‘ธิดา’ ชี้ ความเป็นเอกภาพของขบวนการ, เป้าหมายและทิศทางเป็นเรื่องที่ต้องยึดให้ได้
ไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา การนำรวมหมู่อยู่บนหลักการดีที่สุด / มีแกนนำดี
ดีกว่าไม่มีแกนนำ แต่ถ้ามีแกนนำที่ไม่ดี ไม่มีแกนนำดีกว่า
วานนี้
(2 มี.ค. 64) ในการสนทนาผ่านการทำเฟซบุ๊คไลฟ์ของ อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ
ซึ่งเวลาที่ผ่านมีมีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย
แต่ว่าในส่วนของฝ่ายประชาชนเราก็จำเป็นต้องพูดเรื่องปรากฏการณ์การชุมนุมที่นำโดยกลุ่มเยาวชน
อ.ธิดา
กล่าวว่า อย่างไรก็ตามดิฉันขอเริ่มต้นเพื่อเตือนความจำว่า ณ
บัดนี้เป็นเดือนมีนาคมแล้ว ซึ่งดิฉันได้พูดไว้แล้วว่าองค์กรนปช.จะอยู่หรือไม่อยู่
แต่ภารกิจของเราที่จะต้องคำนึงถึงผู้ที่สูญเสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2553
ซึ่งเป็นบทบาทด้านสำคัญของคณะนปช. ดิฉันอยากจะให้พวกเราทุกคนช่วยกันแสดงความรำลึกนับตั้งแต่เดือนมีนาคมไปจนถึงเดือนพฤษภาคม
ถึงผู้ที่สูญเสีย ถึงการเคลื่อนไหวในอดีต
และมันจะได้เป็นบทเรียนที่เรียนรู้ร่วมกันสำหรับคนปัจจุบันด้วย
อย่าลืมเอาเรื่องราวมาแชร์ เอาภาพมาออกอีกที
ไม่ใช่เรื่องของการที่จะมาถูกโจมตีว่ามาพูดในเรื่องที่มันผ่านไปแล้ว
แต่อันนี้มันหมายถึงปัจจุบันและอนาคตด้วย
ก็ขอให้เดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคมเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนได้รำลึกถึงสถานการณ์ของปี
2553 แล้วมันก็จะควบของปี 2535 ในเดือนพฤษภาคมด้วย
สำหรับวันนี้ประเด็นที่
อ.ธิดา จะคุยก็คือ
รูปแบบการชุมนุมโดยไม่มีแกนนำ!
อ.ธิดา
กล่าวว่า ดิฉันนำเรื่องนี้มาพูดก็เพราะว่าล่าสุดที่มีการชุมนุมที่บอกกันว่าจะไปบ้านพักของพล.อ.ประยุทธ์
อันเป็นการขยายความจากที่มีการอภิปรายในรัฐสภาในกรณีไม่ไว้วางใจ
เรื่องหนึ่งก็คือเรื่องของบ้านพัก
แต่ความจริงแล้วปัญหาพล.อ.ประยุทธ์พร้อมคณะและความชอบธรรมของรัฐบาลนี้ก็เป็นเป้าหมายซึ่งกลุ่มเยาวชนได้ตั้งเป็นเป้าหมายแรกเอาไว้นานแล้ว
ก็คือขับไล่รัฐบาลและจัดการกับการสืบทอดอำนาจ แล้วก็ไปข้อ 2 เรื่องรัฐธรรมนูญ
นี่ก็เป็นการขยายซึ่งดิฉันก็คิดว่าประเด็นนี้มันก็เป็นประเด็นสองขาดังที่ดิฉันได้พูดไปแล้ว
ก็คือว่าในเวทีรัฐสภาก็ทำหน้าที่ไป ส่วนข้างนอกนั้นก็ขับเคลื่อนไปด้วยกันได้
แต่ว่าเนื่องจากการชุมนุมครั้งที่แล้วเป็นการชุมนุมซึ่งมีรูปแบบใหม่
นั่นก็คือไม่มีแกนนำ จึงเกิดคำถามขึ้นว่าแล้วตกลงการชุมนุมโดยไม่มีแกนนำ มันดีไหม?
มันโอเคไหม? ดิฉันก็คิดว่าเป็นเรื่องสมควรที่จะเอามาพูดคุยเป็นความรู้สำหรับฝ่ายประชาชน
อ.ธิดากล่าว
คำถามว่าการชุมนุมโดยไม่มีแกนนำนั้น
ในประเทศไทยกับในต่างประเทศเคยเกิดขึ้นมั้ย? ก็มีนะ เคยมี
แต่ในต่างประเทศนั้นจะเป็นเหตุการณ์สั้น ๆ เป็นเหตุการณ์ปัจจุบันทันด่วน
ทันทีทันใด แล้วก็เกิดเป็นแฟลชม็อบโดยที่ชักชวนกันมา ยังไม่มีองค์กรการต่อสู้ ไม่มีคณะนำ
จึงไม่มีแกนนำที่ได้รับการยอมรับ
ถามว่าในประเทศไทยมีมั้ย?
ที่ดิฉันจำได้ “มี” แต่มันจะเกิดขึ้นหลังจากมีการชุมนุมใหญ่ พูดง่าย ๆ
ว่ามวลชนในประเทศไทย (ที่มีม็อบแบบไม่มีแกนนำ) มันเกิดขึ้นหลังจากที่มีแกนนำแล้ว
จะชนะหรือแพ้หรือถูกจับไปแล้วก็ตาม ยกตัวอย่างเช่นเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 วันที่
13 ตุลาคม เป็นการขับเคลื่อนโดยศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย มีแกนนำ
มีองค์กร มีเสนาธิการ มีขุนพลในการขับเคลื่อน มีผู้เจรจา มีหมด!
แต่พอวันที่
14 ตุลาคม 2516 นั้นไม่มีเลย! ก็จะเป็นมวลชนที่เรียกว่าต่างคน ต่างกลุ่ม ต่างไป
ไม่มีแกนนำ เพราะว่าแกนนำในขณะนั้นยกตัวอย่างเช่น คุณเสกสรร ประเสริฐกุล
ก็ไม่อยู่แล้ว ดิฉันอยู่ในเหตุการณ์นั้น
แล้วก็ขับรถไปดูแต่ละที่แล้วก็พบว่ามันก็จะมีแต่ละกลุ่ม ๆ เพราะฉะนั้นวันที่ 14
ตุลาคม จะว่าไปก็ไม่มีแกนนำ
ดังนั้นความตายแรกที่เกิดขึ้นที่เป็นนักศึกษาปริญญาโทคือ คุณจีระ บุญมาก
ก็ไปพบกับทหาร โดยมีการโยนส้มไปให้อะไรต่าง ๆ เหล่านี้
แต่ว่ามันมีการปะทะกันมาก่อนแล้วทั้งวันจนกระทั่งยืดยาว
จนกระทั่งในที่สุดก็มีการเปลี่ยนแปลง คือมีการเรียกร้องให้ จอมพลถนอม กิตติขจร ต้องออกไป
สุดท้ายก็มี คุณสัญญา ธรรมศักดิ์ ก็มารักษาการนายกฯ ในช่วงเวลานั้น
ก็หมายความว่ามันไม่มีแกนนำ
พฤษภาคม
2535 หลังจากมีแกนนำขับเคลื่อน มีแกนนำหลายฝ่าย แล้วสุดท้ายก็มีแกนนำเหลือคณะเดียว
คือสมาพันธ์ประชาธิปไตย ซึ่งมีตัวแทนเยาวชนเช่น อ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล มีคุณจำลอง
ศรีเมือง มีสมศักดิ์ โกศัยสุข มีครูประทีม อึ้งทรงธรรม มีคุณหมอเหวง โตจิราการ คุณหมอสันต์
หัตถีรัตน์ ที่ตั้งเป็นองค์กรใหม่ขึ้นมาเพื่อให้เป็นเอกภาพในนาม
“สมาพันธ์ประชาธิปไตย” แต่ว่าพอมีการสลายการชุมนุมไปแล้ว ปรากฏว่าตอนเย็น
ตอนกลางคืน ก็มีภาวะของการขับเคลื่อนแบบจลาจลโดยไร้แกนนำ
ครั้งสุดท้ายก็จบโดยในหลวง
ร.9 อีกเหมือนกัน ก็เรียกให้ทั้งสองฝ่ายมาเฝ้า แล้วประเทศก็มีการเปลี่ยนแปลง
14
ตุลาคม 2516 ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น
พฤษภาคม
2535 ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น
นั่นแปลว่าไม้สุดท้ายเป็นไม้ที่ไม่มีแกนนำ
แต่ถามว่าการไม่มีแกนนำของในประเทศไทยอันนั้นมันมาจากการนำการต่อสู้ที่เรียกว่าแกนนำถูกเก็บ
ถูกจับ แล้วก็เพิ่งสิ้นสุดการชุมนุมใหญ่หมาด ๆ
อ.ธิดา
กล่าวต่อไปว่า แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ผ่านมานี้
มันเป็นเหตุการณ์ที่เป็นความตั้งใจหรือเปล่า?
ของกลุ่มเยาวชนปลดแอกที่ตั้งชื่อกลุ่มใหม่เป็น REDEM (RESTART
DEMOCRACY) น่าจะมีความเชื่อแบบอนาธิปไตยหรือเปล่า?
จงใจหรือเปล่าที่ว่าการขับเคลื่อนไม่จำเป็นต้องมีแกนนำโดยทฤษฎี
หรือเพื่อเป็นการตอบโต้รัฐบาลที่มีการจับแกนนำเอาเข้าคุกไปหมด
ก็เลยใช้เป็นการตอบโต้โดยไม่มีแกนนำ อันนี้ตั้งเป็นคำถามเอาไว้ก่อน
เพราะฉะนั้นดิฉันตอบคำถามแรกไปแล้วนะว่า
“เคยมี” แต่มันไม่ได้เกิดขึ้นแบบที่เรียกว่าเพื่อที่จะขับเคลื่อนขบวน
แต่มันเป็นการตบท้ายหลังจากขบวนมีการชุมนุมแล้วก็ไม่มีแกนนำ สำหรับประเทศไทย
มันไม่ใช่ชัยชนะแบบแท้จริงของการไม่มีแกนนำ ภาวะการไร้แกนนำมันเกิดขึ้นทีหลัง
หลังจากการขับเคลื่อนชุมนุมใหญ่ที่แกนนำถูกกระทำ
แต่ว่าสำหรับของกลุ่ม
REDEM ซึ่งในขณะนี้กำลังสร้างปรากฏการณ์ใหม่ มีการโหวต อันนี้ถ้าดูแล้วเท่ากับเป็นนัยยะว่าทำให้ทุก
ๆ คนเข้ามาเป็นแกนนำ แม้กระทั่งทางความคิด (แกนนำทางความคิด) โดยไม่มีตัวแกนจริง ซึ่งตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าจะถือว่าเป็นวิธีการแบบใหม่ซึ่งอาศัยว่าการสื่อสารทำได้อย่างรวดเร็ว
ถูกผิดนี่มาว่ากันทีหลัง แต่ว่าเราประเมินจากสถานการณ์
เราจะเห็นว่าสถานการณ์ใกล้
ๆ กันนั้น ก่อนหน้านี้ “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม”
เพิ่งจัดการชุมนุมก็ดูว่ามีปัญหาระหว่างมวลชนกับแกนนำ มาครั้งนี้ของ
“เยาวชนปลดแอก” มีการชุมนุม ไม่มีปัญหาความขัดแย้งเพราะไม่มีแกนนำ
อ.ธิดามองว่าการชุมนุมสองครั้งหลังก็มีปัญหาทั้งสองคณะ
ดิฉันอยากจะพูดในเชิงหลักการว่าในทางการนำมวลชนนั้น “การนำมวลชน”
เป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ละองค์กร แต่ละกลุ่ม ต้องสามารถสร้างภาวะของการนำมวลชนได้
ข้อแรกเลยต้องนำในทางเป้าหมาย
ทิศทาง ยุทธศาสตร์ คือคนต้องรู้ว่าเป้าหมายที่ออกไปต่อสู้นั้นคืออะไร? 1-2-3
แล้วไม่ใช่ว่าเป้าหมายนี้ ถ้าสมมุติว่าเป็นการต่อสู้สั้น ๆ (ม้วนเดียวจบ)
ก็เป็นเรื่องเฉพาะหน้า การชุมนุมครั้งต่อไปก็เปลี่ยนเป้าหมาย
แต่ว่าถ้ามันยังเป็นเรื่องเดียวกันทั้งหมด
การสร้างภาวะการนำของกลุ่มและขององค์กรนั้น เป้าหมายมันจะต้องมีลักษณะเป็นเป้าหมายทางยุทธศาสตร์
คือไม่ใช่ว่าจะเปลี่ยนง่าย ๆ พอถึงอีกทีหนึ่งก็เปลี่ยน
ทั้งหมดต้องมีเป้าหมายยุทธศาสตร์ใหญ่ของมัน
ส่วนเป้าหมายเฉพาะหน้านั้นทำเท่าที่จำเป็น ไม่ใช่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาจนมวลชนสับสน! ดังนั้นต้องชัดเจนในเป้าหมายและยุทธศาสตร์
อ.ธิดา
ย้ำว่า ที่สำคัญที่สุดก็คือ ทิศทางและหนทางการต่อสู้เพื่อนำไปสู่ชัยชนะ
เราต้องชัดเจน! มีเป้าหมาย มียุทธศาสตร์ คือมีเป้าหมายแล้ว แต่จะเดินทางไหนอีก
ต้องเดินให้ถูกทิศด้วย แล้วหนทางการเดินจะเป็นอย่างไร
ดิฉันก็พูดในเชิงหลักการทั้งหมดเพื่อจะทำให้การขับเคลื่อนนำไปสู่ชัยชนะ
สิ่งเหล่านี้เป็นเนื้อหาของการนำ และการสร้างภาวะการนำขององค์กรมันจะต้องมีหลักอยู่ก่อนที่จะมีแกนนำ
เป็นการนำด้วยเนื้อหา และตรงนี้จะทำให้เกิดภาวะการนำขององค์กร เพราะว่าแกนนำนั้นจะต้องตามมา
อาจจะมีแกนนำมากน้อยขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และอาจจะมีการเปลี่ยนตัวก็ได้ อ.ธิดากล่าว
ในทัศนะของอ.ธิดา
การสร้างภาวะการนำขององค์กรในการขับเคลื่อนนั้นสำคัญที่สุด ถ้าเป็นวิธีคิดแบบอนาธิปไตยก็แปลว่าคุณจะไม่มีองค์กรนำ
ใครก็ได้เป็นผู้นำ ซึ่งอันนี้ก็แล้วแต่ใครจะมีความเชื่อ
แต่ดิฉันคิดว่าประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ของประชาชนนั้นมันต้องมีที่เรียกว่า “มีกำปั้น”
การต่อสู้ของประชาชนต้องสามารถรวมกันเป็นกำปั้นได้ ถ้ากระจัดกระจายมันไม่มีทางเลย
คนหนึ่งจะไปทิศนี้ อีกคนจะไปทิศโน้น คนหนึ่งจะไปเชียงใหม่ อีกคนจะขอไปร้อยเอ็ด
ถ้าการต่อสู้ไม่เป็นเอกภาพมันเป็นไปไม่ได้
ดังนั้นการจะสร้างความเป็นเอกภาพ
ต้องสร้าง
1)
ความเป็นเอกภาพทางเป้าหมาย ดังที่เราพูดแล้ว
2)
ความเป็นเอกภาพในทิศทาง
3)
ความเป็นเอกภาพในหนทางการต่อสู้
เช่นกลุ่มหนึ่งบอก
“ใช้อาวุธ” อีกกลุ่มหนึ่งบอก “สันติวิธี”
อย่างนี้ความสำเร็จมันก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้
เพราะว่าการต่อสู้ด้วยอาวุธมันก็มีทฤษฎีแบบหนึ่ง
การต่อสู้สันติวิธีก็มีทฤษฎีแบบหนึ่ง ถ้าคุณเอามาปนกันเหมือนบทเรียนคนบางส่วนในการต่อสู้ที่ผ่านมามันก็เกิดขึ้นได้
พูดง่าย ๆ ว่าต้องมีเอกภาพทางเป้าหมาย-ทิศทาง-หนทางในการต่อสู้ ที่สำคัญต่อมาก็คือมีเอกภาพในยุทธศาสตร์และยุทธวิธีด้วย
ขณะนี้ดูน่าจะมีปัญหา
นี่คือเนื้อหาของการขับเคลื่อนให้มีเอกภาพ ถามว่าทำไมต้องมีเอกภาพ
-
ประการแรกเพื่อให้ได้รับชัยชนะ
-
ประการที่สองคือไม่สูญเสีย หรือสูญเสีย (ประชาชน) น้อยที่สุด
แต่ถ้าการขับเคลื่อนโดยที่มีลักษณะอนาธิปไตย
โดยทั่วไปก็จะใช้ความคิด อารมณ์ ความรู้สึก อาจจะสนใจความสูญเสียน้อย พูดง่าย ๆ
ว่าถ้ากลุ่มตัวเองเสนอกลุ่มตัวเองเอาตัวรอดก็พอแล้ว
แต่ถ้าหากว่าเป็นการขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่ชัยชนะในเรื่องราวที่ใหญ่ให้เป็นเอกภาพกัน
มันต้องสนใจในความเป็นเอกภาพ
ฉะนั้น
ในทัศนะของดิฉันคิดว่า “อนาธิปไตย” ยากที่จะทำให้การต่อสู้ได้รับชัยชนะ
อาจจะมีคนไม่เห็นด้วยกับดิฉันนะ คิดว่าคุณต้องเป็นกำปั้นใหญ่รวมกัน
อาจจะไม่ใช่กำปั้นเดียว และยิ่งไม่ใช่กางนิ้วเลย นิ้วใครนิ้วมัน นิ้วก้อยก็กดไป
ต่างคนต่างไป ต่างคนต่างทำ มันเป็นไปไม่ได้ที่การต่อสู้ประชาชนจะได้รับชัยชนะ
แล้วเขาก็มีภาษาที่ใช้คำว่า “แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง”
ทั้งหมดมันต้องเป็นกำปั้นมารวมกันแล้วขับเคลื่อนไปด้วยกัน
ถ้าการสร้างภาวะการนำโดยคุณจะโหวตกัน
หรือคุณจะมีกลุ่ม Think
Tank ถ้าคุณคิดว่าคุณไม่มีกลุ่ม Think Tank
แล้วก็เอาคนมาโหวตกันเป็นเหมือนกลุ่ม Think Tank
ซึ่งความจริงเอามาใช้ประกอบก็ได้ แต่ว่าในกรณีอย่าง REDEM
เอาผลโหวตมาเป็นตัวตัดสินเลย จะไปที่ไหน? ไปทำอะไร?
อันนี้ก็น่าสนใจว่าอาจจะเป็นวิธีคิดใหม่เพื่อตอบโต้หรือเปล่า?
ที่รัฐจัดการกับแกนนำ จับเข้าคุกเข้าตะราง เพราะฉะนั้นเราก็ต้องเผื่อความคิดว่า
เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เขามีวิธีคิดที่แตกต่างไปด้วยก็ได้
แต่จะแตกต่างอย่างไรในการขับเคลื่อนแต่ละครั้งก็ต้องเป็นเอกภาพ ลดการสูญเสีย แล้วไม่ใช่ว่าหนทางการต่อสู้ไม่ตรงกัน
พูดง่าย ๆ ว่าถ้าคุณมีฮาร์ดคอร์อยู่จำนวนมากหรือจำนวนหนึ่งในกลุ่มที่ไม่ใช่ฮาร์ดคอร์
ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือฝั่งของอำนาจรัฐที่ใช้ความรุนแรงกับประชาชนนั้น
อันนี้จะกลายเป็นเหยื่อไปเลยหรือเปล่า?
แต่มันก็มีคำถามว่ามีแกนนำ
“ดี” หรือ “ไม่ดี”
ถ้ามีแกนนำที่ยอมเสียสละตัวเอง
มีขีดความสามารถสูง มีองค์กรหรือมีคณะนำที่วางหลักการไว้ดี วางทิศทางเอาไว้ดี
มีแกนนำที่มีอุดมการณ์มีการยืนหยัด ถ้ามันดีทั้งหมดมันก็โอเคเลย
แต่ถ้ามีแกนนำที่ไม่ขึ้นต่อหลักการ
ไม่ขึ้นต่อแนวทาง ไม่ขึ้นต่อทิศทาง อยากทำอะไรทำตามอำเภอใจ
แบบนี้ยิ่งหนักกว่ามีมวลชนที่ไม่ขึ้นต่อจำนวนหนึ่งเสียอีก เพราะฉะนั้น ในการนำต้องมีทั้งหลักการ
ทิศทาง อุดมการณ์ และสร้างภาวะการนำขององค์กร แล้วก็ต้องมีขีดความสามารถ
ศักยภาพของแกนนำด้วย (ในกรณีที่มีแกนนำ)
ถ้าไม่มีแกนนำ
ถ้าคุณสร้างภาวะการนำขององค์กรไว้ดี คุณมีระบบในการควบคุมที่สามารถนำชัยชนะและลดการสูญเสีย
(ซึ่งมันยาก) พูดง่าย ๆ ว่า มีแกนนำดี มันดีกว่าไม่มีแกนนำ แต่ถ้ามีแกนนำที่ไม่ดี
ไม่มีแกนนำดีกว่า ใช่หรือเปล่า?
ที่สำคัญคือเนื้อหา
ทิศทาง หลักการขององค์กร มันต้องปักหลักให้แน่น
คุณอาจจะโหวตในบางเรื่องที่เป็นรูปธรรมเฉพาะหน้าได้ แต่หลักการใหญ่หรือทิศทาง
คุณจะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาไม่ได้นะ เช่นคุณเปลี่ยนรายวันบางอย่างดิฉันก็ไม่เห็นด้วยกับการนำในบางครั้งซึ่งเปลี่ยนข้อเรียกร้องที่อาจจะไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
แล้วดิฉันอยากจะบอกไว้อย่างหนึ่งว่า
มีแกนนำ ถ้าหากว่าสั่งการโดยไม่สอดคล้องความเป็นจริง
แกนนำที่ไม่มีศักยภาพพอคือตัดสินปัญหาเฉพาะหน้าไม่ได้
เขาอาจไม่ได้ตั้งใจจะไม่ขึ้นต่อองค์กรหรือเรื่องราวการนำทั้งหมด
แต่ถ้าไม่มีความสามารถพอที่จะตัดสินในปัญหาเฉพาะหน้าได้ก็ไม่มีประโยชน์
เพราะมวลชนจะไม่เดินตามเหมือนอย่างที่เห็นกัน
เพราะฉะนั้น
แกนนำต้องมีทั้งขีดความสามารถและการขึ้นต่อ อย่างนี้จะอำนวยประโยชน์ให้กับการขับเคลื่อนมากที่สุด
แต่แกนนำที่ไร้ความสามารถและไม่ขึ้นต่อทิศทางที่ถูกต้อง ทำตามอำเภอใจ
อันนี้อันตรายมากที่สุด
อย่างไรเสีย
ดิฉันก็ขอให้กำลังใจว่า เราอาจจะคิดค้นอะไรที่แตกต่างไปจากการขับเคลื่อนอื่น ๆ
ที่ผ่านมาก็ได้
แต่อย่างไรก็ตามมันมีหลักการของมันอยู่ว่าความเป็นเอกภาพของขบวนการ, เป้าหมาย
และทิศทาง มันเป็นเรื่องที่ต้องยึดให้ได้ ไม่ใช่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตามอำเภอใจ ดีที่สุดก็ต้องเป็น
การนำรวมหมู่อยู่บนหลักการ
เสียงประกอบจากประชาชนก็ต้องนำมาสู่การนำรวมหมู่เพื่อตัดสินอีกที
ดิฉันก็คิดว่าการโหวตมันก็ขึ้นอยู่กับที่ประชุมนั้น
องค์ประกอบว่าเป็นกลุ่มไหน ถ้าเป็นองค์ประกอบของกลุ่มซึ่งศีลไม่เท่ากัน
หรือศีลไม่ถึงกับอุดมการณ์ การโหวตนั้นก็ไม่น่าจะเป็นผลดี
ต่อไปก็เป็นไปได้ที่ฝั่งที่เขาไม่หวังดีรุมเข้ามา เช่น อย่างตอนนี้คุณมีสัก 3 พัน
เกิดเขารุมเข้ามา 5 พัน เขามาโหวตให้คุณตาม 5 พันคนนั้น แทนที่จะทำตาม 3 พันคนนี้
อะไรจะเกิดขึ้น?
เพราะฉะนั้น
หลักการ อุดมการณ์ คณะนำโดยการนำรวมหมู่ของผู้มีอุดมการณ์นั้นสำคัญยิ่ง
อย่าเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาง่าย ๆ ขอให้แสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง คุณมีข้อได้เปรียบเยอะ
คุณสามารถสื่อสารกันด้วยเทคโนโลยีได้อย่างดี คุณมีความแคล่วคล่องว่องไว มีสติปัญญา
มีความสดชื่น นี่คือความได้เปรียบ ที่สำคัญที่สุดก็คือ มีความชอบธรรม
อย่าให้ฝั่งของกลุ่มคนที่เป็นพวกอำนาจนิยมจารีตนิยมมาทำลายความชอบธรรมของคุณ
การต่อสู้จะต้องได้รับชัยชนะแน่นอน แต่มันมีราคาที่ต้องจ่าย
แต่เราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องจ่ายแบบที่มันไม่ควรจะต้องจ่าย
เราก็นอกจากเอาใจช่วย อาจารย์ก็เชื่อว่าคนเสื้อแดงทั้งหลายก็ได้ไปร่วมในหมู่พวกเรา และขอให้การต่อสู้ได้ดำเนินต่อไป มันต้องเป็นกำปั้นที่มาร่วมกัน การกระจัดกระจายในทฤษฎีลักษณะอนาธิปไตย ในส่วนตัวเองอาจารย์ไม่เห็นด้วยค่ะ ลาไปก่อนนะคะ สวัสดีค่ะ อ.ธิดา กล่าวในที่สุด