ยกเลิกประกาศคำสั่งบังคับสื่อทั้ง 3 ฉบับ!!! ข้อเรียกร้องหลังวิกฤต 'จอดำ' ปลดล็อคการเมืองแล้วอย่าลืมปลดล็อคสื่อมวลชน 'ผอ.วอยซ์ทีวี' เผย ก่อนรัฐประหาร57 ไม่เคยถูกกล่าวหายุยงปลุกปั่น 'โดนเรียก ตักเตือน ลงโทษ' อย่างหนัก หลังคสช.ยึดอำนาจ - ตั้งข้อสังเกต กสทช. มีม.44 คุ้มครอง ไม่ต้องรับผิดชอบหากใช้ดุลพินิจผิดพลาด หวั่นไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการใช้อำนาจไม่รอบคอบ
สถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี ช่อง 21 ถูกปิดทำให้ 'จอดำ' ตั้งแต่เวลา 00.01 น. ของวันที่ 13 ก.พ.62 เนื่องจากที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. มีมติออกคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล เป็นเวลา 15 วัน
กระทั่งคืนวันที่ 15 ก.พ.62 วอยซ์ทีวีกลับมาคืนจออีกครั้ง เนื่องจากศาลปกครองมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งของกสทช. ไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ภายหลังจากช่วงเช้าวันที่ 14 ก.พ.62 นายประทีป คงสิบ ผู้อำนวยการสถานี เดินทางไปศาลปกครองกลางเพื่อยื่นคำฟ้องคณะกรรมการกสทช., สำนักงาน กสทช. กรณีมีคำสั่งพักใช้ใบอนุญาต พร้อมยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวคำสั่งทางปกครองดังกล่าวเพื่อให้สามารถกลับมาออกอากาศได้
ทั้งนี้ ศาลปกครองนัดไต่สวนข้อเท็จจริงคู่กรณีทั้งสองฝ่าย วันที่ 20 ก.พ. 62 และจะมีการพิพากษาภายใน 7 วันนับแต่วันที่ 21 ก.พ. ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริงในคดีนี้
แฟนเพจ 'ยูดีดีนิวส์ - UDD News' สัมภาษณ์นายประทีป คงสิบ ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี
-ข้อเรียกร้องภายหลัง 'จอดำ' ครั้งล่าสุด
สิ่งที่อยากจะเรียกร้องซึ่งเคยเรียกร้องไปแล้วหลายครั้ง รวมทั้งเคยผลักดันผ่านองค์กรสื่อและองค์กรสื่อก็ออกมาเรียกร้อง แต่ว่ายังไม่สำเร็จสักที
ก็คือเรียกร้องให้คสช. ยกเลิกประกาศคสช. ฉบับที่ 97/2557 และฉบับที่ 103/2557 ซึ่งเขาใช้กำกับดูแลสื่ออยู่ทุกวันนี้
ทั้ง 2 ฉบับ มีรายละเอียดโดยสรุปคือห้ามวิพากษ์วิจารณ์คสช.และรัฐบาลโดยเจตนาไม่สุจริต ห้ามนำเสนอข้อมูลที่จะเข้าข่ายสร้างความสับสนยั่วยุปลุกปั่น ซึ่งอันนี้จะเป็นการตีความที่กว้างขวางมาก
ประกาศทั้ง 2 ฉบับ ผมคิดว่าทำให้คนในวิชาชีพสื่อเกร็งกับการนำเสนอข้อมูลหรือการแสดงความเห็นที่จะต้องวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจในปัจจุบัน
ยิ่งช่วงที่เข้าสู่การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ยิ่งควรจะต้องรีบปลดล็อคประกาศคสช.ทั้ง 2 ฉบับ ถ้าต้องการให้การแข่งขันในการเลือกตั้งเสรีและเป็นธรรมอย่างที่หลายฝ่ายเรียกร้อง
ไม่ใช่แค่ปลดล็อคเฉพาะกติกาทางการเมืองให้กับพรรคการเมือง แต่ต้องปลดล็อคกติกาที่กำกับดูแลสื่อที่เขียนขึ้นมาในช่วงการรัฐประหารนี้ด้วย
เพื่อให้สื่อทำหน้าที่ได้เต็มที่ภายใต้หลักเสรีภาพตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ
ส่วนถ้าการใช้เสรีภาพของสื่อมีการล้ำเส้น ก็มีกฎหมายปกติที่กำกับดูแลกันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฎหมายหมิ่นประมาท หรือกระทั่งในช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งก็จะมีกฎหมายที่ กกต.กำกับดูแลได้ถ้านำเสนอข้อมูลใส่ร้ายป้ายสีจะมีโทษทางอาญา
ฉะนั้น หากยกเลิกประกาศคสช. ฉบับที่ 97/2557 และ 103/2557 จะไม่ได้เป็นประโยชน์หรือมีคุณกับเฉพาะช่อง Voice TV เท่านั้น แต่จะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เป็นประโยชน์ต่อสื่อทุกแขนงที่จะได้ไม่ต้องเกร็งกับประกาศนี้
นอกจาก 2 ฉบับที่ว่าแล้ว อีกฉบับที่สำคัญควรจะยกเลิกตามไปด้วยคือ คำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 41/2559 ที่หัวหน้าคสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งเรื่องการกํากับดูแลการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ ระบุไว้ว่า บอร์ดกสทช. เลขาฯ กสทช. ตลอดจนเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน กระทำใดๆ เพื่อ ‘ลงโทษสื่อ’ แล้ว ‘ไม่ต้องรับผิด’ ทั้งอาญา แพ่ง และวินัย
การยกเว้นไม่ต้องรับผิดใดๆ เช่นนี้ อาจส่งผลให้ขาดความละเอียดรอบคอบและขาดการใช้ความระมัดระวังต่อการตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งได้
จึงเกรงว่า กสทช. จะใช้ดุลพินิจมีมติ 'จอดำ' อย่างไม่ละเอียดรอบคอบพอ เพราะได้รับการคุ้มครอง ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ หากมีการใช้ดุลพินิจอย่างผิดพลาด
-มีข้อสังเกตอย่างไรต่อการทำงานของกสทช.
ผมอยากจะให้ข้อมูลว่า การเรียก Voice TV ไปชี้แจง ตักเตือน หรือลงโทษ ในหลายๆ ครั้งที่ผ่านมาไม่เฉพาะครั้งนี้ ทั้งหมดเกิดขึ้นหลังการรัฐประหารปี 2557 ทั้งสิ้น
ถ้าไม่นับถูกสั่งปิดทันทีหลังรัฐประหาร(2557) การถูกเรียกไปชี้แจง ตักเตือน พักรายการ หรือพักการดำเนินรายการของผู้ดำเนินรายการ
รวมทั้งปิดสถานีครั้งที่ 2 และ 3 ซึ่งเป็นครั้งล่าสุด เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนับแต่ปี 2558
ประเด็นที่ผมอยากจะบอกก็คือ ก่อนหน้านี้นับแต่ก่อตั้งสถานี Voice TV เมื่อปี 2552 แล้วเราเริ่มมีรายการวิเคราะห์การเมือง แสดงความคิดเห็นทางการเมืองปลายปี 2552 เป็นต้นมา
ก่อนหน้ารัฐประหารปี 2557 เราไม่เคยถูกเรียกไปชี้แจงใดๆ ทั้งสิ้นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือแม้กระทั่งสภาวิชาชีพ และจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่เคยถูกฟ้องร้องในข้อหาหมิ่นประมาท
หมายความว่า การทำรายการของเราอยู่ในมาตรฐานวิชาชีพ แต่การที่ถูกเรียกและลงโทษต่างๆ มาเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 2557
ผมคิดว่าอันนี้ สะท้อนอะไรบางอย่างที่ชัดเจนว่า ทำไมเราถึงมาถูกเรียกในช่วงหลัง ๆ
ก็หวังว่าองค์กรที่กำกับดูแลจะมีมาตรฐานในการกำกับดูแลที่ถูกต้องสอดคล้องกับหลักการและกฎหมายของโลกประชาธิปไตย
เราพยายามทำตามมาตรฐานวิชาชีพ เพื่อเป็นเกราะกำบังคุ้มครองเราเองไปในตัว เป็นเรื่องที่เราต้องพิสูจน์ตัวเอง
-สาเหตุ 'จอดำ' เพราะผู้ถือหุ้น Voice TV เป็นฝ่ายการเมืองด้วยหรือไม่
กสทช. ไม่ได้ระบุเรื่องนี้เป็นสาเหตุ แต่ประเด็นที่กสทช. สั่งปิด ได้หยิบยกประเด็นจากเนื้อหาในการจัดรายการหลักๆ คือ Tonight Thailand กับ Wake Up News
ประเด็นที่เขาหยิบยกขึ้นมา สรุปโดยรวมก็คือเขาบอกว่า เนื้อหารายการและการแสดงความคิดเห็นของผู้ดำเนินรายการ เข้าข่ายสร้างความสับสน ยั่วยุ ปลุกปั่น สร้างความแตกแยกในราชอาณาจักร กระทบกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี นี่เป็นข้อกล่าวหาโดยสรุปจากหลายๆ ประเด็นที่ กสทช. กล่าวอ้าง
มีกฎหมายหลายฉบับที่เขาอ้างเพื่อทำการปิดครั้งนี้ ตั้งแต่ประกาศคสช. ฉบับที่ 97/2557 ฉบับที่ 103/2557, บันทึกข้อตกลงที่ Voice TV เคยทำกับ กสทช. ตั้งแต่เมื่อครั้งหลังรัฐประหาร 2557
รวมทั้งมาตรา 37 พ.ร.บ.ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ซึ่งนี่คือกฎหมายที่เขาหยิบยกขึ้นมา โดยรวมก็คือจะโยงไปที่เรื่องนี้
ส่วนประเด็นว่า ผู้ถือหุ้นของ Voice TV มีความเชื่อมโยงกับพรรคการเมืองหรือไม่ ในข้อกล่าวหาทั้งหมดไม่ได้มีการพูดถึงอยู่แล้ว
แต่เราอาจจะอนุมานได้ว่า เรื่องนั้นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หลายคนมองภาพว่า Voice TV อาจจะมีส่วนเชื่อมโยง
จริงๆ ผู้ถือหุ้น Voice TV เป็นครอบครัวชินวัตรก็จริง แต่ไม่ได้หมายความว่าช่อง Voice TV จะต้องไปสัมพันธ์อะไรกับพรรคการเมือง ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทยหรือไทยรักษาชาติ
วัตถุประสงค์ของการทำ Voice TV ก็ชัดเจนอยู่แล้ว คือถ้าเราไม่มั่นใจในเรื่องการทำสื่อแบบมืออาชีพ ก็ไม่มีความจำเป็นที่ผู้ถือหุ้นจะต้องเปิดเผยตัว
การที่ผู้ถือหุ้นเขาบอกตัวตนชัดเจนว่าเขาทำสื่อสถานีโทรทัศน์ช่องนี้ ก็หมายความว่าเขาต้องการทำให้สถานีโทรทัศน์ช่องนี้เป็นสถานีที่มีมาตรฐานในการทำงานตามวิชาชีพเช่นเดียวกับอีกหลายๆ ช่อง
ซึ่งเป็นเรื่องปกติ หลายช่องก็มีกลุ่มทุนเข้ามาทำเหมือนๆ กัน ไม่มีวัตถุประสงค์อะไรที่ซ่อนเร้นมากไปกว่านั้น
(ติดตามตอน2/2 ได้ในคลิปต่อไป ความสัมพันธ์ครอบครัวชินวัตร กับ Voice TV การรักษามาตรฐานความเป็นอิสระในฐานะสื่อมวลชน ขณะที่ผู้ถือหุ้นมีบทบาททางการเมือง)
(สัมภาษณ์โดย ฟ้ารุ่ง ศรีขาว)