วันพฤหัสบดีที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2559

ยุทธศาสตร์ของผู้รักประชาธิปไตย : ธิดา ถาวรเศรษฐ


ในขณะที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมเลือกใช้ยุทธศาสตร์ป้อมค่ายรักษาพื้นที่ในฐานะผู้ปกครอง  และยุทธศาสตร์ทำลายล้างฝ่ายก้าวหน้าและประชาธิปไตย  ปรากฏว่าฝ่ายประชาธิปไตยซึ่งมีพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยและองค์กรฝ่ายประชาชนพยายามใช้ยุทธศาสตร์ชูระบอบประชาธิปไตยและอดทนต่อการใช้กำลังฝ่ายต่าง ๆ (ที่มีทั้งแสดงตัวและไม่แสดงตัว) ของพลังอนุรักษ์นิยม  ที่มีบทบาทเป็นผู้กระทำโดยตลอดมา

ที่ผ่านมานั้นเมื่อใดที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมเขียนกติกาใหม่หลังทำรัฐประหาร  อนุญาตให้มีการเลือกตั้ง  พรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยจึงจะเข้าสู่การเลือกตั้ง  คือใช้ยุทธศาสตร์เอาชนะในการเลือกตั้ง  ในเวลาที่กองทัพและกระบวนการยุติธรรมอนุญาตให้มีการเลือกตั้ง  เมื่อฝ่ายอนุรักษ์นิยมไม่ยอมก็จัดการรอบใหม่  เป็นเช่นนี้ที่เรียกวงจรอุบาทว์มาตลอดเวลากว่ายี่สิบปี

มาบัดนี้  ควรจะได้เวลาที่ฝ่ายประชาธิปไตยควรกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่แทนยุทธศาสตร์เอาชนะเลือกตั้งได้แล้ว  เพราะรัฐธรรมนูญใหม่ก็ต้องร่างตามใจคสช. ซึ่งมีความเชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 40 หรือแม้แต่ 50 ใช้ไม่ได้  การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ของพวกอนุรักษ์นิยมสุดโต่งจึงมีแต่จำกัดอำนาจประชาชนในการเลือกตั้งให้บทบาทเป็นรองการสรรหาแต่งตั้งจากกลุ่มอนุรักษ์นิยม  ฝ่ายบริหาร,  นิติบัญญัติ  ที่มาจากประชาชนก็ถูกจำกัดบทบาทให้อยู่ภายใต้การควบคุมของพลังอนุรักษ์นิยม  ไม่อาจเสนอนโยบาย,  ออกกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อมวลชน  โดยถือว่าเป็นประชานิยม  ในขณะที่ยามรัฐประหารก็รีบออกกฎหมายที่ชนชั้นนำและกลุ่มอนุรักษ์นิยมต้องการให้มากที่สุด  เร็วที่สุด  

หากพรรคการเมืองฝันหวานการชนะเลือกตั้ง  ก็จะเผชิญชะตากรรมอย่างที่ผ่านมาในช่วง 10 ปีมานี้  

ถ้าหวังว่าสถานการณ์จะดีขึ้นโดยคู่ขัดแย้งต่างยังปฏิบัติแบบเดิม ๆ ทั้งสองฝ่ายละก็  คงเป็นความฝันหวานที่ไม่ควรให้อภัยเลย”  เพราะมันเป็นไปไม่ได้

คู่ขัดแย้งฝ่ายหนึ่งยกระดับการทำสงครามทำลายล้างในระดับที่สูงขึ้น  แต่ยังคงยุทธศาสตร์และปฏิบัติการทางยุทธวิธีแบบเดิม ๆ เพื่อหวังผลทำลายล้างมากขึ้น  และสร้างป้อมค่ายป้องกันตนเองให้แข็งแรงขึ้น  สร้างเครื่องมือกลไกรัฐใหม่ ๆ  กติกาใหม่ ๆ  เพื่อทำลายปฏิปักษ์ของอนุรักษ์นิยมให้ได้ผลมากที่สุด

ถามว่าฝ่ายตรงข้ามกับอนุรักษ์นิยมสุดโต่งควรทำอย่างไร?

เราเคยเรียกยุทธศาสตร์ฝ่ายประชาธิปไตยว่ามี 2 ขา นั่นคือแยกพื้นที่ในการทำงานเพื่อประชาธิปไตย  ได้ทั้งในรัฐสภาและในองค์กรประชาชน

ความล้มเหลวในวิถีทางรัฐสภาหลังจากได้ชัยชนะในยุทธศาสตร์เอาชนะเลือกตั้ง  แสดงว่าพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยไม่อาจผ่านสงครามป้อมค่ายทำลายล้างได้  ในขณะที่ฝ่ายประชาชนก็ถูกกระทำโดยยุทธศาสตร์ป้อมค่ายทำลายล้างของพวกอนุรักษ์นิยมที่ทำลายพรรคการเมือง,  นักการเมือง  และประชาชนผู้รักประชาธิปไตย 

ดังนั้นการเอาชนะในวิถีทางรัฐสภานั้นควรจะเลิกคิดได้แล้ว  เพราะเป็นการชนะเพื่อแพ้ซ้ำซาก  และยังทำลายขวัญกำลังใจของประชาชน  เสียหายยับเยินด้วยความผิดหวังที่ชนะเลือกตั้งแต่ไม่สามารถทำให้ระบอบประชาธิปไตยเดินหน้าได้

ยุทธศาสตร์แนวร่วมประชาชนผู้รักประชาธิปไตยนั้น  พรรคการเมืองที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของแนวร่วมใหญ่นี้ต้องเก็บรับบทเรียนและเปลี่ยนยุทธศาสตร์ที่ต้องการให้พรรคการเมืองนำการต่อสู้เพื่อชนะเลือกตั้งได้แล้ว

ต้องมาร่วมกับฝ่ายประชาชน  โดยให้ยุทธศาสตร์การต่อสู้ของประชาชนเพื่อบรรลุอุดมการณ์ประชาธิปไตยและความยุติธรรมเป็นยุทธศาสตร์หลัก  เป็นยุทธศาสตร์นำ  มิฉะนั้นการได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งต่อไปเท่ากับพาประชาชนไปพ่ายแพ้ในสนามใหม่อีก  ถูกปราบปรามบาดเจ็บล้มตาย  ถูกจับกุมคุมขัง  ถูกตัดสินคดีถึงขั้นประหารชีวิต  กลายเป็นฝ่ายผิดข้างเดียว  ส่วนข้างพลังอนุรักษ์นิยมถูกตัดสินให้ถูกรอดพ้นความผิดเกือบทุกกรณี

สำหรับยุทธศาสตร์การต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ประชาธิปไตยและความยุติธรรมแท้ที่จริงคือการต่อสู้เพื่อความเสมอภาค  สิทธิ  เสรีภาพ  และภราดรภาพนั่นเอง  แต่ต้องบรรลุเป้าหมายนี้จริง  กระบวนการประชาธิปไตยด้วยการเลือกตั้งและระบอบประชาธิปไตยจึงจะดำเนินไปราบรื่นได้  ประชาชนต้องยืนหยัดการต่อสู้นี้ให้สำเร็จไม่ว่าสถานการณ์จะผันแปรอย่างไร?

การมักง่าย  หวังว่าอะไรจะดีขึ้นโดยที่ต่างฝ่ายต่างปฏิบัติแบบเดิม  จึงเป็นเรื่องเหลวไหลอย่างสิ้นเชิง  การผนึกกำลังฝ่ายประชาธิปไตยจึงต้องมีเป้าหมายยุทธศาสตร์ดันเดียวกัน  ไม่ใช่ดึงกันไปดึงกันมา  ไม่จำเป็นต้องแย่งการนำโดยบุคคล  แต่ขอให้นำโดยหลักการว่าอย่าถูกหลอกไปทำลายซ้ำซาก  ยืนหยัดการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ประชาธิปไตยที่อำนาจเป็นของประชาชนให้แข็งแกร่งและมั่นคงยั่งยืน  ไม่ใช่ประชาธิปไตยจอมปลอมที่ธาตุแท้เป็นการปกครองของกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่ไม่ยอมคืนอำนาจให้ประชาชน  

ถามว่านักการเมือง,  พรรคการเมือง  ทำแบบเดิม ๆ เพื่อพ่ายแพ้อีกให้ได้เจ็ดชั่วโคตร  หรือไม่?

ธิดา  ถาวรเศรษฐ
4 ม.ค. 59