วันพฤหัสบดีที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2559

ที่มาของระบอบอำมาตยาธิปไตย : ธิดา ถาวรเศรษฐ


ระบอบอำมาตยาธิปไตยไทยอยู่คู่กับระบอบศักดินาและพระมหากษัตริย์ไทยมาช้านานแล้ว  เพราะขุนนางไทยได้แอบอิงมีฐานะทางสังคม  เศรษฐกิจ  การเมืองไทย  โดยล้อมรอบพระมหากษัตริย์และมีบทบาทกำหนดว่าใครจะเป็นพระมหากษัตริย์มาช้านานแล้ว  นอกจากนั้นยังมีบทบาทในการปกครองในระบอบศักดินา  คุมไพร่  คุมเมือง  กระทั่งควบคุมพระมหากษัตริย์  ยกเว้นยุคสมัยที่พระมหากษัตริย์มีความโดดเด่นในความสามารถหรือในการรบ  จึงจะกดขุนนางเสนาอำมาตย์ให้ขึ้นต่อพระมหากษัตริย์ได้  เช่น ในยุครัชกาลที่ 5, ยุคสมเด็จพระนเรศวร เป็นต้น  ถ้ากษัตริย์อ่อนแอ  ขุนนางก็จะปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์ดังเช่นอยุธยาหรือรัชกาลที่ 1 ตั้งราชวงศ์จักรี เป็นต้น

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครองในปี พ.ศ. 2475  ถือเป็นการเปลี่ยนระบอบพระมหากษัตริย์ผู้ทรงอำนาจสูงสุดในราชอาณาจักร  มาเป็นระบอบการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย  มีรัฐธรรมนูญเป็นกติกาสูงสุด  และพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ  แปลว่าไม่มีระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชแล้วก็จริง  แต่การเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างนิ่มนวลในประเทศไทย  ทำให้ระบอบอำมาตยาธิปไตยไม่ถูกทำลายและแข็งขืนต่อระบอบประชาธิปไตยตลอดมาจนถึงปัจจุบัน  เพราะชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมไทยไม่ถูกกวาดล้างแบบเดียวกับประเทศอาณานิคมทั้งหลาย  และไม่ถูกกวาดล้างโดยการปฏิวัติแบบเสียเลือดเนื้อ  ไม่ถูกขุดรากถอนโคนในประเทศไทย  หมายความว่าขุนนางยุคเก่าได้เปลี่ยนมาเป็นชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมในฐานะข้าราชการ  ทหาร  พลเรือนตำแหน่งสูงหรือตำแหน่งที่ปรึกษาระดับสูงต่าง ๆ  ทั้งที่ดำรงตำแหน่งในอดีตหรือปัจจุบัน  รวมทั้งผู้ที่ได้ตำแหน่งสูงใด ๆ โดยไม่ยึดโยงกับประชาชน  ไม่ยึดโยงกับระบอบประชาธิปไตย  แต่ยึดโยงกับกลุ่มชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมและระบบอุปถัมภ์  ก็จะกลายเป็นส่วนเครือข่ายของระบอบอำมาตยาธิปไตยที่ยังไม่สลายตัวไปเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ดังนั้นคนเหล่านี้จึงเป็นปฏิปักษ์โดยธรรมชาติกับพรรคการเมือง  นักการเมืองในเศรษฐกิจทุนนิยมที่ขึ้นมาเป็นผู้ปกครองประเทศ  แล้วเบียดขับให้กลุ่มผู้ปกครองแบบเดิมตกเวทีประวัติศาสตร์ไป

ธิดา  ถาวรเศรษฐ 
4 ม.ค. 59