ยูดีดีนิวส์ : 10 ก.พ. 63 จากเหตุการณ์ "กราดยิงที่โคราช" เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ทำให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน, เจ้าหน้าที่รัฐเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ควรเกิดขึ้นอีกในประเทศไทย เราจะเก็บรับบทเรียนครั้งนี้อย่างไร อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ ได้มาสนทนากับทุกท่านในประเด็น
ความคับแค้นใจ พฤติกรรมการเลียนแบบ และความชุ่ยของกองทัพไทย!!!
อ.ธิดากล่าวว่า "เหตุการณ์ที่ผ่านมา 2 วันนี้ ได้ทำให้ผู้คนหันมาสนใจปัญหาเรื่องของกองทัพไทยมากขึ้น ดิฉันเองก็ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บทั้งปวง และขอบคุณผู้ที่ให้ความร่วมมือช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานกู้ภัย, รปภ.ในห้าง รวมทั้งเจ้าหน้าที่และประชาชนทั่วไป, อาสาสมัครต่าง ๆ ที่ได้มาร่วมด้วยช่วยกันกับเจ้าหน้าที่ในการแก้ปัญหาและช่วยเหลือเหยื่อที่ถูกกระทำ"
อ.ธิดากล่าวต่อไปว่า "แน่นอนเหตุการณ์แรกเกิดขึ้นในบ้านของผู้บังคับบัญชา อันนี้แสดงออกถึงปัญหาความคับแค้นใจ เพราะเขาโพสต์ในเฟสบุ๊คว่าจะเอาเงินไปใช้ในนรกหรือเปล่า? และก็เป็นสิ่งที่เขาได้พยายามไต่ถามมาตลอด
แต่จากความคับแค้นใจอันนี้ สิ่งที่เขากระทำก็คือกระทำต่อผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง ซึ่งได้แก่แม่ยายของผู้บังคับบัญชา, ตัวผู้บังคับบัญชา และตัวนายหน้าผู้เกี่ยวข้อง ถ้าจบตรงนี้ นี่ก็คือความคับแค้นใจ!
แต่มันก็โยงมาถึงอันที่สามอยู่ดี ก็คือความชุ่ยของกองทัพไทย ที่ทำให้เกิดปัญหาความคับแค้นใจอันนี้ได้
ในกรณีนี้ดิฉันมองว่าปัญหาหลักอยู่ที่ "กองทัพไทย"
เพราะไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัว (ท่านนายกฯ บอกว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ต้องแก้ส่วนตัว) คำถามคือท่านปล่อยให้ผู้บังคับบัญชา มามีญาติเข้ามาเกี่ยวข้องกับธุรกิจ พูดง่าย ๆ ว่า "ทำมาหากินกับลูกน้อง" ได้อย่างไร?
ดิฉันทราบมาว่ามีการทำมาหากินกับลูกน้อง ไม่ใช่เฉพาะกรณีนี้ และไม่ใช่เฉพาะค่ายที่โคราชนี้ ยกตัวอย่างเช่น ไปหาที่ดินมาราคาถูก ๆ แล้วก็มาแบ่งล็อคขาย ที่ดินโคราชนั้นทำง่ายเพราะว่าที่มันสูง ไม่ต้องถม ไม่ต้องทำอะไรเลย ก็สามารถไปกว้านซื้อตกลงกับพวกที่ดินแปลงต่าง ๆ รวมกัน สัญญาว่าจะซื้อจะขายเท่านั้น แต่การจะทำอย่างนี้ได้ก็แปลว่าคุณต้องมีเครือข่ายที่น่าเชื่อถือ เช่น มีญาติที่เกี่ยวข้องกับผู้บังคับบัญชา หรือเกี่ยวข้องกับธนาคาร เพื่อให้ผู้ที่จะมาซื้อสามารถที่จะกู้เงินได้ ถ้าเป็นทหารก็สามารถกู้ได้กับออมทรัพย์หรือสหกรณ์ที่จะกู้ได้ ดังนั้นจึงต้องใช้อิทธิพลและความน่าเชื่อถือทั้งในการซื้อและขายที่ดิน
ถ้ามีการลงทุนหน่อยก็จะมีการสร้างบ้านด้วย ดิฉันไม่ทราบว่าปัญหามันอยู่ที่ว่าค่านายหน้า 5 หมื่น หรือซื้อบ้านแล้วยังไม่สามารถโอนได้ รายละเอียดเราจะไม่พูดถึง แต่พูดง่าย ๆ ว่า "กองทัพไทย" ปล่อยให้นายทหารระดับผู้บังคับบัญชาทำธุรกิจกับลูกน้อง ซึ่งเมื่อหากินกับลูกน้องมันก็พ้นจากคำว่า "ขูดรีด" ไม่ได้ อันนี้เป็นประการแรก ปล่อยให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร?
ไม่ใช่ที่แม่ทัพบกบอกมาเรื่องอาวุธ แต่เรื่องแรกที่สำคัญที่สุดคือคุณจะปล่อยให้นายทหารทำมาหากินแบบนี้ไม่ได้!!!
การให้เครือญาติ หรือลูก แม่ยาย คนในบ้าน ไปทำมาหากิน ส่วนหนึ่งก็ไปทำมาหากินกับเจ้าสัวหรือคนภายนอก อีกส่วนหนึ่งที่น่าเกลียดในทัศนะของดิฉัน ก็คือทำมาหากินกับลูกน้อง เพราะทหารระดับจ่าในค่ายนั้นมีจำนวนมาก
ดิฉันไม่อยากจะพูดว่า มีการพูดกันว่าในระดับพลทหารต่อไปนี้ไม่ต้องมีการเกณฑ์ ให้ใช้วิธีสมัครแล้วก็มีเงินเดือน นั่นคือการกดขี่ผู้ใต้บังคับบัญชาในฐานะผู้มีอำนาจ ใช้ให้ไปทำโน่น ทำนี่ มีการกดขี่ มีการลงโทษ อันนั้นเป็นการสร้างความคับแค้นใจแบบหนึ่ง!
แต่พอมาในระดับจ่า มันไม่ใช่การกดขี่แบบนั้นแล้ว มันก็จะเป็นความคับแค้นใจอีกแบบหนึ่ง แบบนี้ นั่นคือทำธุรกิจซึ่งเป็นการค้ากำไร ถ้าคุณทำธุรกิจโดยมีลูกน้องเป็นลูกค้า ก็เป็นการค้ากำไรกับลูกน้อง สิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นไม่ได้!!! ดิฉันไม่ทราบว่ากองทัพประเทศอื่นเขาทำกันหรือเปล่า? ดิฉันไม่เชื่อว่ามี
และนี่คือเหตุผลว่าทำไมกองทัพต้องขึ้นกับรัฐบาลพลเรือน เพราะว่าถ้าคุณถืออาวุธ คุณมีกองกำลังอาวุธ แล้วคุณทำธุรกิจ คุณปล่อยให้ทำอะไรตามใจชอบ อะไรก็เกิดขึ้นได้ ขณะนี้เรื่องนี้เป็นเรื่องเล็ก ๆ
ดิฉันอยากจะบอกว่า ทุนนิยม โดยตัวมันเองมันก็แย่แล้ว (มันคือการขูดรีด) คุณไปบอกว่านักการเมืองเป็นทุนสามานย์ แล้วทุนของนายทหารนี่เป็นทุนแบบไหน? หรือทุนของเจ้าสัวผูกขาดเป็นทุนแบบไหน? แต่ถ้าคุณมาทำกับลูกน้อง คุณก็ขูดรีดกับลูกน้อง
ปัญหาก็คือถ้ามันจบตรงผู้บังคับบัญชากับผู้กระทำก็คือปัญหาความคับแค้นใจ
หลังจากนั้นก็เกิดว่าเขาเข้าไปเอาอาวุธ ถ้าดูตามที่ พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบกเผยอาวุธที่ถูกจ่าโหดปล้นไปก่อเหตุสลด มีปืน 2 กระบอก รถทหาร พร้อมกระสุนเกือบ 800 นัด แต่ที่น่าสนใจก็คือสถานที่ที่ไปเอาอาวุธ
ที่แรกคือ ป้อมรักษาการณ์ ได้ปืนเล็กยาว 1 กระบอก กระสุน 40 นัด
ที่สอง จากกองร้อย (คลังอาวุธ) ได้ปืน ปลย. (HK) 1 กระบอก และ ปืน M60 อีก 1 กระบอก อันนี้เป็นอาวุธสงครามทั้งนั้น อ.ธิดากล่าว
จาก บก.พันฯ ได้รถยนต์บรรทุก
และจากคลังกระสุนกองพันฯ ได้กระสุนจำนวน 736 นัด
คือทีแรกดิฉันนึกว่าไปเอาจากป้อมรักษาการณ์ อันนี้ไปตั้งหลายที่ คำถามว่าดิฉันใช้คำว่า "ชุ่ย" แรงไปมั้ย?
คุณปล่อยให้คน ๆ หนึ่ง ต่อให้เขาเป็นเจ้าหน้าที่ ไปเอาอาวุธทั้งหมดนี้ได้อย่างไร ?
"ความชุ่ย" ของกองทัพไทย ไม่ใช่เฉพาะกรณีนี้ ถ้าเปิดเผยมาว่าคลังอาวุธ มีอาวุธหาย กระสุนหายเท่าไหร่ คนตกใจแน่เลย!!!
อ.ธิดากล่าวว่า "เมื่อเราค้นคว้าเรื่องการใช้อาวุธและกระสุนของกองทัพในการจัดการม็อบปี 53 เราพบว่าแต่ละที่นั้นไม่สามารถรายงานตัวเลขได้ พบปัญหามาก ปิดสต๊อกไม่ได้ ไม่รู้ว่ามันหายไปไหน ไป ๆ มา ๆ จะโยนให้ว่ามาปราบปี 53 ทั้งหมดหรือเปล่า ?
ดิฉันคิดว่า ปัญหาของการที่กองทัพไทยไม่สามารถที่จะปกป้องดูแลอาวุธยุทโธปกรณ์ อันนี้เป็นภาษีของประชาชนนะ เงินเดือนพวกคุณก็ภาษีของประชาชน เอาภาษีของประชาชนไปซื้ออาวุธแล้วก็เอามาฆ่าประชาชน นี่ขนาดจ่าคนเดียว...คุณปล่อยได้อย่างไร ?
ตอนปี 53 ผู้คนเสียชีวิตจำนวนมาก (ร่วมร้อยคน)
นี่จ่าคนเดียว...เสียชีวิต 30
ถามว่าน่ากลัวไหมถ้ากองทัพไทยยัง "ชุ่ย" แบบนี้ ไม่สามารถดูแลอาวุธยุทโธปกรณ์ได้
ถามว่าเหตุการณ์ที่ 3 จังหวัดภาคใต้ ถ้าไม่ได้ปล้นปืนไปตั้งหลายร้อยกระบอก มันจะบานปลายมากขนาดนี้ไหม? แล้วถามว่าเก็บรับบทเรียนไหม? ดูแลไหม? หลังจากนั้นอาวุธก็ยังหาย... กระสุนปิดงบไม่ลงเลย... นี่ก็เป็นความชุ่ยอันที่สองที่ดิฉันถือว่ารุนแรงมาก!
ต่อมาเป็นคำถามว่า แล้วมันเกี่ยวข้องกับการเลียนแบบไหม? ซึ่งขณะนี้มีคนพูดกันมากแม้กระทั่งนายปณิธาน วัฒนายากร ออกมาพูดเรื่องการเลียนแบบ มันก็มีความเป็นไปได้ ก็คือถ้าเขาคับแค้นใจอย่างเดียว เขาควรจะจัดการกับผู้ที่ทำให้เขาคับแค้นใจ แต่ไม่ใช่ปัจจัยเดียว ในทางความคิดของเขาก็ต้องรู้อยู่แล้วว่าต้องเสียชีวิต แต่จะเสียชีวิตอย่างไรในเมื่อจิตใจมันข้ามเลยไปแล้ว
การที่ไปเอาอาวุธออกมานั่นเป็นการฟ้องให้เห็นว่า ใครก็เข้าไปเอาได้ ทหารคนไหนก็ไปทำได้...เหมือนเขา แต่หลังจากนั้นดิฉันก็ไม่ทราบว่ามันเป็นปัญหาอย่างอื่นด้วยหรือเปล่า?
แต่ปัญหาทางความคิดและการเลียนแบบอาจจะมีส่วนอยู่บ้าง แต่ดิฉันว่าเราไปเทียบอเมริกาไม่ได้ อเมริกาอันนั้นเป็นพลเรือน เป็นผู้ถูกกระทำเหมือนกันนะในฐานะเหยียดผิว ในฐานะคนที่จน ในฐานะเป็นชนชาติทางเอเชีย แล้วกฎหมายปืนของเขานั้นพลเรือนมีปืนได้ เพราะประวัติศาสตร์ของเขาประชาชนมีปืนเพื่อช่วยสู้รบ ซึ่งมีลักษณะพิเศษไม่เหมือนเรา แต่ของเราโดยทั่วไปการครอบครองปืนนั้นมันจะเกี่ยวข้องกับการที่ได้รับอนุญาต และการเป็นอดีต ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ, ทหาร
ดิฉันคิดว่าปัญหาการเลียนแบบก็เป็นสิ่งที่ควรระวัง และสื่อก็ไม่ควรจะทำให้เขาเป็นฮีโร่ อันนี้ดิฉันเห็นด้วย แต่ว่ามันไม่ใช่ปัจจัยทั้งหมด มันต้องเริ่มต้นจากความคับแค้น หรือจากปัญหาของบ้านเราก็คือมีปัญหาเศรษฐกิจ แต่ชนิดที่กราดยิงนั้นแปลว่าคุณต้องมีทักษะ ผ่านการฝึกฝน
ดิฉันมองว่าด้านหลักของเหตุการณ์ครั้งนี้
ผู้ที่ต้องรับผิดชอบคือ "กองทัพ"
ผู้กระทำก็เป็น "เจ้าหน้าที่" ของ "กองทัพ"
ผู้เป็นสาเหตุให้เกิดความคับแค้นและดำเนินธุรกิจโดยการเอาเปรียบลูกน้อง (หรือเปล่า) ก็เป็น "คนในกองทัพ"
แล้วอาวุธที่เอาไปฆ่าประชาชนก็เป็น "อาวุธจากกองทัพ"
ถ้าไม่ใช่ให้กองทัพรับผิดชอบเป็นด้านหลัก แล้วใครจะรับผิดชอบ
แน่นอน! เป็นเรื่องส่วนบุคคลด้วย แต่เมื่อพิจารณารวมทั้งหมดแล้ว "กองทัพไทย" ต้องรับผิดชอบ!!! ในประเด็นนี้คุณไม่ถอดบทเรียน
แต่ถ้ามองในพฤติกรรมการเรียนแบบ ดิฉันของตั้งข้อสังเกต ถ้าพูดถึงการเลียนแบบ เช่น มีคนสงสัยว่าเขาจะเลียนแบบ ผอ.คนที่วันก่อนไปกราดยิงชิงทองหรือเปล่า? แล้วก็เป็นห่วงว่าจะมีการเลียนแบบจ่าโหดอีกหรือเปล่า?
แต่ที่ดิฉันกลัวมากกว่าก็คือการเลียนแบบที่นายพลหรือนายพันเป็นผู้กระทำ ไม่ใช่จ่า การเลียนแบบของกองทัพไทยที่สำคัญในประเทศไทยคือการทำรัฐประหาร อันนัันหนักหน่วง ดังนั้นพฤติกรรมการเลียนแบบมีอยู่จริงทั้งในระดับนายพล แล้วก็อาจจะเป็นในระดับคนตัวเล็ก ๆ ซึ่งทำได้เต็มที่ก็คืออย่างรายนี้
แต่ที่มากกว่าจ่า ก็คือนายพลทั้งหลายที่ทำการรัฐประหาร แล้วเลียนแบบมาเป็นลำดับ 13 ครั้งการทำรัฐประหารในประเทศไทย อันนั้นคือชนะ แต่ที่ไม่ชนะมีอีกเป็นจำนวนมาก ดิฉันคิดว่านอกจากเราจะแก้ปัญหาการเลียนแบบของพลเรือน ของผู้ใช้อาวุธที่เป็นคนเล็กคนน้อยแล้ว เราก็ควรจะแก้ปัญหาการเลียนแบบของนายทหารใหญ่ด้วย เป็นเรื่องที่ "กองทัพไทย" ต้องมีการแก้ไขจัดการโดยสิ้นเชิง ไม่ใช่แต่เพียงปฏิรูป ต้องมีการเปลี่ยนโดยสิ้นเชิงและจำเป็นต้องขึ้นต่อรัฐบาลพลเรือนที่สามารถตรวจสอบได้ ไม่ใช่มีหน้าที่คอยอุ้ม คอยตรวจสอบส่องประชาชน คุณมี กอ.รมน. ทั่วทั้งประเทศเลย คุณไปทำเพื่ออะไร เพราะว่าตำรวจและมหาดไทยก็ดูแลได้
หน้าที่ "ทหาร" คือป้องกันอธิปไตยของประเทศ ไม่ใช่มีหน้าที่ "อุ้ม" หรือมีหน้าที่ทำรัฐประหาร หรือมีหน้าที่ที่สามารถถืออาวุธแล้วไปกระทำความรุนแรงที่ไหนก็ได้
ดิฉันก็เรียกร้องว่า "กองทัพไทย" ต้องเปลี่ยนแปลงโดยสิ้นเชิง อ.ธิดากล่าวในที่สุด