วันอังคารที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ : เดือนพฤษภากับการต่อสู้ของประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

 


อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ : เดือนพฤษภากับการต่อสู้ของประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

 

เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 64 อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ ได้กลับมาพบกับทุกท่านผ่านการทำเฟซบุ๊กไลฟ์อีกครั้ง โดยประเด็นที่นำมาสนทนาในวันนี้คือ

 

“เดือนพฤษภากับการต่อสู้ของประชาชนเพื่อประชาธิปไตย”

 

เมื่อมาถึงเดือนพฤษภา เราก็จะมีช่วงเวลาของการรำลึกเหตุการณ์ณ์หลายช่วง โดยทั่วไปเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. ก็เป็นวัน May Day ซึ่งในประเทศไทยก็ต้องถือว่าตั้งแต่ในช่วงยุคจอมพล ป. เป็นยุคที่ทันสมัย มีการจัดงาน May Day และใช้วันที่ 1 พ.ค. เป็น “วันกรรมกร” ภายหลังเปลี่ยนมาใช้เป็น “วันแรงงาน” ฟังให้มันเพราะขึ้น ดูจะได้ไม่ซ้าย

 

มาวันที่ 5 พ.ค. ก็จะเป็นวันรำลึกถึงคุณจิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งเป็นนักต่อสู้ปัญญาชนที่มีชื่อเสียงและก็ถือว่าได้ถูกจารึกลงในประวัติศาสตร์ด้วยพื้นฐานความสามารถในเชิงวรรณกรรม วรรณศิลป์ แม้กระทั่งการแต่งเพลง ถือว่าเป็นสุดยอด ซึ่งเป็นที่ยอมรับของปัญญาชนก้าวหน้าทั่วไปทั้งหมด

 

เกี่ยวข้องกับประเด็นสำคัญที่เราจะพูดในวันนี้ นั่นก็คือในเดือนพฤษภานั้น เราก็จะมีงานรำลึกจริง ๆ อยู่ 2 งาน ก็คือวันที่ 17 พ.ค. ก็เป็นวันรำลึกถึงเหตุการณ์ “พฤษภาเลือด” เมื่อปี 2535 แล้วก็ 19 พ.ค. ที่จะถึงนี้ ปกติเราก็จะต้องมีการจัดงานรำลึกเรื่องของพฤษภา 53

 

ดิฉันก็คิดว่าในวาระนี้ซึ่งไม่ได้มีการจัดงานรำลึกใหญ่โต เราได้พยายามที่จะทำมาตั้งแต่ตอนครบรอบ #10ปีพฤษภา53 แต่ก็จัดไม่ได้เนื่องจากโรคโควิด ก็คิดว่าปีนี้น่าจะได้จัดทดแทน ก็ปรากฏว่าสถานการณ์ยิ่งหนักเข้าไปอีกจากปีที่ผ่านมา

 

เราไม่เคยนึกว่าสถานการณ์โควิดในประเทศไทยจะรุนแรงถึงปานนี้ ในวันนี้ก็พบผู้ติดเชื้อร่วม 1 หมื่น มันจึงเป็นตัวเลข 4 ตัวที่ไม่เคยเห็นมาก่อน แล้วมันจะเพิ่มอีกหรือเปล่า? นี่ไม่ได้เป็นการมาซ้ำเติม แต่ว่ามันมีบทเรียนหลายอย่างที่ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลที่สืบทอดอำนาจมาจากการทำรัฐประหาร มุ่งช่วงชิงอำนาจทางการเมืองให้กับฝ่ายจารีตนิยมกับอำนาจนิยมนั้น ไม่มีความสามารถพอที่จะต่อสู้กับเรื่องราวที่เป็นลักษณะสากลของการทำสงครามซึ่งเป็นสงครามเชื้อโรคได้ เพราะว่าวิธีคิดต้องคิดในระดับโลกและก็ต้องเป็นการทำงานในพื้นที่ แต่ของเรามันไม่ใช่อย่างนั้น ก็คือไม่มีความคิดในระดับสากลและระดับโลก การทำงานก็ไม่สามารถที่จะเข้าข่ายของความน่าชื่นชมได้ เรามีความเข้าใจ เห็นใจ และต้องการจะช่วย แต่ก็ต้องยอมรับความจริงว่าสถานการณ์มันเลวร้ายอย่างที่ไม่ควรจะเป็น!

 

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ก็แปลว่าเราจัดงานรำลึกไม่ได้ แต่ดิฉันอยากให้ท่านผู้ชมและประชาชนช่วยแชร์ไปมาก ๆ ก็คือ ใน “ยูดีดีนิวส์” ได้พยายามเอาข้อมูลต่าง ๆ ข้อมูลของผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ ซึ่งเรารวบรวมเอาไว้ประมาณ 99 ศพ นี่ยังไม่นับที่รวมภายหลังที่มีเงื่อนงำ และตัวเลข ณ จุดต่าง ๆ ที่มีการเสียชีวิต รวมทั้งอาวุธ กระสุน และงบประมาณที่รัฐใช้ แล้วก็รายละเอียดของการไต่สวนการตายซึ่งมีคำวินิจฉัยของศาลมาทั้งหมดเป็นจำนวนมาก ดิฉันอยากให้สิ่งเหล่านี้ที่เราพยายามรวบรวมเอาไว้ได้เป็นข้อมูลสำหรับคนรุ่นปัจจุบันและรุ่นต่อไป ว่าคนในอดีตนั้นได้สูญเสียมามากอย่างไร

 

นี่เรายังไม่ได้พูดถึงเรื่องการที่ว่าถูกจับกุมคุมขังและไม่ได้ประกันตัว แล้วก็ขาดพยานหลักฐานอย่างที่ควรจะเป็น จนกระทั่งทำให้คนจำนวนหนึ่งเสียชีวิตในเรือนจำ หรือถูกคุมขังมาเป็นจำนวนมากนับจากปี 53 ไม่ได้ประกันและอยู่ในการคุมขังจนกระทั่ง 7-8 ปี บางส่วนถูกปล่อยตัว แต่บางส่วนก็ยังถูกคุมขังอยู่ ซึ่งถ้ามีการรื้อฟื้นคดี เราก็จะพบว่ามันมีความน่าสงสัยเป็นอย่างยิ่งในการพิจารณาตัดสินลงโทษ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เรียกว่า สำหรับดิฉันดังที่ได้กล่าวแล้วว่า

 

“เราทวงความยุติธรรม แต่เราไม่ได้ทวงเพราะเราคิดว่าเราจะได้รับความยุติธรรมจากการทวงจากคณะบุคคลที่ยังเกี่ยวข้องกับการทำให้เกิดการสูญเสีย มันเป็นไปไม่ได้ แต่เราก็จะทวงความยุติธรรม และเราก็จะต้องรำลึก ไม่ใช่เพียงเพื่อผู้ที่เสียไปแล้ว แต่เพื่อคนรุ่นต่อไป ให้คำนึงว่านี่คือการต่อสู้เฉกเช่นกับเหตุการณ์ 6 ตุลา ซึ่งปัญญาชนจำนวนหนึ่งที่เป็นผู้ถูกกระทำได้พยายามต่อสู้มาโดยตลอด ไม่ว่าจะทางออนไลน์ การสัมมนา หรือในการสื่อสารทุกอย่าง เพื่อให้คนรุ่นหลังจะได้เข้าใจว่าคนรุ่นก่อนหน้านี้มีความพยายามในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างไร

 

วันนี้ดิฉันก็คงจะมาพูดเปรียบเทียบเหตุการณ์ “พฤษภา35” กับ “พฤษภา53” อย่างย่อ ๆ เพื่อจะได้มีมุมมองที่อาจจะเป็นประโยชน์กับคนรุ่นใหม่ หรือแม้กระทั่งคนรุ่นเก่าซึ่งข้อมูลอาจจะถูกได้รับอีกแบบหนึ่ง

 

ภาพประกอบ เหตุการณ์พฤษภาเลือด 35
ความพยายามสืบทอดอำนาจของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร

“พฤษภา35” การต่อสู้ของประชาชนนั้นอาจจะเหมือนกับ “พฤษภา53” ตรงที่ว่ามันมีการทำรัฐประหารก่อน แต่ “พฤษภา35” เป็นการทำรัฐประหารในปี 2534 ในปี 34-35 ความจริงไม่มีใครเคยคิดว่าจะมีการทำรัฐประหาร ตัวดิฉันเองก็ไม่คิด เพราะดิฉันยังมองว่าจาก 66/33 ตอนที่มีการดึงคนออกจากป่าเข้าเมือง แล้วก็มีกองทัพมีทหารสายพิราบ ก็สามารถที่จะทำให้ยุติการต่อสู้ด้วยอาวุธได้ ดิฉันก็คิดว่ามันก็มีฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายทหารที่ฉลาด ๆ อยู่เหมือนกัน ก็ไม่ได้คิดว่ามันจะมีการทำรัฐประหาร

 

พอมีการทำรัฐประหารก็เป็นเรื่องน่าเหลือเชื่อ แล้วการทำรัฐประหารในยุคนั้นก็ยังไม่มีเล่ห์เพทุบายหรือไม่มีการหลอกลวงมากจนถึงขนาดนี้ นั่นก็คือเอาคุณอานันท์ ปันยารชุน มาเป็นนายกรัฐมนตรี แม้ว่าจะมาจากทหารก็ตาม แต่ต้องยอมรับว่าคุณอานันท์ก็ได้ทำสิ่งดี ๆ เอาไว้หลายอย่าง เอาเป็นว่าคือเขาไม่เป็นนายกฯ เอง เพราะพอจะรู้ว่าตัวเองทำไม่ได้

 

เมื่อคุณอานันท์มาเป็นนายกฯ แล้วจากนั้นก็มีความพยายามในการที่จะให้มีการเลือกตั้งกันขึ้นมาใหม่ มีความพยายามที่จะแก้รัฐธรรมนูญ แต่ที่สำคัญก็คือเมื่อ พล.อ.สุจินดา คราประยูร มีความพยายามที่จะเป็นนายกฯ ต่อ บอกว่า “เสียสัตย์เพื่อชาติ” ตรงนี้คนก็ไม่ยอม

 

เพราะคล้าย ๆ กับว่ากราฟประชาธิปไตย หลังจากพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มายัง พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ กราฟประชาธิปไตยกำลังขึ้นเป็น Exponential อ้าว อยู่ ๆ มาทำรัฐประหาร ตลาดหลักทรัพย์ก็กำลังขึ้น กลับมาทำรัฐประหาร กราฟเลยหักหัวลง ดิ่งลงหมด

 

ดังนั้นกำลังหลักก็เป็นชนชั้นกลางกับคนในเมือง ซึ่งยอมรับไม่ได้ แล้วก็มีส่วนของเอ็นจีโอ มีส่วนของปัญญาชนส่วนหนึ่ง แล้วก็มีพรรคการเมืองออกมาร่วมต่อสู้ในตอนต้น แต่จากนั้นก็กลับมามีศูนย์การนำเป็นศูนย์การนำเดียว คือก่อนหน้านั้นก็มีประมาณเหมือนช่วงเวลาเดี๋ยวนี้ มีกลุ่มนั้น มีกลุ่มนี้ มีการขัดแย้ง คนหนึ่งจะไปสนามหลวง อีกคนหนึ่งไม่ไป อีกคนจะเดินจากสนามหลวงมาสภา อีกคนก็ไม่มา ก็ทะเลาะเบาะแว้งกัน ในที่สุดก็เกิดการนำรวมศูนย์ที่เรียกว่า “สมาพันธ์ประชาธิปไตย” ซึ่งประกอบด้วย

 

ตัวแทนกรรมกร ในรุ่นนั้นก็คือ สมศักดิ์ โกศัยสุข

ตัวแทนฝ่ายปัญญาชน ก็มี คุณหมอสันต์ หัตถีรัตน์

ตัวแทนปัญญาชน 14 ตุลา ก็มี คุณหมอเหวง โตจิราการ

ตัวแทนผู้นำชุมชนในกรุงเทพฯ ก็คือ ครูประทีป อึ้งทรงธรรม

มีคุณฉลาด วรฉัตร ซึ่งประท้วงอดอาหารมาก่อนหน้านี้แล้ว

ตัวแทนฝ่ายนิสิตนักศึกษา คือ คุณปริญญา เทวานฤมิตรกุล

(มีคุณจำลอง ศรีเมือง อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หัวหน้าพรรคพลังธรรม)

 

ก็รวมเป็นองค์กรนำใหม่ และมีการขับเคลื่อน จนในที่สุดก็มีการเข้ามาปราบและจับคุณจำลอง ศรีเมืองไป หลังจากนั้นไม่มีแกนนำ ประชาชนก็ลุกขึ้นต่อสู้ในตอนกลางคืน หลังจากนั้นในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้เรียกคุณจำลองกับคุณสุจินดา ซึ่งเป็นตัวแทนที่มักจะมีความขัดแย้งกัน คือ จปร.5 (พล.อ.สุจินดา คราประยูร) และ จปร.7 (คุณจำลอง ศรีเมือง) กับคณะพรรคพวก อันนั้นเป็นมุมมองของฝ่ายปกครอง

 

แต่ว่าในมุมมองของประชาชนนั้น ประชาชนขัดแย้งกับการสืบทอดอำนาจของพล.อ.สุจินดา คราประยูร เพราะฉะนั้นจากหลาย ๆ กลุ่มก็มาเหลือกลุ่มเดียว และในที่สุดแกนนำก็ถูกจับ และออกจากที่ชุมนุม เหลือแต่ประชาชนลุกขึ้นสู้ ก็เป็นลักษณะจลาจล

 

เมื่อองค์พระประมุขออกมา พูดง่าย ๆ ว่าพล.อ.สุจินดาและคณะทหารต้องออกไปในที่สุด ก็ดูเหมือนรุ่งอรุณของประชาธิปไตยมาใหม่ ที่กราฟตกก็เริ่มผงกหัวและผงกหัวขึ้นอย่างดี จนกระทั่งได้รัฐธรรมนูญ 2540 นี่ก็คือเหตุการณ์ “พฤษภาเลือด” แน่นอนมีการปราบ มีการสูญเสีย เท่าที่นับได้ก็ประมาณ 44 ศพ แต่ที่หายไปมากกว่านั้นก็ไม่รู้ เพราะคนจนเมืองและกลุ่มคนชั้นกลางออกมา ที่เรียกกันว่า “ม็อบมือถือ” เพราะว่าเพิ่งมีมือถือเป็นการสื่อสาร แล้วก็มีพวกเพจเจอร์เป็นการสื่อสารในช่วงแรก ซึ่งถือว่าเป็นม็อบสมัยใหม่ นี่ก็คือ “พฤษภา35”

 

มาดูว่าความเหมือนกับต่างกับ “พฤษภา53”

 

“พฤษภา53” ก็มีกำเนิดมาจากปัญหาที่ก่อตัวตั้งแต่ปี 2547 – 2548 จนกระทั่งเกิดรัฐประหารปี 2549 แล้วในที่สุดก็ได้รัฐธรรมนูญ 2550 ซ้ำยังได้รัฐบาลเก่าที่ถูกรัฐประหารกลับมา จนกระทั่งเกิดความขัดแย้ง มีการจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร มีเรื่องของงูเห่า พูดง่าย ๆ ว่าผลพวงจากการทำรัฐประหารปี 2549 ได้ทำให้เกิดกระแสของการต่อต้านรัฐประหาร คือการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

 

ดิฉันจะไม่พูดถึงเรื่องของบุคคล จะพูดเฉพาะในเรื่องของฝ่ายประชาชนว่า ลุกขึ้นมาต่อต้านการทำรัฐประหารนับตั้งแต่บัดนั้น (ปี 2550) จนกระทั่งมาถึงปี 2553 ในปี 2553 ก็ถือว่าเป็นการขับเคลื่อนใหญ่ มีองค์ประกอบของคนรากหญ้า ของคนในชนบท ของคนจนเมือง ของคนชั้นกลางล่างเป็นส่วนใหญ่ และเป็นจำนวนมากมายมหาศาลทั่วประเทศ แล้วมันก็มีการปราบอย่างรุนแรง

 

ความเหมือนก็ตรงที่มีการปราบเหมือนกัน ปี 35 กับ 53

 

ปี 35 นั้น การปราบครั้งเดียว

แต่ปี 53 มีการปราบนับตั้งแต่ 10 เม.ย. แล้วทยอยมา เริ่มอีกทีก็เดือนพ.ค. จนกระทั่งปิดฉากในวันที่ 19 พ.ค. ซึ่งอีก 2 วันก็อาจจะมีการรำลึกกันเล็ก ๆ น้อย ๆ ในสถานการณ์โควิด

 

ดังนั้นมันก็มีความต่างในช่วงเวลาในการปราบ ใช้กระสุนเป็นแสน ๆ นัด กระสุนสไนเปอร์แท้ ๆ 500 กระสุนแบบ M16 ติดกล้องอีกเป็นจำนวนมากมาย ซึ่งคุณจะหาอ่านได้ใน “ยูดีดีนิวส์” และในเพจ “อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ” การสูญเสียก็มากกว่าประมาณเท่าตัว ช่วงระยะเวลาในการต่อสู้ของประชาชนกับการใช้อาวุธจริงมันยาวนาน อันนี้ก็แสดงถึงการวางแผนและความเหี้ยมโหดที่ต้องการใช้การปราบปรามด้วยอาวุธยิ่งกว่าการเจรจา

 

คือคนมากันขนาดนี้นะ ถ้าเป็นรัฐบาลทั่วไป อยู่ไม่ได้แล้ว ดังที่ดิฉันเคยบอก ของพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ มีคนมานิดเดียว ไม่กี่คน แกก็ลาออกเลย อันนี้ในช่วงนั้นของปี 53 คนมามากขนาดนั้น และยิ่งเฉพาะการแรลลี่ ขอให้ไปดูภาพได้ว่าเป็นการต่อสู้ของประชาชนที่ยิ่งใหญ่เพียงใดในปี 53

 

แน่นอนความเหมือนก็คือมาจากปัญหาการทำรัฐประหาร แล้วก็มีความพยายามที่จะไม่คืนอำนาจให้กับประชาชน

 

ปี 53 มีคนชนบทเข้ามากลายเป็นคนส่วนใหญ่ เป็นกำลังหลัก ไม่ใช่มีแต่เฉพาะคนจนเมือง แต่ว่าปี 53 ต่างกับปี 35 ตรงที่ว่า ปัญญาชน ชนชั้นกลางบน ไม่ได้มาร่วมด้วย

 

ปี 35 นั้น มีปัญญาชน มีเอ็นจีโอ มาร่วม แต่ปี 53 ไม่เลย! กลายเป็นพวกมองว่าประชาชนที่มาต่อสู้นั้นเป็นสมุนบริวารของนายทุนสามานย์ เป็นพวกควายแดง หลายคนยังกู่ไม่กลับ คนจำนวนหนึ่งกู่กลับ บอกว่าดูเหมือนมึน ๆ ตอนปี 53 ยังมึนอยู่เลย เพิ่งจะหายมึนเอาตอน 63–64 ก็มี คือผ่านมา 10 ปี จึงจะหายมึน ก็โอเค

 

แต่ตอนปี 53 นั้น มันน่าอนาถ! ที่นักวิชาการ เอ็นจีโอ และปัญญาชนส่วนใหญ่ไม่มาร่วม และนั่นคือปัญหาที่ทำให้การต่อสู้ประชาชนอ่อนไปเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา เอาอย่างนั้นก็แล้วกัน มันดังไม่พอในเวทีโลก มันไม่สามารถเข้าไปในหูของคนชั้นบน ผลสะเทือนทางสังคม ถ้าเป็นคนในชนบท เสียงมันดังน้อยกว่า

 

ภาพประกอบ เหตุการณ์พฤษภา 53
เจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธจริงปราบปรามประชาชน


ดังนั้น ปี 35 มีความได้เปรียบ และนอกจากนั้นในฐานะมีองค์พระประมุขเข้ามาจัดการ แต่ปี 53 คนได้แบ่งแยกกันมาตั้งแต่ปี 48-49 ตั้งแต่การนำของพันธมิตรประชาชนฯ มีการแบ่งแยก คนได้แบ่งแยกไปแล้ว ก็จะบอกว่าเป็นเหมือนสงครามสีก็ได้ คือคนอาจจะไม่ต้องแสดงออกชัด แต่ในใจและในสมองก็ยังมีลักษณะของความเป็นจารีตและความเกลียดชังโดยที่ข้อมูลมีไม่เพียงพอ ความเกลียดชังผิด ๆ นี่ก็คือเหตุการณ์ที่ความแตกต่างขององค์ประกอบของประชาชนระหว่างปี 35 กับปี 53 และการยุติที่จะทำให้ฝ่ายประชาชนชนะไม่ได้เกิดขึ้น เพราะทหารใช้กำลังอย่างมากมาย มากกว่า 6 หมื่นคน ในการที่มาปราบปราม กระสุนก็น่าจะเป็นประมาณ เบิกมา 7-8 แสน แล้วก็คืนเหลือแสนกว่า ไม่รู้หายไปไหน แต่ก็ใช้ไปเยอะมาก

 

* อัพเดทข้อมูลจากรายงานการคืนกระสุน ครั้งที่ 2

- มีการเบิกจ่ายกระสุน 778,750 นัด ส่งคืน 586,801 นัด ใช้ไป 191,949 นัด

- ยอดสไนเปอร์จริง 500 นัด

- กระสุนปืนซุ่มยิงดัดแปลง M1 ใช้ไป 8,482 นัด

 

ทั้งหมดนี้มันจึงทำให้ปี 35 ต่างกับปี 53

 

ปี 35 ดูเหมือนว่าประชาชนชนะ มีอนุสาวรีย์

ปี 16 ดูเหมือนประชาชนชนะ ก็มีอนุสรณ์สถาน14ตุลาคม

 

แต่ปี 53 ไม่มี!  ที่จะทำบุญเราก็ยังต้องไปเที่ยวหาที่ วัดก็ลำบาก เพราะว่าผู้กระทำยังมีอำนาจจนถึงปัจจุบัน ยังไม่สามารถทวงความยุติธรรมได้ อย่าว่าแต่จะชนะเลย เพราะฉะนั้น จะทวงความยุติธรรมให้กับผู้ที่สูญเสีย จะทำให้ความจริงปรากฏ ประชาชนต้องได้รับชัยชนะและมีอำนาจก่อน

 

ปี 35 ดูประหนึ่งเป็นชัยชนะร่วมกันของกลุ่มจารีตที่เอาชนะคณะทหาร คือเขามีความขัดแย้งกัน แต่ตราบใดที่ยังร่วมกันได้ ฝ่ายประชาชนก็ยากลำบากเหมือนปัจจุบัน แต่ดิฉันก็คิดว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน ฝ่ายประชาชน โดยเยาวชน ปัญญาชน และนักวิชาการ มาร่วมต่อสู้มากตั้งแต่ปลายปี 62 จนกระทั่งปี 63 และมาบัดนี้ แม้จะต้องถูกจับกุมคุมขัง ติดโรค ติดเชื้อกันมากมาย นี่ก็ยังอยู่ในขบวนการการต่อสู้

 

อย่างน้อยที่สุด ถ้าขบวนการของปัญญาชนและเยาวชนยังสามารถที่จะเติบโตได้ ประชาชนและมวลชนพื้นฐานนั้นรองรับอยู่แล้ว ไม่อย่างนั้นจะมีคนอย่างแบบ “ป้าเป้า” จะมีคนอย่างแบบ “เฮียซ้ง” และอีกมากมายที่อยากจะมาหนุนช่วยและปกป้องกลุ่มเยาวชนทั้งหลาย

 

ดิฉันก็ถือว่าขบวนการปี 53 มาจนบัดนี้เป็นขบวนการเดียวกัน ในฝ่ายประชาชนนั้นเป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ไม่ได้ต้องการอำนาจส่วนตน แต่ในฝ่ายที่ไม่ต้องการคืนอำนาจให้กับประชาชน ถ้าเขาสามัคคีกันได้ ก็ยังเป็นกำลังแข็งแกร่ง เพราะฉะนั้น เราก็ต้องต่อสู้ด้วยการรำลึกวีรชนที่สูญเสีย บอกเล่าเรื่องราวให้คนรุ่นต่อไปฟัง เพราะถนนสายนี้ ตายไปก็มีคนใหม่ แต่ดิฉันไม่แน่ใจว่าจารีตนิยม ตายไปแล้วลูกหลานเขาจะยังเป็นจารีตนิยมอยู่หรือเปล่า เพราะนี่มันไม่ใช่ยุคสมัยของจารีตนิยม

 

ก็ขึ้นอยู่กับว่าจารีตนิยมไทย อำนาจนิยมไทย พูดง่าย ๆ ว่า ทหารไทยกับชนชั้นนำ อภิสิทธิ์ชน ถ้าเข้าใจ แล้วยอมคืนอำนาจให้กับประชาชนด้วยดี ประเทศนี้ก็จะผ่านพ้นวิกฤตการเมืองการปกครองไปได้ แต่ถ้าไม่ใช่ ดิฉันคิดว่าความเขลาเช่นนั้น นั่นคือการทำลายประเทศไทย ทุกวันนี้แม้แต่สงครามเชื้อโรคก็ยังไม่มีปัญญาเอาชนะ คุณจะมีปัญญาเอาชนะประชาชน เยาวชนที่ก้าวหน้า ที่เขาเพียงแต่ต้องการอำนาจประชาชนคืนมาเท่านั้นเอง คุณจะชนะได้อย่างไร? อ.ธิดากล่าวในที่สุด