9
ปี '19 พฤษภา 53' รู้จัก
'น้องใบไหม' ผู้ได้รับผลกระทบ 'ไฟไหม้สยาม' ธุรกิจครอบครัวถูกเผา เดือดร้อนล้มละลาย
รับไม่ได้ เคยเชื่อข้อมูลแกนนำเสื้อแดงสั่งป่วน
ล่าสุดเปลี่ยนมุมมองหลังเรียนรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ชี้บทเรียนรับข่าวสารด้านเดียว
แนะสังคมทบทวนความเข้าใจต่อการชุมนุม เหตุประชาธิปไตยไม่ใช่จับมือกันอ้างสวยๆ
แต่มาพร้อมการปฏิวัติต่อสู้ - 5 ปี
คสช.ไร้เลือดสาดไม่ได้แปลว่าสงบ - ความรุนแรงกว่าม็อบคือ 'สาเหตุ'
ที่คนต้องออกมาม็อบ
แฟนเพจ
‘ยูดีดีนิวส์ - UDD
News’ สัมภาษณ์ น.ส.เกศกนก วงษาภักดี หรือ น้องใบไหม
นิสิตคณะรัฐศาสตร์ปี 3 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อดีตสมาชิกสภานิสิตจุฬาฯ
ครอบครัวของ
'ใบไหม' ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เพลิงไหม้โรงหนังสยามเมื่อวันที่
19 พฤษภาคม 2553 เนื่องจากคุณแม่เพิ่งกู้เงินมาลงทุนเปิดร้านขายเสื้อผ้าเครื่องประดับบริเวณใต้ถุนโรงหนังโดยเช่าพื้นที่จากโรงหนังสยาม
ขณะที่โรงหนังเช่าที่ดินจากสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พื้นที่ที่เคยตั้ง
'โรงหนังสยาม' ปัจจุบันก็คือ 'สยามสแควร์วัน'
ติดกับสถานีรถไฟฟ้าสยามนั่นเอง
เดิมใบไหมมีวิธีการมองคนเสื้อแดงแบบหนึ่ง
แต่เมื่อเข้ามาเรียนรัฐศาสตร์และได้สัมผัสกับมวลชนแล้วเกิดความเข้าใจอีกแบบหนึ่ง
-น้องใบไหมในปี 2553 อายุเท่าไหร่ เรียนอยู่ชั้นไหน
ได้รับรู้เหตุการณ์ '19 พฤษภา 53' อย่างไร
เมื่อปี
2553 เรียนอยู่ ม.1 อายุ 13 ปี
ตอนนั้นยังเป็นเด็กใสๆ ไม่ค่อยยุ่งการเมือง
ได้รับทราบเรื่อง
19 พฤษภา 53 เพราะที่บ้านเปิดร้านขายของที่สยาม
ก่อนเกิดเหตุประมาณ 5 เดือน แม่ลงทุนไปเยอะเกือบ 1 ล้านบาท หลังจากเหตุการณ์นั้นคุณแม่ก็ล้มละลายเพราะลงเงินไปเยอะมาก
กู้เงินไปเยอะมากๆ
เหตุการณ์ปี
53 สำหรับใบไหม คือ เหตุการณ์ที่ที่บ้านล้มละลาย
ตอนนั้นแม่เพิ่งออกจากงานประจำ
แม่คิดว่ามาทำธุรกิจของตัวเองดีกว่าจะได้ไม่เครียด
ที่ร้านรับเครื่องประดับมาขายแล้วก็มีเสื้อผ้าผู้หญิงมุ้งมิ้งน่ารักๆ
ขายอยู่ที่ด้านล่างของโรงหนัง รายได้ค่อนข้างดีได้วันละ 2-3 หมื่นบาท
แต่เงินที่ได้ก็ยังไม่เท่ากับเงินที่ลงทุนไปเกือบล้าน
แม่ใช้เวลาหลายปีกว่าจะฟื้นฟูจิตใจ แม่ไปนั่งสมาธิ ก่อนจะกลับมาดีขึ้นและเริ่มต้นใหม่
ตอนนั้นใบไหมใสๆ
ไม่ค่อยสนใจการเมือง ข่าวสารที่เราได้รับเป็นข่าวสารจากสื่อกระแสหลักมากๆ
ที่เขาพยายามจะฉายภาพว่า 'เสื้อแดงเผาเมือง' ตอนนั้นที่บ้านใบไหมก็เชื่อจริงๆ
ว่าเสื้อแดงเผาเมือง เราก็โกรธเสื้อแดงไปพักใหญ่เหมือนกันนะคะ
จนกระทั่งมาเข้าคณะรัฐศาสตร์
จุฬาฯ จึงได้เริ่มอ่าน เริ่มศึกษาความจริงว่า จริงๆ แล้ว
คนที่ก่อเหตุก็ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นใครมาจากไหน
ถึงได้เริ่มเห็นว่าจริงๆ
เหตุการณ์ตรงนั้น มันเป็นเหตุการณ์ใส่ร้ายป้ายสีทางการเมืองจริงๆ
-รู้สึกโกรธหรือไม่กับเรื่องที่เกิดขึ้นโดยที่ครอบครัวได้รับผลกระทบโดยตรง
ตอนนี้คือ
ที่บ้านใบไหมไม่มีใครโกรธแล้ว เพราะเราเข้าใจว่ามันเป็นเหตุการณ์ทางการเมืองจริงๆ
แล้วก็ไม่มีใครอยากจะให้มันรุนแรงถึงขนาดนั้นหรอก
อันนี้ไม่ได้นับรวมว่ามีการสร้างสถานการณ์หรืออะไร
แต่มีความรู้สึกว่า
เราอยู่ในฝั่งผู้เสียหายค่ะ มันก็ทำใจแล้วแหละ
ว่าเป็นเพราะเหตุการณ์ทางการเมืองที่มันวุ่นวาย
เท่าที่ใบไหมเห็นจากเหตุการณ์นั้น
ป้าๆ ที่ขายของด้วยกันบางคนเค้าก็สิ้นเนื้อประดาตัวเลย คือ
ต้องกลับบ้านต่างจังหวัด
ตอนนั้นใบไหมเห็นแล้วรู้สึกแย่มาก
คุณทะเลาะกันแล้วทำไมต้องเป็นเราที่ได้รับผลกระทบ
แต่พอได้เริ่มเรียนรัฐศาสตร์ถึงรู้ว่า จริงๆ
แล้วมันไม่ใช่แค่เหตุการณ์ทางการเมืองตรงนั้นที่เป็นความวุ่นวายแล้วคนได้รับผลกระทบ
ความจริง
'ความเป็นปกติ' ทุกวัน
เราก็ได้รับผลกระทบจากการเมืองอยู่แล้วจึงเป็นเหตุการณ์ที่เลี่ยงไม่ได้
ที่จะเกิดความวุ่นวาย
จากตอนนั้นคือไม่ชอบเลย
ใครพูดถึงเสื้อแดงนี่คือรับไม่ได้ เพราะบ้านเราโดน บ้านเราได้รับผลกระทบ
ใบไหมเคยไปชุมนุมครั้งหนึ่งกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งแล้วก็เจอป้าๆ
เสื้อแดง ก็รู้สึกว่าเสื้อแดงไม่ได้น่ากลัวอย่างที่ข่าวพูด ป้าๆ เค้าช่วยเหลือกัน
ให้ข้าวให้น้ำใบไหมกิน ใบไหมก็เลยรู้สึกเปลี่ยนไปเยอะ
ตั้งแต่เข้ารัฐศาสตร์และได้ไปสัมผัสกับคนเสื้อแดงจริงๆ รู้สึกว่าเค้าน่ารักด้วยซ้ำ
-มีคลิปไวรัลที่เผยแพร่ในปี 53 เป็นภาพและเสียงแกนนำบอก
'เผาเลยพี่น้อง' ตอนนั้นใบไหมรับทราบเรื่องคลิปนี้ไหมและรู้สึกอย่างไร
เรื่องคลิปคุณณัฐวุฒิ
ใสยเกื้อ ใช่ไหมคะ ที่บอก 'เผาเลยพี่น้อง' ก็ได้รับข้อมูลเหมือนกันที่บ้านก็เห็นคลิป
ก็คุยกันว่า 'เห็นไหมเนี่ย พวกเสื้อแดงมาสั่งเผาร้านเรา'
แต่พอศึกษาข้อมูลจริงๆ
มันไม่ใช่เวทีแถวราชประสงค์ที่บอกพี่น้องเผาเลย มันเป็นที่อื่นด้วยซ้ำ
แล้วคลิปนั้นก็ตัดมาเล็กๆ มากๆ ไม่ใช่คลิปยาว
เห็นชัดเจนว่า
ในสถานการณ์ที่มีการเผาเมือง เค้าตัดคลิปนั้นมาเพื่อบอกว่าคุณณัฐวุฒิเป็นคนสั่ง
มันก็เห็นชัดเจนว่าเป็นการป้ายสีกัน
-เหตุผลที่ใบไหม เชื่อว่าไม่ใช่คนเสื้อแดงเผา เพราะอะไร
จากเหตุการณ์นั้นใบไหมอยู่
ม.1 จนถึงตอนนี้ใบไหมอยู่ปี 3 กำลังจะขึ้นปี4 แล้วค่ะ ถ้าอิงจากคำพิพากษา จนถึง ณ ตอนนี้ปี 2562 ยังระบุคนที่ก่อเหตุไม่ได้สักคนเลยว่าเป็นใครมาจากไหนบ้าง
ทั้งๆ ที่ภาพก็ชัด หน้าก็ชัด
ถ้าคิดในแง่มีการประโคมข่าวว่า
'เสื้อแดงเผา เสื้อแดงเผา' มันดูรุนแรงมากค่ะ
แต่กลับกลายเป็นว่า กระบวนการยุติธรรม กระบวนการสืบหาว่าใครทำ
มันกลับไม่ชัดเจนจนถึงทุกวันนี้
ตอนนี้เรายังไม่รู้เลยว่าผู้ก่อเหตุแต่ละคนชื่อแซ่อะไรบ้าง
เป็นใครมาจากไหน ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นมันจะระบุได้ยังไงคะว่าเป็นคนเสื้อแดงทำ
-ใบไหมทราบเกี่ยวกับคำว่า 'ผังล้มเจ้า' ไหมคะ ข้อมูลที่ได้รับตอนนั้นเป็นยังไง และตอนนี้มองยังไง
เสื้อแดงก็จะโดนอยู่
2 อย่าง ถ้าไม่ 'ทาสทักษิณ' ก็ 'พวกล้มเจ้า' ใบไหมเป็นคนนอกและนั่นคือสิ่งที่มองเห็น
ตอนนั้นก็รู้สึกเชื่อเหมือนกันว่า มันคงเป็นเรื่องจริง
แต่วันนี้พอมองกลับไปแล้วมันคือการใส่ร้ายทางการเมือง
เหมือนไปตีเค้าว่า 'พวกไม่รักเจ้า' เพื่อที่จะทำให้ตัวเองดูดี
ดูมีคุณธรรมขึ้นมา
พอมองย้อนกลับไปวันนี้ก็เห็นว่า
มันคือการป้ายสีทางการเมืองค่ะ
-9 ปี '19 พฤษภา 53' น้องใบไหมอยากให้สังคมไทยมองอย่างเป็นบทเรียนยังไง
ใบไหมว่า
อย่างแรกเราต้องเปลี่ยนมุมมองต่อการประท้วงก่อน
แน่นอนว่า
การประท้วงมีทั้งดีและไม่ดี
มีทั้งการประท้วงที่ออกมาประท้วงแล้วไม่ได้มีข้อเรียกร้องทางการเมืองที่เป็นรูปธรรม
มันก็จะมีพวกที่ประท้วงไปเรื่อยๆ กับประท้วงแบบที่ต้องการเปลี่ยนแปลงระบบจริง ๆ
สิ่งแรกก็คือ
ต้องมองว่า การประท้วงไม่ได้จะนำไปสู่ความเสียหายอย่างร้ายแรงเสมอไป
บางทีมันอาจจะเป็นการเปลี่ยนผ่านอะไรหลายๆ อย่างด้วยซ้ำ
ประชาธิปไตย
มันไม่ได้เกิดขึ้นเพราะว่าคนออกมาจับมือกันแล้วบอกว่าเราเป็นประชาธิปไตยกันนะ
ประชาธิปไตยมันผูกติดกับการปฏิวัติ
การประท้วง การชุมนุมการต่อสู้มานับไม่ถ้วนอันนี้ประเด็นแรก
และก็ประเด็นที่
2 เรื่องบทเรียนจากการฟังข่าวสารด้านเดียว ใบไหมว่า ช่วงเวลานั้น
คนส่วนใหญ่หลายคน
ได้รับข่าวสารแค่ด้านเดียวด้วยตอนนั้นอินเตอร์เน็ตอาจจะยังไม่สามารถเข้าถึงมาก
ตอนนี้เข้าถึงโซเชียลมีเดียแล้ว
ใบไหมว่าการเลือกฟังข้อมูลข่าวสารให้ครบทุกด้านสำคัญค่ะ
สรุปมี
2 ประเด็น คือ เปลี่ยนมุมมองต่อการประท้วงกับรับฟังข่าวสารให้ครบถ้วน
-การชุมนุม ถูกมองว่า ขัดต่อความสงบ
ถ้าเราอยู่อย่างสงบอย่างที่เราเผชิญมา
5 ปีไม่มีการทะเลาะเบาะแว้ง อย่างนั้นน่ากลัวนะ
เพราะมันจะยิ่งทำให้คนไม่ค่อยสนใจการเมือง
การมีเหตุการณ์ชุมนุมขึ้นมา ทำให้เห็นว่า จริงๆ แล้วการเมืองไม่ได้อยู่ไกลตัวค่ะ
การเมืองอยู่ใกล้เรามาก ๆ
แล้วบางทีการมีเหตุการณ์ความรุนแรง
ความรุนแรงนั้นอาจจะไม่ได้รุนแรงเทียบเท่ากับสาเหตุที่เค้าต้องออกมาด้วยซ้ำ
บางทีอาจจะเป็นเพราะผู้มีอำนาจใช้อำนาจโดยมิชอบหรือเปล่าคนถึงได้ออกมาขับไล่ขนาดนั้น
ใบไหมว่าสาเหตุที่คนออกมาชุมนุม
รุนแรงกว่าการที่คนออกมาชุมนุมด้วยซ้ำ
-เวลามีเหตุความรุนแรง คิดว่าโทษใครได้บ้าง
สามารถโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้หรือไม่
นึกออกมั๊ย
มันก็จะมีคำตอบแบบ เราต้องไม่โทษใครมากเกินไป ผิดทั้งคู่ ซึ่งก็จริง
แต่มันก็จะมีคนที่ผิดมากกว่า เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงมากกว่า
การโทษใคร
มันก็มีข้อเสียตรงที่จะทำให้เราเกลียดชังเค้าไปเลย เราควรให้กฎหมาย
ให้กระบวนการยุติธรรมมาจัดการมาลงโทษเค้า มาบอกว่าเค้าผิด
ซึ่งกระบวนการยุติธรรมต้องใช้หลักฐานครบถ้วนจึงจะตัดสิน
ถ้าจะพูดถึงความรุนแรง
อย่างที่บอกไป สาเหตุที่ทำให้คนออกมาประท้วง ก็รุนแรงเหมือนกัน
ถ้าผู้มีอำนาจใช้อำนาจโดยมิชอบ มันก็รุนแรงมั๊ย แล้วการที่คนออกมา เค้าอาจจะมองว่า
ถ้าปล่อยให้เกิดเหตุการณ์นั้น คนก็รู้สึกถูกลิดรอนสิทธิ
สู้ออกมาประท้วงเพื่อเอาสิทธิของตัวเองคืนมาไม่ดีกว่าเหรอ
ย้อนกลับไปเหตุการณ์ปี
53 คนออกมาประท้วงเพราะว่ารัฐบาล
ซึ่งสาเหตุของการออกมาก็รุนแรงแล้ว
แล้วรัฐบาลก็ยังจะใช้ปืนไปยิงผู้ชุมนุมอีก
อันนี้ใบไหมว่ารัฐบาล
ณ ตอนนั้น น่าจะต้องออกมารับผิดชอบอะไรมากกว่านี้ด้วยซ้ำเพราะคนตายไปเยอะมาก
และความรุนแรงไม่ได้เกิดขึ้นที่ชุมนุมหรือการยิงกันตายเท่านั้น
ใบไหมว่า
5 ปีที่ผ่านมา เราก็ได้รับรู้ว่าความรุนแรงที่มันไม่ได้เลือดสาดมันเป็นยังไง
การที่ทหารเค้าขึ้นมาแล้วเค้าบอกว่า
'สงบสุขปรองดอง ปรองดอง' แต่เค้าใช้กำลังคุมเราทุกอย่าง
อาจจะไม่ได้กราดยิงทางการเมืองขนาดนั้น แต่ว่า
การที่เราโดนลิดรอนสิทธิไม่ให้เลือกตั้ง ก็รุนแรงไหม การที่เราถูกลิดรอนสิทธิไม่ให้รู้ผลเลือกตั้งอย่างโปร่งใสก็รุนแรงได้เหมือนกันค่ะ
ใบไหมว่าตอนนี้
เมืองไทยผ่านความรุนแรงมาทั้ง 2 แบบก็คือเหตุการณ์ความรุนแรงแบบเลือดสาดกับเหตุการณ์ความรุนแรงที่ดูไม่รุนแรงแต่จริงๆ
แล้วทุกคนได้รับผลกระทบ
(สัมภาษณ์โดย ฟ้ารุ่ง ศรีขาว)