วันพุธที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

สิ้นแล้ว "สำเนา ไสยเกื้อ" บิดา "ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ" จัดงานศพตามคำสั่งพ่อ!

ภาพครอบครัว "ใสยเกื้อ" 

15 ก.ค. 63 เป็นวันที่ศาลอาญา รัชดาภิเษก นัดสืบพยานโจทก์ในคดีการชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลเมื่อปี 2552 คุณณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็นหนึ่งใน 13 จำเลยของคดีนี้ โดยมีการเบิกตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ซึ่งคุณณัฐวุฒิอยู่ในเรือนจำตั้งแต่วันที่ 26 มิ.ย. 63 ตามคำพิพากษาฎีกาในคดีชุมนุมหน้าบ้านสีเสาเทเวศร์เมื่อปี 2550 เป็นเวลา 2 ปี 8 เดือน

ซึ่งวันที่ 15 นั้นเองเป็นวันที่คุณณัฐวุฒิได้ทราบข่าวการเสียชีวิตของบิดา "นายสำเนา ไสยเกื้อ" ขณะอยู่ในห้องพิจารณาคดี โดยมีคุณแม่ปรียา นาคแก้ว (มารดาคุณณัฐวุฒิ), นางสิริสกุล ใสยเกื้อ (ภรรยาคุณณัฐวุฒิ) พร้อมทั้งมิตรสหายและมวลชนให้กำลังใจเป็นจำนวนมาก 

เมื่อสูญเสียคุณพ่อสำเนาไป คุณณัฐวุฒิได้เขียนความในใจส่งให้ทีมงานโพสต์ในเพจ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ความว่า
.....

พี่เต้นบอกให้เราจดและโพสต์ข้อความนี้

พ่อครับ

เมื่อคืนตอน 5 ทุ่ม ผมสะดุ้งตื่นในเรือนจำ ไม่นึกว่าจะเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับลมหายใจสุดท้ายของพ่อ

วันนี้แม่มากอดผมแล้วร้องไห้หน้าห้องพิจารณาคดี ผมยขังไม่ทราบข่าว กลับปลอมแม่ว่าอย่าร้อง นี่คือการต่อสู้อีกวาระหนึ่งของผม เข้ามาข้างในจึงทราบว่าพ่อไม่อยู่แล้ว

ด้วยเหตุผลของคน 2 คน ทำให้พ่อแยกทางไปตั้งแต่ผมอายุได้ 2 เดือนเศษ แม้ไม่ได้ใกล้ชิดกับพ่อมากนัก แต่เมื่อผมเป็นพ่อคน ลูก ๆ ทำให้ผมเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่า ความผูกพันพ่อลูกยิ่งใหญ่เพียงใด

จนโตขึ้นผมได้ใกล้ชิดกับพ่อ หลายครั้งผมเห็นแววตาพ่อเป็นสุข ในใจผมเองก็มีความสุข ผมสัมผัสได้ว่าหลายครั้งที่พ่อทำอะไรให้ลูก ๆ ผม ใจพ่อคงกำลังคิดว่าทำสิ่งนั้นให้ผมอยู่ด้วย ผมยังจำภาพที่พ่อเอาลูกชายผมขี่คอในแปลงผักที่เขาใหญ่ได้แจ่มชัด

ปู่คงรู้สึกว่าได้แบกทั้งลูกและหลานไปพร้อมกัน

เมื่อพ่อป่วย ผม แก้ม และลูก ๆ ของพ่อทุกคนช่วยกันดูแลพ่อเต็มกำลัง ใจพ่อสู้ พวกเราก็ไม่ถอย แต่ในที่สุดก็มิอาจฝืนกฎธรรมชาติได้

พ่อบ่นมาตลอดว่าอยากกลับใต้ จนใจที่อาการเจ็บป่วยทำให้แพทย์ไม่อนุญาตให้เดินทาง พอทราบเรื่องผมบอกทุกคนว่าจะพาพ่อกลับทำพิธีที่สิชล แต่เคารพคำสั่งเสียของพ่อจึงจะทำทุกอย่างตามนั้น

ผมมึนงงไปหมด อกมันแน่น ใจมันชา กัดฟันบอกตัวเองว่าผมจะพังทลายลงต่อหน้าผู้คนไม่ได้

พ่อเข้มแข็งมาทั้งชีวิต พ่อครับขอความเข้มแข็งของพ่อเป็นแรงอุ้มผมด้วย

กราบพ่อ
เต้น

....

15 ก.ค. 63 พิธีรดน้ำศพ คุณพ่อสำเนา ไสยเกื้อ และพิธีสวดพระอภิธรรมคืนแรก โดยมีครอบครัวใสยเกื้อ และนายก่อแก้วพิกุลทอง เป็นเจ้าภาพ




16 ก.ค. 63 พิธีสวดพระอภิธรรมคืนที่ 2 โดยคืนนี้ นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ (ภรรยามาแทน), พรรคเพื่อไทย และคณะผู้บริหารและเพื่อนพนักงาน บริษัทกลุ่ม T.P. Group เป็นเจ้าภาพร่วม

ภาพจาก เพจ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ
17 ก.ค. 63 พิธีสวดพระอภิธรรมคืนที่ 3 (คืนสุดท้าย) ในเวลา 19.00 น. พระราชธรรมนิเทศ หรือ พระพยอม กัลยาโณ เจ้าอาวาสวันสวนแก้ว ได้แสดงธรรมเทศนา 1 กัณฑ์ โดยมี ยูดีดีนิวส์, คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, คณะก้าวต่อไป และ ทษช. เป็นเจ้าภาพร่วม




18 ก.ค. 63 ถวายภัตตาหารเพล มาติกา - บังสุกุล และพิธีฌาปนกิจ 

ถวายภัตตาหารเพล มาติกา - บังสุกุล
ในวันฌาปนกิจศพคุณพ่อสำเนานี้เอง ทางราชทัณฑ์ได้อนุญาตให้นายณัฐวุฒิมาร่วมงานศพคุณพ่อ โดยมีเจ้าหน้าที่คุมตัวมาจากเรือนจำ ซึ่งมีการประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงแจ้งผู้ร่วมงานว่า เมื่อเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ควบคุมตัวนายณัฐวุฒิมาถึงบริเวณงานแล้ว ขอความร่วมมือจากทุกท่านอย่าแตกตื่น ห้อมล้อม หรือโห่ร้องด้วยความยินดี ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ 

และเมื่อนายณัฐวุฒิเดินทางมาถึง เวลา 14.15 น. นายณัฐวุฒิได้โผเข้าสวมกอดมารดาและสนทนากับครอบครัว




จากนั้นนายณัฐวุฒิยืนขอบคุณแขกผู้มีเกียรติที่ขึ้นทอดผ้าบังสุกุลทุกท่านด้วยตนเองพร้อมครอบครัว





เมื่อทอดผ้าบังสุกุลเสร็จ นายเจตนันท์ ใสยเกื้อ (พี่ชายนายณัฐวุฒิ) ได้กล่าวประวัติโดยสังเขปของคุณพ่อสำเนา ไสยเกื้อ จากนั้นนายณัฐวุฒิได้กล่าวว่า

นมัสการพระคุณเจ้า กราบเรียน ฯพณฯ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ประธานในพิธี และท่านผู้มีเกียรติที่เคารพทุกท่านครับ

ผมขอขอบคุณกระทรวงยุติธรรม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรมราชทัณฑ์ ที่กรุณาพิจารณาคำร้องและอนุมัติตามระเบียบให้ผมได้มีโอกาสมาทำหน้าที่ลูกในวันนี้ ที่จริงสิ่งที่ไม่มีใครได้ทราบนักก็คือว่า การมาทำหน้าที่ลูกของผมในวันนี้มันมีมิติที่อาจจะแตกต่างจากการทำหน้าที่ลูกของหลาย ๆ คน

พวกเราสี่พี่น้องทุกคนได้มีโอกาสใกล้ชิดกับพ่อมากกว่าผม พี่ชายผมอายุขวบปลาย ๆ วันที่พ่อตัดสินใจด้วยเหตุผลของคนสองคนออกจากเมืองสิชลไป น้องสาวผมทั้งคู่ได้มีโอกาสอยู่กับพ่อตั้งแต่วินาทีต้นจนวินาทีสุดท้าย

สำหรับผมในห้วงเวลาที่พ่อเดินทางจากอำเภอสิชลนั้นผมอายุได้สองเดือนเศษ ผมจำเสียงพ่อไม่ได้ ผมจำอ้อมอกพ่อเมื่ออุ้มไม่ได้ เท่าที่ผมจำความได้ ผมไม่เคยร้องไห้ในตักพ่อ ผมไม่เคยอ้อนให้พ่ออุ้ม ผมรู้สึกขัดเขินทุกครั้งเมื่ออยู่ใกล้ ๆ พ่อ เพราะผมไม่แน่ใจว่าเราจะปฏิบัติแบบไหน

ดังนั้นการมายืนอยู่ที่นี่ของผมในวันนี้ สำหรับผมมากด้วยคุณค่าและความหมาย ผมได้เข้าใจอย่างลึกซึ้งว่าความผูกพันพ่อลูกมันยิ่งใหญ่ มันละเอียดอ่อนเพียงใดก็ต่อเมื่อผมเป็นพ่อคน เวลาผมเห็นลูกผมเติบโต เวลาผมได้อยู่ใกล้ ๆ เมื่อพวกเขามีความสุขหรือเป็นทุกข์ตามประสาเด็ก ผมถึงได้รู้ว่าคนเป็นพ่อรักและห่วงลูกขนาดไหน เพราะคนเป็นพ่อมีความสุขเท่าทวีคูณเพียงใดเมื่อเห็นรอยยิ้มของลูกเพียงเล็กน้อย และเจ็บปวดอย่างแสนสาหัสเท่าไหร่เมื่อได้ยินเสียงร้องไห้ของลูก

ผมจดจำความรู้สึกเหล่านั้น แต่ผมแน่ใจว่าในช่วงระยะหลังผมได้สื่อสารถ่ายเทความรู้สึกเหล่านี้กับพ่อ เพียงแต่ลูกชายอย่างผมชีวิตมันโลดโผนนัก บางคราวก็อยู่ท่ามกลางความเป็นความตาย บางครั้งก็อยู่ในสถานะที่ทุกท่านทราบอยู่ในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตามผมก็ภูมิใจที่เกิดเป็นลูกพ่อ พ่อเป็นคนอารมณ์ดี ขี้เล่นแต่เด็ดขาด พ่อเป็นคนรักเพื่อน อยู่สิชล อยู่ปัตตานี อยู่มีนบุรี อยู่เขาใหญ่ พ่อห้อมล้อมไปด้วยเพื่อนมิตรตลอดมาเป็นเช่นนี้ พ่อเป็นคนทำงานอาบเหงื่อต่างน้ำทุกวี่ทุกวัน แม้กระทั่งมีอาการเจ็บป่วยแล้วก็ยังไม่ยอมหยุดยั้งละลา พ่อเป็นคนหัวใจนักเลง คำไหนคำนั้น ยากดีมีจนเมื่อรับปากเพื่อนมิตรพี่น้องแล้วเมื่อไหร่เมื่อนั้น เท่าไหร่ก็เท่ากัน

ไม่ต่ำกว่าสามครั้งที่ภรรยาผมบอกผมว่า เมื่อได้สัมผัสกับพ่อผมแล้วเธอเห็นความเป็นผมอยู่ในตัวพ่อ และเธอบอกว่าเธอรู้แล้วว่าไอ้นิสัยบางเรื่องของผมนี่มาจากไหน ก็มาจาก “นายสำเนา ไสยเกื้อ” คนนี้
คืนวันที่ 14 กรกฎาคม ผมสะดุ้งตื่นในเรือนนอนตอนห้าทุ่ม ใจยังไม่ได้คิดอะไรเพราะเข้าใจว่าเป็นการสะดุ้งตื่นขึ้นมาโดยธรรมชาติ วันรุ่งขึ้นผมถูกเบิกตัวไปที่ศาลอาญา รัชดา ไม่มีใครบอกผม ผมไปที่หน้าห้องพิจารณาคดี แม่มาดักรอกอดผมแล้วร้องไห้ ผมก็นึกว่าแม่สะเทือนใจกับภาพที่ปรากฏต่อหน้า ก็ปลอดแม่ว่าอย่าร้อง นี่เป็นการต่อสู้อีกวาระหนึ่งของผม

ผมเดินเข้าไปในห้องพิจารณาคดี หลายคนก็มองผมด้วยสาตาเศร้าสร้อย ผมก็ไม่ได้เฉลียวใจ จนเมื่อทราบว่าพ่อไม่อยู่แล้ว ผมมีนไปหมด คิดอะไรไม่ออก น้ำตามันจะไหลออกมา แต่บอกตัวเองว่าต้องยืนหยัดไว้ให้ได้

ผมกลับไปร้องไห้ที่เรือนจำ น้ำตามันไม่ได้หมายถึงความอ่อนแอหรอกครับ มันหมายถึงความเป็นมนุษย์ เมื่อเป็นมนุษย์ที่หัวใจระอุอยู่ น้ำตามันก็ไหลแทนความรู้สึกได้

ผมมีพื้นที่ในการพูดจาในวันนี้ไม่มากนัก ก็อยากจะกราบเรียนทุกท่านว่า ความรักมันงดงามและยิ่งใหญ่ ถ้าเราได้รักใครโดยไม่มีเงื่อนไข ถ้าเราผูกพันกับใครโดยไม่ต้องการผลประโยชน์สิ่งใดตอบแทน นั่นคือรักแท้ และสำหรับผม รักของพ่อแม่ บุพการี รักของลูก รักของครอบครัว คือรักแท้

ขอกราบขอบคุณทุกคนทุกท่านที่กรุณาส่งกำลังใจส่งความห่วงใย หลายคนพูดกับผมว่าตัวเองก็อยู่ในสภาพนี้แล้วสูญเสียพ่ออีก ชีวิตมันจะเจ็บปวดไปถึงไหน กราบขอบคุณครับ แต่ไม่เป็นไร ผมสู้ได้ ไม่ว่าข้างหน้าชีวิตจะเดินไปอย่างไรต่อไป ผมสู้ได้

สำหรับผมบางเวลาอาจจะไม่ได้เป็นเช่น “คมทวน” ที่อยู่บนปลายยอด แต่ขอเป็นเช่น “คันทวน” ที่เหยียดตรงและคงเดิมตลอดเวลาไม่มีเปลี่ยนแปลง

อีกครั้งหนึ่งที่ขอขอบคุณกรมราชทัณฑ์ ท่านทำให้ชีวิตผมมีคำอธิบายกับตัวเองได้มากจริง ๆ ท่านทำให้ชีวิตผมสามารถวาดคำว่า “ลูก” ที่ผูกพันกับ “พ่อ” ได้ชัดเจนเต็มบรรทัดอย่างยิ่งจริง ๆ

ผมไม่นึกว่าผมจะได้มาในวันนี้ เมื่อผมถูกเบิกตัวไปศาลอาญา รัชดา ผมจึงใช้เวลาในห้องขังใต้ถุนศาลเขียนเพลงขึ้นเพลงหนึ่ง ตั้งใจว่าถ้าตัวเองไม่ได้มาก็จะขอใช้เพลงนี้ส่งพ่อสู่สัมปรายภพ

จากลุ่มน้ำปากพนัง ถึงท้องเลเมืองสิชล กับคนหนึ่งคนที่ยืนหยัดต่อสู้ชีวิตอย่างทรนงองอาจ พ่อไม่ได้รวยเงิน แต่พ่อรวยเพื่อน พ่อไม่ได้มีทรัพย์สมบัติมากมาย แต่พ่อมีน้ำใจมากล้น

ผมเขียนเพลงนี้ในห้องขังใต้ถุนศาลอาญาเสร็จ ก็บอกกล่าวเนื้อเพลงผ่านครอบครัวที่มาเยี่ยม ส่งต่อไปยังเพื่อนมิตรของผมสองคนคือคุณคฑาวุธ ทองไทย หรืออาจารย์ไข่ มาลีฮวนน่า และคุณอาเล็ก โชคร่มพฤกษ์ พี่น้องร่วมน้ำมิตรที่ผูกพันกันกว่า 20 ปี สองคนนี้ใช้เวลาเพียงหนึ่งคืนทำเพลงนี้จนเสร็จ แล้วอาสาตัวยินดีที่จะมาร้องส่ง “พ่อสำเนา ไสยเกื้อ” ที่นี่ เวลานี้

จากนั้นเป็นการร้องเพลง "กล่อมพ่อ" โดยคุณคฑาวุธ ทองไทย (ไข่ มาลีฮวนน่า) และคุณอาเล็ก โชคร่มพฤกษ์