วันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

"เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน" อัดรัฐเมินเฉย บุกหน้าสภา ร้องเยียวให้กับผู้ประกันตนมาตรา 33 และประชาชนถ้วนหน้า

 


"เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน" อัดรัฐเมินเฉย บุกหน้าสภา ร้องเยียวยาให้กับผู้ประกันตนมาตรา 33 และประชาชนถ้วนหน้า 


วันนี้ (3 ก.พ. 64) เวลา 10.00 น. ที่หน้ารัฐสภา เกียกกาย แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพ ฯ นำโดย น.ส.ธนพร วิจันทร์ ประธานเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน นัดรวมตัวหน้ารัฐสภา เกียกกาย 


เพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อประธานคณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร หลังจากขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลแล้ว แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง ในมาตรการเยียวยาแรงงานจากผลกระทบการแพร่ระบาด COVID-19 


ซึ่งหลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบโครงการเราชนะ เยียวยาประชาชนโดยเน้นอาชีพอิสระ เกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย เเต่ยกเว้นแรงงานในระบบประกันสังคม มาตรา 33 จำนวนกว่า 11 ล้านคน


โดยระหว่างรอประธานคณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ออกมารับหนังสือ เครือข่ายแรงงาน ฯ และแนวร่วม ได้สลับกันขึ้นแสดงความคิดเห็น


โดยช่วงหนึ่งเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ระบุว่า จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ยังทำให้ลูกจ้างเสียรายได้จากการถูกลดวันทำงาน ลดค่าจ้างนอกเวลาเป็นเวลาหลายเดือน เช่นเดียวกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ถูกนายจ้างเอาเปรียบ ไม่ได้รับสวัสดิการตามที่ควรได้รับ ทำให้สุดท้ายต้องออกจากงาน กลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย ทั้งที่เกิดจากการเอาเปรียบของนายจ้าง จึงเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาเยียวยา 10 ข้อ


อาทิเช่น ขยายมาตรการชดเชยรายได้พื้นฐานให้กับประชาชนทุกคน ตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไป รวมถึงแรงงานประเทศเพื่อนบ้าน ปรับปรุงขั้นตอนการเข้าถึงสิทธิ์ ได้รับเงินชดเชย กระจายรายได้ให้ผู้ค้าปลีกรายย่อยมากกว่าร้านค้าสะดวกซื้อรายใหญ่ ยกเลิกหนี้กองทุน กยศ.และจะต้องอุดหนุนช่วยเหลือค่าเช่าสถานที่ที่ถูกสั่งงดกิจการจากมาตรการโควิด-19 โดยเฉพาะผับบาร์ เป็นต้น


ขณะที่กลุ่มแรงงานข้ามชาติที่มาร่วมเรียกร้อง ขอให้ผ่อนผันแรงงานข้ามชาติที่มีอยู่ 240,000 คน โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติกลุ่มที่จำเป็นต้องต่อวีซ่ารอบสอง อีกประมาณ 1.5 ล้านคน โดยผ่อนผันระยะเวลาการขอใบอนุญาตให้กับแรงงานข้ามชาติ เนื่องจากมีปัญหาที่สถานพยาบาลหลายแห่งระงับการตรวจสุขภาพ ทำให้ไม่สามารถต่อใบอนุญาตได้ทัน เพื่อป้องกันกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย


จากนั้นตัวแทนจาก แรงงานหญิงชาวกัมพูชา กล่าวตอนหนึ่งว่า  "หนูเป็นคนกัมพูชา ไม่ใช่ว่าหนูไม่เสียภาษี หนูก็เสีย หนูต้องเสียค่าใบอนุญาตทำงาน ค่าวีซ่าด้วย จ่ายไป 12,500 บาท หนูพยายามเป็นคนถูกกฎหมาย แต่หนูถูกนายหน้าโกง ตอนนี้ยังไม่ได้วีซ่า ไปแจ้งตำรวจเขาก็บอกว่าช่วงโควิดไม่ทำงาน

.

เพราะหนูเป็นต่างด้าวใช่ไหมคะ หนูแจ้งความไปก็ไม่รับเรื่อง หนูแค่อยากได้สิทธิของหนู เงินหนูก็จ่าย อยากให้รัฐบาลดูแลบ้าง"


ต่อมา 11.00น. นายสุเทพ อู่อ้น ประธานคณะกรรมาธิการแรงงาน ออกมารับหนังสือข้อเรียกร้องจากเครือข่ายแรงงาน ฯ


ทั้งนี้นายสุเทพสัญญาว่าจะติดตามและดำเนินการเสนอต่อนายกรัฐมนตรีสั่งการไปยัง รมว.แรงงานและคลัง ให้เยียวยาประชาชนโดยด่วน


โดยรายละเอียดในหนังสือข้อเรียกร้อง ระบุว่า ที่ผ่านมาเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน เคยยื่นหนังสือผ่านตัวแทนรัฐบาลไปในวันที่ 18 ม.ค.ที่ผ่านมา ต่อมานายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ว่าจะนำเรื่องการเยียวยาผู้ประกันตนตามมาตรา 33 เข้าที่ประชุม ครม. แต่ในการประชุมเมื่อวานนี้ (2 ก.พ.) กลับไม่มีการพิจารณาวาระนี้ ดังนั้นทางกลุ่มเครือข่ายแรงงานฯ จึงขอให้กรรมาธิการแรงงานพิจารณาเพื่อผลักดันให้รัฐบาลช่วยเหลือแรงงาน ตามข้อเสนอของกลุ่มอย่างเร่งด่วน


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #COVID19 #เยียวยาถ้วนหน้า


ประมวลภาพ