วันพฤหัสบดีที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ธิดา ถาวรเศรษฐ : วิกฤตโควิดในประเทศไทยที่แก้ไขได้ยาก! อุปสรรคที่สำคัญคือระบบคิดและระบบทำงานของรัฐบาลและข้าราชการไทย


 

ธิดา ถาวรเศรษฐ : วิกฤตโควิดในประเทศไทยที่แก้ไขได้ยาก!

 

อุปสรรคที่สำคัญคือระบบคิดและระบบทำงานของรัฐบาลและข้าราชการไทย

 

1) ปกปิดข้อมูลด้านลบ (จนกว่าจะปิดไม่ได้)  โฆษณาข้อมูลด้านบวกในการทำงานของตนเอง จนประชาชนจับได้ อันเป็นที่มาของความไม่เชื่อถือรัฐบาล ไม่เชื่อถือกระทรวงฯ แสดงออกที่ไม่อยากฉีดวัคซีนที่รัฐบาลยัดเยียดให้ 2 ตัว ประชาชนไม่อยากเสี่ยงกับวัคซีน 2 ตัวนี้ อยากได้วัคซีนที่ดีกว่านี้

 

ตามข่าวทั่วไป ขณะนี้ข้อมูลปกปิดเรื่องการติดโรคในเรือนจำร่วม 3,000 คน เป็นตัวอย่างลักษณะ “ปกปิด” ที่น่าอับอายมาก การระบาดที่ทำให้ผู้ต้องขังติดเชื้อเป็นจำนวนมากถึงขนาดนี้โดยไม่ยอมเปิดเผยข้อมูล ดังสุภาษิตว่า “ช้างตายทั้งตัว เอาใบบัวปิดไม่มิด” ราชทัณฑ์เพิ่งออกมายอมรับและเปิดเผยข้อมูลเมื่อวานนี้

 

2) การบริหาร รับ-ส่ง ผู้ตรวจพบว่าติดเชื้อไปยังโรงพยาบาลสนามหรือโรงพยาบาลแบบอื่น ๆ  รัฐมีระบบที่ล้มเหลวในการกระตือรือร้น รับ-ส่ง ข้อมูลกับผู้ป่วย  แต่เป็นธรรมดาของความเฉื่อยชาของข้าราชการไทย ไม่ปรับปรุงเทคโนโลยีรับ-ส่งข่าวสาร ข้อมูลที่ทันสมัยและทันต่อสถานการณ์ที่เลวร้าย

 

3) การบริหารการตรวจเชิงรุกน้อยเกินไป เพราะวิธีคิด วิธีทำงาน เป็นเชิงรับ ไม่ใช่เชิงรุก หวังให้คนป่วยมายังโรงพยาบาลเป็นหลัก อ้างว่าการตรวจเชิงรุกเป็นความสิ้นเปลือง ไม่พยายามใช้การตรวจเชิงรุกในรูปแบบอื่น ๆ เช่น การใช้ Rapid Test ที่มีมาใหม่ ๆ และการตรวจ PCR ยังช้าไม่ทันกาล ต้องใช้เวลาตั้ง 3 วัน จึงทราบผล ซึ่งนานเกินไปในการตรวจของหน่วยงานรัฐจำนวนมาก  “กว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้” คนไข้กว่าจะรู้ผล อาการก็ลุกลามไปมากแล้ว เรือนจำตอนนี้น่าจะติดเชื้อ 100% แล้ว

 

4) การบริหารจัดการเรื่องวัคซีน ทั้งการซื้อ การแจกจ่าย การฉีดวัคซีน ยังไม่ทันสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  ขณะที่สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ทั้งตัวเชื้อ COVID ที่เปลี่ยนไป มีความรุนแรงมากขึ้นกว่าสิบเท่า ก็ยังคิดแบบเดิม ๆ ปฏิบัติไม่ทันกาล ความคิดประหยัดเงิน ประยัดแรง คิดแบบอนุรักษ์นิยม เน้นเอาวัคซีนไทยประดิษฐ์ คิดราคาถูก (ถูกจริงไหม?) จำนวนไม่เกิน 50% ของผู้ใหญ่ เลยเอามา 60 ล้านโดส ถือว่าโชคดี ถ้าเขาคิดว่าควรฉีด 70% สงสัยจอง Astrazeneca 100 ล้านโดส (ยิ่งแย่หนักไปอีก) เมื่อเอา Sinovac มากู้สถานการณ์ไม่มีวัคซีนพลาง ๆ Sinovac ก็ยิ่งมีปัญหาอีก

 

ปรากฏว่าการวางแผนฉีดยังเหมือนเดิม เริ่มด้วยด่านหน้า (บุคลาการการแพทย์) ฉีดก่อน คิดแบบยังไม่มีวัคซีนมามากพอ ตามด้วยคนสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีผู้สมัครใจที่อายุ 60 ปีขึ้นไป ลงทะเบียน “หมอพร้อม” เพียง 10% เท่านั้น

 

แต่สถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว  เป็นระบาดรุนแรงในชุมชนเมือง ชุมชนแออัด มากที่สุดคือ กรุงเทพฯและปริมณฑล

 

คุณต้องวางแผนการฉีดวัคซีนใหม่ในสถานการณ์ใหม่แล้ว ต้องใช้การฉีดวัคซีนปิดล้อมแหล่งโรคระบาด คลัสเตอร์ใหญ่ ๆ ควบคู่กับการตรวจเชิงรุก เพื่อแยกคนติดเชื้อออกไปให้เร็วที่สุด

 

นี่ยังไปอ้อนวอนคนสูงอายุทั่วประเทศอยู่ โอเคก็ดี แต่ไม่ทันกับจุดไฟไหม้!

 

จะทำอย่างไร?

จะระดมฉีดอย่างไร?

จะได้วัคซีนมามากพอไหม?

ฉีดทันการหรือไม่?

ได้วัคซีนทางเลือกอื่นไหม?

 

5) กรณีผู้ป่วยหนักรุนแรงล้นโรงพยาบาล จะเป็นแบบอินเดียไหม? เตรียมบุคลากรแพทย์ในยามฉุกเฉิน ทั้งการจัดอบรมแพทย์เพิ่มเติม อบรมแพทย์โรคทรวงอกและแพทย์สำหรับรักษา COVID19 อบรมเร่งด่วนได้ไหม?

 

- อบรมพยาบาลและบุคลากรสำหรับผู้ป่วยหนักเพิ่มเติมได้ไหม?

- การแบ่งงานกันทำและการประสานงานระหว่างโรงพยาบาลส่วนต่าง ๆ ไปจนถึงโรงพยาบาลต่างจังหวัด กระทรวงสาธารณสุขจะเพิ่มบทบาทตนเองในการช่วยโรงพยาบาลในกรุงเทพฯและปริมณฑลอย่างไร?

- อสม.และระบบสาธารณสุขในกรุงเทพฯ มีบทบาทไหม? ไม่เห็นทำงานแบบต่างจังหวัดเลย อาจมีอุปสรรค แต่นั่นแหละ การมีโรคระบาดในเมืองใหญ่ในกรุงเทพฯ

 

*** เป็นบททดสอบการแพทย์ประเทศไทยว่าเก่งจริงอย่างที่อวดอ้าง

ตนเอง จริงหรือไม่? ***

 

ไป ๆ มา ๆ คำสัมภาษณ์ของอธิบดีกรมควบคุมโรคที่บอกว่า ข่าวที่ฉีดวัคซีนในสหรัฐฯ ให้กับคนชาติอื่น ๆ ฟรีนั้นไม่จริง  แสดงถึงวิธีคิดแบบอนุรักษ์นิยม ชาตินิยม ตามไม่ทันวิธีคิด วิธีทำงาน ของอารยประเทศ ที่เขาไม่คับแคบ ไม่ประหยัดให้เฉพาะคนในชาติ เพราะสายตาเขายาวกว่า กว้างไกลกว่า เล็งเห็นผลการฟื้นฟูเศรษฐกิจและประโยชน์ที่จะได้รับเกินค่าการลงทุนวัคซีน

 

วิธีคิด ต้องคิดระดับโลกกว้าง

วิธีทำงาน ต้องทำระดับพื้นที่อย่างทันเวลาและทันโลก

 

ธิดา ถาวรเศรษฐ

13 พ.ค. 64


#COVID19 #โควิด19

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์