วันพฤหัสบดีที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2559

ที่ไปของอำมาตยาธิปไตย : ธิดา ถาวรเศรษฐ


ขุนนางยุคดิจิตอลจะไปไหน?

ก็ยังวนเวียนอยู่กับตำแหน่งหน้าที่ เช่น องค์กรอิสระ  ศาลรัฐธรรมนูญ  วุฒิสมาชิก  ที่ปรึกษารัฐมนตรีและสมาชิกสภานิติบัญญัติ  สมาชิกปฏิรูปของคณะรัฐประหาร  คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญของกองทัพ ที่ปรึกษาระดับสูงของชนชั้นนำ ฯลฯ  ยิ่งมีการทำรัฐประหารซ้ำ ๆ กัน  คนเหล่านี้ก็สามารถดำรงตำแหน่งได้ยาวนาน  นอกจากตำแหน่งงานทางการเมือง  คนเหล่านี้ก็เข้าสู่เศรษฐกิจทุนนิยมของกลุ่มทุนอนุรักษ์นิยมเป็นจำนวนมาก  นโยบายที่เป็นประโยชน์กับกลุ่มทุนอนุรักษ์นิยมและคนชั้นนำในสังคมก็ถูกนำมาใช้ในยุครัฐประหารหรือยุคพรรคอนุรักษ์นิยมมีอำนาจ  แต่นโยบายใดที่เป็นประโยชน์กับมวลชนคนยากจนก็ถูกขัดขวางโจมตีว่าเป็นประชานิยมเป็นต้น

คนเหล่านี้จึงไม่ยอมจากไปจากเวทีการเมืองการปกครอง  เพราะต้องการรักษาอำนาจกลุ่มตนไว้นานเท่านาน  และไม่เลือกจะไปในวิถีทางประชาธิปไตย  คือแทนที่จะทำสงครามทำลายนักการเมืองใหม่ ๆ  ใช้ยุทธศาสตร์ป้อมค่ายทำลายล้าง  แม้ปากจะพูดปรองดอง  ปฏิรูป  แต่ของจริงคือทำลายล้าง  กวาดล้างให้สิ้นซาก  ประมาณว่าเจ็ดชั่วโคตร  ส่วนคำว่าปฏิรูปคือ  เปลี่ยนแปลงกติกาประเทศให้เป็นอำมาตยาธิปไตยของชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมนั่นเอง  จึงใช้คำขวัญ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง”  เพราะเป็นการเขียนกติกากฎหมายใหม่ในระหว่างการยึดอำนาจจากประชาชน

แปลว่าอำมาตยาธิปไตยมีที่มาจากการปกครองแบบเก่ามาช้านานยังอยู่  และไม่ยอมไปไหน  มิหนำซ้ำยังต้องการอยู่นานเท่านาน  คือไม่ยอมไปนั่นเอง  ไม่ยอมไปแบบอนุรักษ์นิยมของอารยประเทศ  ถ้าเช่นนั้นจะไปได้ก็ต้องผ่านการขับไล่ของประชาชนเช่นนั้นหรือ?  

นี่เป็นการสร้างสถานการณ์ให้เกิดความรุนแรงเพื่อปราบปรามประชาชนรอบใหม่  หรืออย่างไร?

ธิดา  ถาวรเศรษฐ
4 ม.ค. 59