วันพฤหัสบดีที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

กกต. กับความท้าทายสังคมไทย


กกต. กับความท้าทายสังคมไทย!

ผลงานของกกต.ในเรื่องการจัดการเลือกตั้งที่ผ่านมาที่ประชาชนรอคอยมา 8 ปี  ถือว่าสอบตกในสายตาประชาชน  ไม่ว่าจะเป็นการจัดการเลือกตั้งนอกประเทศและในประเทศ  ไม่เรียบร้อย  ไม่น่าเชื่อถือ  ไม่โปรงใส  ตรวจสอบไม่ได้  แม้จนบัดนี้เราขอให้เอาคะแนนทุกหน่วยขึ้นเว็บไซต์เพื่อตรวจสอบก็ไม่ (กล้า) ทำ  หรือทำไม่ได้  เพราะจะมีผลฟ้องร้องตามมามากมาย

ประการต่อมา  ผลงานการตรวจสอบ กกต.ก็ถูกร้องเรียนที่มีลักษณะเลือกปฏิบัติ, ไม่ทันเวลา และมุ่งจัดการกับพรรคการเมืองฝั่งตรงข้ามคสช.  แต่การตรวจสอบประเด็นที่ฟ้องร้องพรรคของคสช.เรื่องกลับหายเงียบ

ประการต่อมาล่าสุด คือการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อที่กำลังโด่งดังขณะนี้  กกต.ยังยืนยันให้พรรคเล็ก ๆ ได้ส.ส.บัญชีรายชื่อทั้ง ๆ ที่ได้คะแนนไม่ถึง 7 หมื่นคะแนน  ซึ่งตามหลักการใหญ่สามารถได้ส.ส.ที่พึงมี 1 คน (ตามการคำนวณที่ตรงกันทุกฝ่ายตามมาตรา 91 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. มาตรา 128 (2)) โดยดันทุรังคำนวณไปเรื่อย ๆ จนได้ส.ส.จากพรรค 26 พรรค ทั้งที่พรรคเล็ก ๆ ไม่มีสิทธิได้ส.ส.บัญชีรายชื่อเมื่อยึดหลักรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 และแม้แต่พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. มาตรา 128

ดิฉันวิเคราะห์แล้ว  สาเหตุที่กกต.กล้าตัดสินใจแบบนี้  ทั้งที่มีคนทักท้วงกันทั่วประเทศคือ นักวิชาการ, นักกฎหมาย, ประชาชนทั่วไป ล้วนค้านการละเมิดรัฐธรรมนูญของกกต.ทั้งสิ้น  และไม่มีใครเขาคิดแบบที่กกต.คิด

ประการแรก  กกต. เชื่อกรธ. เชื่อสนง.กกต.จริง ๆ ในการคำนวณว่านี่เป็นสูตรเดียวเท่านั้นที่ถูกต้องตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. มาตรา 128 และศาลรัฐธรรมนูญก็ยืนยันว่าไม่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 91

ประการที่สอง  กกต. เลือกผลการคำนวณที่ให้คุณและให้โทษแก่ฝักฝ่ายในการตั้งรัฐบาล  เพราะคสช.ก็ถึงทางตันเมื่อผลการเลือกตั้งถ้าใช้สูตรคำนวณบัญชีรายชื่อแบบอื่นเท่ากับว่าพรรคที่หนุนคสช.ไม่อาจตั้งรัฐบาลได้  จึงต้องใช้สูตรที่มีตัวช่วยจากพรรคเล็ก

ประการที่สาม  ความกล้าท้าทายสังคมไทยและโลกของนักกฎหมายและเนติบริกรประเทศไทย ที่คิดว่าสามารถใช้อภินิหารทางกฎหมายโดยการตีความและบังคับใช้ได้ตามใจชอบอย่างได้ผลมาแล้วในหลายกรณี  จึงย่ามใจ  คิดใช้อภินิหารสูตรคณิตศาสตร์คำนวณจำนวนส.ส.โดยไม่ยึดหลักการ ทั้งกฎหมาย รัฐธรรมนูญ และหลักการคณิตศาสตร์ที่ถูกต้อง 

คุณจะเอาพรรคสอบตกแล้วกลับมาปัดเศษให้สอบผ่านได้อย่างไร?


สิ่งที่ กกต. กำลังท้าทาย คือ

1) ท้าทายประชาชนไทย  ในการทิ้งคะแนนเสียงประชาชนที่เลือกพรรคใหญ่ที่สอบผ่านแล้วกว่าล้านคะแนน  ไปให้อำนาจคะแนนเสียงพรรคเล็กที่สอบไม่ผ่าน 71,000 คะแนนไปแล้ว โดยอ้างปัดเศษทศนิยม  ประชาชนจะคิดอย่างไร?  ยอมได้ไหม?  เป็นการโกงอำนาจประชาชนดื้อ ๆ

2) ท้าทายพรรคการเมืองที่เสียจำนวนส.ส.ไปเพราะวิธีคิดที่ผิดต่อรัฐธรรมนูญ  และท้าทายพรรคการเมืองที่เห็นว่าไม่เป็นธรรม  เมื่อ 3 หมื่นกว่าเสียงได้ส.ส. 1 คน นี่กลายเป็นมาตรฐานใหม่ของการได้ส.ส. 1 คนเสียแล้ว  พรรคอื่นก็ต้องฟ้องร้องประเด็นนี้เหมือนในต่างประเทศ  ที่ศาลรัฐธรรมนูญให้เพิ่มจำนวนส.ส.ตามมาตรฐานขั้นต่ำใหม่  ดังนั้นส.ส.บัญชีรายชื่อก็ต้องบวมไปกว่า 300 คน ไม่ใช่ 150 คน

กกต. และ กรธ. จะรับผิดชอบไหวไหม?