วันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ป.ป.ช.แถลง ลงดาบ "เอ๋ ปารีณา" รุกที่ป่าสงวน ชี้มูลให้ศาลฎีกาวินิจฉัยตัดสิน

 


ป.ป.ช.แถลง ลงดาบ "เอ๋ ปารีณา" รุกที่ป่าสงวน ชี้มูลให้ศาลฎีกาวินิจฉัยตัดสิน


เมื่อเวลา 14.00 น.วันพุธที่ 10 ก.พ. 2564 ที่ห้องนนทบุรี 1 อาคาร 4 สำนักงาน ป.ป.ช. (สนามบินน้ำ) จังหวัดนนทบุรี นายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.โฆษกสำนักงาน ป.ป.ช.แถลงข่าวในประเด็นเรื่องกล่าวหา

น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคพลังประชารัฐ จ.ราชบุรี ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณียึดถือ ครอบครอง และใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐโดยมิชอบ ในบริเวณพื้นที่ หมู่ที่ 6 ตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี


ตามที่ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ (ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ วันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้พิจารณากรณีกล่าวหาการบุกรุกที่ดินของ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ตามที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ (บก.ปทส.) รายงานมายัง ป.ป.ช.เนื่องจากเห็นว่า น.ส.ปารีณา เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐบุกรุกที่ดิน กรณีจงใจที่จะกระทำความผิดทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.ของ ป.ป.ช.ฉบับใหม่ ซึ่ง ป.ป.ช.มีอำนาจไต่สวนจริยธรรมของนักการเมือง โดยที่ประชุมมีมติชี้มูลความผิดว่า น.ส.ปารีณาผิดจริยธรรมร้ายแรงหลายข้อด้วยกัน อาทิ ทำให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์, ผลประโยชน์ขัดกัน โดยจะสรุปสำนวน เพื่อส่งฟ้องต่อศาลฎีกาต่อไป


ล่าสุดวันนี้ นายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงกรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวน เพื่อดำเนินการ ไต่สวนข้อเท็จจริง กับนางสาวปารีณา ไกรคุปต์ โดยปรากฏข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ตามที่นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ ได้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีเข้ารับตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2562 โดยระบุว่ามีรายการที่ดินตามแบบแสดงรายการที่ดินเพื่อชำระภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท. 5) จำนวน 29 แปลง พื้นที่ประมาณ 853 – 0 – 73 ไร่ ในพื้นที่หมู่ที่ 6 ตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี โดยอาศัยพยานหลักฐานจากข้อเท็จจริงที่หน่วยงานราชการ และบุคลที่เกี่ยวข้อง ปรากฏว่า ที่ดินดังกล่าวตั้งอยู่ในเขตป่าและเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งเป็นที่ดินของรัฐ ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 1,069 (พ.ศ. 2527) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 โดยปี พ.ศ. 2536 และปี พ.ศ. 2537 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้กรมป่าไม้ส่งมอบพื้นที่ให้ ส.ป.ก. เพื่อให้ไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดิน ต่อมาปี พ.ศ. 2554 มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้พื้นที่ตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน และ ส.ป.ก ได้ดำเนินการโดยปิดประกาศให้เกษตรกรผู้ถือครองที่ดินและทำประโยชน์ในที่ดินยื่นคำร้องขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวทุกปี ซึ่งที่ดินดังกล่าว ส.ป.ก. และกรมป่าไม้เป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการกำกับดูแลพื้นที่และมีอำนาจดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้


จากการไต่สวนปรากฏว่า นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ ได้ร่วมกับนายทวี ไกรคุปต์ บิดา เข้ายึดถือ ครอบครอง และทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐ พื้นที่จำนวน 711 – 2 – 93 ไร่ โดยมีพฤติการณ์ ดังนี้


ในปี พ.ศ. 2546 – พ.ศ. 2562 มีการขอใช้ไฟฟ้าต่อการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจอมบึง และชำระภาษีโรงเรือนและที่ดินต่อองค์การบริหารส่วนตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี เพื่อประกอบกิจการปศุสัตว์


ในปี พ.ศ. 2549 – พ.ศ. 2556 มีการชำระภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท. 5) ทั้ง 29 แปลง ต่อองค์การบริหารส่วนตำบลรางบัว ซึ่งมีการกระจายการถือครองที่ดินดังกล่าว โดยอาศัยชื่อบุคคลอื่นมาถือครองที่ดินในเอกสาร ภ.บ.ท. 5 จำนวนหนึ่ง และในปี พ.ศ. 2555 ได้มีการโอนกลับมาเป็นชื่อของนางสาวปารีณา ไกรคุปต์ ทั้งหมด ในปี พ.ศ. 2557 องค์การบริหารส่วนตำบลรางบัวได้ยกเลิกการเก็บภาษีบำรุงท้องที่ดังกล่าว เนื่องจากที่ดิน ภ.บ.ท. 5 เป็นแบบแสดงรายการที่ดินเพื่อชำระภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี ไม่ใช่เอกสารสิทธิ ซึ่งกรมการปกครองได้แจ้งให้ยกเลิกแบบแสดงรายการที่ดิน (ภ.บ.ท. 5) และให้งดการประเมินภาษีบำรุงท้องที่สำหรับที่ดินและการจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่สำหรับที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติหรือที่สาธารณประโยชน์ ที่ราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกัน แต่นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ ก็ยังคงยึดถือ ครอบครอง และใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว โดยไม่มีสิทธิครอบครองและมิได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ และ ส.ป.ก. แต่อย่างใด


ในปี พ.ศ. 2555 – พ.ศ. 2562 นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ ได้มีการขออนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพต่อองค์การบริหารส่วนตำบลรางบัว และใบรับรองมาตรฐานฟาร์ม “เขาสนฟาร์ม” และ “เขาสนฟาร์ม 2” บนที่ดินดังกล่าวต่อกรมปศุสัตว์ และในปี พ.ศ. 2561 ได้ยื่นจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ปารีณา ไกรคุปต์ จำกัด เพื่อประกอบกิจการดังกล่าว


ต่อมาเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2562 นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ ได้เข้าปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยยังคงยึดถือ ครอบครอง และทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐดังกล่าวโดยอ้างเอกสารแบบแสดงรายการที่ดินฯ (ภ.บ.ท. 5) ทั้ง 29 แปลงที่ถูกยกเลิกไปแล้ว และมิได้รับอนุญาต จนกระทั่งถูกตรวจสอบการครอบครองที่ดิน จาก ส.ป.ก. และกรมป่าไม้ โดย ส.ป.ก. ได้แจ้งให้นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ ส่งคืนที่ดินที่ครอบครอง และทำประโยชน์ดังกล่าวทั้งหมด อีกทั้ง กรมป่าไม้ได้ร้องทุกข์ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ให้ดำเนินคดีอาญากับนางสาวปารีณา ไกรคุปต์ ในข้อหาบุกรุกที่ดินของรัฐ เป็นพื้นที่ 711 – 2 – 93 ไร่ และคำนวณค่าเสียหายเป็นตัวเงิน จำนวน 36,224,791 บาท

คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนแล้วเห็นว่า การที่นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะผู้แทนของประชาชน ซึ่งจะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม โดยปราศจากความขัดกันแห่งผลประโยชน์ และต้องประพฤติปฏิบัติตนให้ถูกต้องเป็นแบบอย่างที่ดี อยู่ในกรอบของจริยธรรมในการดำรงตน เคารพ ยึดถือ และปฏิบัติ ตามกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ซึ่งบัญญัติออกมาเพื่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน เพื่อประโยชน์ ของประชาชนหรือประโยชน์ของรัฐ มากกว่าการคำนึงถึงประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องนั้น แต่กลับไม่ยึดถือระเบียบ หลักเกณฑ์ กฎหมาย และไม่ประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีในการปฏิบัติตามกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวกับเรื่องการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นประโยชน์สาธารณะที่สำคัญ หรือเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ดินที่มีเจตนารมณ์เพื่อต้องการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบความเดือดร้อน และลดความเหลื่อมล้ำในฐานะของบุคคลในทางเศรษฐกิจและสังคม จึงมีมติว่า กรณีที่นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ยึดถือ ครอบครอง และใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐโดยมิชอบดังกล่าว เป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม อันถือว่ามีลักษณะร้ายแรง และกรณีเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกระทำการใดที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง อันถือว่ามีลักษณะร้ายแรงตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ข้อ 11 ข้อ 17 ประกอบ ข้อ 27 วรรคสอง ให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัยต่อไป


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์


ประมวลภาพ