ยูดีดีนิวส์ : 17 พ.ค. 62 อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ ได้กล่าวในการทำเฟสบุ๊คไลฟ์วันนี้ อันเนื่องมาจากใกล้ถึงวันที่ 19 พ.ค. แล้ว ทำให้นึกถึงเหตุการณ์สลายการชุมนุมนปช.ที่ราชประสงค์เมื่อ 19 พฤษภาคม 2553 ซึ่งนับรวมแล้วครบ 9 ปี
อ.ธิดากล่าวว่า ในห้วงเวลานี้เราก็ต้องคิดถึงบาดแผลที่ยังไม่ได้รับการเยียวยาได้เท่าที่ควร ซึ่งนับตั้งแต่ 10 เม.ย. 53 - 19 พ.ค. 53 ก็เป็นที่รู้กันว่าเป็นห้วงเวลาแห่งการจัดการ การไล่ล่า การพยายามที่จะกระชับพื้นที่ ขอคืนพื้นที่ แล้วก็ทำให้เกิดเรื่องราวที่บาดเจ็บล้มตายและมีการจับกุมคุมขัง
อ.ธิดาเล่าต่อไปว่า หลังการสูญเสียเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 53 ก็มีการกลับไปปรับยุทธการใหม่ ก็เกิดยุทธการที่เรียกว่า "รุมยิงนกในกรง" เริ่มต้นกระชับพื้นที่ตั้งแต่ 14-15 เนื่องจากมีพี่น้องประชาชนพยายามที่จะสกัดกั้นการเข้าล้อมปราบ ไม่ว่าจะใช้คำพูดดีอย่างไรแต่ดิฉันอยากใช้คำว่าเป็นการ "ล้อมปราบ" นั่นเอง
14-15-16-17 พ.ค. มีการสูญเสียมาตลอดโดยเฉพาะแถวบ่อนไก่-ราชปรารภ ดังนั้นที่ผ่านมาเราก็จะเห็นว่ามีการจัดงานรำลึก เพราะมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากที่ไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม และจากคำวินิจฉัยของศาลในการตายที่ผิดธรรมชาตินั้น 10 กว่ารายระบุว่าการตายเกิดจากฝั่งเจ้าหน้าที่ชัดเจน โดยเฉพาะ 6 ศพที่วัดปทุมวนารามและมีเจ้าหน้าที่ทหารจำนวนหนึ่งก็ยอมรับความเป็นจริงว่ามีการยิงไปจากฝั่งทหาร
ทั้งหมดนี้ 9 ปีมาแล้วที่ทวงถามความธรรม ในความเป็นจริงนั้นมันไม่ได้มีแต่เหตุการณ์ปี 2553 บาดแผลใหญ่และการทวงความยุติธรรมจริง ๆ นั้นที่ชัดเจนก็คือ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งคนในยุคนั้นไม่มีใครลืมและบาดแผลนั้นเป็นบาดแผลที่เพียงแต่มีรูปเก้าอี้ตัวเดียวก็ปลายเป็นสัญลักษณ์ของความโหดร้ายแล้ว และมันเป็นบาดแผลที่อัปยศไปทั่วโลก นั่นคือบาดแผลที่ยังชำระได้ไม่หมด และนี่คือปัญหาประเทศไทย!
ดิฉันอยากเรียนพี่น้องประชาชนว่า พวกเราเจ็บปวดมากที่ความยุติธรรมในขณะนี้อาจจะดูเหมือนดีขึ้นเล็กน้อย นั่นคือ มีคำพิพากษาศาลฎีกาของศาลแพ่งที่บอกว่า การเผาที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นตลาดหลักทรัพย์หรือเซ็นทรัลเวิล์ด บริษัทประกันภัยต้องชดใช้เพราะนี่ไม่ใช่การก่อการร้าย แต่ว่าเกิดจากกลุ่มคนที่เข้าไปเผาภายหลัง ซึ่งสอดคล้องกับคำพิพากษาศาลแพ่งในกรณีเซ็นทรัลเวิลด์ย้ำให้เห็นชัดเจนว่า นปช. ไม่ได้เผาบ้านเผาเมืองตามที่กล่าวหา
ต่อมา นายวีระ สมความคิด ได้โพสต์ในเฟสบุ๊ค ยอมรับความเป็นจริงว่ามันต่างจากความเชื่อเดิม คือนปช.ถูกประณามว่าเป็นพวกล้มเจ้า พวกเผาบ้านเผาเมือง โดยระบุว่ามันตรงข้ามกับที่เคยเชื่อก็ต้องกล้ายอมรับ! อ.ธิดากล่าวต่อว่า "นอกจากความตาย, การบาดเจ็บ ที่ทวงถามความเป็นธรรมแล้ว ยังถูกประณามอีกด้วย"
ดังนั้นจึงมี 2 ส่วน ส่วนหนึ่งก็คือคดีความ ผู้กระทำการให้เกิดการตายและปราบปรามฆ่าประชาชนนั้น นั่นคือการทวงความเป็นธรรมสำหรับชีวิตที่บาดเจ็บล้มตาย แต่เราทวงความเป็นธรรมอีกอย่างนั้นก็คือความเป็นธรรมที่ถูกประณามหยามเหยียด ไม่ว่าจะเป็นพวกล้มเจ้า พวกเผาบ้านเผาเมือง มาตอนนี้ในคำพิพากษาระบุชัดเจนว่ามันมีกลุ่มคนที่ตั้งใจทำให้เกิดเรื่องนี้ขึ้นในกรุงเทพฯ
แต่ที่อ.ธิดาจะโต้นายวีระ สมความคิดกรณีนายวีระยังประณามว่ามีการเผาจริงที่ต่างจังหวัด อ.ธิดาอยากเรียนว่า ดิฉันเคารพในคำพิพากษาของศาล แต่กระบวนการยุติธรรมนั้นศาลเป็นตอนปลายสุด ลองคิดถึงกรณีตายกับยายเก็บเห็ดซึ่งในที่สุดก็โดนคำพิพากษา เพราะมันมีคนไปแนะนำให้รับสารภาพเสีย โทษจะได้เบาบาง
ในกรณีต่างจังหวัด ดิฉันอยากจะเรียนว่ากระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ต้นนั้นล้มเหลว นั่นก็คือมีส่วนหนึ่งแนะนำให้รับสารภาพเสีย หรือการเขียนสำนวนโดยการอ้างเจ้าหน้าที่หรือพยานที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง พยานที่เป็นคุณกับไม่ได้รับการบันทึก แต่พยานที่เป็นโทษกลับได้รับการบันทึก
แต่ในความเป็นจริงนั้นมีลักษณะแบบเดียวกัน จริง ๆ แล้วควรจะได้รับการรื้อฟื้น แต่ขณะนี้เป็นจำนวนมากก็ได้ทยอยออกจากเรือนจำหลังที่ถูกคุมขังตั้งแต่ปี 2553 หรือต้นปี 2554
สำหรับดิฉันก็อยากจะบอกนายวีระ สมความคิด ว่า ถ้าคุณมีความคิดที่เปลี่ยนไปแล้วว่าพวกนปช.ไม่ได้เผากรุงเทพฯ ถามว่าแล้วทำไมเขาต้องไปเผาต่างจังหวัด? ลองคิดตรรกะนี้ไหม เพราะถ้าเขาจะเผา เผาที่กรุงเทพฯ มันได้ผลสะเทือนมาก ใช่หรือเปล่า? มันมีผลต่อสังคม ต่างจังหวัดนั้นศาลากลางผูกพันกับเขามากกว่าเพราะศาลากลางเป็นของรัฐบาลซึ่งมันก็เหมือนเป็นของประชาชน
แต่ในกรุงเทพฯ ห้างต่าง ๆ เหล่านี้เป็นของนายทุน พูดง่าย ๆ ว่าถ้าน่าจะเผาเขาก็ต้องเผาในกรุงเทพฯ แต่ในกรุงเทพฯ นปช.ก็ไม่ได้เผา แล้วทำไมเขาจะต้องไปเผาต่างจังหวัด ดิฉันอยากจะฝากตรรกะเอาไว้ให้คิดบ้าง!
ดังนั้นในต่างจังหวัดก็มีชุดคนที่จัดการประเด็นเดียวกัน ถ้าพูดจากผลที่เกิดขึ้นจริง มีการเผาขึ้นมาโดยที่แกนนำนปช.และกลุ่มนปช.ไม่ได้เกี่ยวข้อง โน่น...ไปมอบตัวเรียบร้อยแล้ว แล้วศาลก็บอกว่าคำพูดที่อาจจะเกินไปบ้างก็เป็นลักษณะป้องปราม ดิฉันอ่านในคำวินิจฉัยของศาลแล้ว เป็นลักษณะนั้น แต่ว่าในความเป็นจริงไม่ได้มีการสั่งการใด ๆ และรปภ.รวมทั้งตำรวจก็ให้การที่เป็นประโยชน์ทำให้ศาลเห็นแล้วว่าพื้นที่นั้นอยู่ในการควบคุมของฝั่งรัฐ ส่วนกลุ่มนปช.ก็มีแต่หลบเข้าไปอยู่ในวัด หรือพยายามออกจากพื้นที่จนหมด
อ.ธิดาฝากไปยังนายวีระและสังคมไทยว่า ถ้าไม่ได้เผาเซ็นทรัลเวิล์ด ไม่ได้เผาตลาดหลักทรัพย์ ไม่ได้เผากรุงเทพฯ ตามคำวินิจฉัยของศาล พื้นที่ต่าง ๆ นั้นทางทหารควบคุมได้ทั้งหมด แม้กระทั่งตำรวจยังไม่ได้เข้าพื้นที่เลย จึงไม่มีเหตุผลที่บอกว่านปช.เป็นผู้ทำ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องของการก่อการร้ายโดยผู้ชุมนุม
ทวงความเป็นธรรม คืออะไร?
1) ทวงความเป็นธรรมสำหรับคนที่ตาย การทวงถามความเป็นธรรม ในขณะนี้การสั่งการปราบปรามประชาชน หรือแม้กระทั่งการเอาผิดเจ้าหน้าที่ คุณไม่ต้องมาถามในกรณีของ ป.ป.ช.นะ ก็บอกแล้วว่าผู้สั่งการไม่เกี่ยว ให้ไปฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ แต่ตอนนี้อัยการสั่งไม่ฟ้อง อันนี้ความเป็นธรรมสำหรับคนตาย
มันจะใช่หรือไม่ใช่ว่าเกี่ยวข้องกับการที่จำเป็นต้องยึดอำนาจหรือเปล่า? เพราะในขณะนั้นคดีความต่าง ๆ มันเริ่มรุกเข้ามาแล้ว รุกในทางที่จะเปิดว่าผู้อยู่เบื้องหลังหรือผู้ที่มีการปราบปราบประชาชนนั้นคดีความมันเริ่มเปิดเผย อย่างนี้หรือเปล่ามันจึงเป็นส่วนหนึ่งของการที่จำเป็นต้องมีการรัฐประหาร...หรือเปล่า?
2) ทวงความเป็นธรรมอันเกิดจากคดีความที่กลุ่มคนเสื้อแดงและนปช.ต้องใช้เวลานานมาก เช่น กรณีเผาในต่างจังหวัดและในกรุงเทพฯ ยังมีคดีอื่น ๆ อีกมาก แกนนำนปช.ก็มีคดีความตั้งแต่ปี 2551, ปี 2552, ปี 2553
ดังที่พวกเราพูด มันบาดเจ็บ มีรอยแผลเต็ม รอยแผลนั้นยังไม่เท่าไหร่ แต่ขาข้างหนึ่งมันอยู่ในเรือนจำและถูกกระตุกเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ดิฉันอยากเรียกร้องความเป็นธรรมอย่างหนึ่งว่า นปช. ไม่เคยบุกรุกสถานที่ราชการหรือบริษัทห้างร้านใด ๆ นปช. มีความระมัดระวังมากว่าต้องไม่ทำให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหาย และออกมาประท้วงเรียกร้องด้วยความสงบ
3) ทวงความเป็นธรรมในการโกหกสังคมไทย นั่นก็คือ เรื่องเผาบ้านเผาเมือง เรื่องล้มเจ้า เรื่องก่อการร้าย ทั้งหมดนี้เป็นบาดแผลใหญ่ของสังคมไทย ในทัศนะของดิฉัน 6 ตุลาคม 2519 เป็นบาดแผลลึก แต่ปี 2553 เป็นบาดแผลทั้งลึกและกว้าง มันเกิดขึ้นกับคนจำนวนมาก สร้างบาดแผลทั้งเจ็บปวด-แตกร้าว-เกลียดชังกัน
ดิฉันก็คิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องร่วมกัน ถ้าคนที่มีความเข้าใจและหวังดีกับสังคมไทยมันต้องเยียวยาบาดแผลนี้ และการเยียวยาบาดแผลที่ดีที่สุดคือ "ทำความจริงให้ปรากฎ" ไม่ใช่เอาไปซุกใต้พรม ยกตัวอย่างกรณี "เผา" กว่าความจริงจะปรากฎใช้เวลาถึง 9 ปี ฝั่งที่เกลียดชังก็เอาไปใช้ประโยชน์ พูดจนกระทั่งคนที่ไม่รู้เรื่องก็เชื่อตาม
ปรากฎว่าทำให้คนมีความแตกแยกแตกร้าว ซึ่งไม่ใช่อยู่แต่ในระดับบนของสังคม แต่ความแตกแยกแตกร้าวนี้ลงไปถึงมวลชน นี่คือปัญหาของประเทศที่เป็นบาดแผลกว้างที่จำเป็นต้องเยียวยา
เมื่อ 6 ตุลาคม 2519 บาดแผลลึก คนเข้าวิธีเข้าป่า เปลี่ยนการต่อสู้สันติวิธีเป็นร่วมกับผคท.ต่อสู้ด้วยอาวุธ
แต่ขณะนี้เมื่อสิ้นสุดสงครามเย็น เสรีประชาธิปไตยกลายเป็นทางเลือกใหญ่ที่สำคัญ คนยังพยายามที่จะต่อสู้ด้วยสันติวิธีและต่อสู้ในเวทีการเมืองและพรรคการเมือง นี่เป็นการปรับในส่วนของประชาชน เราจะเห็นพรรคการเมืองใหม่ ๆ เกิดขึ้น
การขับเคลื่อนของประชาชนที่จะขับเคลื่อนเคียงคู่กับพรรคการเมือง ส่วนหนึ่งก็กลายเป็นมาตั้งพรรคการเมืองเองก็มี ประชาชนไม่ได้หยุดนิ่งอยู่กับที่ สิ่งที่อนุรักษ์นิยมและอำนาจนิยมคิดว่าจะแก้ปัญหาได้ด้วยรัฐธรรมนูญแบบที่ตัวเองต้องการ หรือการทำรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำอีก มันก็แก้ปัญหาไม่ได้ โดยเฉพาะความบาดหมางและความขัดแย้งของคนในประเทศ
ดิฉันก็ขอเรียกร้องอีกครั้งหนึ่งว่าทางเดียวที่จะยุติความขัดแย้งได้ก็คือ "ทำความจริงให้ปรากฎ" และ ทำให้เกิด "ความยุติธรรม" ขึ้นในสังคมไทย ก็จะทำให้คนสามารถหันหน้าเข้ามาหากันได้
ก่อนที่จะจบดิฉันก็อยากจะเรียนว่า ทางยูดีดีนิวส์จะจัดให้มีการเสวนาทางวิชาการในวาระครบ 9 ปี ทวงถามความยุติธรรมในสังคมไทย ซึ่งจะมีผู้ที่มาร่วมเสวนา ไม่ว่าจะเป็นนักกฎหมาย, นักวิชาการ, ญาติวีรชน และแม้กระทั่งจำเลยที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ เมษา-พฤษา 53 ผู้ดำเนินรายการก็จะเป็น คุณณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เราจะจัดในวันอาทิตย์ที่ 26 พ.ค. 62 เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป ที่ศูนย์ข่าวยูดีดีนิวส์ ห้างเอเวอรี่มอลล์ แยกแคราย ถนนรัตนาธิเบศร์ ตรงข้ามเอสพานาด
มองในแง่ดี...นี่เป็นการเสวนาเพื่อมองไปข้างหน้า เราทวงถามความยุติธรรม แต่นั่นก็คือทางออกของสังคมไทยค่ะ อ.ธิดากล่าวในที่สุด