เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ" จี้นายกฯ ต้องทบทวนการปัดตกร่างบำนาญแห่งชาติ!
ยูดีดีนิวส์ : วันนี้ (8 ก.พ. 64) เวลา 11.00 น. ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล #เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ และองค์กรภาคี รวมตัวประมาณนายกรัฐมนตรี กรณีปัดตกร่างกฎหมายบำนาญแห่งชาติ ที่เสนอโดยประชาชนร่วมลงชื่อกว่า 13,246 รายชื่อ โดยผู้เข้าร่วมมองว่าการที่รัฐฯ กระทำเช่นนี้เป็นการมองไม่เห็นค่าความทุกข์ยากของประชาชน รวมถึงผู้สูงอายุด้วย และมองว่าเงินสงเคราะห์ 600 บาท ไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตในปัจจุบันที่มีค่าครองชีพสูง จึงนัดรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้นายกฯ นำร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติฯ ที่ประชาชนกว่าหมื่นรายชื่อร่วมลงชื่อกลับมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง
โดยเวลา 10.30 น. ผู้ชุมนุมทยอยรวมตัวกันที่หน้าสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน นำโดย นายนิมิตร์ เทียนอุดม เริ่มต้นด้วยการปราศรัยโดยกล่าวถึงร่างพ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติฯ ระบุว่า เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการร่วมกันล่ารายชื่อประชาชนกว่า 10,000 รายชื่อ เพื่อเสนอกฎหมายต่อรัฐสภา โดยมีหลักการสำคัญคือ คนที่อายุ 60 ปี ต้องได้เงินบำนาญพื้นฐานไม่น้อยกว่าเส้นความยากจนของประเทศ นั่นคือประมาณ 3,000 บาท
นายนิมิตร์กล่าวต่ออีกว่า ได้มีหนังสือแจ้งให้ประชาชนผู้เสนอกฎหมายทราบว่า พล.อ.ประยุทธ์ ปฏิเสธการรับรองร่างกฎหมายบำนาญแห่งชาติฉบับดังกล่าว นับตั้งแต่ประชาชน 13,246 รายชื่อยื่นเสนอร่างพระราชบัญญัติบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. .... ต่อประธานรัฐสภา ตั้งแต่วันที่ 6 พ.ย. 62 แล้ว ประธานรัฐสภาวินิจฉัยว่าเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน จึงส่งร่างฉบับดังกล่าวไปยังนายกฯ เพื่อการรับรอง จนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 15 เดือน
กระทั่งวันที่ 4 ก.พ. 64 พล.อ.ประยุทธ์มีความเห็นอย่างเป็นทางการว่าไม่รับรองร่างพ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ ฉบับประชาชน ให้เข้าสู่การพิจารณาในรัฐสภา เครือข่ายประชาชนฯ เห็นว่าควรเสนอร่างกฎหมายที่มาจากความต้องการของประชาชนให้เข้าสู่การพิจารณาของสภาที่มีตัวแทนจากเสียงประชาชน
จากนั้น เวลา 11.03 น. ผู้ชุมนุมได้ข้ามถนนไปยังฝั่งหน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อทำกิจกรรม ปราศรัย และอ่านแถลงการณ์ รวมทั้งยื่นหนังสือผ่านตัวแทนถึงนายกฯ
ต่อมานายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการได้อ่านแถลงการณ์โดยมีใจความว่า รัฐเพิกเฉยที่จะสร้างรัฐสวัสดิการให้ประชาชนด้วยหลักประกันรายได้ที่เพียงพอและเท่าเทียม การตัดสินใจของคนเพียงคนเดียวส่งผลต่อชีวิตของประชาชน 70 ล้านคน แม้จะอ้างว่าตัดสินใจบนฐานข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่กระบวนการตัดสินใจกลับไร้เสียงประชาชน หากยึดถือหลักการประชาธิปไตย ควรจะเสนอร่างกฎหมายให้รัฐสภาพิจารณา
เครือข่ายฯ ขอประณามกระบวนการรัฐราชการที่ไร้สำนึก ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย การปฏิเสธที่จะพิจารณากฎหมายของประชาชนโดยนายกฯ และหน่วยงานที่ให้ความเห็นคือการใช้อำนาจที่เป็นของประชาชนมาลิดรอนสิทธิของประชาชน จึงขอประณามและคัดค้านต่อการตัดสินใจของนายกฯ ที่ปัดตกร่างกฎหมายของภาคประชาชนฉบับนี้ และเรียกร้องให้ประชาชนจับตาและส่งเสียงถึงนายกฯ ให้นำร่างบำนาญถ้วนหน้ากลับมาพิจารณาใหม่โดยเร็ว เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อประชาชนทั้ง 13,246 รายชื่อ
ปิดท้ายด้วย "ธนพร วิจันทร์" ประธานกลุ่มบูรณาการสตรี ตัวแทนแรงงานได้กล่าวแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการปัดตกร่างกฎหมายประชาชนฉบับนี้ โดยกล่าวว่า ขอประกาศว่าหากไม่ฟังเสียงประชาชน พวกเราจะมาชุมนุมกันทุกวัน ทุกเวลา ที่พวกคุณอยู่ที่นี่ ถ้าวันนี้ยังไม่นำกฎหมายกลับไปทบทวน เราจะไม่ยอม จะกลับมาอีกครั้ง โดยไม่ใช่แค่เครือข่ายฯ แต่เป็นการรวมตัวของคนไม่มีอันจะกิน วันนี้ประชาชนหลายคนตกงาน ไม่สามารถส่งเงินไปให้พ่อแม่ที่อยู่บ้านนอกได้ หากพ่อแม่เราได้เงินบำนาญถ้วนหน้า จะช่วยเหลือได้ แต่นายกฯ กลับคว่ำร่างกฎหมายนี้
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์
ประมวลภาพ