แฟนเพจ 'ยูดีดีนิวส์ - UDD News' สัมภาษณ์ 'ปิยรัฐ จงเทพ' หรือ 'โตโต้' อดีตวิศวกรไฟฟ้า ของการไฟฟ้านครหลวง สังกัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ลาออกจากตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐ ก่อนมาลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส.
เคยอยู่ในตำแหน่งหัวหน้างานระดับล่างสุดเมื่อครั้งเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ แต่ขอเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา ผู้มีอำนาจสูงสุด ลาออกจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ระหว่างลงแข่งขันในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคพลังประชารัฐ
เพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในการแข่งขัน ภายใต้การบริหารประเทศที่ไร้การตรวจสอบถ่วงดุล
เขาเป็นนักเคลื่อนไหว วัย 28 ปี ผู้ต้องหา 3 คดี 14 ข้อกล่าวหา นับแต่เกิดเหตุการณ์รัฐประหาร 2557
ปัจจุบันเป็นผู้สมัคร ส.ส.เขต1 หมายเลข1 จ.กาฬสินธุ์ พรรคอนาคตใหม่
- หน้าที่การงานก่อนลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส.
ผมบรรจุงาน 3 พ.ย. 57 หน่วยงานการไฟฟ้านครหลวง สังกัดกระทรวงมหาดไทย พื้นที่รับผิดชอบเขตบางนาและเขตประเวศ
ปัจจุบันลาออกจากการเป็นพนักงานการไฟฟ้านครหลวงแล้ว ยื่นใบลาออก 30 พ.ย.61 มีผล 1 ธ.ค.61 รวมเวลาทำงานที่การไฟฟ้านครหลวง เป็นเวลา 4 ปีเต็ม
พนักงานส่วนใหญ่เป็นข้าราชการกระทรวงมหาดไทย มีพนักงานส่วนหนึ่งเป็นพนักงานจ้างเหมาเอกชนต่างหาก เป็นการบริหารจัดการแบบรัฐวิสาหกิจ
ผมวางแผนลาออกให้มีผลต้นเดือนธันวาคม เพื่อมีอายุเป็นสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ 90 วัน ตั้งแต่ยังไม่มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง
สุดท้ายการเลือกตั้งขยับมาเป็น 24 มี.ค. ยิ่งทำให้คุณสมบัติของการเป็นผู้สมัครส.ส. มีผลเกิน 90 วันแน่นอน
และเมื่อวันที่ 13 ก.พ.62 ทาง กกต. ก็รับรองผมเป็นผู้สมัครเรียบร้อยแล้ว
- ราคาที่ต้องจ่ายในการลาออก เพื่อมาลงสนามการเมือง
ผมลาออกจากการไฟฟ้านครหลวง หลายท่านคงทราบดีว่ามีสวัสดิการดีที่สุดในประเทศไทย มีโบนัส มีโรงพยาบาลของตัวเอง หากมีความเจ็บป่วยสาหัสจากการทำงานก็รักษาโรงพยาบาลเอกชนได้ หน่วยงานพร้อมจ่าย
นี่คือสิ่งที่ต้องเสียไปในส่วนสวัสดิการ
ส่วนหากคิดเป็นตัวเงิน ถ้าผมรับราชการ 5 ปี จะขอเออรี่รีไทร์หรือขอเกษียณก่อนกำหนดได้ คือลาออกโดยได้รับบำเหน็จจากการไฟฟ้านครหลวง เท่าที่ทราบตัวเลขตามระเบียบคือเอาเงินเดือนคูณ 40 เท่า
ถ้าเปรียบตัวเลขก็เป็นเงินล้านกว่าๆ ยังไม่รวมโบนัสปีสุดท้ายซึ่งไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เนื่องจากลาออกเดือนพ.ย.61 ก่อนสิ้นปี
ส่วนธุรกิจที่มีก็ต้องขาย เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหานินทา หรือเกิดความด่างพร้อยขึ้น รวมทั้งหมดถ้าคิดเป็นตัวเลข คงจะประเมินได้ยากมาก
-เหตุที่เรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกจากตำแหน่ง เช่นเดียวกัน
ในระยะเวลาที่ผ่านมา เสียงของสังคมพยายามเรียกร้องความมีสปิริตของนักการเมืองทุกคน ไม่ว่าหน้าใหม่หรือหน้าเก่า ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจหรือข้าราชการ
หลายท่านลาออกจากตำแหน่งต่างๆ จนมีคุณสมบัติลงผู้แทน ขณะที่ก่อนหน้านี้มีรัฐมนตรีซึ่งมีอำนาจเต็ม 4 ท่านมีสถานะเป็นผู้บริหารพรรคการเมือง
ฉะนั้น ไม่เพียง พล.อ.ประยุทธ์ ที่สมควรลาออกหรือสละอำนาจคสช.ไป โดยรวมแล้วข้าราชทุกคนที่จะลงสู่สนามการเมืองควรจะแสดงสปิริต
ถ้าผมจะลาออกวันที่ 23-24 ม.ค.62 ก็ทันเลือกตั้ง เพราะพระราชกฤษฎีกาออกปุ๊บ(23ม.ค.) ค่อยมาลงก็ได้
แต่เพื่อความบริสุทธิ์ใจ ตรงไปตรงมา และมีความตั้งมั่นจะเข้ามาทำงานการเมือง ผมจึงบอกกับพรรคอนาคตใหม่ว่า ผมจะลาออก นับแต่วันที่ผมตัดสินใจลงสมัคร ส.ส.ของพรรค
ผมเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ ฐานะไม่สูง ก็ตัดสินใจลาออก เพื่อรักษามาตรฐานการเมืองของนักการเมืองในอุดมคติของเราไว้
ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ ณ ปัจจุบัน ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ ในนามพรรคพลังประชารัฐ เป็นผู้มีส่วนได้เสียกับสิ่งที่เกิดขึ้นแน่นอน
เพราะการที่เป็นนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.ที่มีอำนาจเต็ม มีส่วนได้เสีย และให้คุณให้โทษกับข้าราชการ ประชาชน และหน่วยงานเอกชนต่างๆ มากมาย
คนที่เป็นถึงนายกรัฐมนตรีมีอำนาจเต็มในมือจากการแย่งชิงอำนาจ วันนี้ไม่กล้าแม้แต่จะลาออกหรือสละอำนาจ เพื่อลงมาสู่สนามที่เป็นมาตรฐานการแข่งขันที่ทั่วโลกยอมรับ
ยังไม่ยอมรับกับสิ่งนี้ แล้วจะไปมุ่งหวังสร้างการเมืองใหม่ได้อย่างไร ประชาชนจะฝากความหวังได้อย่างไร นี่คือสิ่งที่ผมคิด
- ความแตกต่างระหว่างการลาออกหรือไม่ลาออกของพล.อ.ประยุทธ์
พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้บังคับบัญชาหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ มีอำนาจเต็มในการให้คุณให้โทษ โยกย้ายเปลี่ยนถ่ายอำนาจหรือสั่งระงับยับยั้งต่างๆ ได้หมด ทั้งทหารตำรวจ ผู้ใหญ่บ้านกำนัน
ฉะนั้น การใช้ชื่อพล.อ.ประยุทธ์ ในการหาเสียง การใช้นโยบายของพรรคพลังประชารัฐหาเสียงโดยอ้างอิงจากนโยบาย คสช.
มันทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกับพรรคการเมืองอื่น โดยเฉพาะการที่เราไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบถ่วงดุลใดๆ ได้เลยในการใช้อำนาจบริหารของพล.อ.ประยุทธ์
รวมทั้ง เราจะเห็นว่า ช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา การที่ คสช. กำหนดทิศทางต่างๆ แล้วทำให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง ยื่นยุบพรรคพรรคหนึ่ง (ไทยรักษาชาติ) ไปยังศาลรัฐธรรมนูญอย่างรวดเร็ว
เมื่อเปรียบเทียบกับพรรคพลังประชารัฐซึ่งมีการยื่นขอให้พิจารณาไปก่อนหน้านี้ ก็ยังไม่มีข้อสรุป
นี่เป็นรูปธรรมชัดเจนว่า การเข้ามามีบทบาทของ คสช. ในพรรคการเมืองหนึ่งนั้น ทำให้ได้อภิสิทธิ์บางอย่างซึ่งสูงกว่าพรรคการเมืองที่เป็นผู้เข้าร่วมการแข่งขันด้วยกัน
ผมจึงไม่มีความไว้วางใจต่อการที่ พล.อ.ประยุทธ์ ยังดำรงตำแหน่งในฐานะทั้งนายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ครับ
- ตำแหน่งก่อนลาออก หากเทียบกับตำแหน่งพล.อ.ประยุทธ์
ณ ขณะนั้น ผมบรรจุงานได้เพียงแค่ 4 ปี ตำแหน่งเป็นผู้ควบคุมงาน หมายถึงหัวหน้างานระดับล่างสุด แต่ถ้าเทียบเป็นซี หรือเป็นระดับขั้นทางราชการ ผมแค่ระดับซี 4
ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ เป็นข้าราชการการเมืองตำแหน่งสูงสุด เขาเป็นผู้บังคับบัญชาระดับสูงสุดในฐานะผู้บริหารประเทศ ผมเป็นผู้บังคับบัญชาระดับล่างสุด
แม้เราจะไม่ยอมรับในสถานะที่เขารัฐประหารมา แต่ด้วยสถานะปัจจุบันตามกฎหมายของเขาเองรับรองให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี
ฉะนั้น อำนาจต่างๆ จึงอยู่ในคสช.และรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์
ผมแทบจะเทียบไม่ได้กับตำแหน่งหน้าที่การงาน แต่โดยสามัญสำนึกและความตั้งใจดีของเรา สามารถที่จะมาเทียบกันได้ ไม่ต้องพูดข้อกฎหมาย เราสามารถเอามาพูดได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ควรจะมีสามัญสำนึกมากกว่าข้าราชการระดับล่างอย่างผมด้วยซ้ำไป
- เป็นผู้ต้องหาคดีการเมืองกี่คดี
ตอนนี้มีคดีเกี่ยวกับการเมืองทั้งหมด 3 คดี 14 ข้อกล่าวหา ซึ่งอยู่ในชั้นศาลทั้งหมด ยังไม่นับรวมการเคยถูกควบคุมตัวไปปรับทัศนคติ
คดีที่ 1 คือฉีกบัตรออกเสียงประชามติ ตอนนี้อยู่ระหว่างพิจารณาในชั้นศาลฎีกา ซึ่งศาลอุทธรณ์ได้ตัดสินจำคุกผมไปทั้งหมด 4 เดือน แต่ให้รอลงอาญา 1 ปี
คดีที่ 2 คือ คนอยากเลือกตั้ง 'RDN50' ศาลชั้นต้นนัดพิพากษาวันที่ 3 พ.ค.62
คดีที่ 3 คนอยากเลือกตั้ง ที่หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์วันที่ 22 พ.ค.61 ขณะนี้อยู่ในชั้นพิจารณาของพนักงานอัยการ คงต้องใช้เวลา คดีนี้ค่อนข้างจะหนักหน่วงเพราะว่าผมโดนในฐานะแกนนำ
ถูกดำเนินคดีวันเดียว 11 ข้อกล่าวหา
- การลงส.ส.เขตครั้งแรก หวังว่าจะชนะในรอบนี้หรือไม่
แน่นอนการลงสมัครรับเลือกตั้งก็หวังว่าจะชนะ แต่ถ้าแพ้ จะแพ้ใครก็ได้ ไม่ขอแพ้พรรคที่มาจากทหารครับ
(สัมภาษณ์โดย ฟ้ารุ่ง ศรีขาว)