วันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2562

ธิดา ถาวรเศรษฐ : การถวายสัตย์กับปัญหารัฐธรรมนูญไทย



ยูดีดีนิวส์ : 16 ส.ค. 62 ในการทำเฟสบุ๊คไลฟ์ของ อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ วันนี้อันเนื่องมาจากการที่ท่านนายกฯ ถวายสัตย์ต่อหน้าพระพักตร์ แต่เว้นไม่กล่าวในเรื่องพิทักษ์และการปฏิบัติต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งปัญหานี้มันเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การเมืองและปัญหารัฐธรรมนูญในประเทศไทย

อ.ธิดากล่าวว่า ปัญหาการถวายสัตย์ทุกคนรู้แล้วว่าท่านจะตั้งใจหรือเปล่าก็ตาม แต่การที่ท่านหยิบกระดาษแล้วมีงานเขียนซึ่งตัดประเด็นเรื่องรัฐธรรมนูญออกไป บางคนอาจบอกว่าท่านพลั้งเผลอ แต่ดิฉันว่าไม่พลั้งเผลอ ดิฉันว่าท่านตั้งใจที่จะพูดเฉพาะตามที่ตัวท่านคิดว่าพอแล้ว ก็คือถวายความจงรักภักดีพระมหากษัตริย์และผลประโยชน์ประเทศชาติประชาชน เพราะท่านบอกว่านั่นครอบคลุมแล้ว

แต่ดังที่เราได้รู้กันว่าการถวายสัตย์นั้นรัฐธรรมนูญได้เขียนเอาไว้เฉพาะเจาะจงเลยว่าจะต้องพูดตามนั้น ซึ่งเป็นไปได้ว่าท่านได้คิดของท่านเอาเองเหมือนกับที่ท่านเข้าประชุมรัฐสภา แล้วท่านก็บอกว่าใคร ๆ ก็เห็นเอกสารแล้ว ท่านก็เลยจะแถลงนโยบายตามสไตล์ของท่าน จนหลายคนบอกว่า "ไม่ได้" ต้องแถลงตามที่เขียนไว้เป็นเรื่องเป็นราว

ท่านคิดว่าแค่ 2 ประเด็นเพียงพอ ตรงนี้มันอยู่ที่การตีความ บางคนตีความว่าการถวายสัตย์เป็นเพียงพิธีกรรม และการที่ไม่พูดให้ครบ บางคนพูดเฉพาะประเด็นว่าอันนี้ไม่น่าจะเหมาะ แต่ความความคิดของท่านมันจบไปแล้ว

แต่สำหรับคนที่มอง 1) มองในแง่พิธีกรรม 2) มองในแง่ความสำคัญของรัฐธรรมนูญ  มองว่าสิ่งที่ท่านทำมันขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือเปล่า?

สำหรับดิฉันเติมสิ่งที่ 3) ก็คือว่า เป็นมุมมองและทัศนะของนายกฯ และคนจำนวนหนึ่งต่อรัฐธรรมนูญไทย

ขณะนี้ดูเหมือนว่าปัญหาการถวายสัตย์นั้นจะส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้วหรือยัง? แต่เรื่องของตัวหนังสือ เรื่องของกฎหมาย กับเรื่องของความชอบธรรมและความเป็นจริง บางทีมันไม่ได้ไปด้วยกัน ถ้าคนที่คิดว่าเป็นเพียงพิธีกรรม ก็จบ!

แต่ดิฉันข้องใจว่าท่านนายกฯ คิดอย่างไรกับรัฐธรรมนูญ จึงจงใจตัดประเด็นนี้ออกไป! ดิฉันสนใจแนวความคิด เพราะว่าแนวความคิดของท่านมันจะบ่งบอกเรื่องราวในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตด้วย เพราะนี่คือแนวความคิด เพราะฉะนั้นในทัศนะของดิฉันคิดว่าท่านนายกฯ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญ

แต่ตอนนี้นายกฯ คงเข้าใจแล้วว่าทำไมอดีตนายกฯ คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ท่านบอกว่ามันขัดรัฐธรรมนูญ 50 ท่านออกไม่ได้ ก็ต้องใช้วิธีว่ารักษาการแล้วก็แต่งตั้งคนใหม่ และคนที่มารักษาการนั้นก็ลาออกไม่ได้เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุ 

แล้วว่าที่จริงก็ไม่มีใครพูดถึงประเด็นนี้ด้วยนะ คือตัวนายกฯ ได้ถวายสัตย์ว่าจะพิทักษ์รัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นคิดเอาตลก ๆ ง่าย ๆ ก็คือว่าท่านไม่ได้สนใจ ไม่ได้แยแสให้ความสำคัญ เพราะว่ารัฐธรรมนูญเก่าก็ฉีกมาแล้ว รัฐธรรมนูญชั่วคราวก็มีแล้ว จบไปแล้ว ขณะนี้เป็นรัฐธรรมนูญใหม่ ก็แปลว่าท่านอยู่สามรัฐธรรมนูญแล้ว ดังนั้นท่านก็อาจจะมองไม่เห็นความสำคัญของรัฐธรรมนูญ 

แต่ว่าประวัติศาสตร์ของการเมืองการปกครองไทย ปัญหารัฐธรรมนูญกับการเมืองการปกครองไทย เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครองตั้งแต่คณะราษฎรนั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ในช่วงแรก ถ้ามองในแง่มุมจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือ Absolute monarchy ก็มาเป็น Constitutional monarchy หมายความว่าพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ดังนั้นจึงให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญมาก 

เพื่อให้ย่นย่อ แน่นอนเรามีประวัติศาสตร์ของการที่เราทำรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ แล้วก็ฉีกรัฐธรรมนูญอีก แล้วก็เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ การเปลี่ยนแปลงโดยการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่โดยไม่ได้ฉีกรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นในปี 2489 (เท่าที่ดิฉันจำได้) อีกทีก็ปี 2516 เมื่อประชาชนลุกขึ้นสู้ อีกทีก็ปี 2535 ที่มีประชาชนลุกขึ้นมาต่อสู้แล้วเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลง

ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญที่ไม่ใช่การทำรัฐประหารมันจะต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ผู้ปกครองมีลักษณะก้าวหน้า 2489 นั้นเป็นตอนปลายของคณะราษฎรซึ่งได้ระบุเลยว่า ส.ส.ประเภทสองพวกที่มีการแต่งตั้งนั้นต้องจบ วุฒิสภาหรือพฤฒิสภาจะต้องมาจากการเลือกตั้ง 2489 จัดว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ก้าวหน้า มาอีกทีก็ 2516 กับ 2535

ในทัศนะดิฉันนั้นไม่ได้มองว่าท่านนายกฯ เป็นฝ่ายก้าวหน้านะ ดิฉันยังถือว่าท่านอยู่ในกลุ่มของพวกอนุรักษ์นิยมและอำนาจนิยมหรือจะเรียกว่าจารีตนิยมเลยก็ว่าได้ เพราะฉะนั้นท่านก็เลยไม่เห็นจำเป็นที่จะเห็นคุณค่าของรัฐธรรมนูญ เพราะว่ามันเขียนใหม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิเสรีภาพความเท่าเทียมของประชาชน หรือว่ารัฐธรรมนูญที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน

ดังนั้นการถวายสัตย์ครั้งนี้ ลึก ๆ มันได้เปิดเผยแนวคิดของกลุ่มอนุรักษ์นิยมอำนาจนิยมระดับหนึ่งว่า ต่อให้เขียนรัฐธรรมนูญด้วยตัวเองใหม่ก็ยังมีปัญหา จริง ๆ แล้วเขาก็ไม่ได้สนใจเรื่องรัฐธรรมนูญ ก็ฉีกแล้ว เขียนใหม่แล้ว เขียนเพื่อจะสกัดคนอื่น แต่ตัวเองก็มีปัญหาเอง เพราะครั้งนี้เจอทั้ง 2 ประเด็น 1) ประเด็นถวายสัตย์ไม่ครบตามมาตรา 161 2) ประเด็นแถลงนโยบายโดยไม่ได้บอกที่มาของเงินที่จะนำมาใช้ ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่เขียนเอาไว้เพราะต้องการจะจัดการกับพรรคการเมืองที่มาเป็นฝ่ายบริหาร ที่มีการเสนอนโยบายและเกรงว่าจะเป็นนโยบายประชานิยม เกรงว่าจะเป็นนโยบายที่มีการใช้เงินมากเกินไป เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญหรือแม้กระทั่งยุทธศาสตร์ที่เขียนในรัฐธรรมนูญก็จะมาเป็น "บ่วง" ดักเองว่าตัวนายกฯ และพรรคการเมืองที่สืบทอดอำนาจก็จะต้องเจอปัญหารัฐธรรมนูญนี้เอง

เพราะฉะนั้นคนจะมองรัฐธรรมนูญนี้
1) พวกที่เรียกตัวเองว่า "ลัทธิประชาธิปไตย" ที่มีประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ซึ่งเขาจะเป็นครูอาจารย์ของพวกกลุ่มนายทหารจำนวนหนึ่ง เขาก็จะวิจารณ์ว่าคณะราษฎรและประชาชนส่วนมากนั้นเป็น "ลัทธิรัฐธรรมนูญ" แต่เขาเป็นลัทธิประชาธิปไตย พูดง่าย ๆ ว่าไม่อยากให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญ 

2) พวกจารีตนิยม ซึ่งดิฉันหมายถึงกลุ่มท่านนั่นแหละ คนเหล่านี้จะให้ความสำคัญกับบุคคล คนดี และคิดเอาว่า จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และทำเพื่อประโยชน์ประเทศชาติประชาชน...พอแล้ว เรื่องรัฐธรรมนูญไม่จำเป็น ซึ่งอาจจะดูเบาไป แต่ว่าเป็นส่วนลึกในหัวใจหรือเปล่า?

ตัวดิฉันไม่ได้สนใจในเรื่องพิธีกรรมที่บอกว่าต้องทำให้ครบ ไม่อย่างนั้นเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ นั่นเป็นอีกประเด็นหนึ่งก็แล้วแต่มุมมอง แต่ดิฉันสนใจว่าพล.อ.ประยุทธ์ตีความและมีทัศนะต่อการเมืองการปกครองอย่างไร? ซึ่งน่าจะตอบได้ว่าไม่สนใจรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ให้ค่าพอที่จะต้องปฏิญาณ กระทั่งไม่อีกกี่วินาทีถ้าพูดต่อมันก็จบ แต่ไม่ให้ค่าเพราะเขียนเอง ตั้งใจขนาดนั้น ก็แปลว่าไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม ไม่จำเป็นต้องรักษาก็ได้รัฐธรรมนูญนี้

แต่คำถามว่า...คุณจะปกครองประเทศโดยมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดหรือเปล่า?  

ถ้าคุณไม่เอารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด...คุณจะปกครองระบอบอะไร?

และคำว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดเป็นลายลักษณ์อักษร แปลว่า อยู่เหนือบุคคล อยู่เหนือคณะทุกคณะ ไม่ว่าอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ แม้กระทั่งตอนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระมหากษัตริย์ก็ทรงยินยอม ก็กลายเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญด้วยความเต็มพระทัย ก็คือ Constitutional monarchy 

เมื่อท่านไม่สนใจรัฐธรรมนูญ ไม่จำเป็นต้องพิทักษ์รักษา ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม นี่คือการปฏิญาณต่อหน้าพระพักตร์ ไม่ใช่เป็นการปฏิญาณเฉพาะพระมหากษัตริย์ แต่เป็นการปฏิญาณต่อสังคมไทย ดังนั้นเรื่องถวายสัตย์มันจึงเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่แต่เพียงพิธีกรรม แต่เป็นสิ่งที่บอกว่าคุณจะเอารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดหรือเปล่า? และเมื่อคุณไม่เอารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดที่คุณต้องปฏิบัติตามลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญนั้น การเมืองการปกครองประเทศไทยขณะนี้เป็นประชาธิปไตยแบบไทย ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องมีรัฐธรรมนูญ...หรือเปล่า? เป็นประชาธิปไตยแบบไม่ต้องสนใจรัฐธรรมนูญ...หรือเปล่า?

ดูสิว่าเราจะเรียกการปกครองนี้ว่าอะไร?

เป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยด้วย "คนดี" ไม่มีรัฐธรรมนูญเป็นจุดสำคัญ เป็นสรณะ ทั้ง ๆ ที่เราเปลี่ยนแปลงการปกครองมาตั้งแต่ 2475 เราถือว่าเรามีรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษรมา 80 กว่าปี ต่อให้คุณทำรัฐประหารคุณก็ต้องมีรัฐธรรมนูญ

ดิฉันไม่ได้นึกถึงว่ามันเป็นเพียงพิธีการ แต่มันเป็นการยืนยันและเป็นการปฏิญาณต่อสังคมว่านายกฯ จะเคารพปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ แม้รัฐธรรมนูญนี้ตัวดิฉันจะไม่เห็นด้วยก็ตาม และต้องการจะแก้ไขทั้งฉบับ แต่อย่างไรก็ตามหลักของมันก็คือว่ามันยังเป็นการปกครองในระบอบรัฐสภาที่มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดแบบไทย ๆ 

สุดท้ายอ.ธิดาต้องการตั้งคำถามต่อนายกฯ ว่า...ตกลงท่านนายกฯ จะเปิดเผยความจริงว่าประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบไทย ๆ ที่ไม่ต้องมีรัฐธรรมนูญ หรือไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ...ใช่หรือเปล่า?