ยูดีดีนิวส์ : 30 เม.ย. 62 อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ ได้กล่าวในการทำ Facebook Live ในประเด็น "เป็นเวรกรรม หรือ กรงกรรม ของอนุรักษ์นิยมไทย"
เนื่องจากหลังการทำรัฐประหารมา 2 รอบ หลังจากที่วางแผนไว้ดิบดี เขียนรธน.ฉบับที่บอกเลยว่าเป็นรธน.ที่เขียนขึ้นเพื่ออนุรักษ์นิยมไทยและพรรคการเมืองของอนุรักษ์นิยม-อำนาจนิยมไทยโดยเฉพาะ ทำทุกอย่างแล้วแม้กระทั่งพระราชบัญญัติประกอบรธน.
แต่ว่าตัวละครใหม่เท่าที่เราได้พูดมามันก็จะเป็นอุปสรรค เป็นสิ่งซึ่งอนุรักษ์นิยมไทยไม่ได้คิดว่าจะมีสิ่งนี้เกิดขึ้น แล้วก็กลายเป็นประโยชน์กับพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งไม่มีท่าทีเลยว่าจะยินยอมพร้อมใจหรือจะสนับสนุนการสืบทอดอำนาจอย่างเด็ดขาด
วันนี้อาจารย์จะพูดถึงปัญหาหลักการสำคัญอันเนื่องมาจากข่าวที่คุณจรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. บอกกับผู้สื่อข่าวว่า สูตรการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อมีเพียงสูตรเดียว คือสูตรที่กรธ.เป็นผู้คิดและเป็นผู้เสนอ ยืนยันไม่มีสูตรอื่น คือมี 27 พรรคการเมืองได้ส.ส.บัญชีรายชื่อ ส่วนสูตรของนายสมชัย ศรีสุทธิยากรหรือนายโคทม อารียา นั้นไม่ใช่!
คุณจรุงวิทย์กล่าวต่อว่า กกต.ไม่กังวลว่าถ้าใช้สูตรของกรธแล้วจะเกิดการร้องเรียนไปที่ศาลรธน.จากพรรคการเมืองที่ไม่เห็นด้วย เพราะอย่างกรณีที่ระบุว่า สูตรนี้อาจมีปัญหา เพราะหากใช้เกณฑ์พรรคการเมืองได้คะแนน 7.1 หมื่นคะแนนจะได้ส.ส. 1 คน แต่สูตรนี้จะทำให้พรรคการเมืองเล็กบางพรรคอาจได้คะแนนแค่ 3-4 หมื่นคะแนนก็ได้ส.ส. 1 คนนั้น อันนี้ก็อย่างที่นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรธ. เคยให้สัมภาษณ์ส.ส.เขตเอง บางเขตได้ 2 หมื่นคะแนนยังได้เป็นส.ส. และกกต.มั่นใจว่าจะสามารถประกาศรับรองส.ส.ได้ครบ 95% และมีรัฐบาลใหม่ได้แน่ ๆ ในวันที่ 9 พ.ค. นี้
ปัญหาก็คือคุณจรุงวิทย์อ้างคุณอุดม ในทัศนะดิฉันอยากจะบอกว่าคุณอุดมนั้นชัดเจนว่ากรธ.ซึ่งเป็นการเขียนรธน.โดยอนุรักษ์นิยมและอำนาจนิยมออกมาพูดในกรณีนี้ นั่นเป็นตัวแทน แต่คุณจรุงวิทย์เป็นข้าราชการ ที่มาอาจได้รับการแต่งตั้งมาจากคสช....หรือเปล่า? แต่การอ้างคุณอุดมและรวมทั้งพูดว่า 2-3 หมื่นคะแนนเวลาที่เขาชนะกัน ดิฉันอยากจะถามว่า ส.ส.นครปฐมเขาชนะกัน 4 คะแนนเขาก็ชนะ ถูกหรือเปล่า? อย่าว่าแต่ 4 คะแนน 2 คะแนนเขาก็ชนะ
แปลว่าคุณไม่เข้าใจหรือว่าที่มาของส.ส.เขตกับส.ส.บัญชีรายชื่อนั้นคนละอย่างกัน คุณจะไปบอกว่าส.ส.เขตได้ 2-3 หมื่น แล้วทำไมส.ส.บัญชีรายชื่อจะได้ 2-3 หมื่นไม่ได้ คุณเข้าใจอะไรผิดอย่างมากหรือเปล่า?
มันขึ้นกับเจตนารมณ์ในการเขียนรธน.ฉบับนี้ว่า ไม่ต้องการให้พรรคใหญ่บางพรรคซึ่งได้รับชัยชนะจากส.ส.เขต แล้วมาได้รับชัยชนะจากบัญชีรายชื่อ ความจริงความพยายามจะขยำรวมกันให้เป็นแบบนี้มันมีตั้งแต่รธน.ปี 50 แต่ว่าเขาคิดกันแล้วว่ามีข้อเสียมากกว่าข้อดี
ดังนั้นรธน.50 ก็เรียกว่าความตึงหน้าอาจจะน้อยกว่า ก็คือส.ว.แต่งตั้งครึ่งหนึ่ง มีการจัดระบบปาร์ตี้ลิสต์เป็นกรุ๊ป ๆ ใหม่ แต่ก็ยังใช้ 2 ใบเหมือนเดิม เมื่อมีความพยายามที่จะใช้ใบเดียวอ้างว่าคะแนนไม่ให้ตกน้ำ แปลว่าไม่ต้องการให้พรรคใหญ่บางพรรคได้ชัยชนะทั้งส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อ
ความมุ่งหวังของการเขียนที่มาของส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งนั้นจึงอำนวยให้พรรคที่ได้ส.ส.เขตน้อยกว่าสามารถเก็บคะแนนมาเป็นบัญชีรายชื่อได้ จนกระทั่งเขียนออกมาเป็นที่มาของบัญชีรายชื่อ ก็ไม่มีใครว่าอะไร ทุกคนก็ยอมเข้าสู่กติกา มันจึงมีการแตกเป็นพรรคเล็ก ๆ เต็มไปหมด
เวลาเราไปเอาของเขามา ไม่เอาบทเรียนของเขาด้วย ดิฉันเคยพูดถึง Overhang mandates มาตั้งแต่การร่างรธน.ชุดคุณบวรศักดิ์แล้ว ว่าคุณไปเอาของเยอรมันมา เอาไส้กรอกเยอรมันมาทำแกงส้ม ไม่รู้ว่ามันจะออกเป็นท่าไหน? พอมาถึงชุดนี้กลายเป็นแกงป่าเลยมั้ง ไม่ใช่แกงส้มแล้ว
ก็คือเอาวิธีของเยอรมันมา แต่เยอรมันเขาต้องการขจัด คือบุนเดิสทาค สภาของเขามี 598 ที่ เขาแบ่งครึ่ง ส.ส.เขต กับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ การคิดคะแนนถ้าส.ส.ที่พึงมีได้คะแนนไม่ถึง 5% เขาไม่เอาเข้าสภานะ เพราะว่ามิฉะนั้นมันก็จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า Overhang mandates เยอะแยะ มันจะเกิดพรรคท้องถิ่นเล็ก พรรคท้องถิ่นน้อย แต่ว่าไม่ได้คำนึงถึงในระดับประเทศ นั่นเขาเป็นสหพันธรัฐ เราเป็นราชอาณาจักร ทำไมไม่คิดถึงภาพรวมทั้งประเทศ
วิธีคิดที่ดิฉันเรียกว่ามันเป็นเวรกรรมหรือกรงกรรม เพราะไม่รู้ว่าใครจะเข้าคุก เข้ากรงบ้างหรือเปล่า? จากการเขียนรธน. จากการปฏิบัติตามรธน. และจากการปักธง ปักหมุดไปอีกแบบหนึ่ง เป้าหมายก็คือให้พรรคใหญ่ที่ชนะไม่ได้เข้า แล้วบัญชีรายชื่อในทางความคิดกะว่าเอามาแบ่งให้พรรคเล็กพรรคน้อย
ดิฉันเข้าไปดูวิธีคำนวณแล้ว ไม่รู้ว่าคนคำนวณจบอะไรมา แต่อย่างหนึ่งก็คือว่าไม่ว่าคุณจะเก่งนิติศาสตร์อย่างไร แต่เมื่อไหร่ที่คุณต้องมาเกี่ยวข้องกับคณิตศาสตร์-สังคม-หลักการนิติธรรม คุณจะใช้อำนาจตามอำเภอใจไม่ได้!
เพราะว่าถ้าคุณมีความคิดทางวิทยาศาสตร์นิดหน่อย ถึงแม้คุณจะเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยม คุณก็จะคำนวณแบบที่กรธ.ทำ...มันไม่ได้ ดิฉันไปดูวิธีคำนวณมาแล้ว ขออภัยนะ คำนวณบ้าบอคอแตกอะไรไม่รู้ยาวเฟื้อยเลย ซึ่งคณิตศาสตร์เขาไม่ทำกันอย่างนั้น เขาทำง่ายกว่านั้นมากเลย
ดิฉันเคยวิจารณ์มาแล้วว่าถ้าปัดขึ้นคุณก็เขียนปัดขึ้นง่าย ๆ แต่คุณเล็งอยู่แล้วว่ามันจะต้องมีพรรคใหญ่พรรคหนึ่งจะไม่ได้ส.ส.บัญชีรายชื่อเลย แล้วคิดเอาเองว่าจะเอามาแบ่ง แต่คุณไม่ได้คิดถึงความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ ก็คือการที่คุณจะเข้าสู่สภามันเหมือนมีการคัดเลือก โดยหลักการทั่วไปมันก็ต้องเรียงว่า เช่น คะแนนเฉลี่ยของพรรคมาก หรือว่าจุดทศนิยมของใคร ถ้าเกินจะต้องถูกตัดออก ถ้าขาดและจุดทศนิยมสูงก็ปัดขึ้น
และคำหนึ่งที่ทุกคนพูดอยู่ตลอดเลยก็คือ คุณจะได้ส.ส.เกินที่พึงมีไม่ได้ หลักเกณฑ์ส.ส.พึงมีทุกคนยอมรับ เอามาหารแล้วได้ 7.1 หมื่น แล้วคุณบอกว่าเอามาแจกให้ 3 หมื่น คำถามว่าแล้วคนที่โหวตพรรคใหญ่ทำไมสิทธิน้อยกว่าคนที่โหวตให้พรรคเล็ก
ที่สำคัญต้องเข้าใจว่า ระบบที่มาของส.ส.มันคนละอย่างกัน ที่มาของส.ส.เขตก็ชนะกันธรรมดา 1 คะแนนก็ชนะได้ เพราะมันเป็นเกณฑ์ของการตัดสินเสียงที่ได้มากกว่าเป็นผู้ชนะ เพราะฉะนั้นที่มาของส.ส.เขตคุณจะเอามาเทียบกับบัญชีรายชื่อไม่ได้
ไม่อย่างนั้นคุณเขียนหาอะไร?
คุณเขียนทำไม?
ว่าวิธีคิดของส.ส.บัญชีรายชื่อ โอโห...เขียนนอกจากรธน. จริง ๆ หลายคนที่ (คณาจารย์) ดิฉันเห็นในมติชน เขาก็บอกว่าจริง ๆ เฉพาะมาตรา 91 ของรธน. แค่นั้นก็ได้แล้ว แต่คุณมาเขียนกฎหมายประกอบรธน. มาตรา 128, มาตรา 129 ก็ยังโอเค
คือถ้าคุณเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักคณิตศาสตร์ หรือชาวบ้านธรรมดาที่มองว่าเสียงคนมีอำนาจเท่ากัน ไม่ว่าจะเลือกพรรคใหญ่หรือพรรคเล็ก ถ้าตัดกันที่คะแนน 7 หมื่น ก็ต้องเอา 7 หมื่นเป็นเกณฑ์ ถ้าตัดกันที่ 5 หมื่น ก็ต้องเอา 5 หมื่นเป็นเกณฑ์...ต้องเอาอย่างนั้น ไม่อย่างนั้นคุณจะเขียนในรธน. ไปหาอะไรถ้าหากว่าที่มามันเหมือนกัน
เพราะฉะนั้นคุณไม่มีสิทธิที่จะบอกว่า ส.ส.เขตยังได้ 2-3 หมื่นเลย พูดแบบนี้ถ้าถามถึงกรธ.นะ ดิฉันอยากจะถามว่าเขียนได้อย่างไร? เพราะว่าสิ่งที่เขียนออกมานั้นคนยังยอมรับได้ว่าเอาคะแนนส.ส.พึงมี ก็แปลว่าเท่ากัน ที่เหลือก็ใช้คณิตศาสตร์ธรรมดา จะคิดอย่างไรก็ได้แต่เสียงต้องมีอำนาจเท่ากัน มันต้องไม่ขัดกับหลักการคณิตศาสตร์ ไม่ขัดกับหลักนิติธรรมและความเท่าเทียมของอำนาจเสียงของประชาชน ไม่ขัดกับรธน.
แต่ความที่เลยธง มันเลยเป็นเวรกรรมและมันเป็นกงกรรมกงเวียน ก็คือ ไปเลยเอาเจตนาของการเขียนเป็นหลักที่จะไปแจกคะแนนให้พรรคเล็กพรรคน้อย แล้วลดเสียงพรรคใหญ่ โดยลืมไปด้วยว่าหลักเกณฑ์ในการเขียนรธน. ตัวเองเขียนไว้ว่าอย่างไร เพราะว่าเจตนาในความคิดเป็นอย่างนั้น
เพราะฉะนั้นดิฉันคิดว่าถ้าคุณเอามาตรฐาน 2-3 หมื่น คุณถามว่าจะไม่มีใครกล้ามาฟ้องร้อง ไม่จริงค่ะ ในเยอรมันเขาฟ้องกันเยอะเลย เพราะที่มาของส.ส.บัญชีรายชื่อ ถ้าคุณเอา 3 หมื่นเสียงได้ส.ส. 1 คน แล้วพรรคที่ได้ 7 หมื่นเสียงเขาได้ส.ส. 1 คน เขาบอกว่ามันเป็นธรรมตรงไหน
ในสภาเยอรมันมันจึงบวม ปัจจุบันนี้จาก 598 เป็น 600 กว่า อาจจะไปถึง 800 และ 1000 กว่า เขาถึงล็อค ก่อนคุณจะตั้งพรรคใหม่ต้องมีคนรับรอง 0.1% ของประชาชน และคุณจะมีที่นั่งในสภา คุณต้องได้เสียง 5% ทีนี้ถามว่าแล้ว 3 หมื่นคุณคิดว่าเป็นกี่เปอร์เซ็น อาจจะไม่ถึง 0.1% ของผู้มาออกเสียงทั้งหมด แล้วทำไมพรรคเล็กถึงมีอำนาจ หรือว่าอนุรักษ์นิยม อำนาจนิยมไทยต้องการพรรคเล็ก ต่อไปคราวหน้ามันอาจจะไม่ใช่ 3.1 หมื่น มันอาจจะแค่ 4-5 พันหรือเปล่า ถ้าคุณเขียนรธน.แบบนี้ และคุณคำนวณแบบนี้
ดิฉันมองแล้วมันเป็นสิ่งที่ประจานนะ ว่าผู้เขียนรธน.และผู้ปฏิบัติตามรธน.นั้นไม่มีพื้นฐานขององค์ความรู้ของที่มาของส.ส.เลย ในทัศนะดิฉันนะมันยิ่งกว่าสอบตกอีก ใช้ไม่ได้เลย ประเทศมันจะไปได้อย่างไรถ้าคุณเอาความคิดของคนที่เรียกว่าไม่ใช่ล้าสมัยอย่างเดียว เป็นความคิดอนุรักษ์นิยม เป็นความคิดของกลุ่มคนที่ไม่สามารถเอาชนะได้ในกติกาสากลแล้วไปสร้างกติกาขึ้นมา พอบังคับไม่ได้ก็เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา โดยไม่สนใจเลยว่าคนดูเขาจะโห่อย่างไร?
ในขณะนี้อภินิหารทางกฎหมาย การใช้เทคนิคทางกฎหมาย การเขียนกฎหมายและการบังคับใช้ทางกฎหมาย ท่านอาจจะคิดว่าได้ผลระดับหนึ่ง แต่ดิฉันคิดว่าคนดูทั้งประเทศและในโลกนี้เขาไม่ได้คิดแบบนี้
เพราะฉะนั้นในทัศนะของดิฉัน ถ้าคิดแบบคนอนุรักษ์นิยมด้วยกันนะ ขณะนี้เวรกรรมและกรงกรรมกำลังตามมา ถ้าท่านไม่เปลี่ยนแปลง ยังดื้อรั้นที่จะทำแบบนี้