ยูดีดีนิวส์ : 27 ก.พ. 63 อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ ได้มาสนทนากับท่านผู้ชม เป็นประเด็นต่อเนื่องจากการทำเฟสบุ๊คไลฟ์เมื่อวันก่อน ซึ่งวันนี้เป็นข้อสังเกตกรณียุบพรรคอนาคตใหม่ ตอนที่ 2 ประเด็น "ความชอบธรรม"
อ.ธิดา กล่าวว่า ทัศนะของดิฉันนั้นประเด็นความชอบธรรมของการยุบพรรคอนาคตใหม่มันก่อให้เกิดปฏิกิริยาดังที่เราเห็นอยู่ ซึ่งนักเรียนนักศึกษาได้ออกมาเคลื่อนไหว
สำหรับกลุ่มปัญญาชน ปัญหาของการยุบพรรคอนาคตใหม่ในเวทีรัฐสภามันสะท้อนให้เห็นว่า พรรคอนาคตใหม่ไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาหรือเปลี่ยนแปลงประเทศนี้โดยวิถีทางรัฐสภาได้เพราะถูกยุบพรรคในลักษณะที่เขาไม่เห็นด้วย
อ.ธิดากล่าวต่อไปว่า ในระบอบประชาธิปไตยนั้นจะไม่มีการยุบพรรคการเมือง พรรคการเมืองจะถูกยุบก็ต่อเมื่อประชาชนไม่สนับสนุน หมายความว่า การออกกฎหมายที่มีการยุบพรรคการเมือง โดยที่ไม่ใช่เกิดจากประชาชนไม่สนับสนุนนั้น แสดงว่าการปกครองขณะนี้ไม่ใช่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยจริง
ดังนั้นในขณะนี้ปัญหาความไม่ชอบธรรมและปัญหาความชอบด้วยกฎหมายของการยุบพรรคอนาคตใหม่จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ปรากฏการณ์ที่ผ่านมา 2 วัน และต่อเนื่องถึงวันนี้, พรุ่งนี้ และมะรืนนี้ ก็มีปฏิกิริยาลูกโซ่ของนักศึกษามหาวิทยาลัยต่าง ๆ
เวลาที่นักศึกษาอ่านคำแถลงการณ์ ก็ชัดเจนในลักษณะมีปัญหาความไม่เห็นด้วย ไม่เชื่อมั่นในวิถีทางการเมืองการปกครองปัจจุบัน พูดง่าย ๆ ว่าเขามองไม่เห็นอนาคต เพราะที่แล้วมาพวกเขาพยายามจะอดทน คิดว่ามีพรรคการเมืองโดยคนรุ่นใหม่ซึ่งเขาเชื่อมั่นในตัวผู้นำพรรค ไม่ว่าจะเป็นคุณธนาธรหรือคุณปิยบุตรก็ตาม ประหนึ่งก็เป็นความหวังของคนรุ่นใหม่
ปรากฏการณ์ที่มีนักศึกษาออกมาจำนวนมากนี้เป็นสิ่งยืนยัน และดิฉันคิดว่าคงไม่ต้องไปมองว่ามีใครอยู่เบื้องหลัง และในทัศนะดิฉันคิดว่านี่เป็นฟางเส้นสุดท้าย!!! เมื่อมีปัญหาของการยุบพรรคอนาคตใหม่ ไม่ว่าจะในประเด็นความชอบด้วยกฏหมาย ไม่ว่าจะในประเด็นความชอบธรรม ในฐานะพรรคการเมืองที่เขามักจะพูดเสมอว่าเป็นตัวแทนของประชาชนหกล้านกว่าคน
ดิฉันขออภัยศาลรัฐธรรมนูญ แต่หลายคนก็ข้องใจว่าคณะศาลรัฐธรรมนูญนั้นถ้าพิจารณาย้อนกลับไป ที่มาของคณะท่านก็ยังมีปัญหา ยังมีความสัมพันธ์กับผู้สืบทอดอำนาจที่เป็นรัฐบาลในขณะนี้
การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งขัดหรือแย้งกับหลักการในระบอบประชาธิปไตย ขัดแย้งกับความชอบด้วยกฎหมายที่มีคนโต้แย้งว่ามันไม่เหมือนกระทั่งรัฐธรรมนูญเอง ดังที่ดิฉันได้พูดถึงมาตรา 45 ที่เขียนไว้อย่างหนึ่ง แต่ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นมันไม่เหมือนกัน ดังนั้นคนจึงมีความเห็นว่าเป็นการตีความของคณะศาลรัฐธรรมนูญเอง จนกระทั่งทำให้ยุบพรรคได้...หรือเปล่า?
ก็แสดงว่าการเมืองและรัฐธรรมนูญพร้อมทั้งองค์ประกอบ เช่น องค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้อยู่ในระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจเป็นของประชาชน
เมื่อมองปัญหาความชอบธรรม มันก็คู่ขนานไปกับเรื่องการชอบด้วยกฏหมาย จึงเกิดวาทกรรมที่ขำ ๆ โต้แย้งไม่เห็นด้วย เช่น ถ้าการกู้เงินเป็นเงินบริจาค นักศึกษาที่ไปกู้เงินกยศ.ก็ไม่ต้องคืน เป็นต้น แสดงว่าวาทกรรมว่า "การกู้ยืมเงินถือเป็นการบริจาค" มีคนไม่เห็นด้วย ทำให้เกิดปัญหาความไม่ชอบธรรมซึ่งเกี่ยวข้องกับการตีความเมื่อเอาไปใช้ในชีวิตจริงของประชาชน
และที่ทำให้เกิดปัญหาคือในมาตรา 45 ที่ตีความว่าการให้กู้เงินเกิน 10 ล้านถือว่าเป็นการบริจาค ซึ่งอ.ธิดาถือว่าสำคัญมาก และถ้าดูในคำวินิจฉัยจะมีสองตอนก็คือว่า ต่อไปนี้ทุนหรือกลุ่มทุนจะมาตั้งพรรคการเมืองไม่ได้ เพราะในการตีความที่เราเคยพูดว่าทั้งครอบงำและชี้นำ
ในทัศนะดิฉัน มาตรา 45 นั้นเขียนสำหรับ "คนนอกพรรค" แต่ขณะนี้คุณธนาธรเป็น "คนในพรรค" เขาบอกว่าป้องกันไม่ให้ "คนนอกพรรค" มาครอบงำหรือชี้นำ แต่ในคำวินิจฉัยท่านอ้างมาตรา 72 บอกว่า "ไม่ถูกครอบงำหรือถูกบุคคลที่ไม่ได้เป็นสมาชิกชี้นำ ครอบงำ" แต่ตรงที่ทำให้เรามองว่านี่จะเป็นบรรทัดฐานใหม่คือ ท่านบอกว่า
เพื่อป้องกันมิให้พรรคการเมืองเป็นธุรกิจการเมือง หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งอาศัยความได้เปรียบทางการเงินมาเป็นผู้บงการพรรคแต่เพียงผู้เดียวหรือกลุ่มเดียวได้ รัฐสภาจึงตราพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองขึ้นเป็นกฏหมายตามมาตรา 45 บัญญัติไว้ (ซึ่งดิฉันมองว่า มาตรา 45 เขาพูดถึงคนนอกพรรค)
แต่ถ้าท่านมองว่าห้ามไม่ให้ใครมาครอบงำ ก็แปลว่าถ้าจ่ายเงินเยอะก็มีบทบาทในฐานะเป็นเจ้าหนี้ว่างั้นเถอะ ใครมีเงินมาลงเยอะหรือมีฐานะทางการเงินก็จะสามารถมาครอบงำหรือชี้นำ เพราะในอีกหน้าหนึ่งท่านบอกว่า
บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดอาศัยความได้เปรียบทางการเงินมาเป็นนายทุนพรรคการเมือง เพื่อบงการหรือมีอิทธิพลครอบงำและชี้นำ การดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองให้เป็นไปตามประสงค์ของตนแต่เพียงผู้เดียวหรือกลุ่มเดียวได้
แล้วก็บอกต่อไปว่ามันไม่เป็นอิสระ ทั้งหมดที่ท่านวินิจฉัยนั้นตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 45 เพราะว่า มิฉะนั้นจะส่งผลทำให้พรรคการเมืองถูกใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนโดยมิชอบด้วยกฏหมายของผู้บงการ หรือผู้มีอิทธิพลเหนือพรรคการเมือง
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นชี้ให้เห็นว่า พรรคการเมืองในประเทศไทยนั้นถูกควบคุม อันนี้ยิ่งกว่านะ!!! ทำไมท่านไม่คิดว่าผู้เขียนรัฐธรรมนูญและผู้เขียนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญคือใคร และอันนี้เป็นการกำหนดกติกา มันยิ่งกว่าครอบงำ ยิ่งกว่าชี้นำ แต่เป็นการบังคับเพื่อลงโทษ และถ้าเรายังจะต้องใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มันก็นำไปสู่ข้อสรุปว่า "นายทุน กลุ่มทุน มาตั้งพรรคการเมืองไม่ได้"
ดิฉันอยากจะเรียนว่าประวัติศาสตร์ของระบอบเสรีประชาธิปไตยเป็นประวัติศาสตร์ของการเมืองของชนชั้นใหม่ ที่มีทั้งนายทุน ชนชั้นกลาง กรรมกรผู้ใช้แรงงาน เพื่อดึงอำนาจซึ่งมาจากขุนทางอำมาตย์มาให้ประชาชน ดังนั้นกลุ่มทุนจึงเป็นกำลังสำคัญของการเมืองในระบอบประชาธิปไตย พรรคการเมืองใหญ่ ๆ ในอารยประเทศ กลุ่มทุนประกาศเปิดเผย เช่น จอร์จ โซรอส ประกาศสนับสนุนเดโมแครต, อุตสาหกรรมการทหารสนับสนุนพรรครีพับลิกัน เป็นต้น ขึ้นอยู่กับนโยบายพรรคนั้น ๆ สอดคล้องกับกลุ่มทุนกลุ่มไหน
โดนัลด์ ทรัมป์ ก็เป็นนายทุน ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะพรรคการเมืองในอารยประเทศถือว่าอำนาจประชาชนสูงสุด คนเกลียดทรัมป์เยอะมาก แต่ในที่สุด โดนัลด์ ทรัมป์ ก็ยังเป็นประธานาธิบดีอยู่ได้
ขณะนี้การเมืองของเราประกาศตัวชัดเจนว่านี่ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย ถามว่าคุณกล้าเกินไปหรือเปล่าที่จะบอกว่า "ทุนและกลุ่มทุน" มาเป็นรัฐบาลไม่ได้ มาเป็นพรรคการเมืองไม่ได้ นี่ก็เป็นประชาธิปไตยจอมปลอมที่ประกาศชัดเจน และดิฉันมองว่ามันน่าเกลียดเกินไป ไม่ต้องทำถึงขนาดนี้ก็ได้!
ถ้าคุณจะเป็นอำมาตย์ คุณจะเป็นพวกอนุรักษ์นิยม ก็เป็นให้ฉลาดหน่อย คุณก็ทำพรรคการเมืองที่เก่ง ๆ ขึ้นมา ไม่ใช่เอาแต่ป้อนกล้วยให้งูเห่า หรือเขียนกติกาที่ไปดักทาง แล้วสุดท้ายประเทศหายนะ
อ.ธิดากล่าวต่อไปว่า ขณะนี้เรากำลังอยู่ในวิกฤตนะคะ วิกฤตการเมือง วิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตสังคม กำลังจะมีปัญหาเรื่องโรคระบาดทั่วโลก เราต้องการนักการเมืองและพรรคการเมืองที่มีวิสัยทัศน์ ที่มีความเฉลียวฉลาด แล้วก็มีความสามารถที่จะทำงานในเวทีโลกได้
แต่นี่ยำเท้าจมอยู่กับการทำรัฐประหาร แล้วก็เตะตัดขากันเอง คนดี ๆ ขึ้นมาไม่ได้ เพราะฉะนั้นดิฉันเข้าใจในสิ่งที่นักศึกษาออกมา ดิฉันคิดว่านักศึกษาเหล่านั้นเขาฝากความหวังไว้กับพรรคใหม่ที่มีนักการเมืองรุ่นใหม่ เขามีความเชื่อถือ ไม่ได้เกี่ยวกับเงินและผลประโยชน์เลย มันเป็นเรื่องอุดมการณ์ชัด ๆ แต่เมื่อพรรคการเมืองนั้นถูกยุบไป ความหวังเขาก็หมด อนาคตที่เขาบอกว่าเป็นอนาคตใหม่หรืออะไรก็ตามที่เขาเลือก มันกลายเป็นว่าประเทศไทยไม่มีอนาคต
ดิฉันอยากจะเรียนว่า เรากำลังเจอวิกฤตอย่างหนัก ดิฉันเห็นใจและบอกได้เลยว่านี่เป็นฟางเส้นสุดท้าย
ไม่ใช่เงินของอนาคตใหม่!
ไม่ใช่เงินของทักษิณ!
ไม่ใช่เงินของธนาธร!
แต่มันคือปัญหาจุดยืนและอุดมการณ์ที่เขาต้องการประเทศที่มีอำนาจเป็นของประชาชน และเขามีความเชื่อมั่นว่าอนาคตเขาจะต้องดีกว่านี้
ความชอบธรรมของปัญหาการยุบพรรคอนาคตใหม่ได้สร้างแรงกระเพื่อมในการที่นักศึกษาประชาชนจะออกมา อย่าโทษใคร ท่านทำของท่านเองทั้งนั้น อ.ธิดากล่าวในที่สุด