ยูดีดีนิวส์ : เมื่อวันอาทิตย์ที่
26 พ.ค. 62 ในเวลา 13.00 -15.30 น. ศูนย์ข่าวยูดีดีนิวส์ ได้จัดงานเสวนา “9
ปี เมษา-พฤษภา’53
... พูดความจริง ทวงความยุติธรรม รำลึกวีรชน” สำหรับผู้ร่วมโต๊ะเสวนาได้แก่
รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์, นายปกาศิต ไตรยสุนันท์, นายโชคชัย อ่างแก้ว, นางพะเยาว์
อัคฮาด และนายบรรเจิด ฟุ้งกลิ่นจันทร์ ผู้ดำเนินการเสวนาคือนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ
ซึ่งได้รับความสนใจจากพี่น้องผู้รักประชาธิปไตยเข้าร่วมฟังเสวนาเป็นจำนวนมาก โดยการเสวนานี้ได้จัดขึ้น
ณ ห้องประชุมศูนย์ข่าวยูดีดีนิวส์ อาคารเอเวอรี่มอลล์ สี่แยกแคราย ถนนรัตนาธิเบศร์
จ.นนทบุรี
รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ เป็นนักวิชาการจากศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณี
เม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.) เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักคนหนึ่งในการรวบรวมข้อมูลผู้สูญเสียและเหตุการณ์ทั้งหมดไว้ในหนังสือ
“ความจริงเพื่อความยุติธรรม :
เหตุการณ์และผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เมษา-พฤษภา 53” หลังจากการชุมนุมยุติแล้ว
ในวันเวลาที่แกนนำนปช.บางส่วนอยู่ในเรือนจำ บางส่วนต้องหลบลี้หนีภัย
พี่น้องประชาชนขวัญเสีย
แต่นักวิชาการกลุ่มนี้ได้ออกปฏิบัติการเดินหน้าค้นข้อมูลความจริงและนำเผยแพร่สู่สาธารณะให้สังคมได้รู้ความจริง ในการเสวนา
“9
ปี เมษา-พฤษภา’53
... พูดความจริง ทวงความยุติธรรม รำลึกวีรชน”
รศ.ดร.พวงทอง ได้กล่าวว่า “เมื่อได้รับการติดต่อจากคุณณัฐวุฒิ รู้สึกว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องมาพูดเรื่องการสลายการชุมนุมปี
53 เพราะว่าเป็นเรื่องที่ตัวเองทำและอยู่กับมันมาตลอด และรู้สึกว่าทนไม่ได้ที่จะเห็นความอยุติธรรมยังดำรงอยู่ครั้งแล้วครั้งเล่าในสังคมไทย”
รศ.ดร.พวงทอง กล่าวว่า “ทำไมด้วยข้อมูลที่มีอยู่มากมาย
แต่เรื่องมันถึงกลับตาลปัตร!
ทำไมผู้ที่เสียหาย ผู้ที่ได้รับผลของความรุนแรงทั้งที่คนในครอบครัวต้องเสียชีวิตและบาดเจ็บจึงไม่สามารถได้รับรับความยุติธรรมได้?
มันเกี่ยวข้องอะไร คือนอกจากผู้มีอำนาจปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมเมื่อมี
53 แล้ว มันมีตัวแสดงอื่น ๆ
อีกไหมที่เป็นตัวสนับสนุนและช่วยปกป้องคุ้มครองให้เขาไม่ต้องรับผิด”
เมื่อการสลายการชุมนุมสิ้นสุดลงเมื่อวันที่
19 พ.ค. 53 ก็เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า “Bangkok Big Cleaning Day”
โดย กทม. เป็นเจ้าภาพเรียกร้องให้คนกรุงเทพฯ ออกมาช่วยทำความสะอาดบริเวณราชประสงค์
สำหรับเรานี่ไม่ใช่การทำความสะอาดปกติ แต่นี่คือการทำลายหลักฐานที่สำคัญทีเดียว
หลักฐานการใช้ความรุนแรงของรัฐที่มีต่อผู้ชุมนุม!
หลังจากนั้นไม่นานรัฐบาลอภิสิทธิ์ซึ่งถือว่าเป็นคู่ขัดแย้งในความรุนแรงนี้กลับตั้งคณะกรรมการที่ชื่อว่า
“คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ” หรือชื่อย่อว่า
คอป. ซึ่งมีอาจารย์คณิต ณ นคร และคุณสมชาย หอมลออ เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญ สำหรับเรามันไม่ใช่คณะกรรมการอิสระเลย
เพราะผู้ที่แต่งตั้งเขาขึ้นมาเป็นคู่กรณีในความขัดแย้งด้วย
และเราก็พอรู้อยู่ว่าคนที่มีความสำคัญในคอป.นั้นมีทัศนะอย่างไรต่อคนเสื้อแดง
พูดง่าย ๆ คือมีอคติอย่างไรบ้าง เราจึงไม่เชื่อว่ามีความอิสระจริง นี่จึงนำไปสู่การรวมตัวกันของนักวิชาการศปช. เพื่อเก็บข้อมูลหลักฐานหลายอย่างซึ่งเราเชื่อว่ามันมีความไม่ชอบมาพากลที่ดูด้วยตาเปล่าโดยไม่จำเป็นต้องไปค้นข้อมูลก็เห็นแล้ว
เช่น การระดมกำลังทหารออกมาจำนวนมหาศาล การประกาศใช้เขตกระสุนจริง
การเอารถหุ้มเกราะออกมาใช้สลายการชุมนุม ซึ่งไม่มีใครเขาทำกันในโลก
ซึ่งเมื่อเราลงมือทำก็ยิ่งชัดว่าสิ่งที่เราเห็นด้วยตาเปล่านั้น ยืนยันว่านี่มันผิดปกติ
เป็นการใช้กำลังเกินกว่าเหตุในการสลายการชุมนุม
รศ.ดร.พวงทอง
กล่าวถึงข้อมูลที่เป็นที่เปิดเผยว่า ในการชุมนุมสลายการชุมนุม เมษา-พฤษภา 53
ใช้กำลังทหาร (ไม่รวมตำรวจ) 67,000 นาย มีการเบิกกระสุนจริงออกมา 597,500 นัด มีการคืนกระสุน
4 แสนกว่า เท่ากับกระสุนที่ใช้ไป 117,000 กว่านัด ปัญหาก็คือเบิกกระสุนมาทำไมตั้งเกือบ
6 แสนนัด ตั้งใจจะเอาไปฆ่าใครที่ไหน? กี่คน? อย่างนั้นหรือ? ถึงได้มีการอนุมัติให้เบิกกันมากขนาดนี้
ยังไม่ได้นับกระสุนสไนเปอร์อีกที่ใช้ไป 2,120 นัด
"ไม่มีการสลายการชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้งในโลกที่ไหนที่มีการใช้กระสุนจริงและกระสุนสไนเปอร์"
ผลคือมีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 94 คน
(ตัวเลขของศปช.) เป็นฝ่ายของประชาชน 84 คน ในจำนวนนี้มีทั้งประชาชน อาสากู้ชีพและสื่อมวลชนต่างประเทศ
2 คน เป็นของตำรวจ-ทหาร 10 คน มีคนบาดเจ็บ 1,400 กว่าคน และที่ถูกจับกุมอีกเกือบ 2
พันคน
แม้ว่ารัฐบาลขณะนั้นและศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน
(ศอฉ.) มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นผู้อำนวยการศอฉ.
บอกว่าผู้ชุมนุมเป็นผู้ก่อการร้าย มีอาวุธร้ายแรง
แต่หลักฐานจากศาลอาญาซึ่งได้ดำเนินการไต่สวนการตายที่เสร็จสิ้นไปแล้วจำนวน 18 ราย
ที่ยังไม่เสร็จสิ้นยังมีอีกและเชื่อว่าถ้าไม่เกิดการรัฐประหารขึ้น
ถ้ากระบวนการยุติธรรมไม่ถูกแทรกแซง ตัวเลขจะเพิ่มมากกว่านี้
"ในจำนวน 18 รายที่ศาลยืนยันก็คือ
ผู้เสียชีวิตทั้งหมดไม่มีใครเลยที่มีหลักฐานว่ามีอาวุธหรือพบคราบเขม่าดินปืนในร่ายกายของเขาเลย
และยืนยันว่าเสียชีวิตจากกระสุนที่ยิงมาจากทิศทางที่มีกองกำลังทหารตั้งอยู่"
ลักษณะการเสียชีวิตของผู้เสียชีวิตและการบาดเจ็บของผู้เสียชีวิตจากข้อมูลที่ศปช.รวบรวมมา
84 รายนั้น 20%
ถูกยิงที่หัว ถ้านับตั้งแต่ช่วงบนของร่างกายขึ้นไปก็คือ มากกว่า 50%
ถูกยิงช่วงบน และการยิงในลักษณะนี้เป็นการยิงเพื่อให้ตาย
ไม่ใช่ยิงเพื่อป้องกันตัว และนี่เป็นสิ่งผิด!!!
เพราะหลักการสลายการชุมนุมมีว่า
เจ้าหน้าที่นั้นสามารถที่จะใช้อาวุธร้ายแรงได้ในกรณีที่พบว่าตัวเองอยู่ในภาวะอันตราย
กำลังตกเป็นเป้าของอีกฝ่ายหนึ่ง หรือในกรณีเพื่อยุติไม่ให้อีกฝ่ายหนึ่งใช้อาวุธร้ายแรงในการทำร้ายคนอื่น
แต่ปัญหาคือในเมื่อผู้เสียชีวิตทั้งหมดไม่ได้มีใครมีอาวุธร้ายแรงที่จะทำร้ายเจ้าหน้าที่ได้
ถ้าเจ้าหน้าที่ทหารต้องการจะหยุดเขา อย่างมากที่สุดที่คุณทำได้ก็คือยิงเพื่อสกัดให้เขายุติลงเท่านั้น
ยิงที่แขน ที่ขา แต่ไม่ใช่ยิงที่หัวหรือส่วนบน
ในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐที่เสียชีวิต 10
ราย มี 5 ราย เป็นทหารที่เสียชีวิตในวันที่ 10 เม.ย. 53
จากระเบิดที่เชื่อว่าเป็นฝีมือของ “ชายชุดดำ” ในรายงานศปช.เราไม่ปฏิเสธว่ามีชายชุดดำอยู่
แต่เรายืนยันว่าชายชุดดำนั้นโผล่มาในวันที่ 10 เม.ย.เท่านั้น
และการโผล่มาของชายชุดดำนั้นมีทั้งด้านบวกและด้านลบ
ด้านบวกก็คือทำให้การสลายการชุมนุมนั้นยุติลง ด้านลบคือทำให้มีคนเสียชีวิตเยอะมาก ทั้งในส่วนของทหารและของผู้ชุมนุมด้วย
รศ.ดร.พวงทองให้เหตุผลว่า “หลังจากพล.อ.ร่มเกล้าเสียชีวิตทหารอยู่ในภาวะที่ปั่นป่วนอลหม่านควบคุมตัวเองไม่ได้
ก็ยิงกระสุนเข้าใส่ผู้ชุมนุมอย่างบ้าคลั่งบริเวณถนนดินสอ
ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้ผู้ชุมนุมเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก”
ทำให้วันรุ่งขึ้นสื่อมวลชนโดยรัฐบาลอภิสิทธิ์ก็ตีความว่าคนเสื้อแดงเป็นผู้ก่อการร้าย
และสิ่งนี้เป็นสิ่งที่สร้างความชอบธรรมในการสลายการชุมนุมในเวลาต่อมา ทั้ง ๆ
ที่เรายืนยันว่าหลังจากนั้นมันไม่ปรากฎภาพของ “ชายชุดดำ” ออกมาอีกเลย
อย่าลืมว่ามีสื่อมวลชนเป็นร้อยในที่ชุมนุมของคนเสื้อแดง แต่ละคนก็มีมือถือ
มีกล้องถ่ายรูปอยู่ในมือ ถ้ามีชายชุดดำมันก็ต้องโผล่ออกมาบ้าง แต่มันไม่ปรากฎเลย!
ทหาร 5 รายที่เสียชีวิตในวันที่ 10 เม.ย.
คือเรื่องชายชุดดำมันเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องไปติดตามเอาความผิด
ไม่สามารถใช้เป็นข้ออ้างในการที่จะยิงใส่ผู้ชุมนุมคนอื่น ๆ ที่ไม่มีอาวุธได้
นอกจากนี้ในวันที่ 28 เม.ย.
มีพลทหารเสียชีวิตในเหตุการณ์ที่ถนนวิภาวดีรังสิตที่พลทหาร 2 คนขี่มอเตอร์ไซด์วิ่งสวนขึ้นไปแล้วก็ถูกยิงล้ม
1 คนเสียชีวิต อันนี้คือการเสียชีวิตด้วยฝีมือของทหารด้วยกันเอง
เพราะเขาเข้าใจว่าคนที่ขี่มอเตอร์ไซด์สวนขึ้นมานั้นเป็นคนเสื้อแดง
มีตำรวจเสียชีวิต 2 คนเมื่อวันที่ 7 พ.ค.
จากเหตุการณ์ที่มีคนร้ายยิ่งปืน M16 ใส่เจ้าหน้าที่และขู่ประชาชนที่หน้าธนาคารกรุงไทยบริเวณแยกศาลาแดงฝั่งสีลม
ตำรวจเสียชีวิต 1 คน และเสียชีวิตอีก 1 คนที่ลุมพีนีจาก M79 ทั้ง 2
รายนี้ไม่เกี่ยวอะไรกับปฏิบัติการกระชับพื้นที่ระหว่างวันที่ 14-19 พ.ค.
อีกนายหนึ่งเป็นทหารอากาศซึ่งขณะเสียชีวิตนั้นเป็นทหารนอกเครื่องแบบ
ฉะนั้นบอกไม่ได้ว่าเขาเสียชีวิตเพราะถูกคนเสื้อแดงทำร้ายคิดว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ
เสียชีวิตในคืนวันที่ 16 พ.ค. ถูกยิงที่ศรีษะบริเวณศาลาแดง ซึ่งมีรายงานข่าวว่าถูกยิงเพราะทหารคิดว่าเป็นผู้ชุมนุม
ต่อมาทหารอีก 1
รายถูกระเบิดบริเวณแยกสารสินและเสียชีวิตหลังเข้ารับการผ่าตัดในวันที่ 16 พ.ค.
จากข้อมูลนี้การเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่รัฐส่วนใหญ่เกิดขึ้นในคืนวันที่
10 เม.ย. หลังจากนั้นบอกไม่ได้เลยว่าเสียชีวิตจากการกระทำของคนเสื้อแดง แต่ภาพคนเสื่อแดงที่เป็นความรุนแรงมันถูกฉายออกมาในสื่อมวลชน
จากข้อมูลเหล่านี้ดิฉันอยากจะมองว่าแล้วอะไรที่ทำให้คนที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงในรัฐบาลอภิสิทธิ์,
ศอฉ., กองทัพ สามารถที่จะลอยนวลพ้นผิดได้ เรารู้กันว่าหลังรัฐประหารศาลอาญาก็โยนคดีของคนเสื้อแดงออกไปบอกว่าไม่อยู่ในขอบเขตอำนาจของศาล
คือดิฉันเชื่อว่าถ้าไม่มีรัฐประหารคดีความต้องเดินหน้าต่อไปแน่ ๆ กลับมามองที่ว่าว่ามันมีมากกว่านั้น
ในกรณีสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงการลอยนวลพ้นผิดมันมีลักษณะพิเศษที่ต่างจากการลอยนวลพ้นผิดในกรณีอื่น
ๆ ในอดีตที่ผ่านมา
สังคมไทยเรามีประสบการณ์ของการที่รัฐใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมกับประชาชนมาหลายครั้ง
ทั้งเหตุการณ์ 14 ต.ค. 16, 6 ต.ค. 19, พ.ค. 35 หรือที่เรารู้จักกันว่า “พฤษภาทมิฬ”
แต่ไม่มีเหตุการณ์ใดเลยที่สามารถที่จะนำผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมได้
สิ่งที่ต่างกันก็คือในเหตุการณ์อื่นนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องในการใช้ความรุนแรงนั้นเขาใช้วิธีออกกฎหมายนิรโทษกรรมตัวเองไม่ให้ต้องยอมรับผิด
แต่ในกรณีนี้รัฐบาลอภิสิทธิ์ไม่ได้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมตัวเอง
แต่โอกาสที่จะนำพวกเขาสู่กระบวนการยุติธรรมก็ยากพอ ๆ กัน
ไม่เพียงเท่านั้น ในกรณี 14 ต.ค. 19,
พ.ค.35 แม้ว่ารัฐบาลผู้สั่งการความรุนแรงจะไม่ต้องรับผิด
แต่พวกเขาก็อยู่อย่างสงบเสงี่ยมเจียมตัว หลบซ่อนอยู่ในบ้าน ไม่กล้าออกมาเผชิญหน้า
สูญเสียเกียรติภูมิศักดิ์ศรีในฐานะพลเมืองไทย หมดอนาคตทางการเมืองไป
เป็นความพ่ายแพ้และประทับตราไว้กับตัวเองและครอบครัวด้วย หรือกรณี 6 ต.ค.
แม้เขาจะไม่พ่ายแพ้ทางการเมือง แต่แทบจะไม่มีใครเลยที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์กล้าออกมาคุยโวโอ้อวดว่าตัวเองนั้นสร้างวีรกรรมที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์
นักการเมืองในยุคนั้นต่างปฏิเสธว่าตัวเองไม่เกี่ยวข้อง
ในทางตรงกันข้ามเราจะเห็นว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมปี
53 นั้นยังลอยนวล ยังลอยหน้าลอยตา มีสถานะทางสังคมทางการเมือง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางการเมืองในขณะนี้มีทั้งผู้นำทางการเมือง ผู้นำทางกองทัพ
อยู่ในอำนาจกันและกำลังจะกลับมาเป็นรัฐบาลอีกรอบหนึ่ง
ดิฉันมองว่าส่วนที่มีบทบาทสำคัญก็คือส่วนขององค์กรที่เรียกตัวเองว่าเป็นองค์กรอิสระ
ในที่นี้ก็คือคอป. นอกจากนี้ก็ยังมีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนและศาลยุติธรรมด้วยที่เกี่ยวข้องในการที่จะทำให้การลอยนวลพ้นผิดของพวกเขาเป็นไปอย่างสง่างามมากกว่าในอดีต
โดยหลักการแล้วองค์กรเหล่านี้ถือว่ามีความอิสระในการทำงาน
ไม่ได้อยู่ภายใต้การสั่งการของรัฐบาลโดยตรง
พวกเขามีหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่เพื่อปกป้องสิทธิของประชาชนจากการใช้อำนาจเกินขอบเขตของรัฐ
ปกป้องระบบกฎหมายความยุติธรรม เมื่อองค์กรเหล่านี้ตัดสินหรือวินิจฉัยอะไรออกมาก็มักจะได้รับการยอมรับจากสาธารณะ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสื่อมวลชนไทย แต่ปัญหาคือเราก็รู้กันอยู่ว่าองค์กรอิสระในประเทศเราในระยะ
12-13 ปีที่ผ่านมาไม่ได้เป็นกลางจริง
รศ.ดร.พวงทองยังกล่าวด้วยว่า “รายงานของคอป.เป็นรายงานที่ถูกอ้างอิงมากที่สุดทั้งในหมู่สื่อมวลชนไทยและตัวแทนสถานทูตระหว่างประเทศ
องค์กรระหว่างประเทศที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน
เมื่อคอป.เสนอมามันก็เหมือนเป็นตราประทับรับรอง
ซึ่งดิฉันมองว่ารายงานคอป.นั้นทำหน้าที่เหมือนเป็นใบอนุญาตให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงปี
53 ลอยนวลพ้นผิดได้โดยไม่ต้องรับผิดชอบ
รายงาน คอป. ฉบับสมบูรณ์ กรกฎาคม 2553 - กรกฎาคม 2555 สามารถโหลดได้ที่ https://www.innnews.co.th/images/assets/report.pdf
รายงานของคอป.เมื่อไปอ่านทั้งฉบับมีทั้งหมดสองร้อยกว่าหน้า
วิธีที่เขาหาข้อมูลเขาจะไปดูเป็นจุดใหญ่ ๆ และในจุดใหญ่ ๆ ของเขานั้นจะเจอ “ชายชุดดำ”
ทุกจุดเลย
ดังนั้นเขาอธิบายว่าสาเหตุที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้ปืนยิงเข้าใส่ผู้ชุมนุมเพราะมีสาเหตุมาจาก
“ชายชุดดำ” ที่คอยซุ่มโจมตี ยั่วยุ กดดัน จนทำให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องตอบโต้
เป็นการอธิบายสร้างความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรง ซึ่ง
แต่เมื่อไปดูหลักฐานในแต่ละจุดว่ามีชายชุดดำมันอ่อนมาก ๆ
และส่วนใหญ่ก็เป็นหลักฐานจากคำให้การของเจ้าหน้าที่ คำให้การของทหาร
ไม่มีหลักฐานจากฝ่ายผู้ชุมนุมเลย
"ในรายงานคอป.ไม่ตำหนิฝ่ายรัฐที่นำอาวุธสงครามเข้าสู่พื้นที่ชุมนุม
ไม่ตำหนิการประกาศเขตกระสุนจริง ไม่ตำหนิตัวเลขการขนกำลังทหาร ไม่ตำหนิตัวเลขการเบิกกระสุนปืน
ไม่เคยตำหนิการที่ทหารทิ้งแก๊สน้ำตาจากเฮลิคอปเตอร์ในวันที่ 10 เม.ย. ไม่ตำหนิศอฉ.เมื่อเข้าสู่ช่วงกลางคืนแล้วก็ยังไม่ยอมที่จะถอนทหารกลับออกไป
ซึ่งการสลายการชุมนุมที่เขาทำกันนั้นพอเริ่มมืดคุณต้องเลิกแล้ว! แต่ก็ไม่มีการตำหนิเรื่องนี้ การไม่ตำหนิเรื่องเหล่านี้ก็คือการทำให้ความรับผิดชอบของผู้ใช้ความรุนแรงฝ่ายรัฐมันลดลงไป"
สำหรับคดี 6 ศพวัดปทุมฯ ท้ายที่สุดคำอธิบายคอป.ถูกหักล้างทุกประเด็นโดยศาลอาญาในการวินิจฉัยการตาย
โดยศาลเห็นว่าไม่มีน้ำหนักให้เชื่อตามที่คำให้การของเจ้าหน้าที่ทหารเลยว่ามี “ชายชุดดำ”
อยู่รอบวัดหรือภายในวัด
รายงานคอป.และของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนช่วยทำให้การลอยนวลพ้นผิดของผู้ที่เกี่ยวข้องในการสลายการชุมนุมมีความชอบธรรมมากกว่าการออกกฎหมายนิรโทษกรรมตนเอง
เท่ากับรายงานคอป.ที่ควรจะทำหน้าที่ให้ความยุติธรรมกับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อนั้นกลับไปรับรองสนับสนุนการใช้ความรุนแรงของรัฐ
ศาสตราจารย์ ดันแคน แมคคาร์โก นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ |
ดิฉันอยากจะจบด้วยการอ้างคำวิจารณ์ของนักวิชาการชื่อดังระดับโลก
ศาสตราจารย์ ดันแคน แมคคาร์โก เขาได้เปรียบเทียบรายงานของคอป.
รายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และรายงานของศปช.โดยเขาได้ระบุในบทความของเขาว่ารายงานของคอป.นั้นขาดความเป็นกลางเป็นอิสระในการทำหน้าที่ค้นหาความจริง
เจ้าหน้าที่คอป.ไม่พยายามจะปิดบังอคติและความไม่ชอบคุณทักษิณ ผลงานคอป.ไม่เข้านิยามมาตราฐานนิยามของคณะกรรมการค้นหาความจริง
รวมทั้งการแสวงหาความยุติธรรมในรัฐเปลี่ยนผ่านก็ไม่มีอยู่จริง สุดท้ายดันแคน
แมคคาร์โกบอกว่าแม้ว่าศปช.จะเป็นกรรมการแสดงหาความจริงที่ไม่เป็นทางการ
ใช้งบประมาณจากการบริจาค แต่รายงานของศปช.กลับมีคุณภาพที่ใกล้เคียงกับนิยามของการเป็นคณะกรรมการแสวงหาความจริงมากกว่า
อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับมุมมองของเหยื่อและการละเมิดสิทธิของประชาชนโดยรัฐมากกว่า
ขณะที่รายงานคอป.นั้น แทบจะไม่มีการสัมภาษณ์เหยื่อหรือผู้ชุมนุมที่อยู่ในเหตุการณ์เลย
สุดท้าย รศ.ดร.พวงทอง
ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า
เมื่อเราพูดถึงการไต่สวนความตายแล้วศาลบอกว่าที่ผู้ที่เสียชีวิตเป็นผลจากกระสุนที่ยิงมาจากฝั่งทหาร
อันนี้ยังไม่ได้เป็นการตัดสินคดี แต่จากจุดนี้จะทำให้สามารถดำเนินคดีต่อในชั้นศาลอาญาได้จริง
แต่ประเด็นก็คือว่าเมื่อไต่สวนการตายแล้วศาลระบุว่ากระสุนที่ทำให้เสียชีวิตยิงมาจากฝั่งทหารแล้วถ้าเรื่องนี้มันพับไป
มันก็อยู่ในความทรงจำของผู้คนว่าตายเพราะฝีมือทหาร
แล้วถ้าดิฉันเป็นกองทัพ
เป็นผู้นำที่เชื่อมั่นว่าสิ่งที่กองทัพออกมาร่วมในการสลายการชุมนุมกระทำอย่างถูกต้อง
เป็นไปตามหลักสากล ผู้ชุมนุมมีอาวุธจริงจนทหารต้องป้องกันตนเอง
ดิฉันจะไม่ยอมให้เรื่องหยุดอยู่แค่นี้
แต่ยังต้องให้คดีความดำเนินไปจนถึงที่สุดเพื่อพิสูจน์ว่าการยิงนั้นเป็นการยิงที่ถูกต้องชอบธรรม
แต่เมื่อเรื่องมันพับแค่นี้เท่ากับว่าคุณไม่ต้องการให้เรื่องมันดำเนินไปชัดเจนมากกว่านี้ใช่มั้ย?
ซึ่งมีข่าวตอนที่การไต่สวนการตายแล้วมีข้อมูลออกมากรณี 6 ศพวัดปทุมฯ
และหนังสือพิมพ์รายงานรายละเอียดเท่านั้นแหละ วันรุ่งขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ (ตอนนั้นยังเป็นผู้บัญชาการทหารบก)
บอกว่าออกมาอย่างนี้ได้ยังไง ทำอย่างนี้ให้ทหารเสียหาย อยากจะให้เป็นการพิจารณาลับ
ก็แสดงว่าเขาไม่ต้องการให้เปิดเผย เพราะถ้าเรื่องนี้มันดำเนินเปิดเผยไปเรื่อย ๆ
ถึงแม้ว่าในการฟ้องร้องดีเอสไอจะยื่นฟ้องเฉพาะคุณอภิสิทธิ์และคุณสุเทพ
แต่ในกระบวนการไต่สวนมันจะต้องเปิดข้อมูลออกมาว่าทหารที่อยู่ตรงจุดนั้นหรือที่ยิงนั้นใครเป็นคนสั่ง
ใครเป็นผู้บังคับบัญชา เอาทหารที่เกี่ยวข้องกับการยิงมาไต่สวนสืบคดี คือกระบวนการในคดีมันจะถูกโยงไปยังผู้บังคับบัญชาที่เกี่ยวข้อง
รวมถึงว่าทำไมระดมพลออกมาตั้งมากมาย คุณวางแผนปฏิบัติการอย่างไร ฉะนั้นให้มันหยุดอยู่แค่นั้น
มันจะได้ไม่มีการพูดถึงดีกว่า
“แต่สิ่งที่เราต้องการทำก็คือเราต้องการให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินไปให้ถึงที่สุด
ให้ข้อมูลมันออกมาให้ประชาชนเห็นว่าในกระบวนการ การปฏิบัติการ การตัดสินใจ
การวางแผนนั้นมันมีปัญหาตรงจุดไหนบ้าง ในอนาคตนี่เป็นบทเรียนที่จะต้องไม่ให้มันเกิดขึ้นอีกนะคะ”
รศ.ดร.พวงทองกล่าวในที่สุด