ธิดา
ถาวรเศรษฐ :
จากหนึ่งความฝันสู่การปฏิรูปสถาบันฯ และยกเลิก 112
ยูดีดีนิวส์
: เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 63 อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ ได้สนทนาผ่านการทำเฟซบุ๊คไลฟ์ที่เฟสบุ๊คแฟนเพจ
อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ และพร้อมกันนี้ได้มีการทำ Youtube Live ผ่านทางช่อง
UDD news Thailand ด้วย
เรื่องแรกในการสนทนาอ.ธิดาได้พูดถึงการพระราชทานอภัยโทษเนื่องในวาระ
5 ธันวาที่ผ่านมา ดังนั้นผู้ต้องขังที่มีโทษต่ำกว่า 1 ปี จำนวนหนึ่งก็มีพระราชกฤษฎีกาปล่อยตัวออกมา
และหากมีโทษเกิน 1 ปี ก็ได้ลดโทษ ในส่วนของคุณณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ก็น่าจะได้ออกในอีกไม่นานนี้
แต่เอาที่แน่ ๆ ดิฉันขอผลัดไปอีกสักวันแล้วจะเรียนให้ทราบว่าเป็นวันไหน
เวลาเท่าไหร่ เพื่อแฟนคลับและมวลชนที่อยากจะไปต้อนรับ
รวมถึงผู้สื่อข่าวจะได้ทราบกำหนดที่แน่นอน
สำหรับประเด็นที่จะสนทนาในวันนี้ก็คือ
“จากหนึ่งความฝันสู่การปฏิรูปสถาบันฯ
และยกเลิก 112”
หลังจากที่กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมมีข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปสถาบันฯ
10 ข้อ แล้วกลุ่มเยาวชนปลดแอกก็นำมาเข้าสู่การเคลื่อนไหวบวกกับ 3
ข้อเรียกร้องที่เราเคยพูด (หยุดการคุกคามประชาชน / แก้ไขรัฐธรรมนูญ / ยุบสภา)
แล้วใช้คำว่า “หนึ่งความฝัน” ดิฉันยังชมเลยว่าเด็ก ๆ เขาก็ฉลาดนะที่ใช้คำว่า “หนึ่งความฝัน”
แปลให้เห็นว่ายังเป็นเรื่องที่มาไม่ถึง
เป็นเรื่องที่ยาวไกลแต่เป็นความฝันที่อยากเห็นประเทศที่มีระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
แต่อย่างที่บอก
อาจจะเป็นคนละ Generation
ก็ได้ พัฒนาการของข้อเรียกร้องในการเปลี่ยนแปลงนั้นไปไวมาก ไปไกลมาก
คือภายในเวลาไม่นานข้อเรียกร้องก็มีการขยับปรับไปเรื่อย ๆ จนหลายคนตามไม่ทัน
จนกระทั่งเมื่อเยาวชนปลดแอกมีการชู “ค้อนเคียว”
ซึ่งดิฉันได้พูดไปครั้งที่แล้วว่าอย่าไปตกใจ มันเป็นเรื่องธรรมดา ถือว่าเป็นยุค Enlightenment
ก็คือให้แสงสว่างเข้าไปสู่มุมมืดทุกจุด
นำเรื่องที่ยังอยู่ในระหว่างไม่เชื่อใจ ไม่เชื่อมั่น หรือเรื่องที่ยังไม่รู้
เอามาถกเถียงขบคิดกัน มันจึงควรจะเป็นการที่เอาเรื่องในมุมมืดมาไขในที่แจ้งและทำให้เกิดปัญญา
อันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก
เพราะบางเรื่องนั้นต้องมีความเข้าใจร่วมกัน มีข้อตกลง
ข้อเห็นด้วยร่วมกันของประชาชน แต่ประชาชนจะเห็นด้วยหรือเปล่านั้นเขาก็ต้องเข้าใจ
มันไม่ใช่วิสัยของระบอบเผด็จการ แต่มันเป็นวิสัยของระบอบประชาธิปไตยที่ต้องให้คนเข้าใจ
เรียนรู้ เห็นด้วย และตัดสินใจด้วยประชาชน แต่ถ้าเป็นระบอบเผด็จการหรือเชื่อผู้นำชาติพ้นภัย
บอกอย่างไรทุกคนต้องทำตามหมด!
เพราะฉะนั้นดิฉันคิดว่านี่เป็นการเรียนรู้
ทำให้ประเทศสามารถที่จะเดินหน้าด้วยแสงสว่าง มันเหมือนกับเราเดินโดยไม่ได้อยู่ท่ามกลางความมืด
รู้ว่าจะเดินไปไหน มีข้อควรระวังอะไร ตรงไหนสะพานผุ
ตรงไหนที่จะมีสัตว์ป่าเดินเข้ามา ตรงไหนที่เป็นหลุมเป็นบ่อ อะไรต่าง ๆ เหล่านี้
คือถ้ามันสว่างแล้วก็จะมีความเข้าใจและระมัดระวัง รู้ว่าจะเดินไปไหน?
แต่ความรวดเร็วของเยาวชนเหล่านี้ก็อาจจะทำให้หลายคนอึ้ง! เพราะเมื่อเกิดปรากฏการณ์ของฝ่ายนิยมมาร์กซิสต์
มีการนำเอาค้อนเคียวมาเสนอซึ่งที่จริงดูเหมือนเป็นศิลปะสมัยใหม่
สำหรับดิฉันเนื่องจากได้ศึกษาเรื่องเหล่านี้มาพอสมควร
ดิฉันไม่รู้สึกตระหนกตกใจแบบหลาย ๆ คน
เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นหลายคนคงลืมไปแล้วว่าในยุคสงครามเย็น การเมืองการปกครอง
หรือ ความคิดสังคมนิยม หรือ ลัทธิมาร์กซ์ ถูกทำให้เป็นปีศาจร้าย เป็นเรื่องน่ากลัว
จึงปฏิเสธความเข้าใจและเรียนรู้ กลุ่มทหารประชาธิปไตยก็คงเรียนระดับหนึ่ง
แต่คงไม่ได้ลึกซึ้งอะไร เรียนเพื่อเป็นเครื่องมือเอาไว้ปราบคอมมิวนิสต์ประมาณนั้น
ไม่ใช่เรียนเพราะอยากรู้ มาถึงตอนนี้ดิฉันยังมองทุกอย่างในแง่ดีว่า
เป็นเรื่องดีที่เรื่องที่ไม่รู้ก็เอาขึ้นมาให้รู้ หลังจากนั้นค่อยตัดสิน
ดิฉันจะแบ่งเป็นหัวข้อใหญ่
ๆ ก็คือ
ประการแรก
ปัญหาของ ม.112 เกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครองของเราอย่างไร?
ปัญหา
ม.112 ในประเทศไทย ถ้าไปดูประเทศอื่นเขาไม่มีปัญหานี้เลย
อย่างอังกฤษเขาก็ไม่ใช้มาจะเป็นร้อยปีแล้วมั้ง เขาไม่มีการฟ้องใคร
คือสถาบันกษัตริย์ที่ยังอยู่ในโลกนี้ ดิฉันอยากจะเรียนว่าเขาไม่มีปัญหา 112
แบบประเทศไทย
คือสถาบันกษัตริย์
อย่างในประเทศมุสลิมหลายประเทศ อาจจะยังอยู่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เขาก็สามารถใช้การปราบปรามโดยตรง
ไม่จำเป็นต้องฟ้องร้อง แล้วเขามีภาวะของการดำเนินงานทางเศรษฐกิจให้ผู้คนอยู่ดีกินดีจนไม่มีใครอยากจะเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครอง
ก็มี!
ส่วนพระมหากษัตริย์ที่การเมืองการปกครองอยู่ในระบอบประชาธิปไตย
ไม่ว่าจะเป็นยุโรป หรือในญี่ปุ่น, มาเลเซีย ก็ไม่มีปัญหา 112 เหมือนกัน
เพราะเป็นสถาบันกษัตริย์ซึ่งอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและขึ้นต่ออำนาจประชาชนอย่างแท้จริง
ในทัศนะของดิฉัน โดยเฉพาะในประเทศอังกฤษนั้น ถ้าว่าไปในหนังสือแท็บลอยด์
พวกปาปารัสซี่ หรือคอลัมนิสต์ อะไรต่าง ๆ
เหล่านี้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์เยอะแยะเต็มไปหมด แต่ก็ไม่ได้มีการฟ้องร้อง
ถามว่าผู้คนยังเคารพ,
ชื่นชม และอยากให้ดำรงอยู่ไหม? ก็ยังเป็นอย่างนั้น
ขนาดประเทศออสเตรเลียยังโหวตว่ายังอยู่ในเครือจักรภพ มีควีนอลิซาเบธยังเป็นประมุขอยู่อย่างนี้เป็นต้น
องค์พระมหากษัตริย์ของประเทศในยุโรป ในอังกฤษ หรือญี่ปุ่น
ก็จะมีความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาล ไม่ว่าจะมีการปาฐกถาหรือพูดในที่สาธารณะก็ได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลหรือจากสภาฯ
ไม่สามารถที่จะทำตามใจชอบได้ นี่ดิฉันพูดถึงประเทศอื่น ๆ นะคะ
ถ้าว่าไปก็คือเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเช่นกัน
แต่ว่าเป็นลักษณะเป็นระบอบประชาธิปไตยที่ได้คืนอำนาจให้กับประชาชน
แล้วก็ขึ้นต่ออำนาจประชาชนที่ผ่านทางรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้นจึงไม่มี
112
แล้ว
112 ในประเทศไทย ในอดีตสมัย ร.6 ไม่มีความผิดขั้นต่ำนะ พูดง่าย ๆ
ว่าสมมุติมีการหมิ่นพระมหากษัตริย์ อาจจะจำคุก 1 เดือน 2 เดือน 3 เดือนก็ได้
แต่สมัยนี้อย่างต่ำ 3 ปี แล้วขึ้นไปถึง 15 ปี อันนี้มองเห็นว่าอย่างไร
ประเทศก้าวไปข้างหน้าหรือเปล่า? หรือว่าถอยหลังกว่าสมัย ร.6 (ในประเด็นนี้)
แล้วที่มีการเพิ่มโทษมากขึ้นคือหลังปี
2519 คือพอมีการยึดอำนาจก็จะไปอ้างเหตุผลของการที่สถาบันฯ
ถูกอ้างว่ามีคนไม่รักหรืออะไรต่าง ๆ
วิธีการแก้ของพวกนี้ก็ใช้วิธีเพิ่มโทษให้หนักขึ้น เพราะฉะนั้นโทษสูงมาก 3 ปี ถึง
15 ปี
การเขียนกฎหมาย
112 และความหนักหน่วงของมันแสดงถึงความก้าวหน้าหรือล้าหลังของการเมืองการปกครอง เพราะการเมืองการปกครองที่ก้าวหน้า
ประเด็นนี้บางที่ก็ไม่มีการตราเอาไว้ แต่ถ้ามีตราเอาไว้เขาก็ไม่ได้ใช้
หรือมีตราเอาไว้โทษก็ไม่ได้หนักหน่วงขนาดนี้ อาจจะสูงกว่าหรือใกล้เคียงกับกฎหมายดูหมิ่นหรือละเมิดสิทธิส่วนบุคคลที่ใช้กับประชาชนทั่วไป
เพราะฉะนั้นนี่เป็นการตอบประการแรกว่า
กฎหมาย ม.112 ของเรานั้นมันล้าหลังยิ่งกว่าสมัย ร.6
และความล้าหลังมันเพิ่มบทลงโทษทุกครั้งที่มีการทำรัฐประหาร
และมักจะอ้างว่าจำเป็นต้องทำรัฐประหารเพราะว่าประชาชนในขณะนั้นจะล้มเจ้าบ้าง
ไม่จงรักภักดีบ้าง ดังนั้นพวกที่จงรักภักดีจึงแสดงความจงรักภักดี
คือนอกจากยึดอำนาจจากประชาชน ยังมาเขียนให้มาตรา 112 ยิ่งแรงขึ้น ๆ
กำหนดโทษขั้นต่ำให้สูงขึ้นและขั้นสูงก็สูงขึ้น
ประการที่สอง
ทำไมคนถึงมีการวิพากษ์วิจารณ์และถูกดำเนินคดีมากขึ้น
เมื่อการเมืองการปกครองเรามีการยึดอำนาจ
และการยึดอำนาจแต่ละครั้งทำให้ประชาชนแบ่งฝ่ายว่าพวกหนึ่งจงรักภักดี
อีกพวกหนึ่งไม่จงรักภักดี มีปัญหาต่อความมั่นคงของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
อะไรทำนองนี้ หมายความว่าอะไร? พระมหากษัตริย์ไม่ได้อยู่เหนือการเมือง
พระมหากษัตริย์ก็ไม่ได้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย
กลายเป็นว่าคนเหล่านี้ไปดึงไปโหน
ทำให้พระมหากษัตริย์ซึ่งควรจะต้องอยู่เหนือการเมืองเข้ามาอยู่อีกฟากหนึ่ง
ทีนี้มันก็กลายเป็นว่าพระมหากษัตริย์มาอยู่เป็นฟากกับประชาชนซึ่งคิดต่างกับผู้ยึดอำนาจ
เพราะว่าในเมื่ออีกฝ่ายใช้สถาบันฯ ว่าพวกนั้นไม่จงรักภักดี แต่ผมเป็นพวกจงรักภักดี
ดังนั้นคำตอบก็คือว่า
ด้วยเหตุที่ทำให้พระมหากษัตริย์เลือกฝ่ายการเมือง
แล้วก็กลายเป็นฝ่ายตรงข้ามกับประชาชนส่วนหนึ่ง นี่คือเหตุที่ทำให้สถาบันฯ
ถูกวิพากษ์วิจารณ์ หรือถูกทำให้มีคำพูดที่อาจจะเกิดจากความรู้สึก
ดิฉันจับความรู้สึกได้ของผู้คนตั้งแต่ในยุค 6 ตุลา 19 มาจนกระทั่งปี 53
เมื่อประชาชนถูกปราบปราม ความเข้มข้นของการยึดอำนาจ, ทอนอำนาจของประชาชนลงไป และได้รับการรับรองจากการทำรัฐประหาร
ผู้ที่ถูกวิจารณ์นอกจากฝั่งผู้ยึดอำนาจแล้ว ก็กลายเป็นว่าสถาบันฯ
ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ไปด้วย
ดังนั้น
นี่จึงเป็นเหตุ แต่ในขณะเดียวกันฝ่ายปราบปราม ฝ่ายที่มีอำนาจรัฐ
ไม่ได้มองว่าเหตุคืออันนี้ แต่ไปมองอีกอย่างว่าพวกนี้เป็นพวกเลวร้าย ชั่ว
ทำไมไม่รักชาติ ไม่รักแผ่นดิน ไม่รู้จักประวัติศาสตร์ไทย นั่นมันคนละเรื่องเลยนะ ดิฉันว่าอย่าพูดว่าใครรักชาติมากกว่าใคร
และอย่าอ้างว่าใครรักสถาบันฯ มากกว่าใคร
เพราะว่าคุณไม่มีสิทธิที่จะไปโจมตีชี้หน้าใครว่าใครรักชาติน้อยกว่า
เพียงเพราะว่าคิดไม่เหมือนคุณ แม้กระทั่งในขณะนี้ฝ่ายเสรีนิยมก็ยังมีความคิดที่แตกต่างกัน
คนคิดต่างต้องอยู่ด้วยกันได้ แต่ต้องพิสูจน์ดังที่ดิฉันบอกว่า
เอาเรื่องที่ไม่เข้าใจ เรื่องที่อยู่ในมุมมืดออกมาพูดกันด้วยสติปัญญา
เพราะฉะนั้น
นี่จึงเป็นเหตุผลว่าคนที่รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ อย่างถ้าเป็นคนเสื้อแดงก็จะรู้สึกเหมือนว่าเป็นลูกที่พ่อแม่ไม่รัก
ทำไมลำเอียงประมาณนั้น คิดอย่างนั้น (อันนี้เป็นความคิดเขานะ ถูกผิดก็อีกเรื่องหนึ่ง)
แต่พอมาถึงยุคปัจจุบัน คนรุ่นใหม่ การแสดงออกอาจจะมากกว่าหรือคนละแบบกัน
มันก็จะเกิดเป็นเรื่องขึ้นซึ่งหลายคนตกใจ! และคิดไม่ถึง คิดไม่ทัน แต่มันเป็นเช่นนี้เองเพราะยุคสมัยเปลี่ยน
อะไรก็เปลี่ยน วิธีคิดและการกระทำก็ต้องไม่เหมือน
คนที่ตกใจ
ลองคิดให้ดีอย่างที่ดิฉันพูดว่าสาเหตุเกิดจากไหน สาเหตุเพราะคุณไปดึงสถาบันฯ
หรือสาเหตุเพราะคุณโหนสถาบันฯ หรือคุณต้องการใช้สถาบันฯ
เป็นเครื่องมือเพื่อจัดการกับฝ่ายที่แข่งอำนาจกับคุณ แล้วในที่สุดอะไรคือความจงรักภักดี
ที่แท้คือความเห็นแก่ตัว เห็นแก่คณะของตนหรือเปล่า?
ประการสุดท้าย
ก็นำมาสู่ทางออก คือมีข้อเสนอยกเลิกมาตรา 112 เกิดขึ้นมากมาย ทางออกก่อนหน้านี้หลายคนหรือแม้แต่ดิฉันเองก็คือ
ไม่ยกเลิกก็ได้ แต่ปรับปรุง เช่น
1)
ปรับปรุงฐานความผิดต้องไม่มีขั้นต่ำ หรือต่ำกว่านี้ ไม่ใช่ 3 ปี อาจจะเป็น 3 เดือน
หรือ 3 วันก็ได้ หรือไม่ต้องกำหนดโทษขั้นต่ำเลย แล้วโทษขั้นสูงมันไม่ใช่ 15 ปี อย่างมากก็ไม่เกิน
3 ปี (สมมุตินะ) ควรจะเทียบกับประชาชนธรรมดาที่อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน สรุปว่าขั้นต่ำของการลงโทษต้องไม่มี
ขั้นสูงสุดของการลงโทษต้องต่ำกว่านี้เป็นสิบเท่า ในทัศนะของดิฉัน
2)
ผู้ฟ้องร้องจะต้องเป็นชุดเดียว เช่น สำนักพระราชวัง หรือ สำนักราชเลขาธิการ
ไม่ใช่หมู หมา กา ไก่ ใครอยากแกล้งใครก็ฟ้อง 112 ได้
แล้วทุกวันนี้ที่ฟ้องกันเด็กอายุ 16 ปีก็ฟ้อง คนใส่เสื้อกล้ามก็ฟ้อง
คนแต่งตัวใส่ชุดไทยเดินก็ฟ้อง ดิฉันก็ไม่รู้ว่าพวกที่ไปฟ้องนั้นจงรักภักดีจริงหรือจงใจจะยิ่งทำให้เกิดปัญหามากขึ้น
กระทั่งยิ่งเสื่อมเสีย
อีกอย่างหนึ่งก็คือ
กระบวนการในการพิจารณาในการตรวจสอบ
เมื่อนำมาสู่อัยการยังจะต้องใช้คณะใหญ่ในการตรวจสอบ
ไม่ใช่นึกจะฟ้องก็เอาเข้าคุกเลย คือนอกจากผ่านราชเลขาธิการหรือสำนักพระราชวังแล้ว
จะต้องมาสู่คณะกรรมการ ซึ่งคณะกรรมการนี้จะต้องมีหลายฝ่ายในการตรวจสอบ ไม่ใช่ที่ผ่านมาปล่อยให้ตำรวจทำสำนวนส่งไปอัยการแล้วสู่ศาลฝากขังเลย
แต่
ณ บัดนี้ ข้อเสนอปรับปรุงแบบนี้มันหมดไปแล้ว มันกลายเป็นว่า “ยกเลิก 112” เพราะว่าไม่ทันการ
ไม่ได้มีการปรับปรุงแก้ไข และกลายเป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งอย่างรุนแรง ถามว่าตอนนี้คุณจับ
112 ไหวมั้ย คุณยิ่งจับมาก ยิ่งคิดว่าดี คิดว่าเก่ง แต่ในทัศนะของดิฉันนะ
ก็คือเป็นการเปิดเผย
เปิดโปงความน่าอัปยศของการเมืองการปกครองไทยที่ไม่สนใจเรื่องสิทธิเสรีภาพ
ไม่สนใจความเท่าเทียม ไม่สนใจประมาณเรื่องชู 3 นิ้วนี่แหละ ภราดรภาพ คือไม่สนใจว่าจะอยู่ด้วยการรักกัน
คือต้องตายไปข้างหนึ่ง และให้ตายให้หมด
ถามว่าคุณจะให้ตายให้หมดยังไง?
ดิฉันดูแล้วบางคนเขาอาจจะไม่มาม็อบ เขาไปร้องเพลงเขาก็ยังชู 3 นิ้ว แล้วคุณจะจับคน
112 มากเท่าไหร่ ในทัศนะดิฉันยิ่งเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ฉะนั้นคิดให้ดี
และมาถึงวันนี้มันไม่ได้มาจากใครนะ
ไม่ได้อยู่ที่ใครครอบงำหรือชักจูง แต่มันอยู่ที่สิ่งที่พวกคุณสร้างเยาวชนเหล่านี้ขึ้นมาทั้งหมด
คุณจะไปโทษสหรัฐก็ไม่ได้แล้วเพราะเขาชูธงค้อนเคียว คุณจะไปโทษพรรคการเมืองก็ไม่ได้
เพราะไม่มีพรรคการเมืองไหนที่เสนอนโยบายยกเลิก 112 หรือนโยบายสังคมประชาธิปไตย
จริง
ๆ มันเท่ห์นะถ้ามีพรรคการเมือง แต่ดิฉันไม่รู้ว่า กกต. เขาจะอนุญาตหรือเปล่า
สิ่งที่เด็กจำนวนหนึ่ง (ไม่ใช่ทั้งหมด) เสนอ มันเป็นความหลากหลายทางความคิด ประเทศในยุโรปเหนือเขาก็มีพระมหากษัตริย์
แต่พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งทำให้รัฐสวัสดิการดำรงอยู่ได้ต่อเนื่องยาวนานก็คือพรรคโซเชียลเดโมแครตในระบอบประชาธิปไตยที่เป็นสังคมนิยม
บางคนก็เรียกว่าสังคมประชาธิปไตย บางคนก็เรียกว่าสังคมนิยมประชาธิปไตย
แต่ถ้าแปลสลับกันนะของไทยก็แปลว่าพรรคการเมืองประชาธิปไตยที่เป็นสังคมนิยม
แล้วประเทศเขาเจริญรุ่งเรืองดี
การที่มีค้อนเคียวแล้วพูดถึงลัทธิมาร์กซ์
มันไม่จำเป็นที่จะต้องหมายว่าเป็นเหมือนพรรคคอมมิวนิสต์บางประเทศ เช่น เกาหลีเหนือ
ดิฉันก็คิดว่าไม่ต้องตื่นตกใจจนเกินเหตุ ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องดี แต่ที่ไม่ดีก็คือไปเที่ยวจับคนแล้วโยนข้อหา
112 ข้อหา 116
คุณจะจับคนครึ่งประเทศได้หรือ?
คุณจะจับเยาวชน - นักศึกษามหาวิทยาลัย - นักเรียนมัธยม
หมดประเทศนี้ได้หรือ? ยิ่งทำยิ่งบ้านะ อ.ธิดากล่าวในที่สุด