วันเสาร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ธิดา ถาวรเศรษฐ : มองปรากฏการณ์ผู้รักประชาธิปไตยพม่าเทียบกับไทย


12 พ.ย. 64  อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ ได้กลับมาสนทนากับทุกท่านตามสัญญาผ่านการทำ Facebook Live โดยประเด็นที่จะพูดในวันนี้เกี่ยวกับฝ่ายประชาชนนั่นคือ

“มองปรากฏการณ์ผู้รักประชาธิปไตยพม่าเทียบกับไทย”

นี่เป็นเรื่องต่อเนื่องจากวันจันทร์ที่แล้วซึ่งพูดเรื่องทหารเผด็จการที่ควบคุมการเมืองการปกครองเปรียบเทียบไทยกับพม่า วันนี้ก็ต้องมาพูดในฝ่ายประชาชนและผู้รักประชาธิปไตยพม่า-ไทย ด้วยเช่นกัน

ในการเปรียบเทียบ ดิฉันอยากจะเรียนว่าเราต้องสละความคิดแบบชาตินิยม เลิกคิดแบบพวกจารีตนิยม อนุรักษ์นิยม ซึ่งมองเห็นอดีตในลักษณะที่คลั่งชาติตัวเอง ปัจจุบันนี้ไทยกับพม่าอยู่ในชะตากรรมแบบเดียวกัน นั่นก็คือ อยู่ในการเมืองการปกครองที่มีทหารเผด็จการสืบทอดอำนาจมายาวนานพอสมควร และในฝ่ายประชาชนก็กำลังมีการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยทั้งสองประเทศ เรามีพลังเชื่อมโยงกัน หนุนต่อกัน 

เพราะฉะนั้น เราจะเห็นว่าในการต่อสู้ของประชาชนผู้รักประชาธิปไตยของพม่าเที่ยวนี้ก็มีการชู 3 นิ้ว ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าอันนี้ได้รับอิทธิพลจากการต่อสู้ของประชาชนผู้รักประชาธิปไตยในยุคใหม่นี้ ในยุคที่เยาวชนและปัญญาชนไทยลุกขึ้นมานำการต่อสู้ใหม่หลังจากผ่านยุคปี 53 มาแล้ว

นี่ก็เป็นการแชร์ร่วมกันของอารมณ์ความรู้สึกในการต่อสู้ ก็คล้าย ๆ เราอยู่ในชะตากรรมแบบเดียวกัน แต่มันก็น่าสนใจว่าเรื่องราวของประชาชนสองประเทศนี้ในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ประเทศไหนจะบรรลุเป้าหมายของฝ่ายประชาชนผู้รักประชาธิปไตยก่อน อาจจะไม่ได้ทั้งคู่ หรือว่าอาจจะได้ชัยชนะทั้งคู่ เพราะผลของประเทศหนึ่งก็จะมีผลสะเทือนต่อประเทศหนึ่งเช่นกัน

ทีนี้ถ้าเราเทียบในอดีต (เอาของพม่าก่อน) เราเทียบในประเด็นประวัติศาสตร์ในการต่อสู้ ข้อได้เปรียบของพม่าในฐานะที่เป็นประเทศอาณานิคม ก็จะมีกลุ่มขบวนการของการต่อสู้ของฝ่ายประชาชนเพื่อให้ได้เอกราช ขบวนการเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นในประเทศอาณานิคม ยกตัวอย่างเช่น เวียดนาม, ลาว, จีน, มาเลเซีย หรืออะไรต่าง ๆ 

ในประเทศที่อยู่ฝั่งขวาแม่น้ำโขงก็เป็นการปฏิวัติต่อเนื่องเป็น “สังคมนิยม” ไปเลย แต่ในมาเลเซีย, สิงคโปร์ ขบวนการประชาชาติต่อสู้เพื่อเอกราชก็กลายเป็นปฏิวัติประชาธิปไตย ซึ่งเขาก็ถือว่าไม่มีทั้งพลังจารีต ไม่มีทั้งพลังของจักรวรรดินิยมที่มาครอบงำ และไม่มีพลังของทหารเผด็จการ นี่ยกตัวอย่าง

เพราะฉะนั้นข้อได้เปรียบที่มีขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราช อันนี้ก็เป็นข้อได้เปรียบหนึ่งของประเทศที่เป็นอาณานิคม 

ข้อเสียเปรียบของพลังนี้ก็คือว่า มีพลังชาตินิยมที่อยู่ในนี้ ก็คือเขาต้องการแตกเป็นสหพันธรัฐ ดังที่เขามี “สนธิสัญญาปางโหลง” ปรากฏการณ์อันนี้จากข้อได้เปรียบเมื่อได้เอกราชก็กลายเป็นข้อเสียเปรียบ เพราะว่าความเป็นชาตินิยมของกลุ่มประเทศที่เป็นตัวหลักคือชนชาติพม่าและทหารพม่าไม่ยอมทำตาม “สนธิสัญญาปางโหลง” ดังนั้นมีการประชุมกี่ครั้งนับจาก “ปางโหลง” มา ฝ่ายชนชาติต่าง ๆ ก็ถูกฆ่า เจ้าฟ้าไทใหญ่ทั้งหลายก็ถูกฆ่าไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง จนเกือบจะเรียกว่าไม่มีคนเก่งเหลืออยู่เลย หมายความว่าพลังที่ร่วมกันต่อสู้เพื่อเอกราชก็มากลายเป็นพลังของชนชาติ 

แต่ว่าในเรื่องนี้ก็ไม่ได้เป็นความเสียเปรียบอย่างเดียว เพราะเราจะเห็นเลยว่าในปรากฏการณ์ปัจจุบัน กลุ่มชนชาติต่าง ๆ กระทั่ง อาระกัน โรฮิงญา ก็ยังร่วมมือกันในการต่อสู้กับเผด็จการทหารพม่า ดังนั้น ดูเหมือนจะเป็นข้อเสียเปรียบ แต่กลายเป็นว่าพลังเหล่านี้เขาก็มีพลังกองทัพและมีความเข้มแข็ง

ดังนั้นความต่อเนื่องของการต่อสู้เพื่อเอกราชก็มากลายเป็นการต่อสู้กับทหารเผด็จการที่กุมการเมืองการปกครอง จึงกลายเป็นพลังที่ได้เปรียบที่สืบเนื่องมา แม้นทหารพม่าจะลุกขึ้นทำรัฐประหารไม่กี่ครั้ง แต่ก็มีความสืบเนื่องกันยาวนาน ก็มีความเป็นเอกภาพที่มีพลังพอสมควร ดังที่เราได้เห็นและเราแชร์มา ไม่ว่าจะเป็นคนพม่าที่เป็นชนชาติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นพลเรือน, ผู้พิพากษา, หมอ เป็นอะไรต่าง ๆ เหล่านี้ คือ มีความเป็นเอกภาพทั้งชนชาติและชนชั้น นี่คือข้อได้เปรียบ 

มีข้อได้เปรียบอีกอย่างหนึ่งก็คือ การหนุนช่วยจากต่างประเทศ 

เราจะเห็นบทบาทของประเทศต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น นิวซีแลนด์, สหรัฐอเมริกา แล้วดิฉันเชื่อว่าประเทศยุโรปที่เขาเงียบ ๆ นั้น แต่จริง ๆ แล้วเขาก็ค่อนข้างจะรู้สึกมาก เพียงแต่เขากำลังดูว่าจะทำอย่างไรต่อไป เพราะฉะนั้นนี่เป็นข้อได้เปรียบ พลังการต่อสู้ที่มีลักษณะอุดมการณ์เพื่อเอกราช เป็นการต่อสู้เพื่อประชาชาติ ก็มาเป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แล้วความเป็นชนชาติมันมีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน ซึ่งจุดอ่อนก็คือเขาอยากเป็นสหพันธรัฐ แต่เป็นสหพันธรัฐภายใต้การเมืองการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยอันเป็นจุดร่วมกัน

ดังนั้น มันก็เปลี่ยนจากจุดอ่อนเป็นจุดแข็ง เพราะจำนวนมากเขามีกองทัพและสู้จริงด้วย ก็จะกลายเป็นกองทัพของฝ่ายประชาชนผู้รักประชาธิปไตยได้!

ข้อได้เปรียบที่สำคัญอีกอันหนึ่งก็คือ ดังที่เราพูดไปแล้วว่าทหารพม่านั้นมีลักษณะชาตินิยม อำนาจนิยม แต่ไม่ใช่จารีตนิยม คือไม่ไปผูกพันกับระบอบศักดินา ไม่เกี่ยวข้องกับพลังจารีตอื่นใด อาจจะมีศาสนานิยมอยู่ระดับหนึ่ง แต่จริง ๆ จุดหลักก็คือปัญหาชนชาติมากกว่า 

หมายความว่าพลังประชาชนของพม่าที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไม่ต้องต่อสู้กับพลังจารีต ตรงนี้มันจึงเกิดความเป็นเอกภาพในทุกกลุ่ม คืออาจจะมีพรรคการเมืองบางพรรคที่ไปหนุนช่วยทหาร แต่มันไม่ได้แสดงตัวในลักษณะพลังจารีต ไม่ใช่ลักษณะพรรคการเมืองที่สนับสนุนกองทัพ ยกเว้นแต่ครั้งนี้ในประเทศไทย กองทัพจัดขึ้นเอง แต่ว่าถ้าเป็นพรรคการเมืองเดิมเราก็จะเห็นในประเทศไทย ก็เป็นพรรคการเมืองของฝ่ายจารีตนิยม อนุรักษ์นิยม ดังนั้นนี่จึงเป็นข้อได้เปรียบก็คือว่าเขาสู้กับกองทัพเพื่อให้ได้การเมืองการปกครองที่เป็นระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจเป็นของประชาชน เขาไม่ต้องสูญเสียหรือเรียกว่าต้องไปแบ่งส่วนในการต่อสู้กับพลังจารีตที่เป็นชนชั้นอื่น ดังนั้นจึงมีความเป็นเอกภาพ ดังนั้นจึงเป็นความมีพลังวิริยภาพ แล้วได้รับการหนุนช่วยจากต่างประเทศ นี่จึงเป็นเรื่องข้อได้เปรียบ!

ข้ออ่อน เราพูดมาแล้วจำนวนหนึ่งก็คือเขามีปัญหาชนชาติ ทำให้คนพม่าจำนวนหนึ่งพอถึงที่สุดแล้วก็ยังคิดถึงปัญหาชนชาติดังที่เกิดขึ้นกับกลุ่มโรฮิงญาด้วย แล้วมันเกี่ยวข้องกับศาสนาด้วย อันนี้เป็นจุดอ่อน!  แต่ว่าในขณะนี้ แม้กระทั่งกลุ่มโรฮิงญาก็ออกมาสู้เพื่อประชาธิปไตยเหมือนกัน

ดังนั้นดิฉันคิดว่าหลังจากผลแพ้/ชนะอย่างไรก็ตามของฝ่ายประชาชน ประชาชนก็ต้องคิดใหม่ ก็คือความสามัคคีนอกจากทุกชนชั้น แล้วยังทุกชนชาติ ในการที่จะต่อสู้กับการเมืองการปกครองที่เป็นเผด็จการทหาร อันนี้ก็จะเป็นบทเรียน!

เพราะฉะนั้น ปัญหาของประเทศพม่าก็จะอยู่ที่ชนชาติซึ่งมันจะน้อยลง แต่ที่สำคัญที่ผ่านมา การที่ฝ่ายทหารเข้มแข็งเพราะเขามีประวัติยาวนาน พูดตรง ๆ ว่ากลุ่มทหารนั้นเป็นเอกภาพ ไล่มาจากเนวิน มาเป็นซอหม่อง จนกระทั่งถึงยุคปัจจุบัน ยังเป็นโครงสร้างชุดเดิม ดังนั้นมันจึงมีความเป็นเอกภาพค่อนข้างมากและก็ทำให้เกิดความเข้มแข็งของกองทัพ แล้วใช้วิธีปราบแรง จับแรง แต่ดิฉันไม่แน่ใจว่ากองทัพในครั้งนี้จะสามารถใช้วิธีแบบเก่า เพราะว่าประชาชนก็ลุกขึ้นต่อสู้แรง ฝั่งโลกเสรีก็มีการต่อต้านอย่างรุนแรง และเราจะเห็นว่าจะมีตำรวจส่วนหนึ่ง มีผู้พิพากษา มีหมอ (อันนี้ตรงข้ามกับเรา) ต่าง ๆ เหล่านี้ออกมา

ถ้าถามดิฉัน การต่อสู้ของประเทศพม่าเที่ยวนี้มีอนาคต เพราะการจับมือร่วมกันทุกชนชั้น ทุกชนชาติ อย่างเข้มแข็ง รวมทั้งโลกภายนอก นี่คือฝั่งของพม่า

หันมามองประชาชนไทย เรามีข้อแตกต่างกันก็คือ ประการแรก เราไม่มีขบวนการประชาชนที่ต่อสู้เพื่อเอกราช เพื่อประชาธิปไตย โดยทั่วไปมันจะควบคู่ด้วยกัน ต่อสู้เพื่อเอกราชแล้วก็จะต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยด้วย ถ้าเป็นประเทศอาณานิคม ขบวนการเหล่านี้ก็จะมารับการปล่อยให้เป็นเอกราชและเพื่อสร้างระบอบประชาธิปไตย แล้วต่างฝ่ายต่างก็ตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาต่อสู้ เราไม่มีสิ่งเหล่านี้ เรามีแต่การเปลี่ยนแปลงและการปฏิวัติ 2475 ซึ่งเป็นชัยชนะเทียม ๆ อันนี้ก็คือข้อเสียเปรียบประการแรก

ข้อเสียเปรียบประการที่สองที่สำคัญมากก็คือว่า พลังจารีตนิยมของเราไม่ได้ถูกทำลายโดยจักรวรรดินิยม ตรงข้ามจักรวรรดินิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคต่อต้านคอมมิวนิสต์ กลับมาหนุนพลังจารีต กลับมองไปว่าระบอบศักดินาและราชาธิปไตยนั้นจะเป็นพลังที่สำคัญในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ ดังนั้นเรากลับกัน ก็คือประเทศจักรวรรดินิยมกลับมาหนุนจารีตนิยมเพื่อที่จะไปต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ แต่ในขณะเดียวกัน เขาอาจจะไม่ได้คิด ก็คือ กลายเป็นว่ามาต่อสู้ฝ่ายที่ต้องการระบอบประชาธิปไตย

ดังนั้น เมื่อประเทศสหรัฐฯ หรือประเทศอาณานิยมทั้งหลาย หลังสงครามโลกแล้ว พอเข้าสู่โลกเสรีหลังจากหมดยุคสงครามเย็นก็หันมาฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตย เพราะในยุคสงครามเย็นเขาไม่สน! เผด็จการทหาร หรือระบอบกษัตริย์อะไรก็ตาม ขอให้ต่อต้านคอมมิวนิสต์ก็แล้วกัน แต่พอหลังยุคสงครามเย็น โลกเสรีประชาธิปไตยก็ฟื้นฟูมากขึ้น การฟื้นฟูโลกเสรีประชาธิไตย ไป ๆ มา ๆ ประเทศไทยก็มีพลังจารีตที่จะเรียกว่า “ราชาชาตินิยม” หรือ “จารีตนิยมชาตินิยม” ก็ได้ กลายเป็นปฏิปักษ์กับ “ระบอบประชาธิปไตย”

การต่อสู้ระหว่างฝ่ายที่หนุน “ระบอบประชาธิปไตย” กับฝ่ายที่เป็นพลังจารีต อาจจะเรียกว่า “ราชาธิปไตย” ด้วยก็ได้ จึงมีมาตั้งแต่ 2475 มาจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ และนี่คือข้อเสียเปรียบที่ฝ่ายรักประชาธิปไตยของประชาชนไทย แทนที่จะต่อสู้กับเผด็จการทหารอย่างเดียวแบบเดียวกับประชาชนพม่า ก็กลายเป็นว่าต้องมาสู้กับพลังจารีต

พลังจารีตมีทั้งทหาร มีทั้งพลเรือน มีทั้งขุนนาง กรรมการยังมีเลย กรรมกรรัฐวิสาหกิจก็เป็นกรรมกรขุนนาง นายทุนก็เป็นนายทุนขุนนาง ก็คือสนับสนุนจารีตนิยมกับเผด็จการทหาร มันง่ายดี ไม่ต้องไปแบ่งส่วนให้กับพรรคการเมือง หนุนไปเลย...ทหาร ก็สามารถที่จะครองความได้เปรียบในฐานะทุนผูกขาด อย่างนี้เป็นต้น

ดังนั้น ประชาชนไทยฝ่ายรักประชาธิปไตยต้องมาสู้กับพลังจารีตซึ่งเข้มแข็งมาแต่เดิม ไม่ถูกทำลาย นอกจากไม่ถูกทำลายแล้วยังถูกหนุนช่วยด้วยจักรวรรดินิยมในยุคสงครามเย็น ดังนั้นความเข้มแข็งของพลังจารีตนิยมนั้นไม่ใช่เฉพาะ “ราชาชาตินิยม” อย่างเดียว ยังหมายถึง ขุนนาง ข้าราชการ พลเรือน ทหารระดับสูง ฝ่ายตุลาการ องค์กรอิสระ และที่สำคัญก็คือปัญญาชนไทยก็กลายเป็นพวกปัญญาชนฝ่ายอนุรักษ์นิยม บางส่วนถึงกับจารีตนิยม

แล้วถ้าคุณดูปรากฏการณ์ขณะนี้ที่แม้กระทั่งมีการเลือกตั้งปลอม ๆ มีรัฐธรรมนูญปลอม ๆ มีรัฐสภา (ดิฉันจะเรียกว่าปลอม ๆ ก็ได้) เอาตามแบบรัฐธรรมนูญ 60 นี่แหละ ก็ยังมีการไปโยนให้ศาลรัฐธรรมนูญว่ารัฐสภาไม่มีอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตราที่ให้แก้โดยที่ถือว่าไม่ได้แก้ทั้งฉบับ อันนี้เป็นต้น 

ก็คือพลังจารีตนั้นประกอบเข้ากับทหารเผด็จการกลายเป็นพลังที่กล้าแข็ง ใช้ทั้งปืน ใช้ทั้งกฎหมาย ใช้ทั้งระเบียบข้อบังคับ ใช้ทั้งประเพณีวัฒนธรรม และแนวคิดแบบจารีตทุกอย่างเลย ในการยับยั้ง ในการต่อต้าน ไม่ให้ระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจเป็นของประชาชนจริงนั้นได้เกิดขึ้นในประเทศนี้  นี่คืออุปสรรคที่ยิ่งใหญ่

ดิฉันพูดนี่ไม่ได้หมายความว่าจะแก้ตัวแทนประชาชนผู้รักประชาธิปไตย แต่ว่าอันนี้มันคือความเป็นจริงที่เราต้องยอมรับ แล้วการต่อสู้ของประชาชนที่ดูเหมือนเป็นผู้รักประชาธิปไตย 2475 ก็มีพลังจารีตอยู่ในคณะราษฎร 2475 พอมา 2516 ก็มีทั้งจารีตนิยม อนุรักษ์นิยม ที่มาเป็นแกนนำในการต่อสู้ พอมาถึง พฤษภา 35 ก็เหมือนกัน ที่ทุกวันนี้ออกมาพูด 

ในการต่อสู้ คือการต่อสู้กับเผด็จการทหารระดับหนึ่ง แต่ว่าไม่ได้ต่อสู้กับแนวคิดอนุรักษ์นิยม จารีตนิยม และผู้นำเหล่านั้น เอ็นจีโอ ปัญญาชน และผู้นำในการต่อสู้กับฝ่ายทหารที่แท้เป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยม 

ดังนั้นการต่อสู้มันจึงเหมือน “ชนะศึก” แต่ไม่ได้ “ชนะสงคราม” 

ถ้าเรามองว่ามันเป็นสงครามในการต่อสู้ระหว่าง “ระบอบ” คือ “ระบอบเก่า” กับ “ระบอบใหม่” หรือจะใช้คำว่า “ระบอบราชาธิปไตย” ที่มีรัฐธรรมนูญและไม่มีรัฐธรรมนูญ กับ “ระบอบประชาธิปไตย” ที่ต้องการมีรัฐธรรมนูญที่เป็นอำนาจของประชาชนจริง การต่อสู้ระหว่างสองระบอบจะเรียกว่าสงครามก็ได้ แต่เราต่างกับพม่าตรงที่ว่า ดูเหมือนเราชนะศึกเล็ก ๆ น้อย ๆ เพราะนั่นเป็นการต่อสู้กับเผด็จการทหารแต่ละรอบ แต่ผู้นำในการต่อสู้และกระบวนการในการต่อสู้นั้น แค่ชนะศึกกับผู้นำทหารเท่านั้น ไม่ได้ต่อสู้เพื่อระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง

ดังนั้น ของเรามันก็เหมือนกับชนะศึกย่อย แต่ไม่ได้ชนะสงครามของระบอบ

ของพม่า ศึกย่อยก็ไม่ชนะ แต่ว่าพลังในการสู้สงครามครั้งนี้ของเขาเข้มแข็งทุกชนชั้น ทุกชนชาติ ประชาชนทุกส่วนทุกฝ่าย ของเรานี่ชนะศึก ไม่ชนะสงคราม ปัญหาก็คือชนชั้นกลางและปัญญาชนไม่ได้อยู่ฝ่ายที่ต้องการระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง แต่กลายเป็นพลังของจารีตนิยม ตรงนี้เป็นอุปสรรคอย่างยิ่งของประชาชนไทย

แน่นอน! ตอนมีรัฐประหาร 2549 มันก็เกิดปัญญาชนส่วนหนึ่งที่เขาบอกว่าเขาไม่ชอบรัฐประหาร แต่เขาก็ไม่ชอบทุนสามานย์ ก็คือ “2 ไม่เอา” (ไม่เอาทักษิณและไม่เอารัฐประหาร) ก็เลยเฉย ๆ ไม่เข้าร่วมการต่อสู้ ปัญญาชนที่มีชื่อเสียงในปัจจุบันที่เข้ามาร่วมต่อสู้ แต่ดิฉันไม่ได้ฟื้นฝอยหาตะเข็บ เพียงแต่ย้อนรอยประวัติศาสตร์ให้รู้ว่าความอ่อนแอของเราคืออะไร

ก็คือว่า ชนชั้นกลาง/ปัญญาชน ที่ต้องเป็นผู้นำในการต่อสู้นั้น ปรากฎว่าไม่ได้ต้องการระบอบประชาธิปไตยจริง อาจจะไม่ชอบทหาร เพราะว่าตัวเองไม่ได้รู้หรอกว่าตัวเองนั้นจริง ๆ ก็คือคนของฝ่ายอนุรักษ์นิยม และเป็นคนที่ได้เปรียบในฐานะชนชั้นที่ได้เปรียบในสังคม เพราะฉะนั้นเมื่อมีชนชั้นล่างและมวลชนลุกขึ้นมาต่อสู้ก็ยืนดู แล้วส่วนหนึ่งแปรสภาพไปหนุนรัฐประหารอย่างเต็มกำลัง เอ็นจีโอ 100% เกือบหมดเลย และรวมทั้งปัญญาชนเกือบหมด สื่อเกือบหมด ลองคิดดูว่าประชาชนผู้รักประชาธิปไตยที่ต่อสู้มา (เอารุ่นหลัง) ตั้งแต่ปี 49 จนถึงปัจจุบันนั้น เหนื่อยแค่ไหน? ลำบากแค่ไหน?

มาปัจจุบันเราได้นักวิชาการมากขึ้น ได้ปัญญาชนมากขึ้นในการมาร่วมขบวน และดีที่สุดก็คือปัญญาชนรุ่นใหม่ ซึ่งเขาได้เข้าใจประวัติศาสตร์การต่อสู้ของฝ่ายประชาธิปไตยในประเทศไทยทั้งจุดอ่อนและจุดแข็ง และเขาปวารณาตัวเข้ามาต่อสู้ ดังคำขวัญของเขาก็คือ “ให้มันจบที่รุ่นเรา” เพราะเขามองแล้วว่าหลายรุ่นมาตั้งแต่ 2475 จนถึงปัจจุบัน มันยังไม่จบ! พูดง่าย ๆ เขาอยากชนะสงคราม เพราะว่ารุ่นเก่า ๆ ชนะแค่ศึก แล้วก็แพ้ ๆ แล้วก็มาสู้ศึกใหม่ แต่ไม่ได้ชนะสงคราม

เพราะฉะนั้น ตรงนี้ระหว่างไทยกับพม่า ใครจะชนะสงครามระบอบ ก็ขอให้ดูกัน ความเข้มแข็งทุกชนชั้น ทุกชนชาติ เป็นของพม่า แต่ว่าประสบการณ์ในการชนะศึกและการลุกขึ้นสู้ของเยาวชนรุ่นใหม่ที่ออกมาเป็นกองหน้า ซึ่งถูกต้องตามทฤษฎีว่า “กองหน้า” ในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ควรจะเป็น “ปัญญาชน” แล้วก็มีพลังของมวลชนทุกชนชั้น ทุกชนชาติ เข้ามาร่วมส่วนด้วยกันแบบเดียวกับประเทศพม่า

ดังนั้น สิ่งที่เรียกร้องสำหรับคนไทยก็คือ ดูพม่าเป็นแบบอย่างว่า เขาจะสามัคคีทุกชนชั้น ทุกชนชาติ ได้อย่างไร แล้วก็จะได้พลังความเห็นใจจากภายนอก เพราะถ้าตราบใดที่เรายังไม่สามารถร่วมมือทุกชนชั้นได้ ยังมีส่วนพลังปัญญาชน อนุรักษ์นิยม ข้าราชการ และคนจำนวนหนึ่งซึ่งยังเชียร์ทหารอยู่ มีประชาธิปไตยปลอม ๆ อยู่แบบทุกวันนี้ การชนะสงครามก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก 

แต่ดิฉันก็หวังว่าการต่อสู้ของประชาชนพม่าก็จะส่งผลสะเทือน ทำให้โลกและทำให้ปัญญาชนทั้งในประเทศและนอกประเทศได้เข้าใจประเทศไทยมากขึ้น ดิฉันไม่อยากจะหวังว่าทหารไทยจะเข้าใจมั้ย ว่าโลกเขามองทหารเผด็จการอย่างไร ถ้าคุณไม่เข้าใจ พล.อ.ประยุทธ์ คุณดู “มิน อ่อง ลาย” เป็นตัวอย่าง ว่าโลกเขาโจมตีอย่างไร เพราะฉะนั้นดิฉันไม่แปลกใจที่เขาทำจดหมายน้อยมาถึงท่าน ก็อาจจะหมายถึงท่านเป็นกลุ่มเดียวกัน...หรือเปล่า?

ถ้าคุณอยากจะรู้ว่าโลกและคนที่มีอารยธรรมรังเกียจทหารเผด็จการอย่างไร? ดูพม่าเป็นตัวอย่าง เวลาเขาด่าพม่า อยากให้ทหารเผด็จการประเทศไทยเข้าใจและรับรู้ด้วยว่าประชาธิปไตยหลอก ๆ ของเรา เขาอาจจะไม่ด่าโดยตรง แต่ในใจเขาก็เหมือนกับที่เขาด่า “มิน อ่อง ลาย” นั่นแหละ วันนี้ลาไปก่อนนะคะ สวัสดีค่ะ.