วันพุธที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2562

ธิดา ถาวรเศรษฐ : 'ธิดา' ชี้ เปิดตัวประธานยุทธศาสตร์ พปชร. นั่นคือ ยุทธศาสตร์คสช.และจารีตนิยมไทย !


ยูดีดีนิวส์ : 21 ส.ค. 62 วันนี้มีที่เฟสบุ๊คเพจ อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ ได้โพสต์ถึงการเปิดตัว พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐเมื่อวันก่อน โดยอ.ธิดาได้ให้ความสนใจถึงบทบาทใหม่ของคสช. ในการตั้งพรรคการเมืองนี้ว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ และได้แสดงทัศนะว่า

เปิดตัวประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ คือ “ยุทธศาสตร์คสช.และจารีตนิยมไทย”

คสช. ไม่ใช่คณะรัฐประหารแบบในรอบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ทำรัฐประหารแล้วมอบให้คณะอื่นเป็นรัฐบาล แต่หมุดหมายไปถึงรุ่นใหญ่คือ 2500–2502 เป็นคนจารีตนิยม+อำนาจนิยม และต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งรวม ๆ มีอายุยาวนานถึง 15 ปี ส่วนยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นั้นเป็นการปรับตัวของกองทัพหลังปี 2516–2519 และหลังจากนั้น ทั้งยังเป็นช่วงสงครามเย็นต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ด้วยเช่นกัน

ดังนั้นคณะรัฐประหารในอดีตจาก 2500 จนถึง 2526 จึงมีข้ออ้างต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ในการยึดอำนาจ ครองอำนาจ เพื่อความมั่นคงต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ แต่ในช่วงเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมาเป็นการต่อสู้กับพรรคการเมืองนายทุนที่ถูกขนานนามเป็น “ทุนสามานย์” ที่สามารถยึดครองใจประชาชน ชนะเลือกตั้งครั้งแล้วครั้งเล่า  การทำรัฐประหารครั้งนี้ 2557 จึงเป็นการทำรัฐประหารที่มียุทธศาสตร์สืบทอดอำนาจ เพื่อขจัดอำนาจพรรคการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์ทางการเมืองของฝ่ายจารีตนิยมให้หมดสิ้นไป

เราจึงเห็นการร่างรัฐธรรมนูญ, บทเฉพาะกาล และกฎหมายต่าง ๆ ที่ออกมาเพื่อทำลายพรรคการเมืองใหญ่ และตามมาด้วยการก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ของคสช. คือพรรคพลังประชารัฐ และสามัคคีกับพรรคสายอนุรักษ์นิยมและพรรคอื่น ๆ เพื่อเป็นรัฐบาลให้ได้ตอนนี้ก็เปิดหน้าประธานยุทธศาสตร์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นนักการเมืองเต็มตัว ทั้งหมดนี้เพื่อชัยชนะทางการเมืองของฝ่ายอำนาจนิยม+จารีตนิยม โดยไม่ต้องทำรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำอีก หลังจากแพ้การเลือกตั้งซ้ำซาก

น่าสนใจว่าบทบาทใหม่ของคสช.ในการตั้งพรรคการเมืองจะประสบความสำเร็จหรือไม่? 

มีการตั้งเป้าส.ส.ในการเลือกตั้งคราวหน้าเป็น 150 คน มีการก๊อบปี้นโยบายเก่า ๆ ของพรรคเพื่อไทยมาเป็นนโยบายใหม่ และยังทำต่อนโยบายเดิม เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค แล้วมาเพิ่มบัตรสวัสดิการคนจน โดยทำนโยบายเศรษฐกิจทั้งแบบวางแผน (ซึ่งยังทำแบบเดิมของพรรคเพื่อไทย) และแบบเสรีนิยมใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์และ TDRI

มองไปข้างหน้าพรรคพปชร.ต้องเผชิญความท้าทาย
1)   ความชอบธรรมในฐานะเป็นพรรคสืบทอดอำนาจคสช.
2)   ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญในประเด็นต่าง ๆ ทั้งตัวนายกฯ  
     (ซึ่งมีคุณสมบัติขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ปัญหาการถวาย
     สัตย์ไม่ครบถ้วน ฯลฯ), ปัญหาการสรรหาวุฒิสมาชิก, การได้มา
     ซึ่งส.ส.โดยการคำนวณตามแบบกกต., การแถลงนโยบายที่ไม่
     แจงที่มาของเงินที่ใช้
3)   ผลการเลือกตั้งที่คะแนนเสียงปริ่มน้ำ ต้องแก้ปัญหาไปตลอด
     อายุรัฐบาล จะทนไหวไหม? 
     ***ถ้าต้องจ่ายต้องง้อไม่สิ้นสุด***
4)   จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังทรุดทั้งภายในและภายนอกได้
     ไหม?
5)   จะเจอศึกการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ขยายจากพรรคการเมืองใน
      รัฐสภาสู่ประชาชน ที่คนส่วนใหญ่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่
      ประชาชนมีบทบาทสำคัญ ไม่ใช่คณะของพวกอำนาจนิยม 
      จารีตนิยม เขียนมาเพื่อสู้กับอำนาจประชาชน

ดิฉันบอกได้ว่าเหนื่อยแน่ ๆ

ไม่มีมาตรา 44 แล้วจะทนไหวไหม???

อย่าเลือกทำรัฐประหารใหม่ก็แล้วกัน!!!

ธิดา ถาวรเศรษฐ
21 ส.ค. 62