ยูดีดีนิวส์ : 3 มี.ค. 63 การทำเฟสบุ๊คไลฟ์ของ อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ ในวันนี้ได้สนทนาถึงการขับเคลื่อนภาคประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งนิสิตนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการ เรียกร้องความยุติธรรม และกล่าวถึงความล้มเหลวในการบริหารของรัฐบาลปัจจุบัน โดยวันนี้ อ.ธิดา ได้ตั้งประเด็นในการสนทนาว่า
คำขวัญของนักศึกษาสะท้อนความขัดแย้งหลักของสังคมไทย
อ.ธิดากล่าวว่า ขณะนี้การขับเคลื่อนของนิสิตนักศึกษากำลังสำแดงพลังอย่างยิ่ง อย่างที่ไม่เคยเกิดมาก่อนนานแล้ว ภาพที่เห็นนั้นเป็นภาพที่น่าสนใจมาก ถ้าเป็นอำนาจนิยม จารีตนิยม ก็จะรู้สึกหวาดกลัว!
จริง ๆ แล้วปรากฏการณ์นี้มันไม่ได้อยู่ ๆ ก็เกิดขึ้นโดยเฉียบพลัน แต่มันมีลักษณะก่อตัวอยู่นานแล้ว เมื่อถึงเวลา เงื่อนไข เหตุผลพอสมควร สิ่งที่เรียกว่า "ฟางเส้นสุดท้าย" ก็สำแดงออกมา ในทัศนะของดิฉันนั้น...กว่าที่นิสิตนักศึกษาจะออกมาอย่างนี้ได้ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ มีการก่อตัวมาในยุคนี้แหละ (ในช่วงเวลาของการทำรัฐประหารนี้แหละ) ไม่น่าจะเกิน 10 ปี
จริง ๆ แล้วปรากฏการณ์นี้มันไม่ได้อยู่ ๆ ก็เกิดขึ้นโดยเฉียบพลัน แต่มันมีลักษณะก่อตัวอยู่นานแล้ว เมื่อถึงเวลา เงื่อนไข เหตุผลพอสมควร สิ่งที่เรียกว่า "ฟางเส้นสุดท้าย" ก็สำแดงออกมา ในทัศนะของดิฉันนั้น...กว่าที่นิสิตนักศึกษาจะออกมาอย่างนี้ได้ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ มีการก่อตัวมาในยุคนี้แหละ (ในช่วงเวลาของการทำรัฐประหารนี้แหละ) ไม่น่าจะเกิน 10 ปี
อ.ธิดากล่าวต่อไปว่า เมื่อพิจารณาคำขวัญและการขับเคลื่อน จากมหาวิทยาลัยของรัฐ มาสู่มหาวิทยาลัยเอกชน มาสู่โรงเรียนมัธยม ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนที่มีลักษณะกระจายทั่วประเทศ ดิฉันพบว่ามีคำสำคัญอยู่สองคำในคำขวัญของนักศึกษา อันหนึ่งคือคำว่า "สลิ่ม" ยกตัวอย่างเช่น
ม.เกษตรศาสตร์ #KUไม่ใช่ขนมหวานราดกะทิ
ม.มหิดล #ศาลายางดกินของหวานหลายสี
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง #พระจอมเกล้าชอบกินเหล้าไม่ชอบกินสลิ่ม
ม.กรุงเทพ #BUกูไม่ใช่สลิ่ม
ม.ราชภัฎทั่วประเทศ #ราชภัฎอยากงัดกับสลิ่ม
ม.รังสิต #บลูบานเย็นไม่ได้เป็นขนมหวาน
ม.เกษมบัณฑิต #เกษมช่อคบไฟแต่ไม่คบสลิ่ม
ม.ขอนแก่น #KKUขอโทษที่ช้าโดนสลิ่มลบโพสต์
ม.แม่โจ้ #มหาวิทยาลัยปลูกกัญชานักศึกษาไม่กินสลิ่ม
อีกคำหนึ่งคือ "เผด็จการ" ยกตัวอย่างเช่น
ม.รามคำแหง #ลูกพ่อขุนไม่รับใช้เผด็จการ
ม.สุรนารี #ถึงมออยู่ใกล้หลายค่ายก็ไม่ได้ชอบเผด็จการ
ม.พะเยา #ฟ้ามุ่ยไม่คุยกับเผด็จการ
ม.อุบล #กันเกราไม่เอากะลา (ความหมายเหมือนกับเผด็จการ)
รร.เตรียมอุดมศึกษา #เกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ
รร.เตรียมอุดมศึกษา #เกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ
ส่วน ม.จุฬาฯ #เสาหลักจะไม่หักอีกต่อไป อ.ธิดากล่าวว่า ความหมายก็หมายถึงในลักษณะต่อสู้ แต่ที่แปลกคือ ม.ธรรมศาสตร์ #ที่ยุบอนาคตใหม่พี่มหาลัยกูทั้งนั้น อันนี้ก็สะท้อนถึงปัญหาความยุติธรรม เช่นเดียวกับ ม.เชียงใหม่ #ช้างเผือกจะไม่ทน และ ม.พระจอมเกล้าธนบุรี #ศาลาวีรชนจะไม่ใช่ที่หลบฝนอีกต่อไป เป็นลักษณะของการพูดเป็นนามธรรมเกี่ยวกับความยุติธรรมและจะไม่ยอมทนอีกต่อไป ซึ่งตรงนี้ก็เป็นความหมายของการต่อต้านเผด็จการ
ในทัศนะของดิฉัน ปัจจุบันคำว่า "สลิ่ม" ความหมายก็คือมวลชนที่สนับสนุนฝ่ายรัฐประหาร จารีตนิยม ที่สำคัญปัจจุบันก็คือสนับสนุนรัฐบาลและการยังอยู่ในอำนาจต่อไป แต่ที่มาที่ไปเราก็ต้องเข้าใจว่า สัญลักษณ์สีเหลืองของพันธมิตร ซึ่งพันธมิตรได้ยกเลิกไป คนจำนวนหนึ่งก็ไม่อยากถือว่าเป็นพันธมิตร แล้วพันธมิตรก็กลายเป็นไปตั้งพรรคการเมือง พูดง่าย ๆ ว่า "สีเหลือง" ชัด ๆ ในฐานะมวลชนที่สนับสนุนการทำรัฐประหารก็ลดระดับจนหายไป กลายเป็น "สลิ่ม" หลากสี แต่วิธีคิดยังเป็นแบบเดียวกัน
ดังนั้น "สลิ่ม" จึงเป็นสิ่งที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน ที่มีการปะทะทางความคิดกับกลุ่มนิสิตนักศึกษาซึ่งเป็นฝ่ายที่ก้าวหน้า เป็นฝ่ายเสรีนิยม ยอมรับความเห็นต่าง แต่ต้องการความยุติธรรมและระบอบประชาธิปไตย พูดสั้น ๆ ว่า ต่อต้านการทำรัฐประหาร ต่อต้านการยึดอำนาจ แต่สลิ่มสนับสนุนการทำรัฐประหาร สนับสนุนรัฐบาลปัจจุบันก็เท่ากับสนับสนุนการสืบทอดอำนาจ
เราจะเห็นว่ามวลชนแบ่งเป็นสองปีก และในคำขวัญนี้ บางคำขวัญก็พูดถึงการต่อต้านเผด็จการชัดเจน การต้องการรัฐบาลที่มาจากระบอบประชาธิปไตยสะท้อนให้เห็นถึงความขัดแย้งหลักของสังคมไทยปัจจุบัน ก็คือความขัดแย้งระหว่างระบอบอำมาตยาธิปไตย คณาธิปไตย หรือว่าจารีตนิยม อำนาจนิยม กับระบอบประชาธิปไตยแบบอารยประเทศ หรือถ้าเป็นแนวทางความคิดก็คือ เป็นเสรีนิยมและระบอบการเมืองการปกครองในระบอบเสรีประชาธิปไตย ดังนั้นนี่ก็คือความขัดแย้งหลักที่แท้จริง
สัญลักษณ์ชู 3 นิ้ว ก็เป็นสัญลักษณ์ของระบอบประชาธิปไตย ข้อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ เขามีสัญลักษณ์ในการต่อสู้ตรงกันหมด (ยืนตรงแล้วชู 3 นิ้ว) ซึ่งอนาคตใหม่เวลาคุณธนาธรไปอยู่กับมวลชนก็มักจะใช้สัญลักษณ์อันนี้ อย่างนี้จะเรียกว่าเขาต่อสู้เพื่อคุณธนาธรไม่น่าจะได้ แต่ว่ามีส่วนร่วมในเชิงอุดมการณ์ ในทัศนะดิฉัน คือคุณธนาธรกับนิสิตนักศึกษาเหล่านี้คิดแบบเดียวกัน คือ ไม่เอาการสืบทอดอำนาจ ไม่เอารัฐประหาร และไม่เอารัฐบาลปัจจุบันนี้ วิธีคิด ระบบ และระบอบ กับบุคคล ไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นคนจารีตนิยมก็ถือคนเป็นสำคัญ ไม่ได้ถืออุดมการณ์และแนวคิดเป็นเรื่องสำคัญ ระบบ ระบอบ นี่ไม่สนใจเลย อ้างแต่คำว่า "คนดี" อย่างเดียว
ฉะนั้นในคำขวัญของนักศึกษาได้สะท้อนปัญหาหลักก็คือ ไม่เอาเผด็จการและบอกให้รู้ว่าฉันไม่ใช่สลิ่มนะ ไม่ใช่ขนมหวานราดกะทินะ ก็คือฉันไม่เอาพวกสืบทอดอำนาจ และได้สะท้อนให้เห็นว่าในความขัดแย้งเชิงระบอบได้แบ่งคนออกเป็นสองซีก จะเห็นได้จากมีการปะทะกันดุเดือดในโลกออนไลน์ (ไม่นับพวกรับจ้างมาคอมเม้นท์)
อ.ธิดากล่าวว่า "ดังนั้นอย่าดูเบา ไปต้อยค่านักศึกษา คิดว่านักศึกษาเป็นลูกน้องและต่อสู้เพื่อคุณธนาธร การยุคพรรคอนาคตใหม่เป็นอะไรที่ทำให้เขารู้สึกว่ามันทนไม่ได้แบบที่เขาพูดว่าจะไม่ทนอีกต่อไป เปรียบได้กับฟางที่ทับถมกันจนหลังรู้สึกหนักแล้ว เท่ากับตัดความหวังว่า เขาจะมีพรรคที่คิดแบบเขาเข้าไปทำงานในรัฐสภา ไปต่อสู้เป็นปากเสียงแทนเขา พอไปยุบพรรคและลงโทษเท่ากับว่าตัวแทนของเขาถูกทำลายในวิถีทางรัฐสภา แล้วพวกเขาจะไปทางไหน? เขาก็ต้องออกมาเรียกร้อง!
ดังที่ดิฉันเคยพูดมาก่อนหน้านี้ว่า คุณจะให้คุณธนาธรและพรรคอนาคตใหม่มีที่ยืนในรัฐสภา หรือคุณจะให้เขามายืนอยู่นอกรัฐสภา แน่นอนไม่ใช่ง่ายที่คุณธนาธรจะออกมาเป็นผู้นำ โดยเฉพาะขณะนี้มันเป็นเรื่องของนิสิตนักศึกษาซึ่งดูออกว่าเป็นพลังที่บริสุทธิ์จริง ๆ แล้วแนวทางของเขาก็ไม่เคยไปขอว่าศาลรัฐธรรมนูญต้องตัดสินใหม่นะ เขาไม่ได้พูด เพราะเขารู้ว่านี่มันเป็นเรื่องของระบบและระบอบ เพราะฉะนั้นเขารับไม่ได้กับรัฐธรรมนูญชุดนี้
นอกจากนี้ยังรับไม่ได้กับปัญหาเรื่องที่สืบเนื่องมาจากการทำรัฐประหาร คือการแต่งตั้งองค์กรอิสระ การแต่งตั้งวุฒิสมาชิก แล้ววุฒิสมาชิกก็มีโหวตเลือกนายกฯ แต่ในทัศนะดิฉัน การที่พรรครัฐบาลบอกว่าเรามารับฟัง ถ้าเขาบอกให้แก้เราจะได้นำไปใส่ในรัฐธรรมนูญ ดิฉันคิดว่าคุณประเมินนักศึกษาผิดนะ ที่เขาต้องการนั้น คุณเห็นเขาชู 3 นิ้วไหม? ข้อเรียกร้องของเขาไม่ใช่เป็นแบบขนมหวานนะ
สิ่งที่เขาต้องการก็คือระบอบที่เหมือนกับอารยประเทศ
เสียงของคนชั้นกลาง
เสียของปัญญาชน
เสียงของคนรากหญ้า
เป็นเสียงที่มีพลังและสามารถที่จะมีอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง!!!
เพราะถ้าคุณรวมเสียงคนชั้นกลางกับมวลชนรากหญ้า คุณก็จะพบว่านี่คือเสียงส่วนใหญ่ และนี่คือเสียงที่จะต้องกำหนดชะตากรรมของประเทศนี้ เพราะฉะนั้นเพลงที่เขาร้อง Do You Hear The People Sing? คุณได้ยินเสียงที่ประชาชนร้องไหม? มันจึงไม่ใช่ง่าย ๆ บอกคนบอกว่าให้พวกน้อง ๆ มาบอกว่าอยากให้รัฐบาลทำอะไร อ.ธิดากล่าวว่า "ขอโทษ...มันไม่ใช่หน่อมแน้มอย่างนั้นนะ" ขอต้องการการเปลี่ยนแปลงที่มีศักยภาพที่จะทำให้อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนจริง อ.ธิดากล่าวต่อว่า ที่พูดอย่างนี้อย่าไปคิดว่าเราไปยุแหย่หรือชี้นำ เขาคิดของเขาแล้ว เขารู้ของเขาแล้ว
ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลพยายามที่จะพูดกล่อมเกลาประชาชนนั้น เห็นได้ชัดว่าย้อมหัวปัญญาชนไม่ได้ และนี่คือสิ่งที่เขาต้องไปปะทะกับครูบาอาจารย์จำนวนหนึ่ง พูดง่าย ๆ ว่าครูบาอาจารย์ก็คือสลิ่มนั่นแหละ (อยู่คนละข้างกับนักศึกษา) และไม่มีคำว่า "เป็นกลาง" นะ ในทัศนะของอ.ธิดา คือคุณจะเอาระบอบไหน ระบอบที่คนส่วนยอดของสังคม (ชนชั้นนำ) คณาธิปไตยเป็นใหญ่ หรือ ประชาชนเป็นใหญ่ มันมีอยู่สองอย่างเท่านั้นแหละ
คำว่า "เป็นกลาง" อาจจะหมายถึงพรรคการเมืองก็ได้ แต่ระบบ ความเชื่อ และอุดมการณ์ คนมันต้องมี เพราะ "คน" ไม่ใช่ "สัตว์" คิดเป็น สมองไม่ได้มี 84,000 เซล นี่เด็ก ๆ เขาคิดเป็น!!! ไม่ได้มีอิทธิพลใด ๆ ของคุณทักษิณ
แล้วสีเสื้อเหลืองก็หมดไปแล้ว ขณะนี้ก็มีการใส่เสื้อเหลืองในวาระต่าง ๆ ที่เป็นงานราชพิธี ราชมงคล สีเสื้อเหลืองในทางการเมืองก็ถือว่าจบ!
แล้วเสื้อสีแดงจบไหม? อ.ธิดากล่าวว่า "สีแดง" หมายถึงผู้รักความยุติธรรม ผู้รักประชาธิปไตย ไม่ได้อยู่ที่สีเสื้อที่ใส่ เหมือนกับฝั่งอนุรักษ์นิยมก็กลายเป็นสลิ่มเพราะไม่รู้ว่าสีอะไร ถ้าคุณเป็นนักประชาธิปไตย คุณรักประชาธิปไตย รักความยุติธรรม คุณต้องการให้อำนาจเป็นของประชาชน แน่นอนว่านี่เป็นอีกฝั่งหนึ่ง แปลว่ามันมีการแยกฝั่งโดยไม่ต้องเกี่ยวกับสีเสื้อ ไม่จำเป็นต้องไปคืนเสื้อ คืนธง อะไรหรอก เพราะว่ามันอยู่ที่ใจและการปฏิบัติ
ในขณะนี้ความขัดแย้งหลักจึงแบ่งออกเป็นสองส่วนว่า คุณจะเอาระบอบประชาธิปไตยแบบอารยประเทศ หรือคุณจะเอาระบอบคณาธิปไตยที่การทำรัฐประหารสามารถสืบทอดอำนาจได้ มีอยู่สองปีกเท่านั้น ไม่ต้องบอกว่าใครใส่เสื้อสีอะไร ดังนั้น สัญลักษณ์สีเสื้อไม่จำเป็นต้องเอามาอ้างถึง
แต่ความขัดแย้งหลักเป็นสิ่งที่ควรจะเข้าใจ และถ้าจะให้ดีอย่าพูดคำว่า "ผมเป็นกลาง" คุณจะเป็นกลางระหว่างใคร ระหว่างนิสิตนักศึกษากับรัฐบาลหรือ? หรือคุณมองข้อเรียกร้องของเขาเป็นอย่างไร? ถ้าคุณสนับสนุนรัฐบาลคุณก็บอกมาเลยว่าสนับสนุนรัฐบาล ไม่เหมือนกับพรรคการเมือง "เพื่อไทย กับ ประชาธิปัตย์" หรือ "ไทยรักไทย กับ ประชาธิปัตย์" คุณอาจจะบอกว่าเป็นกลาง ผมไม่ได้อยู่ข้างไทยรักไทย และไม่ได้อยู่ข้างประชาธิปัตย์
แต่พูดถึงระบบ ระบอบ อุดมการณ์นั้น คุณต้องมี! ไม่มีคำว่า "เป็นกลาง" สำหรับอุดมการณ์ คุณต้องมีอุดมการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง มีอย่างเดียวคือคำว่า "เป็นกลาง" ไม่มี มีแต่ "ตัวเอง" ถ้าพูดภาษานักศึกษาก็มีแต่ตัวกูเอง (ประมาณนั้น) ก็คือผลประโยชน์ตัวกูเองเท่านั้นแหละ อะไรที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ตัวเองก็เลือกสิ่งนั้น แปลว่าไม่ได้มีอุดมการณ์
แต่ความขัดแย้งหลัก ดิฉันยังยืนยันว่าขณะนี้มีอยู่สองปีก แล้วก็ชัด ๆ ว่าใครอยู่ฝั่งไหน เรื่องสีเสื้อไม่ได้เป็นการบ่งชี้ใด ๆ ทั้งสิ้น มันอยู่ที่ความคิด และดิฉันก็รู้สึกสนุกกับคำขวัญของพวกนิสิตนักศึกษาค่ะ อ.ธิดากล่าวในที่สุด