วันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

ธิดา ถาวรเศรษฐ : ความเหมือนและความต่างของกองทัพพม่า-ไทย

 


ความเหมือนและความต่างของกองทัพพม่า-ไทย

โดย อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ 29 ก.ค. 65

 

ขณะที่กองทัพพม่าเชิดชู : สหภาพ เอกภาพ อธิปไตย

 

กองทัพไทยเชิดชู : ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

 

ดูเหมือนมีความต่างกันที่ “คำขวัญและอุดมการณ์” แต่มีความเหมือนกันมากในความพยายามที่จะครองอำนาจเหนือประชาชน โดยใช้กำลังกองทัพ พร้อมปราบปรามเข่นฆ่าประชาชนที่เห็นต่าง และใช้อาวุธทางกฎหมายลงโทษ จับกุมคุมขัง กระทั่งประหารชีวิต มีการลุกขึ้นสู้และการเลือกตั้งสำหรับประเทศพม่า ผลการเลือกตั้ง พรรค NLD ของ อองซานซูจี ก็ชนะทุกครั้ง แม้กองทัพจะเขียนกติกา เขียนรัฐธรรมนูญให้ได้เปรียบ มีทหารเข้าไปเป็นส.ส. อย่างน้อย 25% และจองตำแหน่งรัฐมนตรี เช่น กลาโหม, กระทรวงกิจการชายแดน, กระทรวงกิจการการเมือง เป็นของกองทัพเท่านั้น

 

และมีความต่างกันอีกอย่างคือ รัฐธรรมนูญถูกอ้างให้ทำรัฐประหารได้โดยไม่ต้องฉีกรัฐธรรมนูญ กระนั้นก็ล้มเหลวในการเลือกตั้งล่าสุดอีก ต้องทำรัฐประหาร ยึดครองอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จนประชาชนลุกขึ้นสู้ด้วยอาวุธไปแล้วในปัจจุบัน

 

กล่าวได้ว่าจากที่ พลเอก เนวิน ทำรัฐประหาร (ไล่เลี่ยกับจอมพล สฤษดิ์) จนปัจจุบัน ทหารพม่าครองอำนาจมาตลอด ดูแล้วคงผลัดกันศึกษาซึ่งกันและกัน ระหว่างกองทัพพม่า-ไทย เอาอย่างกันเพื่อหาวิธีให้ครองอำนาจนำตลอดไป

 

ความต่างที่หนักหน่วงคือ พม่ามีหลายชาติพันธุ์ ที่มีประชากร มีพื้นที่ และวัฒนธรรมที่แน่นอน และมีกองทัพของตนเอง มีประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อเอกราชร่วมกัน และเรียกร้องความเป็นรัฐอิสระตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 “สนธิสัญญาปางโหลง” ที่สัญญาจะให้อิสระแต่ละรัฐหลังรับเอกราชจากอังกฤษ 10 ปีแล้ว แต่นายพลอองซานถูกฆ่าตายพร้อมผู้นำรัฐต่าง ๆ ดังนั้นเป็นความขัดแย้งที่กองทัพพม่าถือชาติพันธุ์พม่าเป็นใหญ่ ไม่อนุญาตให้รัฐต่าง ๆ ของชนชาติอื่น แยกตัวออกไป และความเชื่อทางอุดมการณ์ “สหภาพ-เอกราช-อธิปไตย” เต็มที่ โดยมีเผ่าพันธุ์พม่าเป็นผู้ปกครอง ที่มีความเป็นเอกภาพและมีอธิปไตยเหนือดินแดนสหภาพทั้งหมด

 

ส่วนกองทัพไทย อาจไม่เผชิญปัญหาชาติพันธุ์ยิ่งใหญ่ขนาดนั้น แค่ 3 จังหวัดภาคใต้ ก็มีวิธีคิดแบบเดียวกันนั่นแหละ และกองทัพไทยยังมีอุดมการณ์แบบดั้งเดิมในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ยึด “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” ซึ่งทั้งสองกองทัพมีอุดมการณ์ขัดแย้งกับแนวคิดสิทธิมนุษยชน เสรีภาพ และความเสมอภาค ซึ่งเป็นเสาหลักของระบอบประชาธิปไตยแบบสากล กองทัพทั้งสองประเทศจึงมีความเหมือนกันในเชิงอุดมการณ์ที่ล้าหลัง ไม่อาจยอมรับสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพได้ จึงทำให้เข้าใจได้ว่า ทำไมต้องใช้ความรุนแรงในการจัดการกับประชาชน ก็เพื่อรักษาอำนาจของกองทัพที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนชนชั้นนำและกลุ่มเครือข่ายที่ได้ประโยชน์จากการครองอำนาจแบบเผด็จการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อำนาจเผด็จการของกองทัพ ทำให้ผู้ยึดอำนาจมั่งคั่งทางเศรษฐกิจด้วย จนมิอาจปล่อยมือไปได้ เพราะถ้าปล่อยให้อำนาจหลุดมือ อาจถูกเช็คบิลทั้งคดีความและความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ความรุนแรงในการปราบปราม จับกุมคุมขัง จึงเป็นหนทางเดียวของกองทัพพม่ากับกองทัพไทย ที่มีกลุ่มคนและสถาบันล้าหลังต่าง ๆ สนับสนุน

 

อย่าได้ร้องขอความปราณีจากเผด็จการทหารพม่าที่อาจฆ่าอีก 41 คน

 

ถ้าเช่นนั้นก็คงเหมือนกับประเทศไทยที่ว่า อย่าร้องขอความปราณี ความเป็นนิติรัฐ นิติธรรม จากรัฐเผด็จการจารีตนิยมไทยเช่นกัน ใช่หรือไม่?

 

หรือประเทศไทยจะเป็นมิคสัญญีอย่างพม่า!

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ธิดาถาวรเศรษฐ