ผู้ว่าฯ
ชัชชาติ ชี้ปัญหาสะพานคลองเคล็ดทรุดตัวแก้ไม่ง่าย ต้องบอกความจริงประชาชน
เร่งวางอุโมงค์ระบายน้ำใหม่แทนของเดิม คาดแล้วเสร็จปลายปี 66
เมื่อวันที่
17 กรกฎาคม 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
เปิดเผยภายหลังติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำจากบึงหนองบอนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา
ว่า โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำจากบึงหนองบอน ดำเนินการก่อสร้างมา 5 ปีแล้ว
ปีนี้ควรจะแล้วเสร็จ แต่ติดปัญหาเมื่อวันที่ 26 ก.พ.65
เกิดเหตุสะพานคลองเคล็ดทรุดตัว
เนื่องจากน้ำใต้ดินพัดทรายเข้าอาคารรับน้ำและไหลเข้าอุโมงค์ทำให้ชั้นดินบริเวณด้านบนทรุดตัวทำให้อุโมงค์เสียหาย
รวมทั้งเสาเข็มสะพานคลองเคล็ดทรุดตัวทำให้สะพานคลองเคล็ดพังลงมาและถนนทรุดตัวยาวประมาณ
100 เมตร ส่งผลให้บ้านพักอาศัยของประชาชนได้รับความเสียหาย
รวมทั้งเกิดปัญหาการจราจร ซึ่งปัจจุบันประชาชนมีการร้องเรียนเรื่องการจราจรติดขัดบริเวณนี้เป็นจำนวนมาก
ซึ่งต้องเร่งแก้ไขปัญหา
สำหรับแผนการแก้ไขปัญหาอุโมงค์จะทำการวางอุโมงค์ใหม่ที่ความลึก 16 เมตร เพื่อทดแทนอุโมงค์เดิมที่เสียหาย ใช้ระยะเวลาดำเนินการประมาณ 18
เดือน คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี 66 โดยกำชับสำนักการระบายน้ำและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด
ด้านการแก้ไขปัญหาการจราจรบริเวณดังกล่าว
ต้องสำรวจเส้นทางลัดและเส้นทางเลี่ยงออกสู่ถนนบางนา-ตราด และถนนศรีนครินทร์
รวมทั้งต้องคืนผิวการจราจรโดยเร็ว เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจร
พร้อมติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์การดำเนินโครงการให้ประชาชนรับทราบว่าเริ่มโครงการเมื่อไหร่
จะแล้วเสร็จเมื่อไหร่
“งานนี้ต้องยอมรับว่าไม่ง่าย เนื่องจากเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้น
สุดท้ายต้องยอมรับความจริงและต้องบอกความจริงกับประชาชนว่าต้องใช้ระยะเวลาเท่าไหร่ในการแก้ไขปัญหา
อุบัติเหตุครั้งที่ผ่านมาต้องถือเป็นบทเรียน สถานการณ์ตอนนี้คือต้องซ่อมแซม
ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไข
โดยเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
ทั้งนี้
โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำจากบึงหนองบอนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา
เริ่มจากบริเวณบึงรับน้ำหนองบอนลอดใต้คลองหนองบอน คลองตาช้าง ถนนอุดมสุข สุขุมวิท 101/1 คลองบางอ้อ
ออกแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณพื้นที่บริษัทไม้อัดไทย พื้นที่ที่จะได้รับประโยชน์
ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 85 ตารางกิโลเมตร ได้แก่
พื้นที่เขตประเวศ บางนา พระโขนง และสวนหลวง อุโมงค์มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5.00
เมตร ยาวประมาณ 9.40 กิโลเมตร
ระหว่างทางก่อสร้างอาคารรับน้ำ 7 แห่ง ประกอบด้วย 1.อาคารรับน้ำบึงหนองบอน 2.อาคารรับน้ำคลองหนองบอน 3.อาคารรับน้ำคลองเคล็ด 4.อาคารรับน้ำคลองหลอด กม.3
5.อาคารรับน้ำคลองหลอด กม.2 6.อาคารรับน้ำถนนสุขุมวิท
101/1 และ7.อาคารรับน้ำซอยสุขุมวิท 66/1
และก่อสร้างสถานีสูบน้ำ (บางอ้อ) ตอนปลายอุโมงค์กำลังสูบ 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที งบประมาณ 5,900 ล้านบาท
ที่มา
: กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์
#ชัชชาติสิทธิพันธุ์ #ผู้ว่าฯกทม
#UDDnews
#ยูดีดีนิวส์