วันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2563

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ : หัวใจไม่หยุดเต้น ep.37 ตอน เราอยู่กับล็อคดาวน์และเคอร์ฟิวไม่ได้ตลอดกาล คนจะอดตาย


แต่พอเปิดสาระจริงๆ ออกมา ไม่ใช่การขอความเห็นหรือไอเดียอะไรเลยครับ เพราะถ้าจะให้เข้าใจแบบนั้น สาระสำคัญในจดหมายต้องประมาณว่า มาตรการทั้งหมดที่รัฐบาลทำมา ท่านคิดเห็นอย่างไรและมีข้อเสนอแนะอย่างไรบ้าง สำหรับการแก้ไขปัญหา ฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจ เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดต่อไป

แต่นี่กลายเป็นว่า นายกรัฐมนตรีบอกกับมหาเศรษฐีว่ามาตรการต่างๆ ที่ทำมาเป็นการช่วยเหลือคนในองค์กรหรือช่วยเหลือประชาชน รู้นะ ขอบใจมาก

แต่ต้องทำเพิ่มและรายงานมาทันทีภายในสัปดาห์หน้าว่าจะมีมาตรการอะไรอีก นอกจากไม่ใช่เป็นการขอควาเห็นแล้ว ยังไม่ใช่ขอความร่วมมือด้วย

เพราะนี่เรียกว่า ขอความมัดมือโดยแท้ มหาเศรษฐีทั้ง 20 รายที่ได้รับจดหมาย จะมีใครบ้างที่ตอบนายกฯ ว่า เรียนนายกรัฐมนตรี ที่ผ่านมาคิดว่าผมได้กระทำมามากพอแล้ว มาตรการหลังจากนี้ไม่มี

ทุกคนก็ต้องเสนอมาตรการออกไป และแน่นอนว่า งบประมาณที่ใช้ก็ต้องเป็นงบฯ ของมหาเศรษฐี ทำให้สถานะของโครงการเหล่านี้เกิดความลักลั่นไม่ชัดเจนว่าตกลงใครเป็นเจ้าภาพกันแน่

- จดหมายเปิดผนึก คิดง่ายแต่ทำยาก 

กลุ่มทุนยักษ์ใหญ่หลายรายออกมาตรการทั้งดูแลบุคคลากรในสังกัดและช่วยเหลือประชาชนมาแล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งตรงนั้นชัดเจนครับว่าเค้าคิดเองทำเอง

แล้วก็มีกรอบการตัดสินใจกรอบการดำเนินงานของตัวเอง แต่พอเป็นมาตรการตามคำขอของนายกฯ ความหมายของมันคือมาตรการสาธารณะ

ถามว่าเมื่อดำเนินการไปแล้ว ใครจะเป็นคนรับผิดชอบ เอกชนรายไหนประกาศจะทำอะไรออกมา ถ้าหากว่าประชาชนเห็นว่าเป็นประโยชน์ แต่ได้รับไม่ทั่วถึง จะไปเรียกร้องเอากับใคร

หรือหากมาตรการที่เอกชนบอกว่า ทำตามคำขอของนายกรัฐมนตรี เดินไปแล้วเกิดมีปัญหา มีประชาชนบางกลุ่มเกิดมีส่วนได้ส่วนเสีย แล้วก็จะต้องเรียกร้องให้มีการแก้ไข จะเรียกร้องกับใครดี

อย่าคิดว่าเรื่องแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นนะครับ ขนาดรัฐบาลมีอำนาจเต็ม มีฐานข้อมูล มีบุคคลากร มีกลไกต่างๆ เต็มมือ แค่เยียวยาประชาชนเดือนละ 5 พันบาท ยังมีปัญหาไม่จบไม่สิ้นจนวันนี้

ดังนั้น ในวิกฤตขนาดใหญ่ของโลก การกำหนดมาตรการสาธารณะเพื่อช่วยเหลือประชาชน รัฐต้องเป็นเจ้าภาพเท่านั้น ส่วนเอกชน ผู้ประกอบการ หรือมหาเศรษฐีรายใดก็ตาม ถ้าจะเข้ามาร่วม

ก็มาในฐานะผู้สนับสนุน ไม่ใช่เป็นเจ้าของโครงการตามคำขอของนายกรัฐมนตรี เช่น คุณหมอปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ออกมาบอกว่า เตรียมใช้งบประมาณ 100 ล้าน แต่ไม่ให้ตอนนี้

จะไปช่วยแก้ไขสถานการณ์ภัยแล้ง ดูดน้ำใต้ดินเอามาใช้ที่จ.สุโขทัย หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย รัฐบาลจะอนุญาตให้ทำไหม ถ้าให้ทำ การดูดน้ำใต้ดินขึ้นมาโดยเอกชนจะไปเข้าข้อระเบียบใดๆ ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือไม่ จะต้องมีการยกเว้นข้อระเบียบ จะต้องมีการเปิดช่องให้เอกชนบางรายเข้าไปดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดหรือไม่

ผมไม่ได้กล่าวหาว่ามหาเศรษฐีทั้ง 20 ราย จะเสนอโครงการที่ตัวเองมีนอกมีในนะครับ เพียงแต่ยกตัวอย่างให้เห็นว่ารัฐบาลเล่นง่ายๆ อย่างนี้ไม่ได้

นี่ยังไม่นับรวมว่าทั้ง 20 ราย มีข้อต้องคิดอีกนะครับว่าจะออกมาตรการตอบสนองนายกรัฐมนตรีขนาดไหน เม็ดเงินงบประมาณที่ใช้ ต้องเรียงตามลำดับความร่ำรวยหรือไม่

ครทำมากทำน้อยจะมีผลต่อความสัมพันธ์กับรัฐบาลอย่างไร แล้วสายตาของสังคจะมองเข้ามาแบบไหน ผมว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นจากจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ จะเป็นเรื่องคิดง่ายแต่ทำยาก ประเมินผลสำเร็จลำบาก

อย่ามาหาว่าผมไปพูดถึงรัฐบาลเหมือนที่เค้าติดแฮชแท็กกันนะครับ แต่ผมเห็นว่าการที่รัฐบาลพลิกเอามาตรการรับมือวิกฤตนี้ไปใส่มือมหาเศรษฐีแล้วให้เค้าเป็นเจ้าภาพเบ็ดเสร็จในตัวเอง เป็นเรื่องคิดง่ายเกินไป

- ทำไมไม่ส่งจดหมายถึงกลุ่มในอาณัติของรัฐฯ เอง 

ถ้าจะทำจดหมายเปิดผนึกโดยมีเนื้อหาสาระแบบที่ปรากฏออกมา ไม่ควรยื่นให้กับบรรดาเศรษฐีทั้งหลายครับ นายกรัฐมนตรีควรทำจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐวิสาหกิจที่มีกำไรมหาศาล เช่น การไฟฟ้า ปตท. กองสลากและอีกหลายราย บอกผู้บริหารรัฐวิสาหกิจเหล่านั้นว่า มาตรการช่วยเหลือที่ทำมา เห็นแล้ว ขอบใจ แต่ขอให้ทำเพิ่ม แล้วก็แจ้งมาภายในสัปดาห์หน้าว่า รัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่จะทำอะไรเพื่อประชาชนได้อีกบ้าง

อย่างงี้ชัดครับว่ารัฐวิสาหกิจเป็นเจ้าภาพและอยู่ในความรับผิดชอบของรัฐบาล หรือไม่ก็เอาง่ายๆ ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง 250 ส.ว. ที่นายกฯ ตั้งมาเองกับมือ

แล้วถามว่าจะช่วยเหลือประชาชนเพิ่มเติมจากปัจจุบันนี้ได้อย่างไรบ้าง

ถ้าขอความเห็นขอไอเดียมหาเศรษฐี ผมไม่มีปัญหา แต่จดหมายที่ออกมา มันไม่ได้หมายความว่าอย่างนั้น นี่ไม่ใช่การออกมาปกป้องคนร่ำคนรวยทั้งหลาย ไม่ใช่หน้าที่ผม และไม่ใช่สิ่งที่ผมพึงกระทำ

แต่ผมต้องการเห็นรัฐบาลแสดงศักยภาพในการรับมือกับวิกฤตแล้วแก้ปัญหาพาประชาชนให้รอดพ้นไปด้วยกัน ด้วยความสามารถของตัวเอง

- ไล่จับคนไร้บ้าน เล่นงานคนแจกโจ๊ก

ส่วนเรื่องการใช้อำนาจหรือบังคับใช้กฎหมาย 1-2 วันนี้มีข่าวการไปจับกุมดำเนินคดีกับกลุ่มคนที่ไปแจกข้าวปลาอาหารให้กับประชาชนตามพื้นที่ต่างๆ

ในฐานะที่ผมก็เป็นหน่วยเล็กๆ หน่วยหนึ่งที่เดินแจกข้าวกล่อง ข้าวสารอาหารแห้งให้กับประชาชนมาแล้ว 1 สัปดาห์

อยากจะบอกว่าเจ้าหน้าที่รัฐทั้งหลาย ควรใช้อำนาจอย่างสร้างสรรค์ ระมัดระวังไม่ให้การใช้อำนาจนั้น กลายเป็นประเด็นทางสังคมที่เกิดความตึงเครียดขึ้นมา

ผมเห็นด้วยว่าการแจกข้าวแจกของต้องให้ความสำคัญกับการเว้นระยะห่าง เพื่อเป็นมาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค

สิ่งที่ควรจะเป็นคือ ใครจะแจกของก็แจ้งองค์กรปกครองท้องถิ่น แจ้งส่วนราชการให้รับทราบ แล้วก็มาช่วยกันดูแล แต่หากเกิดสถานการณ์เฉพาะหน้า คนแจกไม่ได้แจ้ง แต่คนรับเค้ามารอ ก็ไม่ควรไปทำให้เป็นเรื่องใหญ่ เป็นคดีความ ทำแบบนั้น ถึงที่สุดจะไม่มีใครได้อะไร

เจ้าหน้าที่ที่จับกุมก็ถูกต่อว่า คนเจตนาดีเอาของไปแจกก็เสียความรู้สึก แล้วตกเป็นผู้ต้องหา ชาวบ้านที่กำลังไม่มีกินก็กลายเป็นถูกแย่งอาหารไปต่อหน้า คดีไปรกโรงรกศาลอีกต่างหาก

เอาอย่างงี้เถอะครับ คนแจกก็แจ้งหน่วยงานเค้าหน่อย แต่ถ้าไปเจอใครกำลังแจกแล้วยังไม่ได้แจ้งหน่วยงาน เจ้าหน้าที่ก็ไปช่วยดูแล แล้วตักเตือน ขอความร่วมมือว่า คราวต่อไปต้องแจ้ง เท่านี้ก็จบ จะให้เกิดกรณีจี้ชิงโจ๊กกันอยู่ทำไม

สมัยจอมพล.ป มีคนกลุ่มหนึ่งในนามขบวนการไฮปาร์ค ประท้วงรัฐบาล ประกาศอดข้าวกลางท้องสนามหลวง รัฐบาลแก้เกม เอาอาหารไปเลี้ยง ผู้ประท้วงไม่ยอมกิน สุดท้ายถูกจับกุมดำเนินคดี เรียกว่า กบฏอดข้าว

มาปัจจุบันนี้ อย่าถึงกับให้มีกบฏแจกข้าวเลยครับ ใครไม่ไปสัมผัสจริงอาจจะไม่รู้ ผมไปสัมผัสมาด้วยตัวเอง นัดแจกข้าวเวลา 11.30 น. ทุกที่ผมไม่เคยได้แจกตรงเวลา เพราะประชาชนมารอกันตั้งแต่ 10.00 น.

ในยามปกติที่เค้าพอช่วยเหลือตัวเองได้ ข้าวกล่องหนึ่ง น้ำขวดหนึ่ง ข้าวสารหนึ่งถุง น้ำพริก 1 กระปุก ไม่มีแรงดึงดูดใจขนาดนี้ล่ะครับ แต่นี่เขากำลังลำบากจริงๆ

ของแต่ละอย่างที่คนเอามาแจก มันมีความหมาย ที่ผมสังเกตเห็น คนส่วนใหญ่ที่มารอ ยังไม่ได้กินข้าวเช้าจึงมาเร็ว เพื่อต้องการอาหารมื้อนั้นไปกินทั้งเช้าทั้งเที่ยง นี่คือความจริงที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน คนเอาของไปแจก เจ้าหน้าที่ต้องไปช่วยเขาจัดการ ไม่ใช่ช่วยกันจัดการเขา

แล้วไอ้ประเภทไปจับคนไร้บ้าน ข้อหาฝ่าฝืนเคอร์ฟิวก็ขอเถอะครับ คนเค้านอนตามถนน คนเค้านอนตามตลาด ไม่มีบ้านอยู่แล้ว จะไปจับเอามาทำไม

ในสถานการณ์แบบนี้ การบังคับใช้กฎหมายกับคนยากคนจน เอาแต่ความเด็ดขาดอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีความเข้าใจและความเมตตากำกับด้วย

ไม่มีใครเถียงล่ะครับว่ายามนี้สุขภาพต้องมาก่อนเสรีภาพ แต่ที่คนยากคนจนเขาออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้อง เขาไม่ได้ต้องการเสรีภาพใดๆ มากไปกว่าเสรีภาพที่จะได้อยู่ได้กินได้ดำรงชีวิตได้ในวันที่รัฐปิดโอกาสในการทำงานทำกิน

- เราจะอยู่กับเคอร์ฟิว ตลอดไปไม่ได้ 

ส่วนเรื่องการคลายล็อคที่ทุกฝ่ายเรียกร้อง ผมเห็นว่าจำเป็นที่รัฐบาลต้องรีบสรุปให้ชัดนะครับ จะยังคงพ.ร.ก.ฉุกเฉินอยู่ ก็รับได้ แต่มาตรการต่างๆ ไม่ควรเข้มข้นเท่ากับปัจจุบันนี้ตลอดไป

แน่นอนครับ หลังจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่จำนวนผู้ได้รับผลกระทบและอดอยากก็เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้จริงเหมือนกัน ตราบเท่าที่ยังไม่มียารักษาเด็ดขาด
ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน

โลกยังต้องอยู่กับโควิดนี้ไปอีกนาน การปรับวิถีชีวิต การเพิ่มมาตรการป้องกันในสังคม การที่กลไกรัฐสอดส่องดูแล หาคนป่วยแยกคนเสี่ยง นี่คือสิ่งที่ต้องเกิดขึ้น

ยอมรับความจริงเถอะครับ ถ้ายังไม่มีวัคซีน เราก็ต้องอยู่กับโควิด19 แบบนี้ต่อไปให้ได้ แต่ที่จะทำให้เราอยู่ไม่ได้จริงๆ คือการปิดกั้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แบบปัจจุบันในระยะยาว

คนยากจน คนเล็กคนน้อย จะตายก่อน ผู้ประกอบการขนาดเล็ก ขนาดกลาง ก็กำลังจะตายตาม และเมื่อถึงตรงนั้น 20 รายที่นายกฯ เขียนจดหมายไปหา จะเหลือรอดอยู่เท่าไหร่ก็ไม่รู้

เราอาจจะต้องอยู่กับโควิดตลอดไปก็เป็นได้ แต่เราอยูกับเคอร์ฟิวตลอดกาลไม่ได้ คนจะอดตาย เงิน 5 พันบาท แม้ว่าจะเพิ่มจาก 9 ล้านคนเป็น 14 ล้านคน แต่นั่นไม่ใช่การแก้ปัญหา

คนได้เดือนละ 5 พัน ไม่ได้หมายความว่าชีวิตจะอยู่ได้ แต่เป็นการยังชีพฉุกเฉินเพื่อรอวันฟื้นคืนกลับสู่ปกติ หรือผ่อนคลายจากปัจจุบันนี้
จะเอาตัวเลขคนป่วยคนตายชี้วัดอย่างเดียวไม่พอนะครับ ต้องประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจชีวิตความเป็นอยู่ของคนในปัจจุบัน แล้วอ่านสถานการณ์ให้ขาดไปถึงอนาคตด้วย

กิจการบางอย่างป้องกันให้รัดกุมไม่ประมาท ก็ต้องปล่อยให้เค้าเปิด กิจกรรมบางประเภทต้องทำใจว่า คงเปิดไม่ได้อีกนาน ผับ บาร์ เวทีมวย ไก่ชน วัวชน ก็ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตกันไป

ผับบาร์ลองปรับรูปแบบมาเป็นร้านอาหาร จัดระยะห่างให้คนนั่งกินได้ไหม เวทีมวยชกถ่ายทอดโทรทัศน์โดยไม่มีคนดูในเวทีได้หรือไม่ นี่แค่ยกตัวอย่างแบบเร็วๆ นะครับ แต่ถึงเวลาต้องนั่งคิดเรื่องพวกนี้อย่างจริงจัง

- วิถีประยุทธ์ จะฉุดพัฒนาการทางการเมืองลง 

มีคนตั้งข้อสังเกตว่า การรับมือโควิด19 นายกรัฐมนตรี ตัดนักการเมืองออก ใช้ข้าราชการ โดยปลัดกระทรวงเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อน อย่าลืมซะล่ะครับว่า พล.อ.ประยุทธ์ก็เป็นนักการเมือง

ดังนั้น ทั้งหมดที่เป็นอยู่ ก็คือการบริหารจัดการโดยนักการเมืองชื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพียงแต่วิถีทางการเมืองของพล.อ.ประยุทธ์ จะเน้นรัฐราชการ มาตามกลไกอำนาจนิยม

ที่ต้องการคนรับคำสั่งเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ซ้ายหัน ขวาหัน ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นง่ายๆ กับนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
นักการเมืองอำนาจนิยมแบบพล.อ.ประยุทธ์ จึงเลือกที่จะใช้ข้าราชการ แต่ไม่ตอบสนองต่อการทำหน้าที่ของตัวแทนประชาชน ไม่หือไม่อือกับข้อเรียกร้องให้มีการเปิดสภาถกอภิปรายเรื่องนี้

ผมไม่ได้มานั่งคลั่งประชาธิปไตยตอนที่โรคระบาดกำลังรุนแรงนะครับ แต่ระบบการเมือง ที่นักการเมืองอย่างพล.อ.ประยุทธ์กำลังทำอยู่ จะมีปัญหาทั้งผลสัมฤทธิ์ในการทำงาน ความโปร่งใสและเข้มแข็งของกลไกตรวจสอบและพัฒนาการทางการเมืองของสังคมไทย'นายณัฐวุฒิกล่าว

(ทีมงาน)