วันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2564

“รุ้ง ปนัสยา - แหวน ณัฏฐธิดา” ยื่นจดหมายเปิดผนึกและ 10 ข้อเรียกร้องมาตรการจัดการโควิดในเรือนจำ ต่อ กระทรวงยุติธรรม-เรือนจำพิเศษกรุงเทพ-รพ.ราชทัณฑ์

 


“รุ้ง ปนัสยา - แหวน ณัฏฐธิดา” ยื่นจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องมาตรการจัดการโควิดในเรือนจำ ต่อ กระทรวงยุติธรรม-เรือนจำพิเศษกรุงเทพ-รพ.ราชทัณฑ์

 

วันนี้ (19 ส.ค. 64) “รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล” ตัวแทนแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และ “แหวน ณัฏฐธิดา มีวังปลา” ตัวแทนหน่วยปฐมพยาบาลภาคสนาม First aid volunteers 53 ได้ไปยื่นจดหมายเปิดผนึกและข้อเรียกร้องเกี่ยวกับมาตรการจัดการโควิดในเรือนจำ

 

โดยในเวลา 09.00 น. จะไปยื่นจดหมายดังกล่าวที่กระทรวงยุติธรรม, เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ซึ่ง “รุ้ง ปนัสยา” ระบุว่า

 

“หนูจะนั่งเรียนออนไลน์รอจนกว่าจะมีคนมารับหนังสือจากเราค่ะ คาดหวังว่าจะได้พบปลัดกระทรวงยุติธรรม หรือไม่ก็คุณสมศักดิ์ เทพสุทิน นะคะ”

 

สำหรับรายละเอียดจดหมายเปิดผนึกมีดังนี้

 

จดหมายเปิดผนึก

 

เรื่อง  เรียกร้องให้มีมาตรการจัดการโรคระบาดโคโรนาไวรัส-2019 เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อในเรือนจำ และทัณฑสถาน

 

เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโคโรนาไวรัส-2019 ที่ได้มีการแพร่ระบาดหนัก ทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากในช่วงเวลานี้ ซึ่งในปัจจุบันเรือนจำและทัณฑสถานอันเป็นสถานที่ที่มีการรวมตัวกันของผู้ต้องขังอย่างแออัด อีกทั้งยังขาดแคลนอุปกรณ์ในการป้องกันและตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อ ซึ่งเป็นการสะเพร่าและบกพร่องต่อหน้าที่เป็นอย่างมาก และไม่อาจรับได้ในสถานการณ์วิกฤติเช่นนี้ จนทำให้เรือนจำและทัณฑสถานกลายเป็นคลัสเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และจวบจนถึงปัจจุบันที่ทางกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ก็ไม่สามารถระงับการแพร่ระบาดได้ และด้วยมาตรการที่หละหลวม ทำให้ผู้ต้องขังเข้าใหม่ติดเชื้อไวรัสโคโรน่า-2019 จากภายในเรือนจำเพิ่มอีก ด้วยเหตุผลตามที่ได้กล่าวไปข้างต้นนี้ แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และหน่วยปฐมพยาบาลภาคสนาม First aid volunteer 53 จึงมีข้อเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติดังต่อไปนี้

 

1. ให้มีการตรวจเพื่อคัดกรองผู้ต้องหาก่อนเข้าเรือนจำและทัณฑสถานทุกกรณี พร้อมทั้งออกเอกสารรับรองการตรวจโควิดให้กับผู้ต้องขังแรกเข้า โดยให้ญาติสามารถนำเอกสารนี้ออกมาเผยแพร่ได้ เพื่อความโปร่งใส และหากตรวจพบว่าผู้ต้องหาได้รับการติดเชื้อ ให้ผู้ต้องขังเข้าถึงการรักษาโดยทันทีอย่างเร่งด่วน

 

2. ให้คัดแยกกลุ่มเสี่ยงที่มีประวัติสัมผัสผู้ติดเชื้อหรือเคยเดินทางไปในบริเวณที่มีความเสี่ยง เพื่อเฝ้าระวังอาการเป็นกรณีพิเศษ

 

3. มาตรการป้องกันไวรัสโควิด-19 ในเรือนจำและทัณฑสถาน ต้องเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกันกับหลักสากลในการป้องกันไวรัสโควิด-19 ตามองค์กรอนามัยโลก (WHO) ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการควบคุมและป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19, การควบคุมแหล่งแพร่เชื้อ พร้อมกับมีการจัดระบบบริหารจัดการด้านการควบคุมและป้องกันการติดเชื้ออย่างเป็นระบบ

 

4. เรือนจำและทัณฑสถานทุกแห่งต้องมีการสนับสนุนอุปกรณ์การป้องกันและตรวจหาเชื้อโคโรนาไวรัส-2019 เป็นต้นว่า หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ และชุดตรวจ Rapid test ในจำนวนที่สอดคล้องกับผู้ต้องขัง และความถี่ที่ต้องใช้งาน

 

5. ราชทัณฑ์จำเป็นต้องจัดหาและแจกจ่ายหน้ากากอนามัย (แบบที่ใช้ทางการแพทย์) ให้กับผู้ต้องขังทุกคนอย่างน้อยคนละ 30 ชิ้น/เดือน และให้มีเจลแอลกอฮอล์อยู่ในห้องขังทุกห้อง และในพื้นที่ส่วนรวมเพื่อให้ผู้ต้องขังสามารถใช้ล้างมือป้องกันเชื้อได้โดยไม่มีการเก็บค่าใช้จ่ายกับผู้ต้องขัง

 

6. จัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ เพื่อฉีดให้กับผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์อย่างทั่วถึง

 

7. เรือนจำและทัณฑสถานต้องเปิดเผยข้อมูลทางสุขภาพให้แก่ทนาย และ/หรือ ญาติผู้ต้องขัง ให้ญาติของผู้ต้องขังรับทราบอย่างรวดเร็ว โดยห้ามมิให้มีการปิดบัง

 

8. ในกรณีที่ติดเชื้อ ญาติของผู้ต้องขังต้องสามารถยื่นคำร้องให้นำตัวผู้ต้องขังย้ายไปรักษาในสถานพยาบาลอื่นได้ เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษา

 

9. ราชทัณฑ์ต้องมีการตรวจหาเชื้อจากเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ทุก 3 วันเป็นอย่างน้อย เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อจากเจ้าหน้าที่ที่รับเชื้อจากภายนอกสู่ผู้ต้องขัง และต้องมีเอกสารรับรองทุกครั้ง

 

10. ศาลจะต้องปฏิบัติตามมาตรการในการลดความแออัดของผู้ต้องขังตามที่ได้เคยออกไว้ เช่น การใส่กำไล EM หรือให้มีการรายงานตัวกับเจ้าหน้าที่คุมประพฤติแทนการคุมขัง ทั้งยังต้องคำนึงถึงสิทธิในการประกันตัวของผู้ต้องหา

 

แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมจึงเรียนมาเพื่อให้พิจารณาโดยเร็ว เพราะถ้าหากว่ากระบวนการดังกล่าวนั้นถูกดำเนินด้วยความชักช้าเมื่อใดก็ตาม สิ่งเหล่านี้ก็เท่ากับว่าผู้ต้องขังที่อยู่เรือนจำและทัณฑสถานต้องใช้ชีวิตอยู่บนความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอยู่ทุกวินาที พวกเขาเหล่านี้ล้วนอยู่สนสภาวะแวดล้อมที่ความเสี่ยงสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น เพราะปัญหาเหล่านี้เกิดจากความหนาแน่นของเรือนจำและทัณฑสถาน คุณภาพชีวิตที่ต่ำเกินกว่าความจะเป็น และการดูแลที่ปราศจากความห่วงใยฉันท์เพื่อนมนุษย์

 

ด้วยความห่วงใยและเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

 

แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม

หน่วยปฐมพยาบาลภาคสนาม First aid volunteer 53

 

#COVID19 #โควิด19

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์