วันพฤหัสบดีที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2559

ยุทธศาสตร์ป้อมค่ายทำลายล้างฯ : ธิดา ถาวรเศรษฐ


ถ้านับวาระการปราบปรามประชาชนรุนแรงและจับกุมคุมขังในปี 2519  ก็ถึงเวลาครบ 40 ปีแห่งการเริ่มต้นศักราชแห่งการใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชนในเมือง  โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร  และใช้ปฏิบัติการสร้างมวลชนเพื่อปะทะกับมวลชนที่ลุกขึ้นมาประท้วงต่อต้านอำนาจรัฐจากเวลานั้นมาจนบัดนี้  การสร้างมวลชนมาปะทะมวลชนเพื่ออ้างเป็นเหตุให้มีการยึดอำนาจทำการรัฐประหารในช่วงเวลายุคหลัง พ.ศ. 2516 เป็นต้นมา  จึงเป็นยุทธวิธีสำคัญของอนุรักษ์นิยมไทย

พลังและเครือข่ายอนุรักษ์นิยมในประเทศไทยได้ใช้ยุทธศาสตร์ในการรักษาอำนาจของกลุ่มตน  โดยการทำสงครามป้อมค่าย  ใช้ยุทธศาสตร์และยุทธวิธีต่อต้านพลังประชาชนฝ่ายเสรีประชาธิปไตย โดย

ประการแรกใช้สื่อ  วรรณกรรม  และการศึกษา  โฆษณา  ปลูกฝังกล่อมเกลาความคิดแบบอนุรักษ์นิยม  พร้อมกับโจมตีฝ่ายก้าวหน้าและเสรีนิยม  โดยใช้คำขวัญประจำค่ายอนุรักษ์นิยมคือ  “คนดีต้องไม่ให้คนเลวมีอำนาจปกครอง”

ประการต่อมา  ใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม  องค์กรอิสระ  ศาลรัฐธรรมนูญ  จัดการนักการเมืองและประชาชนฝ่ายเสรีนิยมและประชาธิปไตยอย่างที่ไม่สนใจสังคมไทย  สังคมโลก  ว่าจะมองฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ยึดอำนาจรัฐจากประชาชนไปว่าจะมองเป็นแบบไหน?  ย่ำแย่เพียงใดโดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้องค์กรอิสระแบบ ป.ป.ช. และองค์กรรัฐอื่น ๆ  ศาลรัฐธรรมนูญ และกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ต้นในยุทธศาสตร์ประสานเครือข่ายอนุรักษ์นิยม  ทำสงครามป้อมค่าย  รักษาพื้นที่ในฐานะผู้ปกครองไว้อย่างเต็มกำลัง  ใช้ยุทธวิธี  กลยุทธ์ทุกอย่างเพื่อทำลายล้างพลังอำนาจใหม่ที่ได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนมาเป็นผู้ปกครอง

ประการที่สาม  การจัดตั้งกลุ่มมวลชนอนุรักษ์นิยมที่พร้อมก่อความรุนแรงต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่ไม่ใช่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมซึ่งใช้ได้ผลในปี 2519, 2548-2549 และ 2556-2557

ประการที่สี่  การใช้กองทัพเพื่อก่อความรุนแรงในระดับสูงสุด  คือการประกาศกฎอัยการศึกและการทำรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ

ประการที่ห้า  ใช้นักวิชาการ  เนติบริกร  เขียนรัฐธรรมนูญใหม่  ออกกฎหมายใหม่  และเข้าสู่องค์กรอิสระต่าง ๆ  ศาลรัฐธรรมนูญ  เพื่อสร้างกติกาสูงสุดและการบังคับใช้ผ่านองค์กรเนติบริการเหล่านี้  ทั้งนี้เพื่อควบคุมสถานการณ์ให้ยาวนานที่สุดจนกว่าพรรคการเมืองของกลุ่มอนุรักษ์นิยมหรือพรรคการเมืองในเครือข่ายกองทัพจะมีอำนาจในฐานะผู้ปกครอง

พลังทั้ง 5 ฝ่ายนี้ล้วนร่วมกันในยุทธศาสตร์เดียวกัน คือ ยุทธศาสตร์ป้อมค่ายและทำลายล้าง  ไม่ใช่ยุทธศาสตร์สร้างพื้นที่และโอกาสเป็นผู้ปกครองภายใต้กติกาประชาธิปไตย

นอกจากใช้ยุทธศาสตร์ป้อมค่ายทำลายล้างฝั่งตรงข้ามเพื่อรักษาพื้นที่ของผู้ปกครองไว้  เมื่อดูยุทธวิธีแล้วก็ไม่มีการจำกัดรูปแบบว่าต้องรักษาภาพฝ่ายคนดีมีคุณธรรม  เพื่อให้ได้ชัยชนะในการต่อสู้แล้ว  สามารถทำได้ทุกอย่าง  ไม่ว่าจะเป็นกลยุทธ์  “ลับ ลวง พราง”  หรือกลยุทธ์  “สร้างสถานการณ์”  “การใส่ร้าย  ป้ายสี  พูดเท็จ”  หรือกลยุทธ์ “หลอกลวงและอุ้มฆ่า”  ปราบปรามโหดร้ายป่าเถื่อนอย่างไรก็ได้  ขอให้บรรลุภารกิจในการทำลายล้างให้สิ้นซากก็เป็นเรื่องถูกต้องทั้งสิ้น

ในขณะที่กลุ่มอนุรักษ์นิยมในประเทศอารยทั้งหลายปัจจุบันเลือกใช้ยุทธศาสตร์แย่งชิงพื้นที่อำนาจการปกครองในฐานะชนชั้นนำโดยใช้วิถีทางในระบอบประชาธิปไตย  โดยการตั้งพรรคการเมืองอนุรักษ์นิยมที่มุ่งเอาชนะการเลือกตั้ง  แข่งขันตามกติกาประชาธิปไตย  ดังที่พรรคอนุรักษ์นิยมในประเทศต่าง ๆ ประสบความสำเร็จ เช่น ในประเทศอังกฤษ, ประเทศในยุโรป และภูมิภาคอื่น ๆ  โดยเขาไม่ใช้ยุทธศาสตร์ทำลายล้างหรือสร้างป้อมค่ายต่อต้านฝ่ายก้าวหน้าและเสรีนิยมดังเช่นที่เกิดในประเทศไทยนับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา

ป่วยการพูดเรื่องปรองดอง  เรื่องปฏิรูปเพื่อแก้ความขัดแย้ง  ในเมื่อความเป็นจริงความอาฆาตพยาบาททำลายล้างดำรงอยู่อย่างหนักหน่วงยิ่งขึ้นเป็นลำดับ  เพราะต้องการดำเนินการต่อจากรัฐประหาร 2 ครั้งนี้  ให้อำนาจอนุรักษ์นิยมที่ไม่ได้มาจากฉันทามติประชาชนอยู่ได้ยาวนานหรือตลอดไป  โดยการเปลี่ยนกติกา  เปลี่ยนกฎหมาย  เปลี่ยนความคิด  ล้างสมองและทำความสะอาดประเทศนี้ให้มีชนชั้นปกครองอนุรักษ์นิยม  สื่อ  นักวิชาการ  ครูบาอาจารย์  ปัญญาชน  เป็นอนุรักษ์นิยม  อำนาจบริหาร,  นิติบัญญัติ,  ตุลาการ  และอำนาจที่สี่  ล้วนเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยม  ตลอดจนควบคุมประชาชนให้มีแกนนำและโลกทัศน์แบบอนุรักษ์นิยมทั้งหมด

ถามว่าพวกท่านอาจควบคุมประเทศไทยได้ชั่วเวลาหนึ่งเท่านั้น  แต่โลกและความเป็นจริงของสถานการณ์จะไม่อนุญาตให้ถอยหลังเป็นโลกอนุรักษ์นิยมสวนกระแสโลกาภิวัตน์  ในขณะที่ประชาชนจะเติบโตทางความคิดจิตสำนึกต่ออุดมการณ์ประชาธิปไตย  สิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมกันมากยิ่งขึ้นทุกวัน  เราไม่เรียกร้องให้ท่านเสียสละและยอมแพ้  เพียงแต่เปลี่ยนยุทธศาสตร์จากยุทธศาสตร์ป้อมค่ายและทำลายล้างมาเป็นยุทธศาสตร์เข้าสู่กติกาประชาธิปไตย  เพื่อแย่งชิงพื้นที่ในฐานะผู้ปกครอง  ท่านยังมีโอกาสได้พื้นที่นั้นด้วยการชนะใจประชาชน  ท่านไม่ต้องใช้อาวุธและกฎหมายของท่านมาบังคับ  แต่ถ้าไม่เปลี่ยนยุทธศาสตร์ทำลายล้างให้เป็นยุทธศาสตร์สร้างสรรค์  ลองคิดดูว่าท่านจะยั่วยุประชาชนให้ใช้ยุทธศาสตร์แบบเดียวกับท่าน  หรืออย่างไร?

ธิดา  ถาวรเศรษฐ
4 ม.ค. 59