วันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2563
ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ : หัวใจไม่หยุดเต้น ep.36 ตอน 5,000 บาท ไม่ใช่เงินเยียวยา แต่เป็นเงินยังชีพฉุกเฉิน คนหิวรอไม่ไหว
แม้ท่าทีที่ออกมาจะเป็นการยอมรับข้อผิดพลาดของผู้นำประเทศ แต่ต้องพูดกันตรงๆ ว่า นี่ไม่ใช่วิธีการบริหารบ้านเมืองในสถานการณ์วิกฤต
โควิด-19 เป็นวิกฤตใหญ่ระดับโลก คนเป็นนายกรัฐมนตรีพูดอะไรต้องมีน้ำหนัก ชัดเจน แล้วก็จบทันที ไม่ต้องแปล ไม่ต้องอธิบายกลับไปกลับมาจนคนเกิดความไม่เชื่อมั่น แล้วก็เกิดความระส่ำระสาย
หวังว่าเรื่องแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นอีกนะครับ ประเด็นไหนจะให้โฆษกแถลงก็ว่ากันไป ประเด็นไหนท่านนายกฯ จะพูดเองแล้วพูดแบบเรื่อยเปื่อยเหมือนกับ 'คืนวันศุกร์' ตอนเป็นหัวหน้าคสช. ไม่ได้อ่ะครับ
- โรคหิว เป็นกันวันละ 3 เวลา
ถ้ายังปล่อยให้เป็นเหมือนที่ผ่านมา ความเชื่อมั่น การยอมรับของประชาชนมีปัญหามากขึ้นแน่ๆ พูดถึงสถานการณ์วิกฤตรัฐบาลต้องมองให้ออกนะครับ เวลานี้เรื่องโควิด-19 กับเรื่องปากท้องของประชาชน กลายเป็นวิกฤตที่มีน้ำหนักไม่ได้ด้อยไปกว่ากัน
แน่นอนครับ สำคัญที่สุด ต้องคำนึงถึงการป้องกันรักษาโรคแล้วก็ควบคุมการแพร่ระบาด แต่พร้อม ๆ กันนั้นต้องบำบัดรักษาโรคหิว โรคไม่มีกินของประชาชนด้วย
จริงอยู่ว่าโรคระบาดหรือโรคห่า ใครเป็นแล้วรักษาหาย ก็มีโอกาสกลับมาเป็นใหม่ แต่อย่าลืมว่าโรคหิว เป็นได้ทุกวันและวันละ 3 เวลา วันนี้การควบคุมโรคอยู่ในระดับที่น่าพอใจ แต่การจัดการกับความเป็นอยู่ของประชาชนอยู่ในระดับที่น่าหนักใจและน่าเสียวไส้ด้วยซ้ำไป แค่เรื่องเงิน 5,000 บาทเรื่องเดียวจนถึงวันนี้ยังไม่จบและดูไม่มีทีท่าจะจบลงง่ายๆ
คนจำนวนหนึ่งจะได้รับเงินและเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าส่วนใหญ่จะไม่ได้ ไปถามคนในรัฐบาลก็อธิบายง่าย ๆ ว่าได้ทุกคน รัฐบาลไม่ทอดทิ้งใคร แต่ขอให้รอหน่อย
มันรอได้ที่ไหนล่ะครับ เพราะสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น คือคนไม่มีงาน ไม่มีรายได้ แล้วไม่มีกิน
ผมคิดว่าอาจจะต้องปรับความเข้าใจกันตั้งแต่ระดับพื้นฐานเลยนะครับ เพราะไม่รู้ว่ารัฐบาลเข้าใจอะไรผิดหรือเปล่า
- เงิน 5,000 ต้องได้ทันที
ถ้าท่านเปลี่ยนการตรวจสอบคุณสมบัติคนจะได้เงิน 5,000 จากคำว่าอุทธรณ์เป็นคำว่าทบทวนสิทธิ์ได้ ผมว่าการเรียกเงินจำนวนนี้ว่าเงินเยียวยา ก็ควรเปลี่ยนครับ
เพราะคำว่าเยียวยา มันหมายความว่ารอได้ อีก 2-3 เดือน หรือปีหน้าถึงจะเยียวยาก็มีด้วยซ้ำไป แต่ความหมายจริง ๆ ของเงิน 5,000 นี้ คือเงินยังชีพฉุกเฉิน ต้องได้ทันที ต้องกินวันนี้และรออีกต่อไปไม่ไหว
เหตุการณ์มาถึงวันนี้ คนเป็นจำนวนมาก ถอยถึงแนวรบสุดท้าย อะไรที่มีติดตัวเอาออกไปขาย อะไรที่มีอยู่ในบ้านเอาออกไปจำนำจนทั้งชีวิตไม่เหลืออะไรแล้ว เหลือเพียงเงิน 5,000 บาทจากรัฐบาล
พอพูดถึงเรื่องนี้ก็มีคนบางส่วนวิพากษ์วิจารณ์ว่า พวกที่เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแจกเงิน 5,000 เป็นกลุ่มเดียวกันกับที่คัดค้านการแจกเงิน 2,000 บาทในนโยบายประชารัฐ ต้องเข้าใจกันเสียใหม่นะครับว่า นั่นมันคนละเรื่อง การแจกเงิน 2,000 บาท ในนโยบายประชารัฐ คือการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งทำในช่วงเวลาที่คนส่วนใหญ่มีงานทำและช่วยเหลือตัวเองได้ตามสถานภาพ จึงมีเสียงคัดค้านเพราะเห็นว่า หากจะกระตุ้นเศรษฐกิจ ควรมีมาตรการระยะยาวที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างเข้มแข็งมั่นคงและยั่งยืน การกระตุ้นเศรษฐกิจจึงไม่ได้หมายความแค่การเอาเงินไปแจกเฉยๆ
ต่างจากเงิน 5,000 บาทในสถานการณ์นี้ นี่ไม่ใช่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ นี่คือเงินกระตุ้นชีวิตให้สามารถดำรงต่อไปได้ คนเค้าไม่ได้ทำงาน ไม่มีเงิน แล้วก็ไม่ได้หมายความว่า เค้าจะงอมืองอเท้า แต่รัฐบาลมัดมือมัดเท้า ไม่ให้เค้าทำมาหากินได้
ก็เข้าใจล่ะครับ เพื่อป้องกันและควบคุมโรคระบาด แต่กับประชาชนคนยากคนจน เมื่อมัดมือมัดเท้า ท่านต้องมีข้าวป้อน ถ้ามัดทั้งมือทั้งเท้าแล้วข้าวก็ไม่มีกิน เค้าจะอยู่กันยังไง
- แก้ปัญหานอกกรอบ ตอบโจทย์ให้ได้
ดูสิ่งที่เกิดขึ้นที่กระทรวงการคลังสิครับ คนได้รับผลกระทบเขาไปเรียกร้องเงินยังชีพฉุกเฉิน ไม่ได้หมายความว่า เค้าไม่คิดสู้ เค้าเรียกร้องด้วยซ้ำไปว่า ถ้าจะไม่ให้เงิน ก็ต้องให้เค้าค้าขาย ให้เค้าทำงานปกติ เงิน 5,000 บาทจากรัฐบาลจะไม่มีความหมายอีกต่อไป
รัฐบาลอาจจะอธิบายว่า มีเหตุผล มีข้อจำกัด มีระเบียบ มีตัวบทกฎหมาย แต่กับสถานการณ์ตอนนี้ คิดกรอบเดิมไม่ได้ครับ นี่คือวิกฤตที่โลกไม่เคยเจอ ถ้าแก้ปัญหาโดยวิธีคิดแบบเก่า วิธีการทำงานแบบเดิม ผมรับรองว่าไม่สามารถจะผ่านสถานการณ์นี้ไป
กฎกติกาทั้งหลายก็กลไกรัฐทั้งนั้นล่ะครับสร้างขึ้นมา เมื่อโควิดมันลอยมาเหนือกติกา ก็ต้องคิดนอกกรอบ ตอบโจทย์ให้ได้ว่า 27 ล้านคนที่มาลงทะเบียนรับเงิน 5,000 บาทจะจัดการยังไง
อย่าไปตอบลอย ๆ ว่าคนเป็นเกษตรกรให้รอมาตรการช่วยเกษตรกร คนเป็นนักศึกษาให้รอมาตรการช่วยนักศึกษา เพราะเอาเข้าจริงรัฐบาลยังไม่มีมาตรการอื่นๆ ออกมา
ขนาดมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งในวันเดียวกันกับที่ประชาชนไปเรียกร้องเงิน 5,000 บาทที่กระทรวงการคลัง (14 เม.ย. 63) เวลา 14.30 น. นายอุตตม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีนัดประชุม เพื่อกำหนดมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร และจะนำไปเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันรุ่งขึ้น ปรากฏว่ามีการสั่งเลื่อนการประชุมโดยมีรายงานข่าวว่าเหตุผลก็คือ มีประชาชนไปประท้วงกันอยู่ที่กระทรวงการคลัง
ทั้งที่การประท้วงของประชาชนจบไปตั้งแต่บ่ายต้นๆ บ่ายสองครึ่งหลังจากมีการปิดประตูกระทรวงแล้ว ต้องประชุมได้ หรือหากองค์ประชุมไม่สบายใจ สามารถนัดประชุมที่ไหนก็ได้ แต่นี่กลายเป็นว่าแทนที่มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรจะได้เข้าครม.สัปดาห์นี้ กลับต้องรออีก 1 สัปดาห์ แล้วไม่รู้ว่าถึงที่สุดจะได้เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจริงหรือไม่
มาถึงตรงนี้ ผมเริ่มสงสัยแล้วนะครับว่ากรอบเงินกู้ 1.9 ล้านล้าน ซึ่งรัฐบาลบอกว่าจะทยอยกู้เข้ามา ปัญหาที่แท้จริงคือยังไม่มีมาตรการ ยังไม่มีรูปธรรมที่จะใช้เงินใช่ไหม
วิกฤตขนาดนี้ ต้องใช้เงินมาแก้ไขปัญหา ประครองสถานการณ์มากมายมหาศาล แต่ถ้าหากไม่มีมาตรการชัดเจน เอาเงินมามากกว่านี้อีกกี่เท่าก็ไม่มีความหมาย
นายกฯ ยืนยันว่า 5,000 บาทต้องได้ครบ 3 เดือน แต่เงินเดือนที่ 2 ไม่รู้จะมาเมื่อไหร่ เงินกู้เท่าที่ฟังตามกรอบเวลา ได้เป็นอย่างเร็วต้นเดือนมิ.ย.ด้วยซ้ำไป
ถามว่าตั้งแต่วันนี้จนถึงต้นเดือนมิ.ย. คนไทยและประชาชน โดยเฉพาะคนยากคนจนจะอยู่กันอย่างไร
- เริ่มขยับปรับล็อคเศรษฐกิจ
เรื่องคลายล็อคทางเศรษฐกิจ ผมเคยได้เสนอไปแล้ว ทราบว่าขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณา ไม่ได้หมายความว่าผมเสนอแล้วเสียงดังรัฐบาลต้องรับฟัง ไม่ใช่ล่ะครับ เป็นแต่เพียงมุมแบบนี้ หลายคนหลายฝ่ายย่อมมองเห็นตรงกันได้
พ.ร.ก.ฉุกเฉินมีอายุถึงสิ้นเดือนเมษายน แต่ไม่ได้หมายความว่า ทั้งประเทศจะต้องถูกล็อคดาวน์ไปพร้อมๆ กันทั้งหมดเสียเมื่อไหร่
ลองจัดหมวดหมู่สิครับ อย่างน้อย 9 จังหวัดที่ยังคงปลอดเชื้อ น่าจะเป็นดี1 ประเภท1 พื้นที่นำร่องให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจบางชนิดสามารถขับเคลื่อนภายใต้มาตรการที่เหมาะสมได้
ต่อมาก็เป็นกลุ่มจังหวัดที่ไม่พบผู้ติดเชื้อใหม่มาแล้วไม่ต่ำกว่า 2 สัปดาห์มีอยู่อีก 25 จังหวัด น่าจะเป็นชุดถัด ๆ ไป
ผมเข้าใจครับว่าการรับมือโรคระบาด ต้องไม่ประมาท การ์ดอย่าตก เหมือนชกมวยจะโดนน็อคเอาง่าย ๆ
แต่ปัญหาก็คือ ถ้ามวยเอาแต่ตั้งการ์ดอย่างเดียว ไม่ออกอาวุธอะไรไปบ้าง เราจะเอาชนะได้ยังไง
ไม่ได้หลับหูหลับตาดึงดันเสนอนะครับ ไม่ได้เรียกร้องให้รัฐบาลออกเดินก้าวยาวๆ แต่ในบางพื้นที่ลองขยับก้าวสั้น ๆ ดูสิครับว่าจะเป็นยังไง ความเข้มงวดเข้มแข็งเรื่องมาตรการป้องกันควบคุมการแพร่ระบาด ยังต้องเต็มที่ 100 เปอร์เซ็นต์ตลอดเวลา
แต่ในทางเศรษฐกิจ เมื่อประชาชนหมดหวังกับมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล ก็ควรเปิดพื้นที่ให้เขาช่วยเหลือตัวเองได้
กรุงเทพฯ ภูเก็ต จังหวัดที่ยังพบผู้ติดเชื้อคงต้องรออีกนาน แต่จังหวัดอื่นๆ ลองจัดกลุ่มแล้วพิจารณาก็ไม่มีอะไรเสียหาย
- ช่วงรัฐมนตรีเหงา
ช่วงนี้รัฐมนตรีหลายคนคงเหงา เพราะว่านายกฯ เอางานให้ปลัดกระทรวงไปทำเกือบหมดแล้ว บางคนก็เลยขยันเป็นพิเศษ วันก่อนเห็นรัฐมนตรีกระทรวงดีอี พาตำรวจไปจับประชาชน
อ้างว่าเป็นกลุ่มปล่อยเฟคนิวส์ เอามา 7 คน ประกาศจะดำเนินคดีขั้นเด็ดขาด ผมตามอ่านข่าวดู พบว่าบางคนโพสต์ข้อความ ซึ่งแม้จะเป็นเฟคนิวส์ ก็ไม่น่าจะใช่เรื่องคอขาดบาดตาย
สถานการณ์แบบนี้ ไม่จำเป็นต้องไปไล่ล่าไล่จับประชาชนขนาดนั้นก็ได้ พบว่าใครปล่อยข้อความอันเป็นเท็จ เจ้าหน้าที่มีสิทธิไปพบว่ากล่าวตักเตือน ออกหนังสือให้หยุดการกระทำ หากไม่หยุดก็ต้องมีมาตรการขั้นต่อไป
ขนาดประธานศาลฎีกายังออกคำแนะนำให้ผู้พิพากษาตัดสินกำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินในสถานการณ์นี้ตามความเหมาะสมด้วยซ้ำไป
ตัวรัฐมนตรีกระทรวงดีอี ก็น่าจะพิจารณาดำเนินการกับคนปล่อยเฟคนิวส์ตามความเหมาะสมด้วยเช่นกัน เพื่อรักษาบรรยากาศของประเทศไม่ให้ตึงเครียดกับทุกมุมจนเกินไป
ถ้ากระทรวงดีอีมีเวลา ไปพัฒนาระบบฐานข้อมูลประชาชน ให้สามารถที่จะจำแนกแยกแยะคุณสมบัติบุคคล แล้วเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลได้รวดเร็วทันที อย่าให้มั่วเหมือนตอนนี้ดีกว่า
ทีคนเป็นนายกฯ พูดผิดแล้วก็พูดใหม่ ออกมาขอโทษและก็พูดต่อไปได้ ประชาชนโพสต์ข้อความอาจจะเป็นเฟคนิวส์โดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ว่ากล่าวตักเตือน แล้วให้เขาปฏิบัติตัวเสียใหม่ มันจะอะไรกันนักกันหนา
หลังผ่านสถานการณ์โควิด-19 หลายฝ่ายวิเคราะห์ตรงกันว่าโลกจะไม่เหมือนเดิมมิติต่างๆ ของสังคมมนุษย์จะเปลี่ยนไป ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่คสช.ทำเอาไว้เลย
ตอนนั่งเขียนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี คนที่นั่งกันอยู่ในวง ใครคิดบ้างว่าจะมีวันนี้ แล้วไม่มีอำนาจ หรือกลไกใดจะกดให้โลกและสังคมไทยนิ่งอยู่กับที่
อย่าว่าแต่ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีเลยครับ เกิดโควิด-19 มา 3-4 เดือน ยังไม่เห็นยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาจนวินาทีนี้ ยังเอาใจช่วยรัฐบาลอยู่นะครับ ลุ้นทุกวันให้แก้ปัญหาได้ แต่บางเรื่องน่าหนักใจก็ต้องพูดกันตรง ๆ นายณัฐวุฒิกล่าว
(ทีมงาน)