"โมกหลวงริมน้ำ" ร่วมกับ "แอมเนสตี้ฯไทย" จัดกิจกรรมจุดเทียน "คืน-ยุติธรรม" จี้รัฐรับผิดชอบเหตุคุกคามและบังคับผู้เห็นต่างทางการเมืองให้สูญหาย
วันนี้ (4 ก.ค. 64) เวลา 17.30 น. ที่บริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชษ ข้างทำเนียบรัฐบาล กลุ่ม "โมกหลวงริมน้ำ" ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ภาควิชารังสีเทคนิค มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ร่วมกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมจัดกิจกรรมเรียกร้อง "สังคมไทยต้องปลอดภัย พวกเขาต้องได้รับความยุติธรรม" พูดคุยประเด็นการคุกคามและบังคับให้สูญหาย เพื่อเรียกร้อง"คืน-ยุติธรรม" เนื่องในวาระครบ 1 ปี 1 เดือนการอุ้มหายนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักเคลื่อนไหวซึ่งลี้ภัยอยู่ที่ประเทศกัมพูชา
บรรยากาศทั่วไป มีประชาชนทยอยเข้าบริเวณกิจกรรมตั้งแต่เวลา 16.30 น. ต่างนั่งพูดคุยและช่วยกันเขียนป้ายข้อความต่าง ๆ
ทั้งนี้ทีมงานทะลุฟ้า ได้เข้ามาทำการจัดเตรียมสถานที่เสวนา โดยมีการขึงป้ายผ้ามีข้อความว่า "ไม่ควรมีใครถูกคุกคาม เพียงเพราะความเห็นต่าง" เป็นฉากหลัง และข้อความระบุว่า "ใครทำกรรมไว้กรรมนั้นต้องตามสนอง" ขึงไว้ด้านหน้าทางเข้าบริเวณจัดกิจกรรม
จากนั้นเวลาประมาณ 18.20 น. ผู้ดำเนินรายการ ได้อ่านประวัตินักต่อสู้ในอดีตที่ถูกคุกคามโดยรัฐ อาทิ นายเตียง ศิริขันธ์, นายทนง โพธิ์อ่าน, นายสมชาย นีละไพจิตร, นายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ เป็นต้น
รวมถึงมีการอ่านรายชื่อและเรื่องราวของบุคคลที่ถูกอุ้มหายในช่วงรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อาทิ นายเด่น คำแหล้, นายอิทธิพล สุขแป้น หรือดีเจซุนโฮ ซึ่งลี้ภัยอยู่ที่ สปป.ลาว และนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น
ลำดับต่อมานายวรชาติ อหันทริก ที่ปรึกษาด้านสิทธิแรงงาน เพื่อนนายทนง โพธิ์อ่าน นักต่อสู้ผู้ถูกบังคับสูญหายเมื่อ 19 มิถุนายน 2534 กล่าวในวงสนทนาตอนหนึ่งว่า ทนงได้ผลักดันเรื่องสิทธิและสวัสดิการของแรงงาน ทั้งเรื่องสวัสดิการแห่งรัฐ ค่าแรงขั้นต่ำ และ พ.ร.บ. ประกันสังคม สร้างอำนาจในการต่อรองของแรงงานกับรัฐบาล เมื่อเขาถูกอุ้มหายในรัฐบาลรัฐประหาร รสช. ซึ่งเป็นเวลาเพียง 1 วัน ก่อนที่จะเดินทางไปประชุมองค์การแรงงานโลกที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยเคยประกาศว่าจะนำเรื่องราวความไม่ยุติธรรมไปฟ้องโลก แม้ถูกรัฐบาลห้ามเดินทางและตัดงบ ทนงก็ใช้ทุนรอนของตัวเองเพื่อจะเดินทางไป แต่ก็ถูกอุ้มหายไป
อย่างไรก็ตามนายวรชาติ เชื่อว่า องค์ประกอบหนึ่งคือการที่ทนงไปชี้หน้าด่าสุจินดาว่า "ประชาธิปไตยกำลังจะเต็มใบ แต่ดันมีควายมายืนขวาง"
ทั้งนี้นายวรชาติ เรียกร้องให้ประชาชนอย่ายอมแพ้ ต้องลุกขึ้นต่อสู้ และสานต่ออุดมการณ์ของผู้ถูกทำให้สูญหายไป
จากนั้น นางสาวภัทรานิษฐ์ เยาดำ เจ้าหน้าที่อาวุโส แอมเนสตี้ ประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ถูกดำเนินคดีเกือบ 700 รายจากการเคลื่อนไหวทำกิจกรรมทางการเมือง อย่างไรก็ตามรัฐบาลไทยไม่ได้เพิ่งคุกคามประชาชน เพราะในช่วงรัฐประหาร 2557 มีคนจำนวนมากคือกว่า 2,400 คน ต้องขึ้นศาลทหาร มีการไปหาที่บ้าน ชวนกินกาแฟ มาถามว่าสบายดีไหม
น.ส.ภัทรานิษฐ์กล่าวว่า ในการบังคับสูญหาย มักคำกล่าวที่ว่า "คนก็หาย กฎหมายก็ไม่มี" อย่างไรก็ตาม ตนชอบคำกล่าวของทนายความที่ติดตามคดีของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่ว่า การอุ้มหาย เหมือนไม่อนุญาตให้อยู่ แต่ก็ไม่อนุญาตให้ตาย ซึ่งทรมานกว่าตายไปแล้ว ครอบครัวของเหยื่อบางรายถึงขนาดขอร้องว่าถ้าตายขอให้ได้ศพคืน เพราะเรามีสิทธิร่ำลาคนที่รัก โดยในวันนี้ผู้คนกล้าที่จะชูรูปคนที่ถูกลืม กล้าพูดในสิ่งที่เกิดในสังคม ซึ่งสำคัญกว่าการฝากความหวังไว้ที่สภาอย่างเดียว แต่ไม่ใช่ว่าการขับเคลื่อนผ่านสภาจะไม่สำคัญ
ต่อมา "เบิร์ด" บุคคลที่ถูกคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งถูกติดตามสะกดรอยไปที่บ้านได้เล่าถึงการถูกบุคคล 4 รายติดตามตนเองหลังเข้าร่วมกิจกรมทางการเมือง มีหลักฐานเป็นภาพจากกล้องวงจรปิด
เบิร์ดเล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองว่า เขารับไม่ได้กับการบังคับสูญหายของวันเฉลิมที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ซึ่งทำให้เขาโกรธมาก จนต้องออกมาร่วมชุมนุมเรียกร้องความยุติธรรมให้กับวันเฉลิม
เบิร์ด กล่าวต่อว่า ตนไปม็อบมาตลอด จนกระทั่งวันที่ 6 มี.ค. 64 ขณะที่เขากลับบ้านจากการชุมนุมที่หน้าศาลฎีกา ถนนรัชดาฯ เบิร์ด ถูกกลุ่มชาย 4 คน สะกดรอยตามมาจากม็อบ และกลุ่มคนดังกล่าวหาจังหวะลอบทำร้าย เบิร์ด จนกระดูกที่หลังร้าวเบิร์ดต้องหาพยานหลักฐานด้วยตัวคนเดียวทั้งหมดเพื่อเอาผิดกับคนร้าย คุยกับเพื่อนบ้านเพื่อขอภาพในกล้องวงจรปิด สัมภาษณ์พยาน สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เบิร์ดหันมาตั้งคำถามต่อการทำงานของตำรวจว่านี่เป็นงานของตำรวจใช่หรือไม่ ทำไมเหยื่อต้องมาหาหลักฐานเอง
จากนั้นเวลา 19.30 น. มีการเปิดคลิปวิดีโอนักข่าว และผู้ช่วย บก.ข่าว สำนักข่าวประชาไท ซึ่งติดตามทำข่าวการอุ้มหายนายวันเฉลิม โดยในตอนหนึ่งกล่าวว่า สื่อกระแสหลักมีการนำเสนอข่าวนายวันเฉลิมมากกว่าการสูญหายของบุคคลอื่นที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเรื่องแปลกใหม่
จากนั้น พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรมขึ้นปราศรัย ระบุว่า การบังคับสูญหายคือการทำให้พยานหลักฐานหายไป กรณีวันเฉลิมนั้นเป็นเรื่องที่สำนักข่าวต่างประเทศให้ความสนใจ ญาติและทีมงานกฎหมายได้ยื่นเรื่องต่อศาลกัมพูชาและแจ้งต่อรัฐบาลไทยไปแล้วว่าวันเฉลิมอาศัยอยู่ในกัมพูชาจริงในช่วงที่เกิดเหตุ แต่เอกสารที่ยื่นต่อศาลกัมพูชาไป ก็ถูกพยายามบิดเบือน ปฏิเสธให้ได้ว่าเหตุที่เกิดไม่ได้เกิดที่กัมพูชา และยังมีหลักฐานว่าวันเฉลิมถูกติดตามโดยเจ้าหน้าที่รัฐไทยด้วย
และถ้าหากยังไม่มีกฎหมายที่ชัดเจนเพื่อนำคนผิดมาลงโทษ กรณีของวันเฉลิมก็คงไม่ใช่คดีสุดท้าย พรเพ็ญกล่าวทิ้งท้าย
ขณะที่ พรหมศร วีระธรรมจารี หรือฟ้า จากกลุ่มราษฎรมูเตลู ขึ้นปราศรัยบางส่วนได้พูดถึง ที่ผ่านมาพูดกันว่าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยตั้งแต่ปี 2475 หากเป็นเช่นนั้น ทำไมต้องมีคำว่ากลัว ทำไมยังมีศพแล้วศพเล่า หรือเราอยู่ภายใต้เผด็จการทหารกันแน่ ถ้าเป็นประชาธิปไตยจริง ต้องไม่มีการรายงานตัว ไม่มีเลือดใครนองแผ่นดิน ต้องไม่มีคนถูกจับติดคุกเพราะเห็นต่าง รวมถึงกรณีวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่ถูกอุ้มหายในกัมพูชา
การวิพากษ์วิจารณ์คือการนำไปสู่การพัฒนา ไม่ใช่เงียบปาก เราต้องเห็นพ่อแม่ถูกพรากลูก เพราะเขาพูดความจริงหรือ ต้องจากคนที่รัก เพราะพูดสิ่งที่ควรพูดหรือ ไม่เพียงวันเฉลิม ยังมีกรณีของสุรชัย แซ่ด่าน ซึ่งเป็นความน่าอดสู เราอยู่ในโลกที่แตกต่างกันหรืออย่างไร ถ้าประเทศไทยมีความยุติธรรม เราคงไม่ต้องมาจุดเทียนเรียกร้องความยุติธรรมกันอย่างนี้ แต่นี้สืบไป ต้องไม่มีใครถูกอุ้มหายเพราะพูดความจริง ฟ้า พรหมศรกล่าว
จากนั้นเป็นการโฟนอิน บุตรชายของภูชนะ กล่าวถึงบิดาที่ไม่มีโอกาสได้ร่ำลา ได้เล่าว่า หลังบิดาตนเสียมีตำรวจมาติดตามที่บ้านและติดต่อมาสอบถามเยอะ ไม่ได้เดือดร้อน แต่ว่าทำให้มีคำถามว่าจะอะไรนักหนา ยิ่งตอนจัดงานศพ ก็มีคนไม่ทราบหน่วยงานมาสอบถามว่ารู้ไหมว่าจัดงานให้ใคร มีใครมาร่วมบ้าง
หลังภูชนะจากไป ก็มีข่าวว่าพ่อของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เสียเช่นกัน แววตาประยุทธ์ ดูไม่มีความสุข ก็เข้าใจเหมือนกันว่าเป็นแววตาของคนเสียพ่อ แต่ตนเสียพ่อไป กลับไม่มีโอกาสแม้แต่จะร่ำลา ภาพสุดท้ายของพ่อที่เห็นคือศพที่อยู่ในห้องนิติเวช ที่รู้ผลว่าเป็นเขาได้จากผลนิติวิทยาศาสตร์ และในกลุ่มผู้ลี้ภัยที่หายไป หลายคนก็เป็นพี่ เป็นพ่อ เป็นพี่ เป็นน้อง เป็นคนที่สำคัญของใครสักคนกันทั้งนั้น
อำนาจที่รัฐบาลจะทำได้อย่างแรกคือการยอมรับว่าเขาเหล่านั้นคือมนุษย์คนหนี่ง ถ้ายอมรับว่าเรื่องแบบนี้ไม่ใช่เกมต่อรองผลประโยชน์อะไร ก็ควรมีอะไรที่เป็นรูปธรรมเพื่อประโยชน์ของประชาชน แต่ตอนนี้ไม่รู้รัฐบาลไปโฟกัสเรื่องอะไร ตอนนี้รู้สึกว่าประเทศที่เป็นแบบนี้ไม่มีอะไรจะเสียแล้ว บุตรชายภูชนะกล่าวทิ้งท้าย
จากนั้นเวลา 20.40 น. มีการเปิดคลิปเสียง "ป้าน้อย" ภรรยานายสุรชัย แซ่ด่าน นักเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยเล่าถึงผลกระทบที่มีต่อครอบครัวหลังการลี้ภัยไปยัง สปป.ลาว ตั้งแต่ปี 2557 ก่อนหายไปจากบ้านพักเมื่อ 13 ธันวาคม 2561 โดยยังไม่มีการพบร่างแต่อย่างใด
ต่อมานายธนพัฒน์ กาเป็ง หรือปูน จากกลุ่ม "ราษฎรเอ้ย" ปราศรัยโดยมีเนื้อหาบางส่วนว่า "อยากถามว่า ยอมได้หรือที่ถูกปิดปาก ไม่เหนื่อยหรือที่ต้องอยู่ในสังคมที่เรียกร้องอะไรไม่สำเร็จ ไม่อยากมีชีวิตที่ดีกว่านี้หรืออย่างไร พวกเราขอปฏิรูปความยุติธรรม ผู้ลี้ภัย ผู้ถูกอุ้มหายต้องไม่ตายเปล่า เราต้องแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เอารัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน ต้องฟังประชาชนมากกว่าการลากตั้ง จึงจะเรียกว่าเป็นประชาธิปไตย
เราต้องการเสียงประชาชนที่หนักแน่น และแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา และผู้ถูกอุ้มหายต้องได้รับความเป็นธรรม” ปูน ธนพัฒน์กล่าว
.
ซึ่งทำให้ผู้ร่วมกิจกรรมต่างปรบมือ และส่งเสียงเชียร์ พร้อมชู 3 นิ้วเป็นสัญลักษณ์อีกด้วย
จากนั้น 21.10 น. สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของวันเฉลิม และประกายดาว พฤกษาเกษมสุข ร่วมนั่งเสวนา บอกเล่าเรื่องราวของการตามหาวันเฉลิม และการถูกคุกคามโดยรัฐ
ด้าน ประกายดาว เล่าเรื่องราวในฐานะที่ตนได้มีโอกาสไปกัมพูชา เพื่อเยี่ยมวันเฉลิม ก็มีเหตุการณ์ที่เธอได้เป็นประจักษ์พยานการคุกคามจากรัฐ คือเหตุการณ์ปี 2015 มีกลุ่มคนแอบติดตามเธอในวันที่เธอไปเยี่ยววันเฉลิมที่กัมพูชา ขณะที่ตัววันเฉลิม ระบุด้วยว่า บางครั้งก็รู้สึกได้ว่า มีคนไทยมาป้วนเปี้ยนแถวคอนโดฯ ที่เขาอาศัย
ขณะที่สิตานัน กล่าวถึงการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมให้วันเฉลิม หากย้อนไปตอนที่สิตานัน เริ่มเข้ามาตามหาวันเฉลิม รัฐบาลไทยมักอ้างว่า ไม่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวกับการหายไปของเขา ไม่ทราบว่าเขาอยู่ไหน แต่สุดท้าย สิตานัน ได้หลักฐานที่ชี้ชัดว่าแท้จริงแล้ว รัฐไทยติดตามวันเฉลิมตลอด
สิตานัน กล่าวต่อว่า 1 ปีที่ผ่านมา ตนได้ไปยื่นเรื่องให้หน่วยงานรัฐหลายหน่วยงาน แต่ไร้ความคืบหน้า เพราะเขาอ้างว่า ไม่ทราบว่าวันเฉลิม หายที่ไหน แต่ทางสิตานัน ยืนยันหนักแน่นว่า หลักฐานของเธอชี้ชัดว่า วันเฉลิมหายตัวไปจากกัมพูชา แต่รัฐไทยยังปฏิเสธตลอด
"ถ้าคุณบอกว่า เรากดดันคุณน่ะไม่ใช่ เพราะผ่านมา 1 ปี คุณไม่ทำอะไรเลย คุณเลือกที่จะนิ่ง ไม่สืบสวน พี่มองว่าเรากดดันมันไม่ใช่เรื่องแปลก แต่คุณไม่ทำมันเป็นเรื่องแปลก การละเลยปฏิบัติหน้าที่ และเพิกเฉยต่อกระบวนการยุติธรรมที่จะตามหา และกล้าพูดว่ารัฐไทยมีส่วนกับการกระทำในครั้งนี้แน่นอน" สิตานัน กล่าว
ทั้งนี้สิตานัน ระบุว่า ตนพอเข้าใจว่าทำไมต้องเป็นต้าร์ และทราบว่าต้าร์ทำอะไรบ้าง ก่อนทิ้งท้ายว่า "ถ้าเราไม่เข้มแข็ง ถ้าพวกเราไม่ออกมาช่วยรณรงค์มันอาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้ แต่ถ้าเราเข้มแข็งและออกมากันทุกคน และออกมาเป็นพลังให้ซึ่งกันและกัน พี่คิดว่าก็ไม่ง่าย จะมีคนหายอีกต่อไป"
ต่อมา 21.20 น. ผู้จัดกิจกรรมได้เชิญชวนทุกคนร่วมจุดเทียน เรียงเป็นคำว่า "คืน-ยุติธรรม"และวางกุหลาบสีแดงพร้อมกันนั้นได้เปิดเพลง "นักสู้ธุลีดิน" คลอไปด้วย และยุติกิจกรรมด้วยความเรียบร้อย
อย่างไรก็ตามนายโสภณ สุรฤทธิ์ธำรง แกนนำกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ กล่าวว่าการจุดเทียนครั้งนี้ไม่ได้รำลึกถึงผู้ที่ตาย และผู้ที่สูญหายไปแล้ว แต่รวมถึงผู้ที่มีชีวิต และถูกคุกคามโดยรัฐ ให้วันหนึ่งเขาได้รับความยุติธรรม และได้ใช้ชีวิตกับครอบครัว กับคนรักเหมือนเดิม เป็นกำลังใจให้ครอบครัวและคนรักของเขาด้วยที่ต้องสู้โดยไม่ทราบจุดหมายจะจบลงที่ไหน
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ม็อบ4กรกฎา #โมกหลวงริมน้ำ #คืนยุติธรรม
ประมวลภาพ