วันจันทร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

‘พิสูจน์ที่หน้าจอ ไม่เรียกร้องความน่าเชื่อถือด้วยปากเปล่า’ ผอ.วอยซ์ทีวี ไขปม ’สถานีชินวัตร?’ ตอนที่ 2/2


‘พิสูจน์ที่หน้าจอ ไม่เรียกร้องความน่าเชื่อถือด้วยปากเปล่า’ ผอ.วอยซ์ทีวี ไขปม ’สถานีชินวัตร?’ รักษาความเป็นอิสระอย่างไรในฐานะสื่อมวลชน - เชื่อ จุดยืนประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องผิด ‘ความเป็นกลาง’ วัดที่การนำเสนอข้อเท็จจริงรอบด้าน ไม่บิดเบือน ‘fact’ เพื่อผลักดันจุดยืนของตน - รางวัลโทรทัศน์ทองคำสะท้อน ‘มาตรฐานทางวิชาชีพ’ ที่มีพอ

ศาลปกครองนัดอ่านคำพิพากษาคดีวอยซ์ทีวี ฟ้องกสทช.กรณีมีคำสั่งพักใช้ใบอนุญาต 15 วัน ในวันที่ 27 ก.พ.นี้

แฟนเพจ 'ยูดีดีนิวส์ - UDD News' สัมภาษณ์นายประทีป คงสิบ ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี ผู้บริหารยุคบุกเบิก ตั้งแต่ ‘วอยซ์’ ก่อตั้งในปี 2552 ตามแนวคิดของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

ขณะที่การทำงานของสถานีแห่งนี้ยังคงยืนยันความเป็นอิสระในฐานะสื่อมวลชน จากกรณีที่ผ่านมาเปิดพื้นที่ให้เสียงที่คิดเห็นแตกต่างได้แสดงออก เช่น การวิจารณ์นโยบายจำนำข้าวรวมถึงเสียงที่คัดค้านการผลักดันพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่ง ในยุครัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ล่าสุด 'The Daily Dose โลกการเมือง' ดำเนินรายการโดยม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล หรือ 'คุณปลื้ม' ได้รับรางวัลโทรทัศน์ทองคำ ซึ่งผู้อำนวยการสถานีมองว่า 'นี่คือสิ่งพิสูจน์มาตรฐานทางวิชาชีพว่าเรามีพอ'

-เป้าหมายของ Voice TV ตั้งแต่ก่อตั้งสถานีคืออะไร

เจ้าของไอเดียก่อตั้งก็คือ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ที่เป็นคนสนใจอยากจะให้ทำสื่อแบบ Voice TV

เป้าหมายของดร.ทักษิณ คือต้องการให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งความรู้ เพื่อให้ประเทศสามารถก้าวไปแข่งขันบนเวทีโลกได้

จริงๆ ดร.ทักษิณ ใช้คำว่า 'สติปัญญา' อย่างเช่นสโลแกนของ Voice TV หลายครั้งก็จะมีคำนี้อยู่

ฉะนั้น การให้สติปัญญาก็มีหลากหลาย ทั้งเรื่องความรู้ทางการเมืองที่ถูกต้อง ความรู้เรื่องเทคโนโลยี เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องวิชาชีพ อันนี้คือเป้าหมายดั้งเดิมของการก่อตั้ง Voice TV

-รักษาการทำงานอย่างเป็นอิสระในฐานะสื่อมวลชนอย่างไร ในขณะที่การก่อตั้งสถานีเกิดจากไอเดียของ ดร.ทักษิณ

ถามว่าเราอิสระเพียงพอหรือไม่ในการนำเสนอความคิดเห็นหรือจุดยืนความเชื่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งของเรา ผมคิดว่า เหตุการณ์ที่ผ่านมา มันตอบคำถามเรื่องนี้อยู่

เราพิสูจน์มาแล้วระดับหนึ่ง ในแง่การเป็นสื่อที่มีมาตรฐานวิชาชีพ
คือเมื่อครั้งที่คุณยิ่งลักษณ์เป็นนายกรัฐมนตรี ในช่วงนั้น ผู้ถือหุ้น Voice TV กับพรรคการเมืองที่เป็นแกนนำรัฐบาลก็อาจจะมีส่วนเชื่อมโยงกันอย่างที่ว่า เพราะบริษัท Voice TV ผู้ถือหุ้นใหญ่ก็คือครอบครัวชินวัตร

แต่นโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากคุณปลื้ม ซึ่งเป็นผู้ดำเนินรายการที่ Voice TV มาตลอด

หรือกระทั่งช่วงหนึ่งที่เกิดกระแสต่อต้านพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมที่คนเรียกว่า พ.ร.บ.นิรโทษเหมาเข่ง Voice TV ก็มีจุดยืนที่ไม่เห็นด้วยเรื่องนี้ และ Voice TV ก็เปิดพื้นที่สำหรับการแสดงจุดยืนที่ไม่เห็นด้วยกับการผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

ถ้าเราเป็นสื่อที่ต้องรับใช้ผู้ถือหุ้น หรือกลุ่มทุนซึ่งสัมพันธ์ทางการเมืองกับพรรคการเมือง แล้วทำไมต้องเปิดพื้นที่ให้มาเล่นประเด็นซึ่งขัดแย้งกับรัฐบาลในขณะนั้น

ผมว่าอันนี้เป็นสิ่งที่พิสูจน์อย่างหนึ่งว่าอย่างน้อย วัตถุประสงค์ของการทำสื่อที่นี่ ในแง่ของการทำด้วยมาตรฐานวิชาชีพ ก็ได้พิสูจน์มาแล้ว
ผมเชื่อว่าในระยะยาว ถ้ามีโอกาสพิสูจน์เรื่องเหล่านี้ เราก็จะแสดงให้เห็นเช่นกันว่า เรามีจุดยืนในเรื่องมาตรฐานวิชาชีพอย่างไร

สำหรับกรณีรัฐบาลยิ่งลักษณ์ สะท้อนอิสระในการทำงานของ Voice TV และสะท้อนความคิดจากผู้ถือหุ้น(ครอบครัวชินวัตร)

ถ้าเขาไม่ให้อิสระ ไม่เชื่อเรื่องการทำงานตามมาตรฐานวิชาชีพจริง ถามว่า Voice จะมานำเสนอประเด็นเหล่านี้ได้หรือ

คุณปลื้มจะมานั่งวิพากษ์วิจารณ์ไม่เห็นด้วยกับนโยบายจำนำข้าวได้ขนาดนั้นหรือ และไม่ใช่การวิจารณ์ในรายการแค่ครั้งสองครั้งเรื่องจำนำข้าว ทั้งๆ ที่เป็นนโยบายหลักของรัฐบาลชุดนั้น

แต่นี่คือการเปิดโอกาส ยอมรับในการฟังความคิดเห็นที่หลากหลาย ไม่ใช่ต้องเชียร์กันสุดลิ่มทิ่มประตู กระทั่งกรณีพ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่เป็นประเด็นตอนนั้น เราก็ยังสามารถแสดงความเห็นคัดค้านได้เลยในหมู่ผู้ดำเนินรายการของช่องเรา รวมทั้งนำเสนอบทสัมภาษณ์คนที่คัดค้านแสดงความไม่เห็นด้วยเยอะแยะไปหมด โทนของการนำเสนอตอนนั้น คือการไม่เห็นด้วยกับพ.ร.บ.นิรโทษกรรม

-สถานี Voice TV ไม่สามารถแยกออกจากสถานการณ์ทางการเมืองได้ มองว่าเป็นอุปสรรคที่น่าหนักใจสำหรับการทำงานสื่อมวลชนด้วยหรือไม่

เมื่อครั้งผู้ถือหุ้นคิดจะลงทุนทำธุรกิจ เราก็รู้ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เพราะผู้ถือหุ้นเองยังมีบทบาททางการเมือง แน่นอนว่า พอเข้ามาทำสื่อ ก็จะต้องถูกตั้งคำถาม ทั้งจากคนทั่วๆ ไปและองค์การวิชาชีพ

ถามว่าหนักใจไหม ก็หนักใจ แต่นี่เป็นงานที่ท้าทาย ซึ่งผมเชื่อว่า เป็นเรื่องที่เราจะต้องพิสูจน์ พิสูจน์ทั้งความตั้งใจจริงของผู้ถือหุ้นและคนทำงานในวิชาชีพ

บางอย่างต้องให้ผลงานหน้าจอและระยะเวลาเป็นตัวพิสูจน์ เราจะเรียกร้องให้เขาเชื่อด้วยปากเปล่ามันเป็นไปไม่ได้ มันต้องพิสูจน์กันที่หน้าจอเท่านั้น

- 'ความเป็นกลาง' กับการพิสูจน์ความเป็นมืออาชีพ มองเรื่องนี้อย่างไร

สื่อแต่ละสำนักแต่ละค่าย เขามีจุดยืนสนับสนุนเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ผมคิดว่ามันไม่ใช่เรื่องผิด

ว่ากันตรงๆ หลายๆ ที่ก็มีจุดยืนกันทั้งนั้น เพียงแต่ว่าคุณเลือกที่จะยืนอยู่ในจุดไหนของแต่ละประเด็นก็ว่ากันไป

ข้อสำคัญคือต้องรักษามาตรฐานของการนำเสนอ 'ข้อเท็จจริง' หรือ ‘fact’ ที่ไม่บิดเบือน ต้องไม่บิดเบือนเพื่อผลักดัน 'จุดยืน' ของคุณ
ในประเทศประชาธิปไตยที่เจริญกว่าเรา สื่อหลายๆ สำนักก็มีจุดยืนที่ชัดเจน

ดังนั้น การที่ Voice TV มีจุดยืนชัดเจนเรื่องสนับสนุนประชาธิปไตย ไม่ได้หมายความว่าเราไม่เป็นกลางในการนำเสนอข้อเท็จจริง
และการแสดงความเห็นที่แตกต่างจากผู้มีอำนาจในแต่ละช่วง ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นการสร้างความแตกแยกหรือปลุกปั่น

ผมคิดว่าวาทกรรม 'ความเป็นกลาง' มันควรจะเลิกใช้ในแง่ของการทำงานวิชาชีพสื่อ เพราะเมื่อนำเสนอ 'ข้อเท็จจริง' ด้วยมาตรฐานทางวิชาชีพที่ครบถ้วนรอบด้านตรวจสอบได้แล้ว

การจะแสดงความคิดเห็นว่า เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับข้อเท็จจริงในประเด็นนั้นๆ เป็นเรื่อง 'จุดยืน' และตราบใดที่สื่อมีจุดยืน แน่นอนไม่เป็นกลางอยู่แล้ว เพราะเขาจะต้องมีความเชื่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นปกติของการทำสื่อ

-ได้เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายชี้แจง?

เป็นหลักปกติ สื่อต้องมีหน้าที่เสาะแสวงหาข้อมูลให้รอบด้าน ถ้าประเด็นนั้นไปพาดพิงใคร เราก็ควรจะต้องตรวจสอบ เปิดพื้นที่ให้เขาชี้แจง ถามว่า เราสะท้อนผ่านอะไรบ้าง

เอาง่ายๆ ช่วงใกล้เลือกตั้ง Voice TV เปิดพื้นที่ให้กับทุกพรรคการเมือง ไม่ใช่ว่าเราเลือกสนับสนุนแค่ไม่กี่พรรค แต่พิสูจน์ได้ที่หน้าจอ

หลายรายการของเรามีแทบทุกพรรคหมุนเวียนกันมา และไม่ใช่แค่พรรคใหญ่ๆ ด้วยนะ พรรคเล็กๆ ที่คนอาจจะไม่รู้จัก เราก็เชิญมา เราก็เปิดพื้นที่ให้เขาได้แสดงความเห็น ไม่ต่างกับช่องอื่นๆ

การจัดดีเบตผ่านสถานีโทรทัศน์ของช่อง ตามแผนที่ Voice TV จะจัด ถ้านับจำนวนจนถึงตอนนี้ จำนวนพรรคที่เราเชิญมาก็มากที่สุดในบรรดาทุกช่องที่จัดอยู่ตอนนี้

ก่อนหน้านี้ช่อง 3 เชิญมา 9 พรรค แต่ที่เรากำลังจะจัดมีถึง 10 พรรคการเมือง และก่อนหน้าจะเข้าสู่โหมดการรณรงค์เลือกตั้ง เราก็เคยจัดเวทีดีเบตทางการเมืองมาแล้วโดยเชิญถึง 10 พรรคการเมือง ซึ่งทุกพรรคก็ยินดีมาร่วม

ผมคิดว่านี่เป็นตัวสะท้อนอันหนึ่งว่า เราเปิดพื้นที่หลากหลายให้กับทุกฝ่าย

ฉะนั้น สิ่งนี้สะท้อนความเป็นมืออาชีพของเรา มากกว่าที่จะไปใช้ความไม่เป็นกลางทางการเมือง ซึ่งเป็นวาทกรรมที่อยากจะให้ลบล้างไปจากความเชื่อเดิมๆ ของวงการสื่อ

-รางวัลโทรทัศน์ทองคำที่รายการ 'The Daily Dose โลกการเมือง' และ ‘Voice TV’ ได้รับ มีความหมายกับทางสถานีอย่างไร

ได้รับรางวัล เราก็ภูมิใจ ดีใจนะ เพราะคณะกรรมการที่พิจารณารางวัลโทรทัศน์ทองคำ น่าจะเป็นเสียงสะท้อนจากคนดูได้อีกระดับหนึ่ง
รายการ The Daily Dose เป็นหนึ่งในรายการวิเคราะห์สถานการณ์และแสดงความคิดเห็น หมายความว่าสิ่งที่ Voice TV หรือ The Daily Dose ทำในแง่ของการทำรายการที่เป็นการวิเคราะห์แสดงความคิดเห็นต่อข้อเท็จจริงต่อประเด็นในแต่ละวัน มีมาตรฐานของความเป็นมืออาชีพที่มีความรับผิดชอบ ไม่อย่างงั้นคงไม่ได้รับรางวัล

ที่ภูมิใจและดีใจคืออย่างน้อยได้พิสูจน์ข้อกล่าวหาที่เรากำลังโดนเล่นงานในขณะนี้ได้ในระดับหนึ่งว่า สิ่งที่เขาบอกว่ารายการของ Voice TV ไม่เป็นกลาง สร้างความสับสนยั่วยุปลุกปั่น

ยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่เขาไม่ได้เห็นด้วยและไม่ได้เชื่อแบบนั้น เขากลับมองอีกแบบหนึ่ง ผมคิดว่าอย่างน้อยรางวัลก็เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้เหมือนกันว่า มาตรฐานในทางวิชาชีพสื่อ เป็นสิ่งที่เรามีพอ

-เรื่องเซอร์ไพร์ส นับแต่ยุคก่อตั้ง Voice TV

เซอร์ไพร์สหนักๆ ก็เรื่องการปิดล่าสุด เพราะเราไม่คิดว่าในบรรยากาศที่ประเทศกำลังจะมีเลือกตั้งอยู่ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า กลับมีการปิดสถานีโทรทัศน์ Voice TV ซึ่งเป็นช่องระดับชาติด้วยนะครับ เป็นแพลตฟอร์มดิจิตอลที่ทุกคนเข้าถึงได้ง่าย

มันไม่ควรจะเกิดขึ้นเพราะนอกจากรัฐธรรมนูญ2560 จะมีบทบัญญัติคุ้มครองเสรีภาพสื่อไว้แล้ว การปิดสื่อในโลกประชาธิปไตยในช่วงนี้ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้

ยังไม่นับข้อเท็จจริงที่ถูกยกมาเป็นข้ออ้างในการปิด ซึ่งเราต้องไปว่ากันในศาล ว่ามีเหตุผลโต้แย้งอย่างไรที่ไม่ได้เป็นไปตามที่เขากล่าวหา

แต่โดยเซนส์ทั่วๆ ไป ผมคิดว่ามันไม่น่าจะเป็นไปได้ที่จะมาปิดในช่วงเข้าโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง เพราะมันส่งผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ ประชาชนควรจะมีโอกาสได้รับรู้ข่าวสารที่หลากหลายมากที่สุด เพื่อตัดสินใจว่าจะเลือกหรือไม่เลือกใคร

(สัมภาษณ์โดย ฟ้ารุ่ง ศรีขาว)