ยูดีดีนิวส์ : 30 ส.ค. 62 วันนี้ อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ ได้ทำเฟสบุ๊คไลฟ์โดยประเด็นที่สนทนาและขอขนานนามว่า "ป.ป.ช." องค์กรสุดยอด ของฝ่าย "จารีตนิยม" และถ้าจะเติมก็คือ
"ป.ป.ช." องค์กรสุดยอดของฝ่าย "จารีตนิยม" ที่ใช้จัดการกับฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง
อ.ธิดากล่าวว่า คือปกติในโลกนี้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่เป็นระบอบประชาธิปไตย การมีฝักฝ่ายต่าง ๆ นั้นเป็นเรื่องธรรมดา และเขาก็จัดการให้มีพรรคการเมืองเป็นตัวแทนทางความคิด เช่น พรรคฝ่ายจารีตนิยม พรรคฝ่ายเสรีนิยม พรรคที่เป็นเสรีประชาธิปไตย พรรคที่มีแนวคิดสังคมนิยม นั่นก็คือจะมีพรรคการเมืองที่เป็นประหนึ่งตัวแทนทางความคิดของประชาชนที่หลากหลาย เพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะมีแนวทางความคิดเป็นแบบเดียวกัน
ยกเว้นเป็นประเทศเผด็จการ!!!
ในประเทศไทยขณะนี้เมื่อท่านบอกว่าเข้าสู่การเมืองในระบอบประชาธิปไตย แต่ในทางความเป็นจริงนั้น องค์กรรัฐและองค์กรต่าง ๆ ที่มีอำนาจอยู่ เราก็รู้กันอยู่ว่าปัจจุบันความต่อเนื่องจากการทำรัฐประหารก็มีองค์กรอิสระและองค์กรของรัฐข้าราชการต่าง ๆ ซึ่งรัฐทหารแต่งตั้งขึ้นมา และถ้าเป็นแนวคิดก็จะเป็นแนวคิดจารีตนิยม
ซึ่งทั้งหมดนี้ดิฉันถือว่า "ป.ป.ช." เป็นองค์กรที่สุดยอด
จากปรากฎการณ์ที่แสดงมาในสองฝ่าย ที่ชัด ๆ เลยก็คือ ปรากฎการณ์ ป.ป.ช. ตีตกคดีรับทรัพย์สินเกินสามพัน ปมยืมนาฬิกาเพื่อน-แหวนแม่ ชี้เป็นการยืมในเชิงนิติประเพณี โดยที่ลักษณะนี้ ป.ป.ช. ชุดก่อนเคยวินิจฉัยว่าไม่มีความผิด ก็คือไปอ้างรถ ซึ่งตอนนี้ชัดเจนว่าไปพูดถึงรถหรูเบนท์ลี่ย์ สีชมพู ของคุณเฉลิม อยู่บำรุง ให้เป็นคดีในเชิงเปรียบเทียบ
อ.ธิดากล่าวต่อว่า แน่นอนว่าขณะนี้คดีนี้ยังไม่ออกมาร้อยเปอร์เซ็น เพราะว่าเมื่อวันที่ 28 ส.ค. ที่ผ่านมา พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวถึงการไต่สวน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กรณีการยืมนาฬิกาเพื่อน 21 เรือน เป็นการรับทรัพย์สินเกิน 3 พันบาทตามกฎหมาย ป.ป.ช. หรือไม่ว่า "เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้วินิจแัยในประเด็นนี้ และมีมติออกมาแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างรอยืนยันมติ และจะให้เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้แจงต่อสังคม รวมถึงเหตุผลที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. วินิฉัยต่อไป อย่างไรก็ตามในการลงมติกรณีนี้ตนขอถอนตัว ไม่ได้ร่วมลงมติด้วย"
รายงานข่าวแจ้งว่า คำวินิจฉัยคดีนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเสียงข้างมากให้ยกคำร้องข้อกล่าวหา พล.อ.ประวิตร รับทรัพย์สินเกิน 3 พันบาทที่สืบเนื่องจากคดียืมนาฬิกาเพื่อน 21 เรือน
อ.ธิดากล่าวต่อไปว่า โดยคนที่ไม่ร่วมในการวินิจฉัยด้วยก็คือประธาน ป.ป.ช. ซึ่งดิฉันเข้าใจ ก็คือท่านเคยเป็นหน้าห้องพล.อ.ประวิตร เป็นลูกน้องโดยตรง ส่วนคุณสุภา ปิยะจิตติ ดิฉันไม่รู้ว่าอ้างเหตุผลอะไร หรือว่ารู้ตัวเองว่าถ้าลงมติ ต้องลงอีกอย่าง...หรือเปล่า? ก็เลยขอถอนตัว ดิฉันไม่ทราบเหตุผลที่คุณสุภา ปิยะจิตติ ไม่ร่วมพิจารณาคดีนี้
ซึ่งน่าสนใจที่ว่า คุณสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า การยืมทรัพย์สินมี 2 ลักษณะ คือ
1) ยืมในเชิงพาณิชย์
2) ยืมในเชิงนิติประเพณี
ซึ่งอ.ธิดากล่าวว่า "ดิฉันไม่เข้าใจ" ทำไมการยืมมี 2 ลักษณะ ดิฉันทราบว่าเป็นการยืมทางกฎหมาย นั่นก็คือยืมเป็นลายลักษณ์อักษร กับเป็นการยืมในลักษณะเป็นส่วนตัวคือไม่มีลายลักษณ์อักษร นี่ในทัศนะดิฉันนะ
ซึ่งจริง ๆ ตามกฎหมาย ป.ป.ช. ถ้าเกิน 3 พันบาทถึงแม้ไม่มีการยืมเป็นลายลักษณ์อักษรมันก็ผิด แต่นี่ท่านใช้ศัพท์คำว่า "นิติประเพณี"
ดิฉันยอมอย่างหนึ่งก็คือ พวกอนุรักษ์นิยมจารีตนิยมมักจะมีวาทะกรรม มีศัพท์ เช่น "ขอคืนพื้นที่" ซึ่งแทนที่จะบอกว่า "สลายการชุมนุม" หรือว่า เผาบ้านเผาเมือง, ล้มเจ้า หรืออะไรต่าง ๆ จนดิฉันยกมาไม่หมด อันนี้ได้ศัพท์ใหม่ ยืมเป็นนิติประเพณี
ดิฉันอยากจะถามว่า ยืมตามกฎหมาย กับ ยืมตามประเพณี
คำว่า "นิติ" จะมาบอกว่า "ประเพณี" ในทัศนะดิฉัน...มันไม่ได้!!!
"นิติ" ก็เป็นการยืมทางกฎหมาย
"ประเพณีการยืม" มีเหรอ.....ไม่มี!!!
มีประเพณีที่ไหนเขายืมกัน...ไม่มีหรอก มีแต่ว่ายืมทางกฎหมายหรือไม่ได้ยืมทางกฎหมาย เป็นการยืมส่วนตัว
ของพล.อ.ประวิทย์ แน่นอนไม่ได้เป็นการยืมทางกฎหมาย แต่ท่านใช้คำว่า "นิติประเพณี" ดิฉันก็คิดว่า ป.ป.ช. นี่...สุดยอดจริง ๆ คือเรียกว่าแม้กระทั่งในคดีซึ่งสังคมไทยและสังคมโลกจับจ้อง ท่านยังสามารถมีวาทะกรรมว่า "นิติประเพณี"
ในโลกนี้ดิฉันคิดไม่ออกว่ามีการยืมคำว่า "นิติประเพณี" ก็เป็นว่าประเพณีทางกฎหมาย อย่างนั้นหรือ? เรารู้แต่ว่ายืมทางกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษร กับไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งท่านไม่อนุญาตอยู่แล้ว ท่านถือว่าต้องแจ้ง แต่ท่านอาจจะถือว่าในอดีตมี 1 กรณี (กรณีของคุณเฉลิม อยู่บำรุง) แต่ที่เขาพูดใกล้ ๆ กันก็คือกรณีของปลัดกระทรวง (ดูเหมือนจะเป็นกระทรวงคมนาคม) ก็ไม่รอด อันนั้นเป็นรถตู้
ก็เรียกว่าในกรณีหลังนี่ ป.ป.ช. บอกว่าไม่ได้ แต่กรณีเบนท์ลี่ย์ยืมมาใช้กี่วันแล้วเอาไปคืน กรณีรถตู้ของปลัดกระทรวงที่ต้องเจอข้อหาด้วย ใช้อยู่นานแค่ไหน มันก็เหมือนกับนาฬิกาตัวนี้ 21 เรือน ก็คือใช้มานานแค่ไหน
เอาล่ะ...ดิฉันก็ไม่อยากจะไปติดใจมากมาย เพราะว่าดิฉันเชื่อว่า ป.ป.ช. ทำได้ ทำได้มากกว่านี้ และทำมานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกรณีของพรรคประชาธิปัตย์ที่ทำให้หมดเวลา ไม่ทัน โดยเฉพาะถ้าเอา ป.ป.ช. ชุดนี้และชุดที่ต่อเนื่องเกี่ยวข้องกัน กรณีที่ยกฟ้องคำร้องที่ฟ้องคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ
ในทัศนะของดิฉัน การยกฟ้อง สำคัญกว่า การฟ้อง อีกนะ
เพราะถ้าคุณฟ้องคุณต้องไปศาล ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ, ศาลรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของนักการเมือง ก็คือศาลนั้นจะเป็นผู้พิจารณา
แต่ถ้า "ยก" แปลว่า ป.ป.ช. พิพากษาเองว่า "ไม่ผิด" เพราะฉะนั้น ป.ป.ช. ก็จัดการพิพากษาเองกรณีของนาฬิกา พล.อ.ประวิทย์ "ไม่ผิด"
พิพากษาเองว่า คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ "ไม่ผิด" ทั้ง ๆ ที่ศาลอาญารับว่ามีมูลทั้งในตอนไต่สวนและต้องการที่จะฟ้องร้องต่อ เพราะมันเป็นคดีซึ่งมีการเสียชีวิต ฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐด้วย ฟ้องรัฐบาลด้วย แม้กระทั่งรองอธิบดีศาลอาญาก็ไม่เห็นด้วย แต่ในที่สุดเมื่อโยนมาที่ ป.ป.ช. ก็พิพากษายกฟ้อง
เพราะฉะนั้น ป.ป.ช. ยกฟ้องกรณีอะไรบ้าง
- กรณีนาฬิกา 21 เรือน
- กรณีฟ้องคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ
ดังนี้เป็นต้น
แล้ว ป.ป.ช. อยากจะฟ้องกรณีอะไร
- กรณี 7 ตุลา 51 ฟ้องคุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์, พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ, พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ
ซึ่งพยายามจะฟ้องกรณีนี้ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับคดีของคุณอภิสิทธิ์และคุณสุเทพ พูดตรง ๆ ว่าดีกรีมันต่างกันมาก คดีหนึ่งพยายามจะฟ้อง อีกคดีหนึ่งไม่ฟ้อง แต่ในที่สุดก็ไปถึงศาลพิพากษา นี่คือสิ่งที่พยายามจะฟ้อง
แล้วล่าสุดความพยายามที่ ป.ป.ช. จะฟ้องคืออะไร?
ในการสัมมนาที่รายงานโดยสำนักข่าวอิศราก็คือ คดีกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสมัยคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีถึง 8 คดี ซึ่งดิฉันคิดว่า ถ้ามองว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์เป็นปฏิปักษ์กับฝ่ายจารีตนิยม แล้วถ้ามองว่า ป.ป.ช. เป็นผู้พิจารณาคดีต่าง ๆ ซึ่งสังคมตั้งข้อสงสัยว่าคุณจับจ้องจะเล่นงานอีกฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์กับฝ่ายจารีตนิยม...หรือเปล่า?
หมายถึงรัฐบาลที่ไม่ใช่ของฝ่ายจารีตนิยม
แต่ถ้าเป็นรัฐบาลของฝ่ายจารีตนิยม ดูเหมือน (ดูเหมือนนะคะ) สงสัยว่าทำอะไรเหมือนกับไม่ผิด แล้วท่านก็ยกฟ้องหมด
อันนี้ ป.ป.ช. มาอีก 8 คดี ในขณะที่ยกฟ้องในกรณีของพรรคประชาธิปัตย์, ในกรณีของพล.อ.ประวิตร แต่เตรียมฟ้อง 8 คดี
- คดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) และกันคนเอาไว้เป็นพยานด้วยนะ คนก็สงสัยว่ากันคุณบุญทรง เตริยาภิรมย์ เอาไว้เป็นพยาน
- คดีระบายมันสำปะหลัง
- คดี นปช. จัดกิจกรรมลั่นกลองรบ ในสมัยนั้นคุณจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ, คุณณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะที่เป็นรัฐมนตรี เป็นนักการเมืองในยุคนั้น ก็ดูเหมือนจะถูกแจ้งข้อหาด้วย ซึ่งดิฉันยังไม่แน่ใจ
- คดีจัดซื้อจัดจ้างโครงการขุดลอกคลอง 1.5 พันล้านบาท
- คดีโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี
- คดีปรับปรุงข้าวให้ประเทศอินโดนีเซีย
- คดีออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง มีการกล่าวหา ส.ส. จำนวน 310 ราย กรณีผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม อาจไม่เจอถอดถอน แต่เหลือคดีทางอาญา
- คดีจ่ายเงินเยียวยาผุ้ชุมนุมทางการเมือง กรณีอนุมัติเงินเยียวยาแก่ผู้ชุมนุมทางการเมือง คนละ 7 ล้านบาทกว่า
แน่นอนก็มีบางคดีในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ด้วย แต่นักการเมืองที่ถูกกล่าวหาก็ไม่ใช่นักการเมืองในฝ่ายของคุณอภิสิทธิ์ ดูเหมือนส่วนใหญ่จะเป็นนักการเมืองในพรรคร่วมรัฐบาล
ดิฉันจึงขอตั้งข้อสังเกตว่า "สุดยอด" เลยค่ะ ก็คือ ป.ป.ช. องค์กรที่ถูกตั้งขึ้นในยุครัฐธรรมนูญ 40ที่จะให้ที่มาเกี่ยวข้องกับประชาชน คือมาจากการเสนอ การรับรอง และการตรวจสอบของวุฒิสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้ง (ที่มายึดโยงกับประชาชน) แต่ตัวคณะส่วนใหญ่ก็มาจากข้าราชการ ฝ่ายตุลาการบ้าง อื่น ๆ บ้าง ส่วนมากเป็นข้าราชการเกษียณอายุ เพียงแต่ว่ามันยังยึดโยงกับประชาชนอยู่บ้างพอสมควรในรัฐธรรมนูญ 40 แต่มาปัจจุบันไม่มีอะไรยึดโยงกับประชาชนเลย
เพราะฉะนั้นในแนวคิดจารีตนิยมของตัวเองก็มีอยู่ โดยการสนับสนุนอำนาจนิยมซึ่งเป็นที่มา ก็คือ เป็นการต่ออายุและเป็นการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร และสืบเนื่องมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ ทั้งแนวคิดและที่มาไม่ได้อยู่กับประชาชน ทำงานเต็มที่ในการจัดการนักการเมืองฝั่งที่อยู่ตรงข้ามกับฝ่ายจารีตนิยม...หรือเปล่า?
ใคร ๆ ก็ตั้งข้อสังเกต
โลกก็ตั้งข้อสังเกต
แต่ ป.ป.ช. ก็ดูเหมือนจะไม่ยี่หระอะไร
อำนาจที่สูงสุดของ ป.ป.ช. ในทัศนะดิฉันก็คือ "ยกฟ้อง"
อำนาจต่อมาก็คืออำนาจจัดการฟ้อง และตั้งฟ้อง ซึ่งยังต้องอาศัยองค์กรอื่นเช่น ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ซึ่งอาจจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม
ในวันนี้สิ่งที่ให้จับตาดูก็คือ ป.ป.ช. องค์กรสุดยอดของฝ่ายจารีตนิยมที่ใช้จัดการกับฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง เราจะอยู่กันอย่างนี้ ดังที่ดิฉันบอกว่า "ไฟไหม้ตึกมันจบไปแล้ว แต่ไฟที่ยังอยู่ในหัวใจของคนมันยังลุกไหม้รุนแรง"
ป.ป.ช. จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มองเห็นว่า "ไฟในสังคมไทย" ยังไหม้รุนแรงอยู่หรือเปล่า และไม่มีท่าทีว่าจะลดและดับความรุนแรงของ ป.ป.ช. ไปเลยนะคะ อ.ธิดากล่าวในที่สุด