วันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2563

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ : หัวใจไม่หยุดเต้น ep.35 ตอน "โรคห่า" เบาลง แต่ "โรคหิว" กำลังบาน


ณัฐวุฒิชี้โรคห่าเบาลงแต่โรคหิวกำลังบาน งงหนักสงกรานต์ไม่หยุดแต่แจก 5 พันมีวันหยุด

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ กล่าวในรายการ ‘หัวใจไม่หยุด‘เต้น’’ เผยแพร่ทางแฟนเพจ ‘นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ’ และยูทูบ 'นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ Official' เมื่อวันที่ 13 เม.ย. 63 ว่า

สมัยโบราณยุคต้นกรุงศรีอยุธยา เกิดโรคระบาด ชาวบ้านเค้าเรียก 'โรคห่า'

โควิด-19 คราวนี้ถ้าเรียกเทียบเคียงว่าเป็นโรคห่าก็คงไม่ผิดกติกา สถานการณ์ที่เรากำลังเจอมี 2 โรคพร้อมๆ กันนะครับ คือ ‘โรคห่า’ กับ ‘โรคหิว’

โควิด-19 ขณะนี้ถ้าดูจากตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3-4 วันก่อนหน้านี้ลดลงทุกที จนอยู่ในระดับที่คาดหวังได้ว่าหากลดลงในอัตราส่วนใกล้เคียงกันน่าจะควบคุมสถานการณ์ได้ในเวลาไม่ช้านัก

แต่สวนทางกันกับจำนวนผู้ติดเชื้อก็คืออีกโรคหนึ่งครับ ‘โรคหิว’ ซึ่งเวลานี้มีจำนวนคนที่ประสบสถานการณ์ยากลำบากในการดำรงชีวิตเพิ่มขึ้นตลอดเวลา

โรคหิวหรือโรคขาดทรัพยากรในการดำรงชีพเป็นโรคติดต่อเหมือนกัน แต่ไม่ได้ติดต่อจากคนสู่คน มันติดต่อกันมาแล้วหลายวัน คนไม่ได้ทำงาน ไม่มีรายได้ ไม่มีอาหาร นี่คือสถานการณ์ที่รัฐบาลต้องเร่งมือในการแก้ไข

- เราไม่ทิ้งกัน ถ้าคิดจะให้ อย่าใจแคบ

มาตรการแจกเงินรายละ 5,000 บาท ต้องทำให้ทั่วถึงโดยเร็วที่สุด ไม่ใช่แจกหยุดแจกหยุดอย่างที่เป็นอยู่นี้ วันธรรมดาแจก เสาร์อาทิตย์หยุด จันทร์ค่อยแจกอีกที ผมไม่เข้าใจนะครับว่า

ทำไมต้องทำแบบนี้ ถ้าจะอ้างว่าเสาร์อาทิตย์เป็นวันหยุด ก็วันที่ 13 เมษายน เป็นวันสงกรานต์ คือวันหยุดอยู่แล้ว แต่รัฐบาลก็สั่งการให้เป็นวันราชการทำงานปกติได้ จะเว้นเสาร์อาทิตย์ไว้ทำไมล่ะครับ ก็สั่งให้เป็นวันทำงานแล้วก็ให้งบประมาณที่จัดไว้รายละ 5,000 บาท ทำงานได้ตลอดเวลา

โรคห่าก็ไม่มีวันหยุด โรคหิวยิ่งไม่มีวันหยุด แต่มาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล ไม่รู้จะมีวันหยุดไว้ทำไม

ส่วนกรอบระยะเวลาที่จะแจกเงิน 5,000 บาทต่อเนื่องกันไป 6 เดือนนั้น เรื่องนี้ตั้งแต่ประกาศมา ผู้คนก็ตกใจเพราะเท่ากับรัฐบาลประเมินว่า เราต้องอยู่กันในสภาพนี้อีกอย่างน้อย 6 เดือนจากนี้ไป

แม้ภายหลังจะพยายามอธิบายว่าจ่ายจริงแค่ 3 เดือนเท่านั้น เรื่อง 6 เดือนก็ต้องรออีกที แต่อยากจะชี้ให้เห็นนะครับว่า ประชาชนเค้ารอไม่ได้ ถ้าจะจ่าย 5,000 บาทติดต่อกันอีก 3 เดือน

ก็ควรจะขยายฐานประชาชนผู้ได้รับจาก 9 ล้านคนเป็น 18 ล้านคนหรือมากกว่านั้นได้หรือไม่ มีคนไปลงทะเบียน 26 ล้านคน แต่รัฐบาลบอกว่าจะคัดเหลือแค่ 9 ล้าน ที่เหลือส่วนใหญ่เป็นพวกขาดคุณสมบัติ
ต้องเข้าใจนะครับว่า แต่ละคนที่ยื่นเข้าไป อย่างน้อยมีคุณสมบัติพื้นฐานเดียวกัน คือคนที่จะไม่มีกิน ดังนั้น ส่วนที่เหลือ ถ้าอ้างว่าไม่เข้าหลักเกณฑ์ก็ทอดทิ้งไม่ได้ ต้องเอามาพิจารณาโดยเร็วว่าจะช่วยเหลือดูแลกันยังไง

กระทรวงการคลังมีหน้าที่เร่งตรวจสอบคุณสมบัติ จัดเงิน 5,000 เข้าบัญชีประชาชนให้เร็วที่สุด

ทำตรงนี้ให้สำเร็จเถอะครับ ไม่ต้องไปเน้นเรื่องจะจับจะดำเนินคดี ไปนั่งขู่ชาวบ้านที่เข้ามาลงทะเบียนอยู่รายวัน

ทำไปทำมากระทรวงการคลังจะเล่นบทหลักในการจับกุมปราบปรามซะอย่างงั้น ให้คนอื่นเค้าทำเถอะครับ ไม่ใช่เรื่อง

- ในห้วงวิกฤต อย่ายึดติดอำนาจ

ส่วนกลไกการทำงานของรัฐ น่าจะเพิ่มบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มากกว่านี้ ทั้งในแง่ของงบประมาณ และการบริหารจัดการในพื้นที่

งบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรจะถูกจัดสรรเพื่อใช้ดูแลแก้ปัญหากันเองได้ โดยลดข้อกังวลเรื่องระเบียบการตรวจสอบทั้งหลาย

ตำบลไหน หมู่บ้านใดเป็นพื้นที่สุ่มเสี่ยงต้องล็อคดาวน์ ให้ท้องถิ่นนั่นแหละครับเค้าดูแลกันเอง ถ้ารัฐบาลยังไม่สามารถเอาเงินไปใส่กระเป๋าประชาชนได้ ก็ต้องบริหารจัดการให้เอาอาหารไปถึงบ้านประชาชนให้ได้

ท้องถิ่นเค้ารู้ครับว่าบ้านไหนอยู่กันกี่ชีวิต หลังคาเรือนไหนมีสมาชิกกี่คน แล้วในทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ ส่วนใหญ่ก็จะมีคนเลี้ยงหมูเลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่เลี้ยงปลาอยู่ในนั้น

ล็อคดาวน์ คนในไม่ให้ออก คนนอกไม่ให้เข้า แต่ใช้วัตถุดิบเป็นข้าวปลาอาหารดูแลกันในนั้น จัดการแบบเดลิเวอรี่ ซึ่งกลไกของท้องถิ่นเค้าทำได้ถึงที่

ชาวบ้านคนเลี้ยงหมูเลี้ยงปลาเลี้ยงไก่มีรายได้ คนในหมู่บ้านมีอาหารกิน องค์กรปกครองท้องถิ่นและฝ่ายปกครองทำงานด้วยกัน เป็นกลไกตรวจสอบถ่วงดุลกันและกัน วิกฤตใหญ่ขนาดนี้ไม่ได้สำเร็จเพราะอำนาจทั้งหมดอยู่ในมือรัฐบาลนะครับ

แต่ในทางกลับกันรัฐบาลนั่นแหละต้องกระจายอำนาจไปให้ส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและใกล้ชิดกับปัญหาในแต่ละพื้นที่เค้าบริหารจัดการตัวเองได้

- รักษาระยะห่างในบ้าน อยู่อย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า หน่วยงานทั้งหลายทำงานกันอย่างเต็มที่ ประชาชนส่วนใหญ่ก็ให้ความร่วมมือกันเต็มกำลัง แต่ข้อแนะนำบางประการขอเถอะครับ

เพราะที่ท่านพูดมา ประชาชนเค้าทำไม่ได้ ผมได้ยินพูดต่อเนื่องกันหลายวันว่า อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ โอเคครับ นี่ก็อยู่บ้าน ไม่ได้ไปไหน

แต่ประเภทที่บอกว่า อยู่บ้านแล้วต้องรักษาระยะห่างอย่าใกล้ชิดกัน ทำอะไรก็ต้องเว้นพื้นที่ เพื่อป้องกันการติดโรค ถามจริงๆ เถอะครับว่าในประเทศไทยจะมีบ้านสักกี่เปอร์เซ็นต์ที่คนอยู่กันในบ้านแล้วสามารถรักษาระยะห่าง 2 เมตรกันได้ตลอดเวลา แนะนำหรือขอความร่วมมือในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้มันก็ไร้ประโยชน์ คิดจากโลกของความเป็นจริงดีกว่า

ให้คนอยู่กับบ้าน ไม่มีกิจกรรมสังคมภายนอกที่ไหนนี่ดีที่สุดแล้วครับ ส่วนชีวิตในบ้านต้องให้เค้าใกล้ชิดกันแล้วผนึกกำลังสู้ภัยโควิดด้วยกัน
ให้เค้าทำความเข้าใจกันเลยครับว่า ใครไปทำกิจกรรมสุ่มเสี่ยงข้างนอก กลับเข้ามาเท่ากับพาเชื้อโรคเข้าบ้าน มาตรการต่างๆ ของรัฐบาลคนในบ้านนั่นแหละครับช่วยกันเตือนช่วยกันดู

สงกรานต์นี้ห้ามจัดกิจกรรมห้ามออกไปสังสรรค์เฮฮาดื่มเหล้าดื่มยากันที่ไหน ใครจะดูแลกันได้ล่ะครับถ้าไม่ใช่คนในบ้าน พ่อบ้านจะออกไปเฮฮาปาร์ตี้ แม่บ้านกับลูกๆ ก็ต้องห้ามปรามกันไว้

ลูกจะออกไปขับมอเตอร์ไซต์แว้น พ่อแม่ก็ต้องห้ามต้องดูแลกันได้ ใช้ความใกล้ชิดของคนในครอบครัวนี่ล่ะครับ เป็นรั้วป้องกันพฤติการณ์สุ่มเสี่ยงที่จะออกไปข้างนอก

ในประเทศไทยมีบ้านจำนวนมากที่คนในบ้านเค้านอนเรียงกันอยู่แล้ว จะหาพื้นที่ 2 เมตรตรงไหน

ปลุกใจให้เค้าสู้ด้วยกันดีกว่า ให้ดูแลกันและกันในครอบครัว ห้ามใครออกไปทำผิดกติกาอย่างนี้จะได้ผลกว่าไหม

- วิกฤตนี้คือโอกาสพิสูจน์ศักยภาพ

พอจำนวนผู้ติดเชื้อค่อยๆ ทยอยลดลง ผมคิดว่าหลังเทศกาลสงกรานต์ รัฐบาลต้องเตรียมเกมรุกเอาไว้ เพื่อจะทำให้พื้นที่ในส่วนที่ยังปลอดโรคหรือพื้นที่ที่ว่างเว้นจากการตรวจพบคนติดเชื้อมาแล้วเป็นเวลานานๆ ไม่ต่ำกว่าครึ่งเดือน เขาได้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนเดินหน้าได้

จนถึงวันนี้ ยังคงมี 9 จังหวัดในประเทศไทยที่ยังไม่พบผู้ติดเชื้อนะครับ รัฐบาลน่าจะคิดโมเดลว่ามีกิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนไหนที่เปิดให้ทำกันก่อน ที่สามารถให้มีการจ้างงาน ที่สามารถจะให้ในพื้นที่ในจังหวัดเค้าทำมาหากินกันตามปกติได้

แน่นอนครับ ผับ บาร์ คอนเสิร์ต กิจกรรมที่ต้องมีการรวมตัวยังเปิดไม่ได้ แต่ว่ากิจการส่วนอื่นๆ รัฐบาลต้องพิจารณาแล้วทำให้พื้นที่ 9 จังหวัดที่ยังปลอดเชื้อ เป็นโมเดลนำร่อง

ส่วนจังหวัดที่ยังไม่พบผู้ติดเชื้อเกินกว่าครึ่งเดือนไปแล้ว ค่อยๆ ทยอยตามมา มาตรการคัดกรอง มาตรการป้องกันโรคยังคงต้องรัดกุม แต่กระบวนการทางเศรษฐกิจน่าจะค่อยๆ ผ่อนคลาย

ผมไม่ได้เสนอให้ประมาทนะครับ อย่างไรก็ตาม การป้องกันโรคไม่ให้แพร่เชื้อไม่ให้ลุกลาม เป็นเรื่องสำคัญอันดับ 1 แต่ประเด็นที่พูดไป รัฐบาลน่าจะคิดเผื่อไว้ก่อนได้

ส่วนกลไกรัฐในระดับประเทศ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ทูตพาณิชย์ทั้งหลายที่กระจายอยู่ทั่วโลก ต้องขยัยตัวแล้วครับ หาข้อมูล หาคู่เจรจา อ่านสถานการณ์ให้ออกว่าพื้นที่ใดประเทศไหนที่กำลังเกิดปัญหาและเป็นโอกาสของสินค้าไทยในการเข้าไปทำรายได้

เราแสดงตัวตลอดมาว่าเราเป็นครัวของโลก เราเป็นคลังอาหารของโลก คราวนี้ล่ะครับจะพิสูจน์ว่า เราเป็นจริงได้หรือไม่ ในท่ามกลางวิกฤตย่อมมีโอกาสอยู่เสมอ สำคัญอยู่ที่ว่าใครจะสามารถแทรกตัวเข้าไปในวิกฤตนั้นเพื่อสร้างโอกาสได้ไหม

ทูตพาณิชย์และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต้องรวบรวมข้อมูล รายงานกลับมายังรัฐบาล กำหนดยุทธศาสตร์ สร้างโอกาสให้กับประเทศไทย นายณัฐวุฒิกล่าว

(ทีมงาน)