“ธิดา” เตือน ความรุนแรงจะมีและเกิดขึ้นทุกรูปแบบ
ให้ตระหนักว่ายากที่เขาจะรับฟัง เพราะการรักษาอำนาจเป็นเรื่องสำคัญกว่า!
เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 64 อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ
ได้มาพบกับทุกท่านผ่านการทำเฟซบุ๊คไลฟ์ โดยเริ่มต้น อ.ธิดาได้กล่าวย้อนดูในความทรงจำช่วงหลังจากที่ตนเป็นรักษาการประธานนปช.
(ปลายปี 2553 และทั้งปี 2554) ต่อมาในต้นปี 2555 เดือน ก.พ.
นี่แหละที่ได้เป็นประธานนปช.เต็มตัว หลังจากนั้นอีก 2 ปี คือในปี 2557 เดือน ก.พ.
ก็มีการเปลี่ยน ดิฉันลาออก คุณจตุพรก็รับไม้ต่อเป็นประธานนปช. ดังนั้นเดือน ก.พ.
จึงเป็นเดือนแห่งความทรงจำอีกแบบหนึ่งในการมาเป็นประธานนปช.ตัวจริง
แล้วก็สิ้นสุดวาระ 2 ปี
วันนี้ที่ดิฉันมาพูดนี่ ความจริงเราควรจะพูดตั้งแต่วันสองวันที่แล้ว
เพราะว่ามันเกิดความรุนแรงกับประชาชนที่ออกมาคัดค้านและต่อต้านรัฐบาล
ประเด็นที่ดิฉันจะพูดวันนี้ก็คือ
“ความรุนแรงที่รัฐเผด็จการกระทำต่อประชาชนตลอดมา”
อาจจะถือว่าเป็นเรื่องที่มันต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐเผด็จการไทยขณะนี้ ซึ่งเป็นการทำรัฐประหารต่อเนื่องตั้งแต่ปี
2549 แล้วยังมีอำนาจของกองทัพและรัฐธรมนูญต่าง ๆ ต่อเนื่องจนกระทั่งทำรัฐประหารอีกครั้งในปี
2557 มาจนถึงปัจจุบัน ถือว่าเป็นระยะเวลาที่ยาวนานมาก (แค่จากปี 2557 มาปัจจุบันก็
7 ปีแล้ว)
ดังนั้น ไม่ว่าจะนานแค่ไหน
แต่ว่ารัฐเผด็จการก็ยังเป็นปกติที่จะต้องกระทำรุนแรงต่อผู้ที่ต่อต้านและไม่เห็นด้วย
เพราะเขารู้ว่ามันไม่ชอบธรรม เมื่อไม่ชอบธรรมมันก็ต้องมีคนมาต่อต้าน
แล้วการต่อต้านนั้นก็จะมีคนเห็นด้วยและมากขึ้นตามลำดับ เพราะฉะนั้นปัจจุบันตัวอย่างที่เห็นชัดก็คือประเทศพม่าและประเทศไทย
สองครั้งที่แล้วดิฉันได้พูดเรื่องเปรียบเทียบเผด็จการทหารพม่ากับเผด็จการทหารไทย
และขบวนการประชาธิปไตยในพม่าและขบวนการประชาธิปไตยไทย
ดิฉันอยากให้ท่านกับไปดูย้อนหลังในเฟซบุ๊คไลฟ์ และมีการถอดออกมาแล้วสองครั้ง
เพราะฉะนั้น วันนี้ประจวบกับในวันที่ 13
ที่ผ่านมาก็มีความรุนแรงทางกายภาพต่าง ๆ เกิดขึ้นในการปราบปราม มา ณ
วันนี้และวันก่อนหน้านี้ก็เป็นความรุนแรงในการจัดกุมคุมขัง ตั้งข้อหารุนแรง
ไม่ว่าจะเป็น 112, 116 และอื่น ๆ
ดังที่มีการบอกว่าประกันตัวไม่ได้เพราะมีอัตราโทษสูง
หรือว่าในศาลชั้นต้นบอกว่าทำความผิดซ้ำซาก แต่ในขั้นศาลอุทธรณ์บอกว่ามีอัตราโทษสูง
นั่นก็แปลว่าเรื่องราวต่าง ๆ
ที่เกิดขึ้นนี้ก็เป็นความรุนแรงทุกรูปแบบของรัฐเผด็จการทหาร
ถึงแม้ว่าจะแปลงร่างมาเป็นระบอบประชาธิปไตยปลอม ๆ ก็ตาม
ดิฉันก็คิดว่าเพื่อที่จะเป็นประโยชน์กับกลุ่มเยาวชนที่มีการนำขบวนอยู่ในเวลานี้
ก็ใคร่ที่จะให้ฝ่ายประชาชนที่มาตั้งขบวนใหม่และประชาชนที่ได้ร่วมขบวนมายาวนานแล้วได้มาช่วยกันเป็นทั้งกำลังใจและให้แง่คิดว่ามันเคยมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง!
ดิฉันใช้คำว่า “ตลอดมา” เพราะว่าสิ่งนี้มันเกิดขึ้น
แน่นอน!
ความรุนแรงมีทั้งการปราบปราม จับกุม การตั้งข้อหาดำเนินคดี การใช้กฎหมาย
เพราะว่าเมื่อเขาตามมาด้วยการยึดอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร
และแทรกแซงหรือครอบงำอำนาจตุลาการและองค์กรอิสระได้
ดังนั้นกระบวนท่าทุกอย่างในการที่จะจัดการกับประชาชน กดผู้ที่เห็นต่างหรือต่อต้านนั้นก็ต้องใช้ทุกรูปแบบ
เพราะฉะนั้นสิ่งที่เยาวชนได้พบเห็นในวันที่
13 นั้น ก็เป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นเสมอ เพราะว่าจากปัญหาความไม่ชอบธรรมในการเมืองและการปกครอง
ก็เลยต้องสร้างความไม่ชอบธรรมให้กับฝ่ายประชาชน การเข้ามาแทรกแซง ส่งคนเข้ามา หรือขบวนการ IO
การทำให้เกิดข่าวลวงข่าวเท็จและความสับสนในหมู่ประชาชนมันเกิดขึ้นได้เสมอ
อย่าได้แปลกใจ!
เวลามีม็อบของคนเสื้อแดง
ถ้าคุณไปดูในกรมกองต่าง ๆ ของเจ้าหน้าที่โดยเฉพาะทหาร
คุณจะเจอเสื้อแดงที่เอามาเตรียมไว้เป็นกอง ๆ
แล้วที่พูดนี้ก็คือเพื่อให้ฝ่ายเยาวชนเข้าใจว่า อย่าได้แปลกใจถ้าจะมีคนนอกเครื่องแบบเข้ามาทำตัวเหมือนเป็นมวลชนที่อยู่ในม็อบ
อันนี้ต้องเตรียมไว้ด้วยเพราะว่ามันจะเกิดขึ้นเสมอ
แล้วดีไม่ดีบางครั้งตัวเองก็เป็นการใช้ความรุนแรงเอง
หรือการปั้นข่าวลวง ข่าวเท็จ
ดังที่เมื่อวานนี้ (16 ก.พ. 64) เพิ่งมีคดีที่ในที่สุดเกี่ยวข้องกับคำว่า “ชายชุดดำ” 3 คดีเลย
เมื่อวานนี้ศาลฎีกาก็ยกฟ้อง เพราะว่าพยานทหารปากสำคัญเบิกความศาล 2 คดีไม่ตรงกัน
และเวลาผ่านมานานมากแล้ว คดีนี้เพิ่งฟ้องในปี 57 ลองคิดดูว่าจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2
เจอหลายคดี
เรื่องของชายชุดดำก่อนหน้านี้
2 คดีก็ยกฟ้องเหมือนกัน ดิฉันเคยพูดแล้วว่าเวลาไปจับผู้ถูกกล่าวหามาแถลงข่าวก็ให้แต่งตัวชุดสีดำแล้วให้ผูกริบบิ้นที่แขนสีแดง
แล้วให้ทำท่าถือปืนพร้อมทั้งแนะนำว่าใช้ปืนอย่างไร ก็คือกระบวนการต้องทำจนจบ แต่อันนี้ก็ต้องถือว่าโชคดีที่เรียกว่าจำเลยใจสู้ถึงชั้นฎีกา
แล้วศาลฎีกาก็พิจารณาจากหลักฐานที่มีอยู่ เห็นว่าไม่น่าเชื่อถือ เพราะว่าใน 2 คดี
เกี่ยวกับช่างภาพชาวญี่ปุ่นพยานก็บอกว่าจำไม่ได้ มองไม่เห็น
แต่พอมาคดีนี้พยานบอกว่ามองเห็นชัด จำได้ ทั้ง ๆ ที่เวลาผ่านมาตั้งนานแล้ว
ดิฉันก็ขอแสดงความยินดีสำหรับคุณอ้วนที่เรียกว่าหลุดพ้นคดี แต่ก็ยังเจออีกหลายคดี
แต่ท่านเชื่อไหมว่า
แม้กระทั่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวานนี้ (16 ก.พ.) พูดในที่ประชุมรัฐสภา
เวลาพูดถึงคุณสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ และพูดถึงในกรณีปี 57 (ที่ทำรัฐประหาร)
ที่ต้องเอาตัวคุณสงครามไปควบคุม แต่เวลาไปพูดกลับไปพูดย้อนถึงปี 53 ทั้ง ๆ ที่ปี
54 มาจนถึงปี 57 เขาเป็นผบ.ทบ. แต่ไปพูดเรื่องคดีปี 53
โดยอ้างประมาณว่าที่ต้องทำรัฐประหารปี 57 ก็ทำไมไม่พูดถึงเรื่องเผาบ้านเผาเมือง
คิดถึงเรื่องเผาบ้านเผาเมือง คิดถึงเรื่อง M79 อันนั้นมันเรื่องเกิดขึ้นในปี
53!
แปลว่าอะไร?
แปลว่าคุณทำรัฐประหารปี 57 เพราะปัญหาคดีปี 53 ใช่หรือไม่ใช่? อันนี้อภิปรายนอกสภานะ! แปลว่าที่คุณทำรัฐประหารปี
57 เพราะคุณเกรงปัญหาของปี 53 ซึ่งคดีกำลังคืบคลานในการไต่สวนเป็นลำดับ
แล้วศาลมีคำสั่งว่ากระสุนปืนมาจากทหาร กระสุนปืนมาจากฝั่งทหารอย่างน้อย 19
คดีชัดเจน หรือจะเป็นอย่างนี้หรือเปล่า เพราะว่าเมื่อวานนี้ยังพูดเลย
มันเกี่ยวอะไรจากปี 53 มาถึงปี 57 ผ่านมาตั้ง 4 ปี แปลว่าที่ทำรัฐประหารปี 57 เพราะเป็นห่วงคดีปี
53 หรือเปล่า? มิน่าล่ะ คดีก่อนหน้านี้เพิ่งมาฟ้องในปี 62 ก็มี
แล้วคดีนี้ก็คือฟ้องในปี 57 หลังทำรัฐประหาร ดังนั้น
เรื่องราวไม่ใช่เราฟื้นฝอยหาตะเข็บ จากปี 53 มาถึงปี 57 แล้วจาก 57 มาจนถึง 64
เมื่อวานนี้พล.อ.ประยุทธ์ยังพูดเลย
เพราะฉะนั้น
นี่ก็ไม่ไว้วางใจนอกสภานะ! ชี้ให้เห็นว่าการทำรัฐประหารมันไปเกี่ยวข้องในปี 53 หรือเปล่า? ผ่านมา 4
ปี เกรงว่าจะมีการ (เกรงว่านะ) จะมีการขุดคุ้ยเรื่องราวปี 53 หรือเปล่า?
ดังนั้นอำนาจรัฐจำเป็นที่จะต้องอยู่ในมือของผู้ที่ใช้กำลังปราบปรามตั้งแต่ปี 53
หรือเปล่า? ไม่รู้นะ ท่านพูดของท่านเองเมื่อวานนี้
ดิฉันจะพูดเพื่อประโยชน์
ประโยชน์ก็คือให้ฝ่ายประชาชนตระหนักว่าการที่เขาไม่ชอบธรรม
เขาจำเป็นต้องสร้างความธรรม และเมื่อเขาจำเป็นต้องสร้างความชอบธรรมในการเมืองการปกครอง
เขาก็ต้องจัดการให้กับความชอบธรรมของฝ่ายประชาชนนั้นหายไป กระบวนการ I/O
ข่าวลวง ข่าวเท็จ การแทรกแซง อันนี้ทำได้ทุกอย่าง เพราะฉะนั้น การที่มีคนมาขว้างปาหรือไม่ยอมรับฟัง
หรือเข้ามายุยง หรือทำให้แตกแยกในหมู่การ์ด มันก็เป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้
ความรุนแรงอีกอันหนึ่งซึ่งมีปัญหากับหน่วยแพทย์
ดิฉันก็อยากจะเรียนว่าหน่วยแพทย์ DNA นั้น
เขาก็ทำหน้าที่มาหลายรอบเท่าที่ดิฉันติดตามดู เพราะว่าดิฉันมาจากมหาวิทยาลัยมหิดล
(เดิมที่เคยทำงาน) ดังนั้นก็จะสนใจเรื่องราวทางการแพทย์ด้วย
แล้วก็สนใจเรื่องวัคซีน วันนี้คุณวิโรจน์อภิปรายได้ดีเรื่องวัคซีน
เพราะว่าถ้าติดตามเฟซบุ๊คไลฟ์ของดิฉันก็จะพบว่าดิฉันพูดเรื่องวัคซีนมาตลอด
ปฏิบัติการที่กระทำต่อหน่วยแพทย์มันก็เป็นสิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความโหดเหี้ยม
อำมหิต และไม่ได้สนใจเรื่องราวทางสากลเลย กรณีที่เกิดขึ้นในวันนั้น
ภาพที่ตำรวจใช้กระบองในการตีหรือจัดการแล้วมีคนนอนอยู่ มันก็เหมือนภาพเจ้าหน้าที่ตีประชาชนเมื่อปี
35 แต่อันนั้นไม่ใช่บุคลากรการแพทย์ แต่ต่อให้รู้ว่าเป็นบุคลากรการแพทย์แล้วจะถูกทุบตีที่เราบอกว่ามันไม่ควรทำ
อย่าว่าแต่ทุบตีเลยยิงยังยิงมาแล้วเลยเมื่อปี 53 ที่วัดปทุมวนาราม
ก็รู้อยู่ว่านั่นเป็นพยาบาล ยังยิงแล้วยิงอีก ไม่ใช่คนเดียวด้วย ตั้งกี่คน
ซึ่งอันนี้คุณแหวน (ณัฎฐธิดา มีวังปลา) อยู่ในเหตุการณ์นั้น
และคุณแม่น้องเกดได้พยายามต่อสู้มาตลอด แต่มันแสดงให้เห็นถึงการที่ไร้วิธีคิดจริยธรรมแบบสากล
อย่าไปคิดเรื่องมนุษยธรรม!
ที่ทำยิ่งกว่านี้ก็คือว่า
การที่ให้ทหารถืออาวุธแล้วติดปลอกแขนที่มีสัญลักษณ์กาชาดมาติด "กาชาดสากล" เคยคุยกับอาจารย์ธิดา (เคยมาพบทั้งในม็อบและตอนที่อยู่ที่อิมพีเรียล)
ดิฉันก็เอารูปให้ดู เขาบอกว่าทำไม่ได้! คือเครื่องหมายกาชาดสากล
(สีแดง) บุคลากรการแพทย์จะเอาไปติดไม่ได้นะ ติดได้ก็เฉพาะอย่างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
หมอของจุฬาฯ สถานเสาวภา คือเขาสังกัดกาชาดสากล อนุญาตให้ใช้ได้
แต่ของเรามันยิ่งหนักเข้าไปอีกก็คือทหารถือปืนติดปลอกแขนสัญลักษณ์กาชาดสีแดง
เขาตกใจเลย 1) คุณไม่มีสิทธิ์ใช้ 2) แล้วคุณใช้กับอาวุธปืน ยิ่งไม่ได้!
แต่ของเราที่ประหลาดกว่านั้น
นั่นทหาร พลเรือน หมอของเราจำนวนมากใส่เครื่องแบบติดสัญลักษณ์กาชาดสีแดงแล้วออกมาเป่านกหวีด
ออกมาประท้วงเต็มไปหมด นี่ดิฉันก็พูดถึงความรุนแรงมันจะเกิดจากรัฐเผด็จการทหารได้ทุกรูปแบบ
ไม่ได้แคร์ถึงเรื่องปฏิญญาสากลว่าด้วยมนุษยชน หรือกติกา กฎของเจนีวา
หรือจริยธรรมสากล ไม่มีเลย! อย่าไปคิดว่ามีเครื่องแบบแล้วมีเครื่องหมายของแพทย์แล้วจะช่วยได้ บทเรียนของคนเสื้อแดงปี
53 บอกให้รู้เลยว่า มีทั้งเต็นท์พยาบาล มีทั้งเครื่องแบบ มีทุกอย่าง
ยังถูกยิงตายได้ ไม่ใช่คนเดียวด้วย ยิงแบบตั้งใจด้วย!
นั่นคือให้ตระหนักเอาไว้ว่า
นี่เป็นความรุนแรงที่ไม่ได้คำนึงถึงกติกาสากลใด ๆ ทั้งสิ้น คือคนอนุรักษ์นิยม
จารีตนิยม คำว่า “สากล” ไม่รู้จักเลย อาจจะรู้จักร้องเพลงสากลได้อย่างเดียวหรือเปล่า?
นี่ก็เป็นสิ่งที่ดิฉันอยากจะเตือนเอาไว้ให้พึงสังวรว่า
ความรุนแรงนั้นมันจะมี และมันมีได้ทุกรูปแบบ ทั้งในการแทรกแซง ทั้งในการทำปฏิบัติการจิตวิทยา
อยากให้เยาวชนและประชาชนที่พยายามจะเรียกร้องความเป็นธรรม เรียกร้องประชาธิปไตย
ต่อต้านรัฐเผด็จการทหาร ได้ตระหนักเอาไว้ว่ามันยากที่เขาจะรับฟัง
เพราะว่าการรักษาอำนาจเป็นเรื่องสำคัญกว่า เพราะฉะนั้นสามารถทำได้ทุกรูปแบบ
แต่ที่ดิฉันคิดว่าหลายคนคงเป็นกังวลก็คือขณะนี้นอกจากการปราบปรามแล้ว
การจับกุมคุมขังเข้าอยู่ในเรือนจำดังที่ 4 คนก็คือไม่ว่าจะเป็นคุณอานนท์
ไม่ว่าจะเป็น พริษฐ์ ชิวารักษ์ ไม่ว่าจะเป็นคุณสมยศ แล้วก็หมอลำแบงค์
ก็ทำท่าเหมือนกับว่าน่าจะต้องติดอยู่นาน วันนี้ (17 ก.พ. 64) กรณีรุ้งและเพื่อน ๆ
รวม 18 คน ก็ดูว่ายังถอนหายใจได้อีกเฮือก ก็คือยังเลื่อนเพราะว่าตำรวจเพิ่งส่งข้อมูล
(สำนวน) และอัยการยังทำเรื่องไม่ทัน
หรือไม่รู้ว่าเป็นเพราะสภากำลังทุบนายกฯ
อยู่หรือเปล่า? ไม่รู้นะ ไม่อยากให้มันหลายเรื่อง
เพราะฉะนั้นหมู่บ้านที่มาเกะกะอยู่หน้าทำเนียบ กลับไปก่อน เดี๋ยวเรียกป่าไม้กลับ
ให้กลับไปใจแผ่นดินได้ เพราะฉะนั้นไอ้ที่จับ ๆ อย่าเพิ่งเลย
แค่นี้ในรัฐสภาก็มะรุมมะตุ้ม
วันนี้มันน่าจะเจอหมัดเด็ดตั้งแต่เช้า
แล้วกำลังอภิปรายเรื่องวัคซีน ดิฉันก็เข้าใจว่าหลายคนก็กำลังติดตามเวทีในรัฐสภาอยู่
ดิฉันเองก็เอาใจช่วยเวทีรัฐสภา ที่สำคัญคือให้ได้ข้อมูลที่ลึกซึ้งหน่อย
ก็ต้องชมคุณวิโรจน์ แต่ว่าในขณะเดียวกันดิฉันก็อยากให้กำลังใจพี่น้องประชาชนที่ไม่ได้อยู่ในเวทีรัฐสภา
เราตระหนักว่าเราจะต้องเผชิญกับคู่ต่อสู้ที่ไม่รู้จักเรื่องราวของจริยธรรมสากล
ไม่รู้จักเรื่องของสิทธิมนุษยชน
ไม่รู้จักเรื่องการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียม และนั่นหมายถึงความยุติธรรม
มันเป็นเรื่องหนัก!
เรากับประเทศพม่าก็เผชิญโชคชะตาใกล้เคียงกัน
เพราะฉะนั้นก็เรียนรู้ข้อดีของเขาและข้อดีของเรา
เรียนรู้จุดอ่อนของการต่อสู้ในอดีต เมื่อดิฉันได้รับฟังว่ามีความคิดเห็นแตกต่างกันในหมู่เยาวชน
ดิฉันก็อยากให้กำลังใจว่า ที่สำคัญนั้นเราต้องชัดเจนว่าอะไรคือความขัดแย้งหลัก
ใครคือคู่ขัดแย้งเรา
ระบอบเผด็จการจารีตนิยมเป็นคู่ขัดแย้งหลักกับประชาชนที่เรียกร้องสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียม
เพราะฉะนั้นเมื่อจับความขัดแย้งหลักคู่นี้ได้แล้ว
ในฝ่ายประชาชนนั้นก็ต้องเป็นท่าทีของมิตรต่อมิตร ไม่ใช่ท่าทีของศัตรู
ดิฉันก็ขอฝากเอาไว้แค่นี้นะคะ แล้วก็ขอให้ฝ่ายกฎหมายและทนายต่าง ๆ
ที่ทำการต่อสู้เพื่อพี่น้องประชาชน ก็ขอขอบคุณ ให้กำลังใจ
และนี่เป็นเรื่องยิ่งใหญ่สำหรับทั้งฝ่ายกฎหมายและประชาชนที่จะรับเรื่องราวในอดีตมาเป็นบทเรียน
รุ่นของดิฉันนั้นผ่านมาตั้งแต่ 14 ตุลา 16 แต่รุ่นก่อนดิฉันอาจจะหมายถึงตั้งแต่คณะราษฎร 2575 ดิฉันได้บอกไปกับหลายคนว่า ถ้าจะโทษก็คือโทษคนในอดีตได้ แต่ในปัจจุบันนั้นความสามัคคีกันเพื่อเผชิญหน้ากับกำลังที่แข็งแกร่งของจารีตนิยมอำนาจนิยมสำคัญมาก อ.ธิดากล่าว