ยูดีดีนิวส์ : 15 ก.พ. 62 เวลา 10.00 น. วันนี้ นายวิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ (สกสส.) ได้ยื่นหนังสือกล่าวโทษ ขอให้กกต.ไต่สวนยุบพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)
โดยก่อนเข้ายื่นหนังสือกล่าวโทษดังกล่าว นายวิญญัติได้โพสต์ในเฟสบุ๊คว่า
ก่อนมาวันนี้ หลายคนถามผมว่าไม่กลัวหรือ? แล้ว กกต. จะกล้าทำอะไรพรรคพลังประชารัฐ
ผมตอบกลับไปว่า “ไม่กลัว เพราะถ้าจะสู้ด้วยกติกาทางการเมือง ผลชี้ขาดจะวัดจากการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม..
...แต่ถ้าสมคบใช้กลวิธีการสืบทอดอำนาจอย่างน่าละอาย,มีการเอารัดเอาเปรียบคู่แข่ง แล้ว กกต. จะสนับสนุนหรือเป็นเครื่องมือสืบทอดอำนาจนี้หรือไม่...
นี่ต่างหากคือสิ่งที่ประชาชนจะต้องกลัว”
กระบวนการยุติธรรมทุกส่วนในระบบราชการควรจะมีส่วนสร้างความรักสามัคคีความผาสุกแก่ประชาชน แต่ที่ผ่านมากลับนำมาเป็นเครื่องมือทำลายความยุติธรรม ลดทอนความเชื่อมั่นของประเทศอย่างน่าผิดหวัง
สำหรับหนังสือกล่าวโทษมีความดังต่อไปนี้
วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
เรื่อง ขอคัดค้านการประกาศรายชื่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ ตามมาตรา ๘๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐
กราบเรียน ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
โดยที่มาตรา ๘๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ กำหนดว่าในการเลือกตั้งทั่วไปให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแจ้งรายชื่อบุคคลซึ่งพรรคการเมืองนั้น มีมติว่าจะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่เกิน ๓ รายชื่อ ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้ง และให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศรายชื่อบุคคลดังกล่าวให้ประชาชนทราบ ซึ่งตามมาตรา ๑๓ และมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.๒๕๖๑ ประกอบกับระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๑ ข้อ ๑๑๕ การเสนอรายชื่อบุคคล เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา ๘๘ ของรัฐธรรมนูญนั้น ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(๑) ต้องมีหนังสือยินยอมของบุคคลซึ่งได้รับการเสนอชื่อ โดยมีรายละเอียดตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด
(๒) ผู้ได้รับการเสนอชื่อต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นรัฐมนตรีตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และไม่เคยทำหนังสือยินยอมตาม (๑) ให้พรรคการเมืองอื่นในการเลือกตั้งคราวนั้น
การเสนอชื่อบุคคลซึ่งไม่ได้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ข้างต้น ให้ถือว่าไม่มีการเสนอชื่อบุคคลนั้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ พรรคพลังประชารัฐ ได้มีมติเสนอชื่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้อยู่ในบัญชีรายชื่อของผู้ที่จะได้รับการเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา ๘๘ ของรัฐธรรมนูญเพียงชื่อเดียว และได้ยื่นเอกสารการยินยอมของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งในวันเดียวกัน และต่อมาเมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ประกาศรายชื่อบุคคลซึ่งพรรคการเมืองเสนอให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีโดยในส่วนของพรรคพลังประชารัฐที่มีชื่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ในบัญชีรายชื่อดังกล่าวเพียงคนเดียว
ข้าพเจ้า นายวิญญัติ ชาติมนตรี ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เห็นว่า การเสนอชื่อของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ข้างต้นมีปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดังนี้
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นอกจากดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปัจจุบันแล้ว ยังดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตามประกาศพระบรมราชโองการ ลงวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๗ และต่อมาตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ โดยรัฐธรรมนูญได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติไว้ กรณีจึงถือว่าตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นตำแหน่งที่เกิดขึ้นโดยบทบัญญัติของกฎหมาย และตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีเงินเดือนรวมถึงผลตอบแทนประจำจากงบประมาณแผ่นดิน มีอำนาจหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายกำหนดไว้
นอกจากนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการต่างๆ อีกมากมาย ซึ่งมีค่าตอบแทนจากงบประมาณแผ่นดินเช่นเดียวกัน จึงถือว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ แต่เมื่อพิจารณาคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๖๐ (๖) ประกอบมาตรา ๙๘ (๑๕) ที่กำหนดลักษณะต้องห้ามของผู้จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีไว้ว่า เป็นพนักงาน หรือลูกจ้าง ของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ การที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติและตำแหน่งอื่นๆ อีกหลายตำแหน่ง ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐจึงเป็น ผู้มีลักษณะต้องห้ามที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ และการพิจารณาว่าบุคคลใด มีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ตามมาตรา ๘๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนั้น ต้องพิจารณาขณะที่มีการเสนอชื่อบุคคลดังกล่าว ตามนัยของมาตรา ๑๔ (๒) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.๒๕๖๑ ประกอบระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.๒๕๖๑ ข้อ ๑๑๕ (๒) อีกทั้ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มิได้มีบทยกเว้นคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามให้ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา ๘๘ ไว้ กรณีจึงต้องถือว่าคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะเป็นรัฐมนตรีตามมาตรา ๘๘ ของรัฐธรรมนูญ เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น
ในการพิจารณาสถานะ การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติในเวลาเดียวกันของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กับการพิจารณาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก กับตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหลังการเลือกตั้งทั่วไปนั้น มีหลักการทางกฎหมายที่กำหนดไว้แตกต่างกัน กล่าวคือ
การดำรงตำแหน่งปัจจุบันของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาตินั้น เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๒๖๔ ทั้งนี้ โดยมีมาตรา ๒๖๓ วรรคสี่ และมาตรา ๒๖๔ วรรคสอง ยกเว้นและกำหนดลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีตามมาตรา ๒๖๔ ไว้ ซึ่งใช้เฉพาะรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญเท่านั้น ส่วนตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ดำรงอยู่ตามมาตรา ๒๖๕ ของรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญจะเข้ารับหน้าที่
การดำรงตำแหน่งของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังการเลือกตั้งทั่วไป พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันได้ต่อไปภายใต้เงื่อนเวลาตามมาตรา ๒๖๔ และมาตรา ๒๖๕ ของรัฐธรรมนูญแล้วแต่กรณีดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น แต่การที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก โดยการให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา ๘๘ ของรัฐธรรมนูญนั้น การพิจารณาคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๖๐ ประกอบมาตรา ๙๘ โดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆ ดังนั้น ในการเสนอรายชื่อบุคคลเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา ๘๘ ของรัฐธรรมนูญ บุคคลนั้นจึงต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีตั้งแต่ขณะที่มีการเสนอรายชื่อต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง
เมื่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นรัฐมนตรี การที่พรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อบุคคลดังกล่าวอยู่ในบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีตามมาตรา ๘๘ ของรัฐธรรมนูญ จึงเป็นการไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อีกทั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๖๕ กำหนดให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญจะเข้ารับหน้าที่ ดังนั้น เมื่อพิจารณาตามรัฐธรรมนูญแล้ว พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะพ้นจากตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติก็ต่อเมื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะเข้าปฏิบัติหน้าที่แล้ว ดังนั้นไม่ว่าจะพิจารณา ณ วันที่มีการเสนอชื่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา ๘๘ ของรัฐธรรมนูญหรือพิจารณา ณ เวลาที่สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ไม่อาจที่จะเป็นรัฐมนตรีได้ หากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประสงค์จะให้มีการเสนอชื่อตนเองอยู่ในบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีก็ต้องลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และตำแหน่งประธานกรรมการ หรือคณะกรรมการคณะต่างๆ ที่ถือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐทั้งหมดก่อน เช่นเดียวกับผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา ๙๘ ของรัฐธรรมนูญ เมื่อพรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อบุคคลที่ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามในการเป็นรัฐมนตรีในการเลือกตั้งทั่วไป กรณีจึงถือว่าไม่มีการเสนอชื่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นบุคคลที่จะได้รับการพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา ๘๘ ของรัฐธรรมนูญ
ข้าพเจ้า นายวิญญัติ ชาติมนตรี ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จึงขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้งทบทวนการประกาศรายชื่อของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐเสียใหม่และดำเนินการเพิกถอนชื่อบุคคลดังกล่าวต่อไป
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาและวินิจฉัย
ขอเสดงความนับถืออย่างยิ่ง
(นายวิญญัติ ชาติมนตรี)
เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ
ในฐานะประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ
ในฐานะประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง