วันพุธที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ประชุมด่วนกลุ่มเส้นด้าย สายไหมต้องรอด และ"เราต้องรอด" หาแนวทางรับมือโควิดในพื้นที่กรุงเทพฯ ยืนยันไม่มีการปฏิเสธผู้ป่วย ยาและเตียงยังเพียงพอ ติดโควิดโทร.สายด่วน 1669

 


ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ประชุมด่วนกลุ่มเส้นด้าย สายไหมต้องรอด และ"เราต้องรอด" หาแนวทางรับมือโควิดในพื้นที่กรุงเทพฯ ยืนยันไม่มีการปฏิเสธผู้ป่วย ยาและเตียงยังเพียงพอ ติดโควิดโทร.สายด่วน 1669


วันที่ 19 ก.ค. 65 เวลา 16.15 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมหารือแนวทางการประสานงานกับมูลนิธิต่างๆ พร้อมรับฟังปัญหาและอุปสรรคในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยมี ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช และนายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักการแพทย์ สำนักอนามัย ศูนย์เอราวัณ ร่วมประชุมกับผู้แทนจากกลุ่มเส้นด้าย ทีมงานสายไหมต้องรอด นางสาวไดอาน่า จงจินตนาการ จากเพจ "เราต้องรอด" ซึ่งการประชุมได้เปิดระบบออนไลน์ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมด้วย ณ ห้องสุทัศน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร


ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า วันนี้ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ได้ประชุมหารือกับกลุ่มเอกชนที่ดูแลประชาชนในพื้นที่เช่น จากกลุ่มเส้นด้าย ทีมงานสายไหมต้องรอด เพจ "เราต้องรอด" ซึ่งเป็นคนที่สัมผัสอยู่ที่พื้นที่หน้างานจริง ๆ เพื่อรับฟังปัญหาและแก้ไขการทำงานประสานงานร่วมกัน ซึ่งเรื่องแรกคือการแก้ไขความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการรับผู้ป่วยของโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานครซึ่งไม่จำกัดจำนวน ขอให้ผู้ป่วยโควิด-19 ไปรับบริการได้ที่โรงพยาบาลสังกัดกทม. ทั้ง 11 แห่ง รวมถึงวชิรพยาบาลและศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่งในพื้นที่กรุงเทพฯด้วย ซึ่งบางทีอาจมีปัญหาเรื่องพื้นที่คับแคบรองรับผู้ป่วยได้จำนวนไม่มากแต่ก็จะมีการนัดหมายเพื่อมารับยาในวันต่อไปได้ โดยจะขยายวันทำการเพิ่มในวันเสาร์เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ในแต่ละพื้นที่เขตอีกด้วย


เรื่องที่ 2 คือการสร้างความเข้าใจให้กับผู้ป่วยกลุ่ม 608 ที่ตรวจ ATK แล้วพบว่าตัวเองติดเชื้อ ซึ่งอาจมีความเสี่ยงในการเดินทางมารับยาหรือพบแพทย์ก็สามารถนำบัตรประชาชนและผลตรวจให้ญาติพี่น้องมารับยาแทนได้ผ่าน เรื่องที่ 3 คือผู้ป่วยอาการไม่มากหรืออาการเขียวซึ่งบางครั้งได้รับเพียงยาพื้นฐาน ไม่ได้รับยาต้านไวรัส ก็ขอให้เชื่อแพทย์ในการวินิจฉัยโรคในการบ่งชี้ว่ากลุ่มไหนจะต้องได้รับยาต้านไวรัสหรือไม่​ จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ทราบว่าอย่าตื่นตระหนกหากไม่ได้รับยาต้านไวรัสเพราะบางครั้งโรคจะหายไปเองแบบไข้หวัด สำหรับกลุ่มที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือกลุ่ม 608 และมีโรคประจำตัว กทม. จะพิจารณากลับไปดำเนินการแบบ HI (Home Isolation) เนื่องจากควรมีเจ้าหน้าที่ติดตามอาการอย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอหลังรับยา​ ซึ่งในปัจจุบันระบบอาจยังดำเนินการไม่สมบูรณ์กทม.ก็จะเร่งแก้ไขต่อไป นอกจากนี้กทม.ยังได้เปิดการให้บริการโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับผู้ป่วยสีเขียวเพิ่ม จำนวนกว่า 500 เตียง ที่สนามกีฬาบางกอกอารีน่า เขตหนองจอก และศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ เขตทุ่งครุ ซึ่งกทม.จะทำหน้าที่ประสานกับหน่วยงานภายนอกในเรื่องของการเพิ่มเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยในกรุงเทพฯได้มากขึ้นอีกด้วย รวมถึงการประสานการดูแลส่งต่อผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลนอกสังกัดกทม.


อีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญคือสายด่วนศูนย์เอราวัณ 1669 ซึ่งขณะนี้มีการปรับปรุงให้มี 60 คู่สาย เพื่อรองรับผู้ป่วยที่โทรมาให้ได้รับการบริการอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยทุกกลุ่มอาการสีต่างๆสามารถโทรได้ เพราะจะมีการประสานงานบริหารจัดการหาเตียงและรับส่งผู้ป่วยทุกกลุ่มสีไปสู่สถานพยาบาลด้วยไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลสนามหรือโรงพยาบาลทั้งในและนอกสังกัดกทม. รวมถึงการขอรับบริการฉีดวัคซีนด้วยที่จะมีการขยายบริการฉีดวัคซีนให้ถึงบ้าน เพราะขณะนี้การฉีดวัคซีน Booster Shot เป็นสิ่งสำคัญมากที่จะช่วยลดอาการป่วยไม่ให้เป็นระดับสีแดงและช่วยบุคลากรทางการแพทย์ไม่ให้รับภาระหนักได้ ซึ่งขณะนี้สามารถไปฉีดวัคซีนได้ที่โรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานครทั้ง 11 แห่ง ศูนย์บริการสาธารณสุขของกรุงเทพมหานครทั้ง 69 แห่ง และอาคารกีฬาเวสน์ ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร ไทย-ญี่ปุ่น (สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง) ได้ทุกวัน


ขอขอบคุณภาคเอกชนทุกท่านที่ร่วมกับทางกทม. เพราะเป็นสิ่งสำคัญมากเนื่องจากบางทีกทม.อาจจะรู้รายละเอียดได้ไม่เท่าภาคเอกชนที่มีข้อมูลหน้างานจากการลงพื้นที่มากมาย ทำให้กทม.ได้รับทราบข้อเท็จจริงของปัญหาซึ่งตรงไหนที่ปรับปรุงได้กทม.จะเร่งปรับปรุง เพื่อร่วมเดินไปด้วยกัน อย่างเข้มแข็ง และขอให้ความมั่นใจกับประชาชนว่า ขณะนี้ยามีเพียงพอ รวมถึงกลุ่ม 608 กลุ่มผู้สูงอายุกลุ่มที่มีโรคประจำตัวและมีความเสี่ยงซึ่งกทม.มีความเป็นห่วงเป็นพิเศษ ขอให้ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา นอกจากนี้ผู้ป่วยโควิด-19 หากมีอาการป่วยให้รักษาตัวเองแบบ 5 + 5 คือรักษาตัวเอง 5 วันและกักตัวเองอีก 5 วัน เพื่อความปลอดภัยและลดการแพร่ระบาดสู่ผู้อื่น” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว


ทั้งนี้ ปัจจุบันโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานครมีจำนวนเตียงประมาณ 760 เตียง อัตราครองเตียงอยู่ 47% รองรับผู้ป่วยระดับสีแดง 24 เตียง มีผู้เข้ารับการรักษาอยู่ 17 เตียง รองรับผู้ป่วยระดับสีเหลือง 700 เตียง มีผู้เข้ารับการรักษาอยู่ 366 เตียง ภาพรวมของทุกโรงพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพฯ มีเตียง 5,600 เตียง มีผู้ครองเตียงรักษาพยาบาลอยู่ 3,000 กว่าเตียง คิดเป็น 47% ซึ่งยังสามารถรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯได้


#ชัชชาติสิทธิพันธุ์ #ผู้ว่าฯกทม #COVID19

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์