วันพฤหัสบดีที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2559

ประชานิยมและประชารัฐ : อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ


“ประชานิยม”  เป็นนโยบายที่ขับเคลื่อนโดยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง  ที่นำเสนอต่อประชาชน  เป็นประโยชน์กับมวลชนพื้นฐาน คนยากจน ผู้ใช้แรงงานในเมือง  ชนบท  และคนชั้นกลางล่าง  มักจะถูกโจมตีจากพรรคการเมืองอนุรักษ์นิยมหรือชนชั้นบนของสังคมว่าเป็นนโยบายหาเสียง  เอาใจประชาชน  เพื่อให้ได้รับการเลือกตั้งต่อไปยาวนาน  ถ้าไม่ถูกโค่นในกองทัพหรือพลังอนุรักษ์นิยมก็จะได้รัฐบาลเช่นนี้ยาวนาน  ถ้าเป็นรัฐบาลจากพรรคการเมืองที่ก้าวหน้าก็จะสานต่อไปสู่การให้สวัสดิการสังคมมากขึ้น

“ประชารัฐ”  เป็นแนวทางยุทธศาสตร์ยุทธวิธีของเครือข่ายกลุ่มคนที่ปฏิเสธอำนาจรัฐการเมือง ทุนนิยม และเสรีประชาธิปไตย  โดยการจัดตั้งองค์กรขึ้นใหม่ที่ไม่ขึ้นต่ออำนาจรัฐ  สามารถปฏิบัติงานอิสระโดยประสานงานระหว่างรัฐผู้ให้งบประมาณและเจ้าหน้าที่รัฐกับองค์กรพัฒนาเอกชน NGO ภาคประชาสังคมและชุมชน  ในการพัฒนาสังคม  เศรษฐกิจ  ทรัพยากร  และการเมือง
ประสานงานกับภาคธุรกิจเอกชนที่ร่วมเครือข่ายอนุรักษ์นิยมทางการเมืองด้วยกัน

ณ บัดนี้ประสานงานกับระบอบรัฏฐาธิปัตย์ในการขับเคลื่อนประชารัฐให้ครอบคลุมพื้นที่หรือประเทศ  ตั้งแต่ระดับจังหวัด, อำเภอ, ตำบล, หมู่บ้าน  เพื่อสร้างเครือข่ายมวลชนฐานราก  โดยอ้างว่าเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก

แต่ในขณะเดียวกัน  การที่มีคณะทำงานร่วมรัฐ-เอกชน-ประชาชนแผนใหม่มี 12 ชุด  โดยมีหลักการ 4 อย่างคือ
1. ธรรมาภิบาล
2. นวัตกรรมและการผลิตภาพ
3. การพัฒนาทุนมนุษย์
4. การมีส่วนร่วมในความมั่งคั่ง

โดยตั้งคณะกรรมการขึ้น 12 ชุด คือ

1. คณะทำงานด้านการยกระดับนวัตกรรมและผลิตภาพ  
    หัวหน้าทีมภาครัฐคือ  รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  
    หัวหน้าทีมภาคเอกชน  กานต์  ตระกูลฮุน จาก บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย 

2. คณะทำงานด้านการดึงดูดการลงทุนและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ  
    หัวหน้าทีมภาครัฐคือ รมว.คลัง  
    หัวหน้าทีมภาคเอกชน  ชาติศิริ  โสภณพนิช (บมจ.ธนาคารกรุงเทพ)

3. คณะทำงานด้านการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและวิสาหกิจเริ่มต้น (SMEs & Start-up)  
    หัวหน้าทีมภาครัฐคือ รมช.พาณิชย์  
    หัวหน้าทีมภาคเอกชน  สุพันธุ์  มงคลสุธี  ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
4. คณะทำงานด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ  
    หัวหน้าทีมภาครัฐคือ รมว.ศึกษาธิการ  
    หัวหน้าทีมภาคเอกชน  รุ่งโรจน์  รังสิโยภาส  (บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย)
5. คณะทำงานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ  
    หัวหน้าทีมภาครัฐคือ รมว.มหาดไทย  
    หัวหน้าทีมภาคเอกชน  ฐาปน  สิริวัฒนภักดี  (บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ)

6. คณะทำงานด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวและ MICE  
    หัวหน้าทีมภาครัฐคือ รมว,การท่องเที่ยวและกีฬา  
    หัวหน้าทีมภาคเอกชน  กลินท์  สารสิน  (บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย)
7. คณะทำงานด้านการส่งเสริมการส่งออกและการลงทุนในต่างประเทศ  
    หัวหน้าทีมภาครัฐคือ รมว.พาณิชย์  
    หัวหน้าทีมภาคเอกชน  สนั่น  อังอุบลกุล  (บมจ.ศรีไทยซุปเปอร์แวร์)
8. คณะทำงานด้านพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต  
    หัวหน้าทีมภาครัฐคือ รมว.อุตสาหกรรม  
    หัวหน้าทีมภาคเอกชน  ประเสริฐ  บุญสัมพันธ์  (บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล)
9. คณะทำงานด้านการปรับแก้ปฎหมายและกลไกภาครัฐ
    หัวหน้าทีมภาครัฐคือ  ดร.วิษณุ  เครืองาม รองนายกฯ
    หัวหน้าทีมภาคเอกชน  กานต์  ตระกูลฮุน  (บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย)

10. คณะทำงานด้านการพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่
     หัวหน้าทีมภาครัฐคือ  รมว.เกษตรและสหกรณ์
        หัวหน้าทีมภาคเอกชน  อิสระ  ว่องกุศลกิจ  (บจก.น้ำตาลมิตรผล)

11. คณะทำงานด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ
         หัวหน้าทีมภาครัฐคือ  รมว.ศึกษาธิการ
      หัวหน้าทีมภาคเอกชน  ศุภชัย  เจียรวนนท์  (บมจ.เครือเจริญโภคภัณฑ์)

12. คณะทำงานด้านการสร้างรายได้และการกระตุ้นการใช้จ่ายของประเทศ
     หัวหน้าทีมภาครัฐคือ  รมว.คลัง
     หัวหน้าทีมภาคเอกชน  ทศ  จิราธิวัฒน์  (บจก.กลุ่มเซ็นทรัล)

เมื่อเป็นเช่นนี้  ประชารัฐแบบ NGO – ประชาชน  โดยเม็ดเงินจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง  เพื่อสร้างเครือข่ายขององค์กรตระกูล ส.  องค์กรเอกชน  ชุมชน  ตามทฤษฎีชุมชนาธิปไตย 

ขณะนี้ได้เปลี่ยนเป็นแบบประชารัฐแบบนายทุนร่วมกับองค์กรรัฐ  ประชาชน  และที่อยากเรียกคือ  “ประชารัฐแบบรัฏฐาธิปัตย์”  คืออาศัยอำนาจรัฏฐาธิปัตยขับเคลื่อน

เห็นได้ว่าศูนย์ความคิดประชารัฐสามารถใช้อำนาจรัฐทุกแบบในการขับเคลื่อนแนวทางประชารัฐ  ไม่ว่าจะเป็นรถถัง, นายทุน และนักการเมือง  เพื่อเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยตามแบบฉบับ

1. ต่อต้านทุนนิยมเสรี  สนับสนุนทุนนิยมที่เชื่อมต่อกับประชาสังคมและการเมืองอนุรักษ์นิยม

2. สนับสนุนประชาสังคม  โครงการเศรษฐกิจ  สังคม  การเมือง  วัฒนธรรม  สิ่งแวดล้อม  โดยยึดชุมชนเป็นใหญ่กว่ารัฐ

3.  ยึดกุมพื้นที่  ควบคุมและจัดตั้งมวลชนตามทิศทางการต่อต้านทุนนิยม

4. สถาปนาการนำของเครือข่ายอนุรักษ์นิยมโดยยุทธศาสตร์ยึดกุมและนำมวลชน  ต่อสู้กับรัฐรวมศูนย์ทุนนิยม

ที่จริงแล้วทิศทางกลุ่มประชารัฐคือต่อต้าน “ทุนนิยมเสรี” และต้องการไปสู่  “สังคมอนุรักษ์นิยม”

ธิดา  ถาวรเศรษฐ
20 ม.ค. 59