วันจันทร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

#11ปีพฤษภา53 ตอนที่ 5 : ปฏิบัติการขั้นที่ 3 ในยุทธการกระชับวงล้อมราชประสงค์

 


#11ปีพฤษภา53

 

ตอนที่ 5 : ปฏิบัติการขั้นที่ 3 ในยุทธการกระชับวงล้อมราชประสงค์

 

จากบทบรรยาย "ยุทธการยิงนกในกรง"

(เหตุการณ์หลัง 10 เมษายน 2553 – 20 พฤษภาคม 2553)

 

ยุทธการกระชับวงล้อม – ราชประสงค์ – ขั้นปฏิบัติการขั้นที่ 3

 

เมื่อทุกหน่วยพร้อมปฏิบัติการร่วมสังหารหมู่ 3 เหล่าทัพด้วยกำลัง 3 กองพลได้เริ่มต้นขึ้นเช้าตรูวันที่ 19 พฤษภาคม 2553  จัดชุดอุปกรณ์เต็มกำลังอัตราศึกทั้งกำลังอาวุธประจำกายที่ทันสมัย  ชุดสไนเปอร์  หน่วยยานเกราะ  และถือได้ว่าเป็นการปรับยุทธวิธีจากบทเรียนวันที่ 10 เมษายน 2553 นั่นเอง

 

นี่คือคำสารภาพของทหารเองจากบทความในวารสารเสนาธิปัตย์  ซึ่งต่อมาภายหลังทางกองทัพได้มีการออกมาแก้ตัวว่า  เป็นเพียงทัศนคติของนายทหารท่านหนึ่งซึ่งเขียนขึ้นในหนังสือ  แสดงความสำเร็จในยุทธวิธีทางทหารเท่านั้น  ไม่ได้หมายรวมถึงการปฏิบัติการทั้งหมด

 

เมื่อปฏิบัติการขั้นตอนที่ 3 เริ่มขึ้น  ผู้เสียชีวิตก็เริ่มตายไปด้วย  เริ่มต้นที่บริเวณซอยรางน้ำของวันที่ 19 พฤษภาคม  มีผู้เสียชีวิต 2 รายคือ

 

1) นายประจวบ เจริญทิม  เสียชีวิตเวลาประมาณ 09.52 น.

2) นายปรัชญา แซ่โค้ว  เสียชีวิตเวลาประมาณ 20.00 น.  จากบาดแผลกระสุนทำลายตับและหัวใจ

 

ข้ามมายังบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ วันที่ 19 พฤษภาคม 2553  ก็มีผู้เสียชีวิตอีก 1 คน คือ น.ส.วาสินี เทพปาน  เสียชีวิตเวลาประมาณ 22.00 น. จากปอดและตับถูกทำลายจากบาดแผลกระสุนปืน

 

หน่วยกู้ชีพกำลังนำผ้าคุลมร่างนายถวิล คำมูล
และชายไทยไม่ทราบชื่อที่เสียชีวิตในเหตุการณ์
การสลายการชุมนุม 19 พ.ค. 53
ภาพโดย PEDRO UGARTE / AFP

ความตายที่ราชประสงค์ วัดปทุมวนาราม ปฏิบัติการของทหารในการสลายการชุมนุมในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553  ทหารได้แบ่งพื้นที่รับผิดชอบของการปฏิบัติการนี้ 8 ส่วน  ทหารแต่งกายแตกต่างจากเจ้าหน้าที่รัฐทั่วไป  ทั้งหมวก  อาวุธปืน  มีการติดอุปกรณ์เสริม  เช่น  ศูนย์เล็งเลเซอร์  ถูกผ้าติดที่ช่องทัดปลอกกระสุนและหมวกไหมพรมปิดหน้า

 

ภาพนายถวิล คำมูล ถูกยิงตายกลางถนน

อีกมุมภาพหนึ่งของการเข้าสลายการขุมนุม
โดยเจ้าหน้าที่รัฐยิงประชาชนเมื่อ 19 พ.ค. 53



ทหารเดินผ่านศพชายไทยไม่ทราบชื่อ
ที่ถูกยิงเสียชีวิตภายในเต็นท์ของผู้ชุมนุม


ปฏิบัติการบริเวณสวนลุมพินีของวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 นี้ ยังผลให้มีผู้ชุมนุมเสียชีวิตทั้งหมด 5 คน คือ

 

1) นายถวิล คำมูล  เวลาประมาณ 07.30 น.  ถูกยิงที่หัว

2) ชายไม่ทราบชื่อ  เสียชีวิตใกล้จุดของนายถวิล  ถูกยิงที่หัว

3) นายนรินทร์ ศรีชมพู  เวลาประมาณ 09.00 น.  จากการถูกยิงที่หัว

4) นาย Fabio Polenghi  เวลาประมาณ 10.45 น.  ถูกยิงบริเวณหน้าอก

5) นายธนโชติ ชุ่มเย็น  เวลาประมาณ 11.30 น.  ถูกยิงทะลุไตซ้ายและเส้นเลือดใหญ่


นายฟาบิโอ โปเลงกี ช่างภาพอิสระ ชาวอิตาลี
เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมเมื่อ 19 พ.ค. 53
ขณะกำลังบันทึกภาพเหตุการณ์และวิ่งหลบกระสุน
จากแยกราชดำริมุ่งหน้าไปแยกราชประสงค์

ผ่านมาถึงช่วงบ่ายก็ได้มีการประเมินสถานการณ์  และมีมติจากแกนนำ  โดยมีการประกาศยุติการชุมนุม  เนื่องจากถ้าหากการชุมนุมยังมีต่อไป  ความสูญเสียชีวิตของประชาชนจะต้องมีมากมายนับไม่ถ้วน   จึงได้ประกาศยุติการชุมนุมอย่างเป็นทางการในเวลา 13.45 น. เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553  แกนนำทั้ง 6 คนได้เดินจากเวทีราชประสงค์เข้ามอบตัวที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  ส่วนผู้ชุมนุมบางส่วนยังอยู่ที่บริเวณแยกราชประสงค์  บางส่วนไปทางถนนพระราม 1 เข้าไปที่วัดปทุมวนารามซึ่งได้ติดป้ายเป็น "เขตอภัยทาน" หมายความว่าจะไม่มีการฆ่าหรือการทำร้ายเกิดขึ้นภายในวัด จนถึงช่วงเวลา 16.00 น. ได้มีเสียงปืนดังขึ้นหลายนัดมาจากทางรางรถไฟฟ้าบีทีเอส ยิงมาที่ประตูทางเข้าวัด  จังหวะนั้นก็ได้มีเสียงร้องของชาย 2 คนซึ่งถูกยิงบริเวณประตูวัด  โดยมีกลุ่มชาย 3-4 คนวิ่งออกไปเอาร่างของผู้ถูกยิงเข้ามาภายในวัด  แต่ก็พบว่าได้เสียชีวิตแล้ว  ซึ่งผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้คือ นายอัฐชัย ชุมจันทร์ ถูกกระสุนปืนทำลายปอด และมีผู้เสียชีวิตรายต่อมาคือ นายมงคล เข็มทอง  ซึ่งถูกยิงหลังจากได้ทำการช่วยพยาบาลนายอัฐชัย ชุมจันทร์  พยานเล่าว่าขณะนั้นเขายืนอยู่ใต้ราง  และได้เห็นทหารประมาณ 3 คน เล็งปืนลงมา  จึงได้วิ่งเข้าไปภายในวัด  และเขาถูกยิงในชุดอาสาสมัครกู้ภัยสีกรมท่าเป็นรายที่ 2 ในวัดปทุมฯ  ซึ่งการเบิกความการสอบสวนคดีการตายในวัดปทุมฯ  ล่าสุดได้มีการรับสารภาพจากทหารหน่วยรบพิเศษ 3 นาย  ว่าเป็นผู้ยิงปืนเข้าไปภายในวัดปทุมฯ จากบนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส


ภาพทหารที่ประจำการอยู่บนรางรถไฟฟ้า

ภาพทหารที่ประจำการอยู่บนรางรถไฟฟ้า
หน้าวัดปทุมวนาราม

ภาพผู้เสียชีวิต 6 ศพ วัดปทุมวนาราม
ซึ่งภายหลังการไต่สวนการตาย
ศาลชี้ว่ากระสุนปืนมาจากเจ้าหน้าที่
บนรางรถไฟฟ้า

18.00 น. มีผู้ถูกยิงเสียชีวิตอีก 1 คน คือ นายสุวัน ศรีรักษา  ถูกกระสุนปืนทะลุปอดและหัวใจ  จากการสอบสวนของตำรวจพบว่าน่าจะโดนยิงตรงบริเวณหน้าห้องน้ำภายในวัดปทุมฯ  เป็นรายที่ 3 เหตุการณ์นี้มีนักข่าวต่างประเทศคือ Andrew Buncombe จากหนังสือพิมพ์ The Independent ถูกยิงบาดเจ็บ  ผู้เสียชีวิตรายที่ 4 ภายในวัดปทุมวนารามและถือเป็นการเสียชีวิตที่น่าคิด และเป็นประเด็นที่ต้องถามถึงความยุติธรรม คือกรณีของ น.ส.กมลเกด อัคฮาด  ซึ่งถูกยิงด้วยกระสุนปืน 11 แผล  ถูกยิงขณะที่กำลังช่วยเหลือผู้บาดเจ็บในเต็นท์พยาบาลภายในวัด  และในเวลาเดียวกัน นายอัครเดช ขันแก้ว ก็เป็นผู้เสียชีวิตรายที่ 5  ซึ่งถูกยิงขณะที่เข้าไปช่วยเหลือ น.ส. กมลเกด ผู้เสียชีวิตรายที่ 6  ซึ่งเป็นรายสุดท้ายที่เกิดจากยุทธการขอคืนพื้นที่ภายในวัดปทุมฯ วันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ก็คือกรณีการเสียชีวิตของ นายรพ สุขสถิตย์  ซึ่งเสียชีวิตจากการถูกยิง  สันนิษฐานได้ว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มที่เกิดขึ้นในช่วงที่ทหารได้ทำการยิงลงมาจากรางรถไฟฟ้า

 

ขณะเดียวกันบริเวณห้างเซ็นทรัลเวิลด์ก็มีผู้เสียชีวิตในช่วงนั้น คือเวลาหลังจากที่ไฟได้ไหม้ห้างเซ็นทรัลเวิลด์แล้วตั้งแต่เวลา 16.30 น. คือ นายกิตติพงษ์ สมสุข  ซึ่งพยานและการสอบสวนได้ให้การว่านายกิตติพงษ์ได้โทรศัพท์บอกกับอดีตแฟนของเขาว่าตนติดอยู่ในห้างเซ็นทรัลเวิลด์ เพราะวิ่งหนีทหารที่ไล่ยิงเข้าไป

 

และนี่คือบทสรุปของปฏิบัติการขั้นตอนที่ 3 ของยุทธการกระชับวงล้อมพื้นที่ราชประสงค์ ในขั้นการสลายม็อบที่ทหารได้เขียนบทความเป็นคำสารภาพจากปากทหารเอง  แสดงความสำเร็จของตัวเองลงอย่างภาคภูมิ  ด้วยวิธีการใช้วิธีการของการทหารในการแก้ปัญหา  แทนที่จะเลือกใช้วิธีทางการเมืองด้วยการเจรจา  แล้วยอมคืนอำนาจให้กับประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะเลือกพรรคใดเป็นรัฐบาล

 

#นปช #คนเสื้อแดง #UDDnews #ยูดีดีนิวส์


ประมวลภาพ