วันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

ผู้ว่าฯ สัญจร เขตจตุจักร เน้นย้ำดูแลผู้น้อยให้ดี ถือเป็นโซ่ข้อสุดท้ายที่เชื่อมกับประชาชน

 


ผู้ว่าฯ สัญจร เขตจตุจักร เน้นย้ำดูแลผู้น้อยให้ดี ถือเป็นโซ่ข้อสุดท้ายที่เชื่อมกับประชาชน 


วานนี้ (3 ก.ค. 65) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมชมโครงการบ้านมั่นคง ชุมชนประชาร่วมใจ 2 เขตจตุจักร ว่า วันนี้ได้มาลงพื้นที่จตุจักร ถือเป็นเขตที่มีคนร้องเรียนใน Traffy Fondue มากที่สุด 4 พันกว่าเรื่อง แต่เป็นเขตที่มีการแก้ไขได้มากที่สุดมากกว่า 1,800 เรื่อง ถือว่ารวดเร็ว เจ้าหน้าที่มีความตื่นตัวสูงมาก และเป็นสิ่งที่พิสูจน์เรื่องของการปรับการให้บริการกับประชาชนได้ว่าไม่จำเป็นต้องทำเป็นเอกสาร ใครเห็นเรื่องก็สามารถแก้ไขได้แบบไร้รอยต่อ โดยสามารถส่งต่อให้หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องได้ไม่ต้องทำหนังสือ จากนี้จะเป็นการประเมินการส่งต่อเรื่องไปที่หน่วยงานนอกว่าทำได้แค่ไหน เพื่อรายงานเข้าไปยังหน่วยงานกลางให้รับทราบการปฏิบัติงานของหน่วยงานสาขา ในส่วนของเขตจตุจักรมีปัญหาใหญ่ ๆ เช่น เรื่องน้ำท่วมในชุมชนแถบคลองลาดพร้าว ปัญหาทำเขื่อนริมคลองที่ล่าช้าประมาณครึ่งปี ทำให้การขุดลอดคลองทำได้ยาก น้ำจึงไหลไม่สะดวก ซึ่งได้สั่งการให้เร่งรัดดำเนินการส่วนที่ล่าช้าให้เสร็จโดยเร็ว   


นอกจากนี้ในพื้นที่จตุจักรยังมีโครงการก่อสร้างในพื้นที่อยู่หลายโครงการ เช่น โครงการรถไฟสายต่าง ๆ อาทิ สายสีเหลือง ในการประชุมวันนี้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากภายนอกมาร่วมให้ข้อมูลด้วย เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย เจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นการร่วมประชุมแบบบูรณาการในการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะส่วนที่ประชาชนร้องเรียนเป็นจำนวนมาก เช่น ถนนเลียบทางรถไฟ ถนนที่อยู่ใต้รถไฟสายสีแดง ถนนทางข้ามรถไฟ ซึ่งความรับผิดชอบยังเหลื่อมล้ำกันอยู่ บางโครงการ กทม.ได้ส่งคืนการรถไฟฯ บางโครงการ กทม.ยังรับผิดชอบอยู่ โดยเฉพาะถนนกำแพงเพชร 1-4 ซึ่งต้องทำเรื่องการบำรุงรักษาให้ดี โดยต้องมาบูรณาการร่วมกับการรถไฟฯ เพราะเป็นเส้นทางที่ประชาชนใช้เป็นจำนวนมาก เกี่ยงความรับผิดชอบไม่ได้ต้องมาทำร่วมกัน  


เขตจตุจักรมีจุดเด่นที่ความเป็นศูนย์กลาง หรือ HUB เชื่อมต่อการเดินทาง มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นกว่า 1.5 แสนคน เรื่องการเดินทางถือเป็นเรื่องสำคัญ แต่จะมีปัญหาคือ เรื่องการก่อสร้าง ปัญหาน้ำท่วมบริเวณ 5 แยกลาดพร้าวที่ต้องไปดูแล เพราะปัญหาน้ำท่วมจะนำไปสู่ปัญหารถติด ส่วนปัญหาชุมชนรุกล้ำในคลองลาดพร้าว และคลองเปรมประชากร ซึ่งที่ผ่านมาทางรัฐบาลทำไว้ดีมาก โดยการนำชุมชนรุกล้ำริมคลองขึ้นมาอยู่บ้านมั่นคงในที่ของกรมธนารักษ์ ที่ผ่านมาทำได้หลายร้อยครัวเรือน ตัวอย่างที่ทำไปแล้วเห็นได้ชัดว่าประชาชนที่ย้ายขึ้นมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เด็ก ๆ ก็มีความเป็นอยู่มั่นคง ไปโรงเรียนได้ มีการออมเงินและจ่ายเงินเป็นงวด ๆ ซึ่งเป็นส่วนที่กทม.จะต้องร่วมเจรจาชุมชนในส่วนที่ยังไม่ได้ย้ายเรื่องการจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อทำบ้านมั่นคงต่อไป


ส่วนที่ประชาชนร้องขอให้สามารถติดต่อขอภาพจากกล้อง CCTV ของ กทม.ให้เร็วขึ้นนั้น มีการพิจารณาว่าจะทำอย่างไรจึงจะสามารถให้บริการภาพจากกล้อง CCTV แบบออนไลน์ได้ภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งขณะนี้เริ่มมีการพัฒนาได้ใกล้เคียงแล้ว อีกส่วนหนึ่งก็ต้องร่วมกับตำรวจว่าการขอภาพจากกล้อง CCTV ต้องนำใบแจ้งความมา มีแนวคิดว่าเมื่อแจ้งความแล้วสามารถให้ตำรวจเข้าถึงข้อมูลเพื่อดึงภาพให้ได้เลยจะทำได้อย่างไรเพื่อให้เสร็จภายใน 24 ชั่วโมง 


ในด้านความปลอดภัยเรื่องการป้องกันเพลิงไหม้ ได้สั่งการให้ตรวจสอบเครื่องดับเพลิงทั้งหมดทุกชุมชน รวมถึงถังดับเพลิง จะมีปัญหาว่ามีถังแต่ไม่ได้อัดแก๊สให้มีความดันที่เหมาะสม รวมถึงการตรวจสถานบริการ ซึ่งในพื้นที่เขตจตุจักร มีสถานประกอบการที่คล้ายสถานบริการอยู่ประมาณ 50 แห่ง ถึงแม้ไปตรวจมาแล้วไม่พบข้อผิดพลาดก็ให้ไปตรวจซ้ำอย่างเข้มข้นอีกครั้งเพื่อความมั่นใจ โดยเฉพาะเรื่องของทางหนีไฟ


ส่วนเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ในพื้นที่จตุจักรเพิ่งมีเหตุการณ์เรื่องการชิงทรัพย์เด็กนักเรียนหอวัง ซึ่งมีคนงานรักษาความสะอาดเป็นพลเมืองดีเข้ามาช่วยเหลือนักเรียน จึงมีแนวคิดง่ายที่จะสามารถช่วยเหลือประชาชนที่ประสบเหตุลักษณะเดียวกันนี้ได้เร็วขึ้น ซึ่งผู้อำนวยการเขตได้เสนอให้คนงานมีนกหวีดติดตัว เมื่อพบเหตุฉุกเฉินให้เป่านกหวีดก่อน เพื่อทำให้คนที่จะก่อเหตุร้ายตกใจ และสามารถดึงความสนใจจากคนอื่นเข้ามาช่วย โดยเห็นว่าคนงานฝ่ายรักษาฯ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ใกล้ชิดกับประชาชนสามารถช่วยเป็นหูเป็นตาได้ จะทำให้กรุงเทพฯ มีตาอีกหลายหมื่นคู่มาช่วยดูเรื่องความปลอดภัยของประชาชนที่อยู่ในถนนและช่วยดูแลเด็ก ๆ นักเรียนด้วย พร้อมกันนี้ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่เทศกิจเข้ามาช่วยดูแลความปลอดภัยและการข้ามถนนของเด็กนักเรียนที่บริเวณหน้าโรงเรียน อย่างน้อยโรงเรียนละ 2 นาย ตั้งแต่เวลา 05.00 น. โดยเน้นที่โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครก่อน 


นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลเรื่องอุปกรณ์ต่างๆ ของพนักงานกวาดที่จะช่วยเพิ่มความปลอดภัย อาทิ ไฟฉาย นกหวีด ทิศทางการกวาดถนน และมีแผนที่จะส่งเสริมบทบาทเจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาฯ ด้านความปลอดภัย ให้ช่วยสอดส่องบริเวณโรงเรียน พบจุดมืดอับ จุดเปลี่ยว ไฟฟ้าส่องสว่างดับ กิ่งไม้บดบังกล้อง CCTV ก็ให้แจ้งเพื่อเข้าไปปรับปรุงแก้ไข โดยจะบูรณาการความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ ครู อาจารย์ และสำนักงานเขตในการดำเนินการ พร้อมจัดอบรมวิธีใช้อุปกรณ์แจ้งเตือนให้กับพนักงานกวาด อาทิ ต้องใช้นกหวีดส่งสัญญาณเมื่อไหร่ อย่างไร เป็นต้น


วันนี้ได้มีโอกาสทานอาหารและพบปะพูดคุยกับพนักงานของเขต 5 คน อาทิ พนักงานเก็บขยะ คนงานสวน พนักงานสูบส้วม คนงานระบายน้ำ ได้รับฟังปัญหาชีวิตจริง ส่วนใหญ่จะมีปัญหาเรื่องสวัสดิการ หลายคนเป็นลูกจ้างที่ไม่ได้บรรจุเป็นลูกจ้างประจำ ทำให้เบิกเล่าเรียนลูกไม่ได้ ซึ่งเป็นปัญหาหลัก ยกตัวอย่างพี่แก้ว (นางสาวกัลชนา เนตรวิจิตร) ลูกจ้างชั่วคราว ตำแหน่งพนักงานกวาด ที่กวาดถนนมา 3 ปี ยังไม่ได้บรรจุ เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ต้องกลับไปดูแลลูก จึงมีการขายของหลังเลิกงานเพื่อหารายได้เสริมที่ตลาด เพราะเงินไม่พอเลี้ยงลูก 


“ฝากกำชับท่าน ผอ.เขตให้ช่วยดูแลลูกจ้างที่เป็นผู้น้อย เงินเดือนน้อยให้ดี คนที่เงินเดือนมากแล้วไม่เป็นไร ที่ต้องดูแลให้ดี เพราะเขาเป็นโซ่ข้อสุดท้ายที่เชื่อมเราเข้ากับประชาชน เราดีที่สุดได้เท่ากับโซ่ที่อ่อนแอที่สุด เพราะต่อให้เรามีนโยบายดีแค่ไหนก็ตาม สะอาดแค่ไหนก็ตาม แต่ถ้าโซ่ข้อสุดท้ายเขาไม่มีกำลังใจไปทำงานให้ประชาชน เราไม่มีทางทำให้ดีขึ้นได้ ดังนั้นหัวใจคือโซ่ข้อนี้สำคัญไม่น้อยกว่าโซ่ข้ออื่น ๆ ที่ต้องดูแล ขอบคุณพนักงานที่มาทานข้าวด้วยกันและทำให้ได้เห็นปัญหา ก็พยายามจะนำไปแก้ไขให้มากขึ้น” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ รับปาก 


ที่มา : สำนักงานประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร


#ชัชชาติสิทธิพันธุ์

#ผู้ว่าฯกทม

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์