วันพฤหัสบดีที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2562

ธิดา ถาวรเศรษฐ : ย้อนรอยเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญของ นปช. เมื่อปี 2555


ยูดีดีนิวส์ : 8 ส.ค. 62 ในทางการเมือง ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจติดตามความเคลื่อนไหวท่าทีของพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยและฝ่ายรัฐบาลต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 นั้น ล่าสุดทางพรรคเพื่อไทยได้แถลงชี้แจงกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายละเอียดตามที่เป็นข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุดในเฟสบุ๊คแฟนเพจ อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ ได้โพสต์แสดงความคิดเห็นและย้อนรอยเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญของ นปช. เมื่อปี พ.ศ. 2555 โดยมีความว่า

ย้อนรอยเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญของ นปช. เมื่อปี 2555



ธิดา ถาวรเศรษฐ

8 ส.ค. 62

รัฐธรรมนูญ 2550 หลังรัฐประหาร 2549 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับอำมาตยาธิปไตยที่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญ 2540 อันเป็นฉบับที่ประชาชนมีอำนาจอธิปไตยมากที่สุด

รัฐธรรมนูญ 2550 มี ส.ว.เลือกตั้ง ผสมกับ ส.ว.แต่งตั้ง 50:50 (ยังไม่กล้าเท่ารัฐธรรมนูญ 2560) เราจะไม่ลงรายละเอียดการเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญ 2540, 2550 และ 2560 แต่กล่าวได้ว่า รัฐธรรมนูญ 2560 บวกกับบทเฉพาะกาลนั้น เป็นรัฐธรรมนูญที่สืบทอดอำนาจคณะรัฐประหาร ลดทอนอำนาจประชาชน ทั้งอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ ลดทอนอำนาจพรรคการเมือง ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอและกลายเป็นพรรคเล็กพรรคน้อย รัฐไทยจะมีรัฐข้าราชการ ทหาร พลเรือน เป็นใหญ่  พรรคการเมืองต้องขึ้นต่อและปฏิบัติตาม  ผลพวงการทำรัฐประหารทั้งทางกฎหมาย ยุทธศาสตร์ และส่วนต่าง ๆ ของรัฐธรรมนูญฉบับอนุรักษ์นิยมอำนาจนิยมและชนชั้นนำ ความรุ่นแรงเช่นนี้มีในรัฐธรรมนูญ 2560 มากกว่า 2550 เสียอีก

9 ก.พ. 55 อ.ธิดา ถาวรเศรษฐและคณะยื่นเรื่องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร

นปช.ในยุคนั้นที่ดิฉันเป็นประธานตั้งแต่ 1 ธ.ค. 2553 ได้เสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยประชาชน โดยมีหลักใหญ่ ๆ คือ ได้เลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) 100 คน เป็นการเลือกตั้งทั่วไป ให้จำนวนสสร.แต่ละจังหวัดขึ้นกับจำนวนประชากรในแต่ละจังหวัดเป็นสัดส่วนกันโดยตรง

เมื่อได้ สสร. จากการเลือกตั้งทั่วประเทศ เกิดสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา แยกจากสภาผู้แทนราษฎร สสร. ก็จะมาตั้งคณะอนุกรรมการฝ่ายต่าง ๆ ซึ่งอาจจะมาจากบุคลากร นักวิชาการภายนอก ร่วมกับ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งก็ได้

เราทำการรณรงค์ มีประชาชนร่วมลงชื่อประมาณ 1 แสนคน ผ่านการตรวจสอบถูกต้อง 71,543 รายชื่อ ผ่านสภาผู้แทนราษฎร ร่างนี้ต่างกับร่างที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทย ที่กำหนดให้มี สสร. 99 คน มาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน และมาจากการสรรหาโดยรัฐสภา 22 คน (อ้างถึง : เปิดร่างแก้รธน.ฉบับ “นปช.” https://www.ombudsman.go.th/10/con550209_01.html)

ภาพรายชื่อประชาชนผู้เข้าร่วมลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญรวบรวมโดย นปช. (ขอบคุณภาพจาก innnews.com)

พูดง่าย ๆ คือพรรคเพื่อไทยต้องการใช้เวทีรัฐสภาแก้รัฐธรรมนูญโดยตรง ผ่านการสรรหาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ  ในขณะที่ นปช. ต้องการให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดและ สสร. ต่างหาก รับผิดชอบเรื่องนี้ไปเลย

1)   เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยตรง โดยเริ่มต้น
     เปรียบเทียบจากรัฐธรรมนูญเดิมฉบับปี 2516, 2540 หรือ    
     2550 ก็ได้
2)   เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่าง 2 พรรคใหญ่ในรัฐสภา 
     และ/หรือ ความขัดแย้งระหว่างพรรคเพื่อไทยกับฝ่ายอนุรักษ์  
     นิยมอำนาจนิยม
3)   ผลจากการร่างรัฐธรรมนูญโดย สสร. จะได้รับการยอมรับจาก
     สังคมทุกฝ่าย เพราะมาจากสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้ขึ้นกับ
     พรรคการเมืองใด ๆ

เหตุการณ์ผ่านไปจนบัดนี้ ความล้มเหลวอันเนื่องมาจากปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อมาจนถึงพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม (สุดซอย) ล้วนเป็นสิ่งที่เรามองเห็นล่วงหน้าแล้วว่าจะมีผลต่อการเมืองการปกครองที่ช่วงชิงอำนาจ ทั้งจากชนชั้นนำ สองระบอบ และประชาชนที่สนับสนุนสองระบอบ

ถ้าเราจะหวังให้ได้รัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ก็ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างมีจิตสำนึกมากที่สุด แต่ถ้าพรรคการเมืองคิดแต่เฉพาะเสียงและมือในรัฐสภาเป็นที่ตั้ง ต่อให้มีเสียงข้างมากในรัฐสภาก็ถูกพลังอำนาจอนุรักษ์นิยมจัดการให้พ่ายแพ้ครั้งแล้วครั้งเล่าได้  ทำให้การเมืองไทยถอยหลังห่างจากระบอบประชาธิปไตยของประชาชนมากขึ้นทุกที

อย่างไรก็ตามข้อเสนอฝ่ายค้านปัจจุบันที่ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยมี สสร. 200 คนมาจากการเลือกตั้งโดยตรงและเป็นผู้ตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และพรรคฝ่ายค้านไม่ต้องตั้งธงว่าแก้ประเด็นอะไรบ้างก่อน ให้เป็นการระดมความคิดของประชาชนและสภาร่างรัฐธรรมนูญ ก็เป็นแนวเดียวกันกับ นปช. ที่เสนอไว้เมื่อปี 2555 นั่นเอง

ดิฉันสนับสนุนและเห็นด้วยค่ะ

ผ่านมา 7 ปี พรรคเพื่อไทยเพิ่งจะคิดได้ตรงกัน!