"โมกหลวงริมน้ำ" ร้องกมธ.กฏหมายฯ เหตุสลายชุมนุม #ม็อบ18กรกฎา เกินกว่าเหตุ จี้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่คฝ. และบิ๊กตำรวจที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุม
วันนี้ (29 ก.ค. 64) เวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา เกียกกาย กลุ่ม "โมกหลวงริมน้ำ" นำโดย นางสาวทานตะวัน ตัวตุลานนท์, นายณัฐกรณ์ ชูเสนาะ และนายเจษฎา ศรีปลั่ง กลุ่มเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฏหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ผ่านนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษก กมธ.กรณีการละเมิดสิทธิในการชุมนุมบริเวณเมื่อวันที่ 18 ก.ค. ที่ผ่านมา
โดยตัวแทนกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ อ่านแถลงการณ์ ระบุว่า สืบเนื่องจากการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอกพร้อมกลุ่มแนวร่วม เมื่อวันที่ 18 ก.ค. ที่ผ่านมา ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก่อนเคลื่อนตัวไปยังทำเนียบรัฐบาล ภายใต้ 3 ข้อเรียกร้อง คือ
1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ต้องลาออกโดยไม่มีเงื่อนไข
2. ปรับลดงบประมาณสถาบัน-กองทัพสู้โควิด และ
3. เปลี่ยนวัคซีนซิโนแวคเป็นวัคซีน mRNA
ซึ่งการที่ประชาชนจะไปทำเนียบรัฐบาลเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะไปเรียกร้องโดยตรงต่อนายกฯ แต่ปรากฎว่าเจ้าหน้าที่ได้ทำการปิดกั้นทางที่ประชาชนจะไปทำเนียบรัฐบาล และใช้ความรุนแรงเข้าสลายการชุมนุมซึ่งไม่ตรงต่อหลักสากลและไม่คำนึงว่าจะเป็นอันตรายต่อผู้ชุมนุม ซึ่งตามหลักสากลได้ระบุว่า หากมีการใช้รถฉีดน้ำไม่ควรฉีดใส่ตัวบุคคล แต่กลับมีการจงใจฉีดใส่ตัวบุคคล ส่วนการยิงกระสุนยาง ตามหลักสากลระบุว่าหากจะต้องยิงต่ำกว่าเอว ยิงลงพื้นหรือยิงขึ้นฟ้า แต่เจ้าหน้าที่กลับยิงใส่ตัวบุคคล ซึ่งมีทั้งสื่อมวลชนและประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมได้รับบาดเจ็บจากการการยิงกระสุนยางในครั้งนี้ด้วย มีผู้ชุมนุมอายุ 14 ปีถูกกระสุนยางยิงเข้าเบ้าตาซึ่งอาจทำให้ตาบอดได้ สำหรับการใช้แก๊สน้ำตาไม่ควรยิงใส่ผู้ชุมนุม แต่เจ้าหน้าที่จงใจยิงเข้าหาตัวผู้ชุมนุม ซึ่งตามหลักสากลระบุว่าควรใช้แก๊สน้ำตาในที่เปิด เพราะแก๊สน้ำตาอาจทำให้ผู้ชุมนุมระคายเคือง หายใจไม่ออกหรืออาจหมดสติได้
ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ไม่ควรทำความรุนแรงกับผู้ชุมนุม เพราะในวันนั้นผู้ชุมนุมไม่ได้ใช้ความรุนแรง เพียงออกไปเรียกร้องวัคซีนที่ดีมีคุณภาพ เพราะปัจจุบันมีประชาชนเสียชีวิตข้างถนนเป็นผักปลาแต่รัฐบาลไม่สนใจอะไรเลย
ทางกลุ่มโมกหลวงริมน้ำได้ยืนหนังสือ โดยมีข้อเรียกร้อง คือ
1. ขอให้มีการตรวจสอบงบประมาณการจัดซื้ออุปกรณ์การสลายการชุมนุม การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน (คฝ.) และการอนุมัติงบประมาณแต่ละครั้งในการปฏิบัติหน้าที่
2. กลุ่มโมกหลวงมีหลักฐาน กระป๋องแก๊สน้ำตาและกระสุนยางที่ใช้ในการสลายการชุมนุม ในวันที่ 18 กรกฎาคม รวมถึงการชุมนุมอื่น ๆ ที่ผ่านมา ดังนั้นจึงขอให้มีการตรวจสอบคุณภาพอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เจ้าหน้าที่ใช้ในการสลายชุมนุม
3. ตรวจสอบเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุม ในวันที่ 18 ก.ค. ได้แก่ 1. พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ 2. พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล 3. พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล 4. พล.ต.ต.ปราศรัย จิตตสนธิ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 และ 5. พล.ต.ต.มานพ สุคนธ์ธนพัฒน์ ผู้บังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน
ซึ่งการกระทำของเจ้าหน้าที่เหล่านี้เป็นการปิดกั้นสิทธิของประชาชนในการชุมนุมซ้ำยังใช้ความรุนแรงโดยไม่คำนึงถึงชีวิตของประชาชน
กลุ่มโมกหลวงริมน้ำจึงขอให้มีการสอบสวน ออกหมายเรียกเจ้าหน้าที่ตามรายชื่อดังกล่าว เพื่อตรวจสอบการออกคำสั่งการใช้หน้าที่โดยมิชอบในการขัดขวาง การปิดกั้นและการใช้ความรุนแรง ตรวจสอบวินัยและปรับทัศนคติ หากมีความผิดขอให้มีการดำเนินการลงโทษอย่างจริงจัง
ด้านนายรังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะโฆษกกรรมาธิการ การกฏหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า สิ่งที่เห็นคือบรรยากาศที่หดหู่ คนตายทุกวัน ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูง คนตกงาน คนล้มกลางถนน คนจึงไม่พอใจ จึงกล้าหาญไปเรียกร้อง
ตนคิดว่าการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดไม่ใช่การสลายการชุมนุม ใช้แก๊สน้ำตาหรือกระสุนยาง แต่คือการทำหน้าที่ของรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาโควิด ข้อเรียกร้องหลายข้อของผู้ชุมนุมเป็นสิ่งที่รัฐบาลสามารถทำได้ทันที แต่น่าเสียดายที่รัฐไม่ตอบรับอะไร แต่กลับใช้ความรุนแรง
ในช่วงนี้รัฐสภาปิดเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 จึงอาจไม่ได้มีการประชุม แต่เมื่อไหร่ที่กรรมาธิการกลับมาทำหน้าที่ ตนจะนำเรื่องนี้เข้าสู่กรรมาธิการอย่างเร่งด่วน เพื่อให้มีการตรวจสอบต่อไป
ในฐานะตนที่ได้ไปสังเกตการณ์การชุมนุมเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ก็พอรับรู้และรับทราบอันตรายจากแก๊สน้ำตา อีกทั้งท่ามกลางการสลายการชุมนุม คำถามสำคัญคือเมื่อไหร่รัฐบาลจะรับผิดชอบกับการบริหารจัดการล้มเหลวในการจัดการโควิด-19
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #วัคซีนคุณภาพ #COVID19 #โควิด19
ประมวลภาพ