือคนละ 2 ปี 8 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ได้แก่ นายนพรุจ-นายวีระกานต์-นายณัฐวุฒิ-นายวิภูแถลง-นพ.เหวง ซึ่งล่าสุดนายณัฐวุฒิได้รับการพักโทษ ออกจากเรือนจำเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 63 แต่ยังต้องติดกำไลอีเอ็มข้อเท้าจนพ้นโทษตามคำพิพากษาคือสิ้นเดือน มี.ค. 64

 

ส่วนสำนวนที่สองนั้น มีจำเลย 8 คน ซึ่งอัยการได้สั่งฟ้องเพียง 2 คนคือนายจตุพร พรหมพันธุ์ และนายศราวุธ หลงเส็ง ส่วนอีก 5 คนกลายเป็นคดีขาดอายุความ ได้แก่ นายมานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ, นายบรรธง สมคำ, ม.ล.วีระยุทธ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา (3 คนนี้อยู่ในประเทศ) ส่วน นายจักรภพ เพ็ญแข และนายจรัล ดิษฐาอภิชัย อยู่ต่างประเทศ ส่วน พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ซึ่งเสียชีวิต ศาลได้จำหน่ายคดีไป

 

#ยูดีดีนิวส์ #UDDnews