แลไปข้างหน้ากับ
ธิดา ถาวรเศรษฐ EP.93
ประเด็น
: ปัญหาความคิดต่างในฝ่ายประชาธิปไตย
สวัสดีค่ะ
วันนี้ดิฉันอยากจะคุยในประเด็น “ปัญหาความคิดต่างในฝ่ายประชาธิปไตย”
ปัญหาความคิดต่างในฝ่ายประชาธิปไตย
หมายถึง
เราเข้าใจตรงกันแล้วว่าในฝ่ายประชาธิปไตยก็คือฝ่ายที่มุ่งหวังและมีเป้าหมาย
คือสนับสนุนการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง
คือระบอบประชาธิปไตยจริงที่ไม่ใช่จอมปลอมนั่นแหละ ตัวนี้ต้องเป็นเรื่องหลัก
แต่ทีนี้ในฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกันก็ปรากฏว่าเรามีความคิดต่างกันได้ในหลายเรื่อง
เช่นเรื่องเศรษฐกิจ เช่นเรื่องสังคม เรื่องวัฒนธรรม
อันนี้จึงเป็นเหตุให้ประเทศที่เขาผ่านการปฏิวัติอุตสาหกรรม
ประเทศที่เข้าสู่ทุนนิยมเต็มที่ และก็อยู่ในฝ่ายเสรีประชาธิปไตย จึงมีพรรคการเมืองให้ประชาชนเลือกซึ่งมีสีสันเฉดต่าง
ๆ กัน แต่แน่นอนนั่นก็คือแปลว่าเขาบรรลุเป้าหมายแล้ว ก็คือไม่มีการทำรัฐประหาร
ไม่มีการยึดอำนาจจากประชาชน คุณจะเป็นนักการเมืองพรรคไหน
คุณจะเรียกร้องอย่างไรก็ตาม ก็คือเป็นการเรียกร้องอยู่บนพื้นฐานของประชาชนมีอำนาจสูงสุด
ซึ่งตัดสินกันที่มีการเลือกตั้งหรือการทำประชามติ คือประชาธิปไตยทางตรง เช่น
ปัญหาการทำประชามติในเรื่องสำคัญ
หรือว่ามีการเลือกตั้งแล้วมีผู้แทนเข้ามาในฐานะรัฐบาลและในรัฐสภา
นี่จึงเป็นเหตุผลว่า
การเมืองในระบอบประชาธิปไตยและฝ่ายประชาธิปไตยจำเป็นต้องเข้าใจว่า
ประเทศไทยเรากำลังต่อสู้กับปัญหาหลัก
ปัญหาหลักก็คือทำอย่างไรไม่ให้มีการทำรัฐประหาร ดิฉันดูปัญหาในขณะนี้นะ
ตอนนี้นะมันก็เหมือนอยู่ชัด ๆ ว่ายังเป็นรัฐบาลทหารอยู่แท้ ๆ เลย
เพราะว่าตอนนี้นายกรัฐมนตรีใช้หน่วยงานความมั่นคง สภาความมั่นคงมาประกบทั้งปัญหาพลังงาน
ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสังคม อะไรต่าง ๆ ก็คือรัฐบาลนี้แม้นจะมีการเลือกตั้ง
แต่โดยที่เรารู้ว่ากติกาและกลไกรัฐมันเป็นกลไกที่สืบทอดอำนาจจากการทำรัฐประหาร
ดังนั้นรัฐบาลนี้ก็คือรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจและสนับสนุนการยึดอำนาจจากประชาชน
ว่างั้นเถอะ
นี่จึงเป็นเรื่องที่ว่าเรายังอยู่ในประเทศที่ยังไม่บรรลุเป้าหมายทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย
ดิฉันอยากจะเน้นว่านี่คือปัญหาหลัก! ส่วนความคิดแตกต่าง
คือท่ามกลางการต่อสู้เราก็มีความแตกต่างกันได้ เช่น อาจจะมีคนสนใจสมรสเท่าเทียม
ไม่เห็นด้วยกันก็ได้ในฝ่ายประชาธิปไตย หรือว่าคนอาจจะมีความคิดแตกต่างกันในเรื่องกฎหมายมาตราต่าง
ๆ ว่าจะแก้อย่างไร? แม้นในขณะนี้ก็ยังมีการแก้กฎหมายของการเลือกตั้งไปแล้ว
แต่อาจจะไม่ได้ตรงกับใจของฝ่ายประชาธิปไตยต่าง ๆ ทั้งหมด (เพราะเราไม่ได้เขียนรัฐธรรมนูญใหม่โดยประชาชน)
เพราะฉะนั้น
ปกติเราจะมีหลักการอยู่ว่า
เราเรียกว่าในฝ่ายประชาชนด้วยกันจะมีท่าทีต่อความคิดต่างอย่างไร
แต่สำหรับดิฉันคิดว่าลำพังท่าทีไม่พอ มันต้องมีความคิดที่ถูกต้องด้วย
ก็คือยึดหลักการเป็นหลัก ไม่ใช่พวกกัน ไม่ใช่เรื่องลัทธิพรรคพวก
ถ้าพวกไปทางไหนก็ตามไปด้วย แล้วก็ไม่ใช่ยึดติดกับบุคคล ถ้าเป็นบุคคลคนนี้พูด
ถ้าเป็นพรรคนี้พูด ถ้าเป็นกลุ่มคนนี้พูด โอเค! ถูกต้อง! เพราะในทัศนะดิฉัน
ในฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกัน ต่างพรรค หรือกระทั่งในพรรคเดียวกัน
หรือในกลุ่มขบวนการต่อสู้นอกรัฐสภาก็อาจจะมีหลายกลุ่ม
หรือในกลุ่มเดียวกันก็มีความคิดแตกต่างกัน
ดังนั้นอยู่ที่ปัญหาหลักก็คือว่า
ถ้านำไปสู่ระบอบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยที่อำนาจเป็นของประชาชน
ไม่สนับสนุนรัฐประหาร ทำอย่างไรเราถึงจะไปสู่จุดนี้ได้
มาถึงปัจจุบันเราพบว่ามันมีความหวังเล็ก ๆ อันหนึ่งก็คือ
คุณชัชชาติได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม.
ซึ่งมันก็เป็นอะไรที่คิดว่าน่าจะเป็นผลดีสำหรับการต่อสู้ในหลักการของระบอบ
เพราะคุณชัชชาติมาจากการเลือกตั้ง ส.ก.ก็มาจากการเลือกตั้ง
แล้ววาทกรรมของฝ่ายที่เป็นฝ่ายจารีตนิยม อำนาจนิยม
และกลุ่มเครือข่ายเขาซึ่งยังมีอำนาจอยู่ในสังคมไทยมากมาย วาทกรรมก็คือ พวกที่มาจากการเลือกตั้ง
พวกที่มาจากการเมืองเป็นพวกโกงกิน คอรัปชั่น เป็นคนไม่ดีประมาณนั้น
กลายเป็นว่าการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ตัวผู้แทนราษฎร รัฐมนตรี นายกฯ
ที่มาจากการเลือกตั้ง ถูกมองเป็นคนไม่ดี
เพราะฉะนั้น
แม้อันนี้เป็นเฉพาะการเลือกตั้งท้องถิ่น ไม่ใช่การเลือกตั้งระดับชาติ
แต่อย่างน้อยมันก็สามารถทำลายวาทกรรมว่า คนที่มาจากการเลือกตั้งเป็นคนไม่ดี
ดังที่ดิฉันได้เคยพูดในรอบก่อนเรื่องว่าผลการเลือกตั้งของคุณชัชชาติ
มันได้ทำลายวาทกรรมและทำลายปฏิมากรรมที่ว่า
คนดีนั้นจะต้องเป็นคนซึ่งอยู่ในกลุ่มของจารีตนิยม กลุ่มอำนาจนิยมและพวกรัฐข้าราชการ
แต่คนดีไม่มีทางมาจากฝ่ายการเมืองก็ทำให้เรื่องของพรรคการเมืองกลายเป็นเรื่องชั่วช้าไปทั้งหมด
ดังนั้นเรื่องของคุณชัชชาติในทัศนะดิฉันก็มองว่า
ชัยชนะคุณชัชชาตินั้นเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของการต่อสู้เพื่อให้บรรลุระบอบประชาธิปไตย
ดังที่ดิฉันได้บอกแล้วว่าการบรรลุเป้าหมายการเมืองในระบอบประชาธิปไตยนั้นถือเป็นเรื่องหลัก
แต่ว่าความแตกต่างในเรื่องอื่น ๆ เช่น แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจ แนวคิดเรื่องสังคม
แนวคิดเรื่องกระบวนการทางวัฒนธรรม หรือกระทั่งอุดมการณ์ต่าง ๆ
ถ้าในต่างประเทศมันก็มีตั้งแต่ซ้ายสุดไปจนกระทั่งสิ่งที่เรียกว่ากลาง ๆ
คือปกติฝ่ายจารีต อำนาจนิยมเราถือว่าเป็นฝ่ายขวา
เพราะฉะนั้นจนกระทั่งมาจนคนกลุ่มกลาง ๆ
กลุ่มคนเสรีนิยม
จริง ๆ เสรีนิยมก็คือยอมรับความแตกต่าง แตกต่างทางความคิด ถ้าเราเป็นเสรีนิยม
เราต้องยอมรับตรงนี้ได้ แตกต่างทางความคิดแต่ไม่ได้หมายว่าไม่สนใจเรื่องปัญหาความเท่าเทียม
นั่นก็คือการเมืองต้องอยู่ในระบอบประชาธิปไตย
แต่ว่าการเมืองในระบอบประชาธิปไตยนั้นต้องอนุญาตให้คนแตกต่างทางความคิดอยู่ได้
และประชาชนเป็นผู้ตัดสิน
อันนี้เป็นหลักการที่ดิฉันอยากจะเตือน
เพราะหลายคนก็อาจจะลืมไปแล้ว ในฝ่ายประชาธิปไตย
โดยเฉพาะในการต่อสู้กับฝั่งเผด็จการกับฝ่ายจารีตนิยม เราต้องยอมรับว่ามันมีแนวทาง
มีวิธีการ และมีประวัติศาสตร์การต่อสู้ซึ่งไม่เหมือนกัน ขณะนี้เราผ่านจาก 2475 มา
90 ปีแล้ว เราได้เรียนรู้ทั้งจุดอ่อนและปัญหาความผิดพลาด
และเรื่องราวของทั้งสองฟากฝั่งที่ฝั่งจารีตนิยม อำนาจนิยม
โดยทั่วไปชื่อจารีตนิยมก็บอกแล้ว ถ้าพูดง่าย ๆ ก็คือเป็นระบอบเก่า กับระบอบใหม่
อันนี้อาจจะใช้ภาษาของจอมพล ป. ก็ได้
หรือว่าถ้าเราพูดในปัจจุบันก็ถือว่าเป็นเครือข่ายจารีตนิยม อำนาจนิยม
และขณะนี้รัฐบาลก็เป็นรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจเผด็จการทหารจารีตนิยม
เมื่อดิฉันได้พูดเรื่องปัญหาหลัก
เรื่องหลักคือเรื่องระบอบ เรื่องรองคือเรื่องบุคคลและกลุ่ม และทัศนะความคิดต่าง
ในขณะนี้น่าสนใจที่มีเรื่องปัญหาเรื่องเศรษฐกิจเรื่องหนึ่งก็คือ ปัญหาที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่ากลุ่มนี้เป็นแนวคิดเสรีนิยมใหม่
กลุ่มนี้เป็นสังคมนิยม ดังที่ดิฉันบอก กลุ่มนี้เป็นแนวคิดแบบซ้ายกลาง ซ้ายจัด
หรือกลุ่มนี้เป็นกลุ่มขวา ในทัศนะดิฉันคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องรอง
อีกอย่างหนึ่งก็คือว่า
เราสามารถวิพากษ์วิจารณ์กันได้ ในความคิดของดิฉัน ด้วยเนื้อหาหรือด้วยการแสดงความคิดเห็น
แต่ว่าเราไม่สามารถที่จะไปบังคับให้คนอื่นเปลี่ยนแปลงคิดมาเหมือนเราได้
นอกจากจูงใจ ดิฉันก็คิดว่าท่านผู้ชมท่านผู้ฟังก็คงเห็นด้วยกับดิฉันก็คือ
มันต้องเป็นความเห็นที่เสนอแนะที่มีเหตุผล แล้วก็ทำให้ผู้ถูกวิพากษ์วิจารณ์แม้กระทั่งประชาชนส่วนอื่นเห็นด้วยถ้ามันเป็นเรื่องสำคัญ
แต่ในทัศนะดิฉัน
เรื่องของแนวคิดเศรษฐศาสตร์การเมือง อันนี้มันเป็นภาพรวมของเศรษฐกิจทั้งหมด มันควรจะเป็นแนวคิดของพรรคการเมืองหรือคนที่แสดงตัวชัดเจน
เช่น บางคนอาจจะบอกว่าผมเป็นมาร์กซิสต์ ผมเป็นฝ่ายซ้าย ผมมีแนวคิดสังคมนิยม
บางส่วนก็บอกผมเป็นสังคมประชาธิปไตย ผมต้องการรัฐสวัสดิการแบบเดียวกับยุโรปเหนือ
แล้วก็บางส่วนเป็นไปได้ในฝ่ายประชาธิปไตยอาจจะบอกว่าผมชอบเสรีนิยมใหม่
ดิฉันก็อยากจะเพิ่มเติมว่า
คำว่า “เสรีนิยมใหม่” มันเป็นศัพท์ที่พูดถึงแนวคิดทางเศรษฐกิจและวิธีการ
ซึ่งในขณะนี้มันก็เรียกว่าถูกใช้ไปทั่วโลกและถูกใช้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่
มาร์กาเรต แทตเชอร์, โรนัลด์ เรแกน ในช่วงเวลานั้นใช้ ก็คือคำว่า “เสรีนิยมใหม่”
เป็นศัพท์แนวทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่ทางการเมือง
ในทัศนะดิฉันเรื่องนี้มันก็อาจจะเป็นเชิงทฤษฎี แล้วถ้ามองกันจริง ๆ รัฐบาลทักษิณ
รวมทั้งคุณชัชชาติ อยู่ในพรรคไทยรักไทย ซึ่งจริง ๆ
วิธีแก้ปัญหาเศรษฐกิจนั้นใช้รัฐนำ ซึ่งมันสืบทอดมาตั้งแต่จากลัทธิเคนส์ คือ
เป็นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจโดยที่รัฐมีอำนาจมีบทบาทและสามารถแทรกแซงได้เพื่อแก้ปัญหาของประเทศ
ซึ่งอันนี้มันเกิดขึ้นมากตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง
แต่หลังจากนั้นเมื่อทุนนิยมเติบโต
เมื่อเทคโนโลยีมีลักษณะที่เป็นเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดไร้พรมแดน ความไร้พรมแดนและศักยภาพของรัฐต่าง
ๆ รัฐวิสาหกิจต่าง ๆ หรือการทำงานของรัฐมันเป็นอุปสรรคกับภาคเอกชนจำนวนหนึ่ง
มันจึงเกิดเสรีนิยมใหม่ ซึ่งหมายความว่า ยิ่งมือใครยาวสาวได้สาวเอาเต็มที่
ก็คืออำนาจรัฐต้องน้อยลง กฎระเบียบต่าง ๆ ต้องน้อยลง
ทำให้ทุนระหว่างประเทศสามารถข้ามโลกได้อย่างง่าย ๆ และที่สำคัญกฎระเบียบต่าง ๆ
ที่รัฐตั้งเอาไว้เป็นกำแพงสำหรับทุนจากที่อื่น ให้ลดลง
เอื้อเฟื้อให้มีการลงทุนระหว่างประเทศมากขึ้น
ที่สำคัญอีกอันคือการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
ซึ่งอันนี้มันเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว
แต่ถ้าเรามาดูนโยบาย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งของพรรคไทยรักไทย ตัวอย่างที่คลาสสิคที่สุดก็คือ ประกันข้าว กับ
จำนำข้าว
จำนำข้าวซึ่งทำมาก่อนนานแล้วตั้งแต่ยุค พล.อ.เปรมฯ
อันนี้ก็เข้าข่ายลัทธิเคนส์ หรือการที่รัฐลงมาดำเนินการ
แต่ว่าในยุคของคุณยิ่งลักษณ์ อาจจะขนาดมันใหญ่ 100% อะไรต่าง ๆ เหล่านี้
เพราะฉะนั้นพูดง่าย ๆ ว่า พรรคไทยรักไทย ไม่ใช่เสรีนิยมใหม่เด็ดขาด
แต่ก็มีสัดส่วนของการเปิดการลงทุน การข้ามได้ของทุน
และการดำเนินงานระหว่างประเทศก็ทำได้เต็มที่
ดังนั้นมันจึงเป็นการผสมผสานระหว่างลัทธิเคนส์หรือการทำนโยบายของรัฐ
กับกระแสทุนนิยมโลก ซึ่งเสรีนิยมใหม่กำลังกระจายทั่วโลก
แล้วถ้าพูดถึงคุณชัชชาติในเวลานั้นที่มีการนำเสนอเรื่องโครงการคมนาคมสองล้านล้าน
อันนี้ก็เห็นได้เลยว่าเป็นนโยบายของภาครัฐ
เพราะเสรีนิยมใหม่เป็นแนวทางเศรษฐกิจที่รัฐต้องเล็กลง รัฐจะต้องไม่เข้าไปแทรกแซง
ปล่อยให้เอกชนทำให้หมด รัฐวิสาหกิจมีเท่าไรแปรรูปให้หมด
แต่ของเราก็แปรรูปไปได้จำนวนหนึ่ง ถ้าอันที่ไม่มีศักยภาพมันก็หายไป
ก็เหลืออย่างเช่น องค์กรเภสัชกรรม รถไฟก็ยังอยู่ ดีหรือไม่ดีก็ยังอยู่ องค์กรสุรา
อย่างนี้ยังอยู่ ยาสูบ ยังอยู่
เพราะฉะนั้น
เราก็มีประวัติศาสตร์ของพัฒนาการของทุนนิยมโลกและวางแผนซึ่งแตกต่างกัน อย่าง TDRI
ในกรณีประกันข้าว นั่นชัดเลยว่าเป็นเสรีนิยมใหม่ แต่ดิฉันดูแล้วมันก็แปลก ๆ
ตอนช่วงจัดการคุณทักษิณตอนแรก iTV (สถานีโทรทัศน์ไอทีวี)
ซึ่งในยุคคุณอานันท์ต้องการให้เป็นสถานีโทรทัศน์เอกชน
คือในยุคคุณอานันท์ก็เข้าสู่เสรีนิยมใหม่ค่อนข้างเต็มที่
ก็กลายเป็นว่าไปยึดกลับไปเป็นของรัฐ แต่พอมาในยุคของคุณยิ่งลักษณ์ ก็กลายเป็นว่า TDRI นำเสนอพรรคประชาธิปัตย์และป.ป.ช.ในโครงการประกันข้าว
แล้วก็ไม่เห็นด้วยกับจำนำข้าว ซึ่งว่าที่จริงมันก็มีที่มาจากวิธีคิดที่แตกต่างกัน
(นี่ อ.ธิดา ยังไม่ได้พูดถึง 30 บาทรักษาทุกโรคด้วยซ้ำ)
ที่ดิฉันพูดมาทั้งหมดก็คือ
ไม่ได้ว่าไปเป็นการไปช่วยคุณชัชชาติหรือว่าช่วยใคร หรือว่าพรรคไทยรักไทย
พรรคเพื่อไทย แต่ว่าไปตามเนื้อผ้าว่า เราเป็นประเทศซึ่งทุนนิยมพัฒนาอย่างไม่ดี
เราไม่มีการสะสมทุน เราไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี
ไม่ได้มีการปฏิวัติอุสาหกรรม ทุกอย่างนำเข้าหมด
เพราะฉะนั้นเราตกเป็นเหยื่อเมื่อตอนต้มยำกุ้ง
ก็คือเป็นเหยื่อของเสรีนิยมใหม่ที่พังทลายทั้งหมด เพราะเราเปิดเสรีการเงิน
แล้วก็เปิดหมดเลย ทั้ง ๆ ที่ยังผูกค่าเงินเอาไว้กับ US
ดอลลาร์ เสรีนิยมใหม่ก็คือทุนข้ามชาติ
ทุนการเงินระหว่างประเทศก็สามารถโจมตีค่าเงินบาทได้
ดังนั้น
แนวทางวิธีคิดทางเศรษฐกิจมันก็มีหลากหลาย ในบางอย่าง ในบางประเทศ
ในบางเวลาก็อาจจะใช้แบบเคนส์ ในบางที่บางเวลาก็อาจจะต้องใช้เสรีนิยมใหม่ แต่ว่าสำหรับประเทศและกลุ่มคนที่มองเห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจนก็ยังอยากให้อำนาจรัฐดำเนินการโดยที่ลดความเหลื่อมล้ำแก้ปัญหาความยากจน
อย่างตอนนี้ข้อมูลของเราก็คือคนยากจนที่มีรายได้ต่ำกว่าประมาณ 5 พันบาทเศษ มี 40%
มันมีตั้งแต่ปี 2558 แต่ตัวเลขตอนนี้ของสภาพัฒน์ฯ และสำนักงานสถิติฯ ยังไม่ออก
เส้นความยากจนของเราประมาณ 2 พันกว่าบาท/คน/เดือน แต่ว่าถ้าตีเอาตรง
ถ้าเป็นของธนาคารโลก เส้นธนาคารโลกก็จะต้องเป็นประมาณ 2
เท่าของเส้นความยากจนของเรา ก็ประมาณ 5 พันเศษ อันนี้มันยังอยู่ประมาณ 40-50 % ของคนทั้งประเทศ
เพราะฉะนั้น
ในทัศนะดิฉันก็เห็นด้วยว่าเสรีนิยมใหม่ไม่สอดคล้องกับการแก้ปัญหาความยากจน
การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ การแก้ปัญหารัฐราชการรวมศูนย์
ทุกอย่างเหล่านี้มันก็ต้องแก้หมด แต่อย่างไรก็ตาม แนวคิดเหล่านี้เป็นเรื่องซึ่งแต่ละคนสามารถนำเสนอได้
แล้วก็ให้ประชาชนตัดสิน ยกตัวอย่างเช่น ครั้งที่แล้ว การเลือกผู้ว่าฯ กทม. ก็สรุปว่าคุณชัชชาติได้คะแนนเสียงจากผู้สนับสนุนพรรคอื่น
ๆ ด้วย มาเป็นเสียงที่ทิ้งขาด ยกตัวอย่างเช่นจากพรรคก้าวไกล พรรคประชาธิปัตย์
อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ หรือว่าพรรคพลังประชารัฐ ผู้ที่ออกมาเป็นสมัครผู้ว่าฯ กทม.
ก็ได้คะแนนเสียงน้อยกว่า นั่นแปลว่านี่คือระบอบประชาธิปไตยก็คือวิถีทางที่ได้มาเป็นผู้ว่าฯ
ในทัศนะของดิฉัน
การเลือกตั้งท้องถิ่นไม่สามารถนำเสนอนโยบายแบบ Macroeconomic (เศรษฐกิจมหภาค)
แบบนี้ได้ แล้วการเลือกตั้งท้องถิ่นของผู้ว่าฯ
ยังอยู่ในโครงครอบของกฎหมาย ของรัฐธรรมนูญ ของอำนาจของฝ่ายจารีตนิยม
อำนาจนิยมอย่างเต็มที่ มันเพียงแต่เป็นจุดเล็ก ๆ
ที่แสดงให้เห็นว่าเมื่อเขาเปิดทางให้
การเลือกตั้งนั้นสามารถสร้างสิ่งที่ดีให้กับท้องที่นั้น ๆ ได้
แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่ได้รับชัยชนะอย่างเช่นคุณชัชชาติจะสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศไทยได้
การจะเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้นำไปสู่ระบอบประชาธิปไตย
ซึ่งยังมีความหลากหลายทางความคิดและวิธีการอยู่นั้น มันต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจ
สามัคคี
เขาเรียกว่า
“ยิงศรให้ถูกเป้า” ในความคิดของดิฉัน “ยิงศรให้ถูกเป้า” ก็คือระบอบประชาธิปไตย
เรายังไม่ยึดติดกับบุคคล ไม่ยึดติดกับคุณทักษิณ ไม่ยึดติดกับคุณชัชชาติ
ไม่ได้ยึดติดกับคุณธนาธร ไม่ได้ยึดติดกับคุณปิยบุตร นี่ยกตัวอย่างนะ หรือพวกเสื้อแดง
หรือไม่ต้องยึดติดกับพวกอดีตแกนนำ เพราะว่าคนเปลี่ยนแปลงได้ แล้วคุณไปรับรองคนไม่ได้
อดีตแกนนำนปช. แกนนำหลายระดับเปลี่ยนไปหมดเลย นี่ยกตัวอย่างเป็นต้น
ดังนั้นเราต้องยึดติดกับหลักการเท่านั้น
แล้วหลักการและเป้าหมายที่เป็นเป้าหมายใหญ่สำคัญ
ส่วนเรื่องรอง ความแตกต่างในเรื่องความเห็น ในเรื่องสังคม เช่น
อาจจะมีความคิดเห็นต่างกันในเรื่องวัคซีน
มีความคิดเห็นต่างกันเรื่องกฎหมายของคนพิการ กฎหมายของคนหลากหลายทางเพศ อะไรต่าง ๆ
เหล่านี้ แม้กระทั่งเรื่องเศรษฐกิจ เน้นรัฐสวัสดิการ
หรือเน้นวิธีแก้ปัญหาเศรษฐกิจแบบแนวคิดแบบเสรีนิยมใหม่ ก็คือรัฐไม่ต้องทำอะไร
ให้ภาคเอกชนทำทั้งหมด
ดังนั้นในปัญหาเรื่องของรถไฟฟ้าหรืออะไร
มันยังมีเส้นทางการดำเนินการ ดิฉันก็อยากจะให้มองเรื่องต่าง ๆ
โดยมีเรื่องหลักเรื่องรอง ไม่ยึดติดอยู่กับบุคคล แต่ถามว่ามีความเห็นได้มั้ย?
มีได้เลย และประชาชนส่วนหนึ่งก็แสดงให้ดูว่า ไม่ว่าคุณมาจากเลือกตั้งก็จริง
แต่ถ้าผมไม่ถูกใจ อันนั้นในฐานะประชาชนมวลชน มวลชนสามารถนำเสนอได้ ดังที่เรามักจะมีคำพูดว่า
“ผู้พูดไม่ผิด ผู้ฟังพึงสังวร” นี่เป็นภาษาฝ่ายซ้ายเก่านะ คำว่า “ผู้พูดไม่ผิด
ผู้ฟังพึงสังวร” เขาใช้กับประชาชน ยกตัวอย่างเช่น
วันนั้นมีมอเตอร์ไซด์มาตะโกนด่าว่าทำไมมาอยู่ตรงนี้ ทำไมไม่ไปลาดพร้าว 64 บ้าง
นี่ยกตัวอย่าง อย่างนี้เรียกว่าผู้พูดไม่ผิด ผู้ฟังคือคุณชัชชาติพึงสังวร
แต่ว่าสมมุติว่าคุณเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง
หรือคุณเป็นหัวหน้ากลุ่มใหญ่ในฝ่ายประชาธิปไตยที่มีบทบาท อันนั้นเขาจะไม่ใช้วาทกรรมนี้
ไม่ใช่ว่าอย่าง อ.ธิดา ก็อาจจะไม่ได้มีความสำคัญอะไรมากมาย
แต่จะวิพากษ์วิจารณ์อะไรก็คิดแล้วคิดอีก ว่ามันต้องมีหลักการ
และมันต้องได้ประโยชน์ แล้วก็ไม่ทำให้ขบวนเสียหาย จะมาใช้คำว่า “ผู้พูดไม่ผิด
ผู้ฟังพึงสังวร” ไม่ได้ ก็คือผู้ที่แสดงความคิดเห็นนั้นต้องผ่านการสำรวจ
ถ้าไม่สำรวจคือไม่มีข้อมูลดีเพียงพอ “ผู้ไม่สำรวจไม่มีสิทธิ์พูด/วิจารณ์”
อันนี้เขาใช้กับผู้ปฏิบัติงานที่มีระดับ เพราะฉะนั้นมันก็เลยจะมีบางคนว่า
“ผู้พูดไม่ผิด ผู้ฟังพึงสังวร” แล้วผู้พูดคือใคร? ถ้าผู้พูดมีระดับ somebody สมมุติ นายกฯ พูด รัฐมนตรีพูด อย่างนี้มันไม่เข้าข่าย “ผู้พูดไม่ผิด”
ต้องเปลี่ยนเป็น “ผู้พูดพึงสังวร” ด้วย แต่ว่ามันตรงกันข้ามก็คือว่า ถ้าไม่สำรวจ
ไม่มีสิทธิ์พูด/วิจารณ์ นี่เป็นภาษาสั้น ๆ
ก็ฝากเอาไว้
คำว่า “ไม่สำรวจ ไม่มีสิทธิ์พูด/วิจารณ์” ก็แปลว่าคุณต้องประมวลข้อมูล
สมมุติคุณจะวิพากษ์วิจารณ์
ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์ได้ต้องอยู่บนพื้นฐานว่าได้ผ่านการใคร่ครวญและมีข้อมูลระดับหนึ่ง
ดังนั้นมันจึงจะทำให้คนบางส่วนที่เขางดการวิพากษ์วิจารณ์คน คือปากไม่ไว
เหตุผลเพราะว่าเขาคงต้องคิดหนักว่าแล้วจริง ๆ มันเป็นยังไง? ดิฉันก็จะฝากไว้
ทั้งหมดนี้ไม่ใช่อะไร เพื่อที่จะให้พวกเราเป็นขบวนใหญ่ที่นำไปสู่เป้าหมาย คือสู้เพื่อระบอบที่ถูกต้อง
ไม่ได้สู้เพื่อบุคคล ไม่ได้สู้เพื่อพรรคการเมือง ไม่ได้สู้เพื่อคณะของตน
ดังนั้นในความสามัคคีของฝ่ายต่าง
ๆ นั้น มันจึงเป็นเรื่องที่ว่าเราต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะผู้ที่มีบทบาท
ดังที่ดิฉันเคยบอก เช่น เรามีติ่งแดง ติ่งส้ม ติ่งอะไร ดิฉันบอก “ติ่ง”
ไม่เป็นไรหรอก สำคัญตัวคนที่มีตำแหน่ง ตำแหน่งในพรรคการเมือง ตำแหน่งในกลุ่มใหญ่ ๆ
อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ ต้องระมัดระวังคำพูด เพราะว่าถ้าผู้พูดไม่สำรวจคือพูดไปเลย
ดิฉันเองบางครั้งก็มีความเห็น อย่างเช่นบางครั้งสำหรับพรรคบางพรรค ขนาดเลขาธิการ
แต่ว่าเมื่อท่านขอโทษมา ดิฉันก็โอเค ก็เข้าใจ เพราะว่าถ้าท่านไม่ใช่ somebody
นะ ท่านเป็นเป็นมวลชน ดิฉันจะไม่พูดอะไรเลย เพราะสำหรับมวลชนว่าใช้คำว่า
“ผู้พูดไม่ผิด ผู้ฟังพึงสังวร” แต่ถ้าเป็นระดับหนึ่งก็คือ “ไม่สำรวจ
ไม่มีสิทธิ์พูด/วิจารณ์” ความหมายก็คือเพื่อความสามัคคี แต่ถามว่ามีสิทธิ์พูด/วิจารณ์ไหม?
ก็มีสิทธิ์พูด/วิจารณ์นะ แต่ว่ามันจะเกิดผลอะไรกับผู้พูด
แล้วถ้าผู้พูดมีบทบาทสำคัญก็จะทำให้กระเทือนไปถึงคณะด้วย
วันนี้ดิฉันก็อาจจะมีทฤษฎีมากไปหน่อย
แต่ว่าทั้งหมดไม่มีอะไร เป็นแต่เพียงความห่วงใยว่าอย่าหลงในเรื่องรอง
อย่าหลงเรื่องบุคคล อย่าหลงเรื่องคณะหรือพรรคการเมือง ขอให้ไปสู่เป้าหมายใหญ่
ก็คือระบอบการเมืองการปกครองที่เป็นประชาธิปไตย ที่ประชาชนมีอำนาจโดยแท้จริง
สำหรับบุคคล ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายประชาธิปไตย หรือเป็นฝ่ายจารีต อำนาจนิยม
ตายไปแล้วก็มีคนอื่นอีก เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราสู้ก็คือสู้เพื่อระบอบ ไม่ได้ยึดติดกับบุคคล
ก็ฝากไว้ค่ะ
#ธิดาถาวรเศรษฐ
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์