ยูดีดีนิวส์ : 8 ก.พ. 62 อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ ได้กล่าวในการทำ Facebook Live ว่า "หลายท่านในวันนี้ก็คงจะอินกับข่าวใหญ่เรื่องที่ "ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี" เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในนาม 'พรรคไทยรักษาชาติ'"
เรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องที่ "ช็อก" สำหรับคนจำนวนหนึ่ง แต่ในความเป็นจริงถ้าเข้าใจประวัติศาสตร์ก็จะพบว่าคนในส่วนราชวงศ์จำนวนหนึ่งก็เคยเข้ามาสู่เส้นทางการเมือง และในฐานะที่พระองค์ท่านเป็นสามัญชนแล้ว แต่ยังได้รับการถวายพระเกียรติยศ ยังใช้ราชาศัพท์อยู่
อ.ธิดากล่าวว่า "นี่เป็นสภาวะใหม่ทางการเมืองที่น่าสนใจ" โดยจากแถลงการณ์ของพรรคไทยรักษาชาติ ระบุพระประสงค์ของพระองค์ทูลกระหม่อมฯ ว่ามีพระประสงค์ที่จะสร้างความเจริญให้กับประเทศ และความอยู่ดีกินดีให้กับประชาชน ด้วยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้ประเทศไทยทันสมัยทันโลก ยิ่งไปกว่านั้น คือการสร้างความสามัคคีปรองดองให้กับคนในชาติ
เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องใหญ่และเป็นสภาวะใหม่ของการเมืองไทย หลังจากที่เรามีความขัดแย้งระหว่างคนในชาติ สายอนุรักษ์นิยม อำนาจนิยม กับสายเสรีนิยมและการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งปกติสายอนุรักษ์นิยมกับฝ่ายเสรีนิยมไม่ควรขัดแย้งกันถ้าเป้าหมายทางการเมืองคือระบอบประชาธิปไตยเหมือนกัน
แต่ถ้าสายอนุรักษ์ นิยมอำนาจนิยมมองว่าในระบอบประชาธิปไตยนั้นจะทำให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมแพ้ ก็จะเกิดช่วงเวลาของการทำรัฐประหาร ยึดอำนาจจากประชาชนเพื่อไม่ให้ไปสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยเป็นระยะยาวนาน
พอมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยถ้ามีความขัดแย้งกับชนชั้นนำอนุรักษ์นิยม ก็เกิดรัฐประหารเพื่อแก้ปัญหา โดยเฉพาะในช่วงเวลาหลังประหนึ่งว่าการทำรัฐประหาร 2 - 3 ครั้ง การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ เขียนกฎหมายใหม่ ยังแก้ปัญหาไม่ได้ แต่อย่างน้อยที่สุดมันก็ต้องมีการเลือกตั้ง
ผลการเลือกตั้งปรากฎว่าพรรคการเมืองสายที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมมองว่าเป็นปฏิปักษ์ หรือพรรคที่มาจากไทยรักไทยโดยการนำของดร.ทักษิณ ชินวัตร กลายเป็นปฏิปักษ์ถาวรของฝ่ายชนชั้นนำอนุรักษ์นิยม...หรือเปล่า?
ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นม็อบของ "สนธิ ลิ้มทองกุล" ที่ตั้งแต่ต้นในการต่อต้าน "ดร.ทักษิณ ชินวัตร" ก็จะเริ่มด้วยปัญหาความไม่จงรักภักดี มีการอ้างถึงสถาบันอย่างที่ไม่มีความจำเป็นใด ๆ เรียกได้ว่า "โหน" สถาบันตลอด
มาบัดนี้เมื่อทูลกระหม่อมฯ ซึ่งท่านเป็นราชวงศ์ชั้นสูงมาเป็นแคนดิเดตนายกฯ ในนามพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ซึ่งเป็นพรรคเกิดใหม่ และหลายคนก็บอกว่าเป็นพรรคเด็ก ๆ ที่ตั้งใหม่ ก็กลายเป็นอะไรที่เรียกว่า "ฟ้าถล่มดินทลาย" มาถึงตอนนี้จึง "ช็อก" ถามว่าช็อกฝ่ายไหน? อ.ธิดากล่าวว่า ช็อคฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่เกลียดชัง "ดร.ทักษิณ ชินวัตร" ต้องการกำจัดไปให้พ้นเส้นทางการเมืองไทย
และในอดีตคนที่อยู่ในบรรดาศักดิ์ อยู่ในราชวงศ์ เป็นชนชั้นนำที่มีทัศนะก้าวหน้า เคยร่วมมือกับคณะราษฎรในการเมืองการปกครองก็มี เท่าที่อ.ธิดานึกขึ้นได้คนแรกก็คือ "ท่านชิ้น" ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน (ท่านมีศักดิ์เป็นหลานของพระเจ้าแผ่นดิน) อีกคนหนึ่งก็คือ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ พระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าวรรณไวทยากรวรวรรณ ท่านมีความสามารถในการบัญญัติศัพท์ วางกฎเกณฑ์โดยใช้คำบาลีและสันสกฤตให้ราชบัณฑิตยสถานใช้มาจนกระทั่งทุกวันนี้ ถ้ามองไปในประเทศเพื่อนบ้านเช่นกัมพูชาจะพบว่าพระเจ้านโรดม สีหนุ มีบทบาทสำคัญมากในลักษณะที่ก้าวหน้าทางการเมือง
เมื่อกลับมามองเหตุการณ์ในประเทศไทย อ.ธิดาคิดว่าประชาชนก็ต้องให้โอกาส เพราะพระองค์ท่านก็ต้องเสียสละและการเมืองไทยนั้นโหดร้าย ในทัศนะของอ.ธิดา
ฝ่ายที่มอง "ดร.ทักษิณ ชินวัตร" เป็นปฏิปักษ์อย่างแรงกล้าก็ไม่สามารถเอาเรื่องของราชวงศ์หรือเรื่องของสถาบันมาอ้างได้อีกแล้ว สำหรับสายอนุรักษ์นิยมที่เฉย ๆ หรือเห็นด้วยอาจจะมีน้อย ถ้าเขาไม่มอง "ดร.ทักษิณ" อย่างเกลียดชังเกินไป ก็อาจจะมองในแง่บวกที่พระองค์ท่านต้องการปรองดองและต้องการใช้ความสามารถ ในการแก้ปัญหาประเทศ
ถ้าเราไปดูฝ่ายที่เกลียดชังยกตัวอย่างเช่นในคมชัดลึก "ดึงฟ้าต่ำ ทำวงแตก" ซึ่งเนื้อหามีแต่กระแนะกระแหน หรือ ม.จ.จุลเจิมที่มีการโพสต์เฟสบุ๊ค ซึ่งอ.ธิดาบอกได้เลยว่าเป็นสายอนุรักษ์นิยมที่ไม่ได้เกี่ยวกับการจงรักภักดีหรืออะไร โดยเฉพาะคนที่ใช้ "สถาบัน" มาจัดการกับ "ดร.ทักษิณ" มาตอนนี้ใช้ไม่ได้แล้วคนเหล่านี้จะโกรธแค้น!!!
การที่ทูลกระหม่อมฯ ท่านลงมาทำงานการเมืองเป็นแคนดิเดตนายกฯ อ.ธิดามองว่าส่วนใหญ่ลึก ๆ คนจะมองเห็นด้านดีก็คืออยากเห็นประเทศนี้นำไปสู่การปรองดอง แต่ถามว่าฝ่ายที่คิดก้าวหน้าและฝ่ายประชาธิปไตยจะคิดเหมือนกันทั้งหมดไหม? ก็คงไม่เหมือนเช่น อ.ปิยบุตร พรรคอนาคตใหม่ ซึ่งล่าสุดกล่าวว่าคนที่จะมาเป็นแคนดิเดตควรจะเป็นส.ส. เป็นต้น
ด้วยกติกาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ นี่จึงเป็นการเล่นไพ่หรือยุทธวิธีในการที่ทำอย่างไรให้ฝ่ายประชาธิปไตยชนะ? ปัญหาแรกคือเอาชนะการสืบทอดอำนาจของคณะทหาร ดังนั้นขณะนี้แคนดิเดตนายกฯ ที่น่าจับตาก็กลายเป็น พล.อ.ประยุทธ์ กับ ทูลกระหม่อมฯ
ถามว่าประชาธิปัตย์จะเป็นคู่แข่งไหม? อ.ธิดากล่าวว่า ไม่น่าจะใช่!
ทีนี้จะแก้การสืบทอดอำนาจอย่างไร? อ.ธิดากล่าวว่า การเอาชนะทางเลือกตั้งนั้นไม่พอ ต่อให้มีเกิน 250 ต่อให้มี 376 ก็ถูกจัดการได้โดย 250 ส.ว. โดยกลไกรัฐ ตรงนี้ทำให้อ.ธิดาเข้าใจในสิ่งที่ทษช.ปฏิบัติการครั้งนี้ เป็นกลยุทธที่เรียกว่ายิ่งกว่าเหยียบเมฆ
ที่สำคัญ พปชร. จะได้เกิน 25 ที่นั่งไหม?
ทษช. จะได้เกิน 25 ที่นั่งไหม?
อ.ธิดามองแล้วโอกาสที่ทูลกระหม่อมฯ จะเป็นนายกฯ ประเทศไทยนั้นมีสูงมาก ต้องวิเคราะห์ต่อไปว่าใครจะมาร่วมด้วย ถ้าอนาคตใหม่ไม่เอาด้วย ก็คงไม่ใช่ปัญหาใหญ่ และอ.ธิดาเข้าใจในวิธีคิด แต่บางครั้งในการต่อสู้ต้องเป็นขั้นตอน มีกลยุทธ์ในแต่ละเวลาซึ่งไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างในนิทาน "กระต่ายปัญญาดี...ต้องมีหลายโพรง"
และนี่เขาเรียกว่า "สภาวะใหม่ทางการเมืองไทย" ซึ่งมีกลยุทธ์ของฝ่ายที่ถูกกระทำทางการเมือง สามารถที่จะใช้อาวุธสำคัญของฝ่ายอนุรักษ์นิยมคือทำให้อาวุธนั้นใช้ไม่ได้ นั่นคือปัญหาที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยม "โหน" สถาบันอยู่ตลอดเวลา
สุดท้าย ไม่ว่าใครจะอยู่ในชนชั้นไหน ไพร่ก็ล้าหลังได้ เจ้าก็ก้าวหน้าได้ แต่คนที่กบฎต่อชนชั้นตัวเองก็มีนะคะ อย่าคิดว่าไพร่ทุกคนก้าวหน้า ถ้าไพร่ทุกคนก้าวหน้าประเทศไทยไม่มาถึงขั้นนี้ และอย่าคิดว่าปัญญาชนทุกคนก้าวหน้า
เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าเป็นอย่างไร? เฉพาะหน้า พรรคพปชร. ได้เกิน 25 ไหม? ทษช. ได้เกิน 25 ไหม?
"ถ้าไม่ได้เกินก็จบค่ะ" อ.ธิดากล่าว